xs
xsm
sm
md
lg

ศาสนาพราหมณ์ (1)

เผยแพร่:   โดย: ชัยสิริ สมุทวณิช


: ชัยสิริ สมุทวณิช
 
ความเก่าแก่ของศาสนาพราหมณ์นั้นเป็นที่ยอมรับกันทั่วๆ ไปในหมู่ผู้ศึกษาปรัชญาทางศาสนา พวกพราหมณ์วิวัฒนาการมาจากคนหมู่หนึ่ง ซึ่งเจนจัดในบทสวดมนต์สรรเสริญเยินยอพระผู้เป็นเจ้า พวกเหล่านี้คือต้นกำเนิดของชาวอริยกะ หรือชาวอารยัน ซึ่งมีจุดร่วมครั้งแรกอยู่ตอนกลางของทวีปเอเชีย ชาวอารยันมีภาษาของตนเอง

มีการถือลัทธิเคารพเทพเจ้าคล้ายคลึงกันในหลายเผ่า พวกอารยันในยุคต้นๆ เป็นพวกเผชิญโชคในการใช้ชีวิตแบบเร่ร่อน (Nomadic Life) และแตกสาขาไปตามสภาพทางภูมิศาสตร์ที่จะเอื้ออำนวยให้พวกเขาสามารถตั้งรากฐานในการทำมาหากินได้อย่างมั่นคง ชาติอารยันที่แยกย้ายไปอยู่จากจุดศูนย์กลางไปทางตะวันตกก็กลายไปเป็นพวกยุโรป ส่วนที่ลงมาทางใต้ก็ผสมกับคนพื้นเมืองเป็นคนตะวันออกกลางหรือในที่อื่นๆ เช่น อินเดียตอนเหนือ หรือเปอร์เซีย เป็นต้น วัฒนธรรมทางภาษาของพวกอารยันนี้ เมื่อเทียบเคียงภาษาในยุโรปกับอินเดีย และเปอร์เซีย ก็จับเค้าได้ว่ามีหลักทางไวยากรณ์และคำพูดร่วมมูลเดิมกัน

นอกจากนั้นในคัมภีร์พระเวทซึ่งเป็นคัมภีร์เก่าแก่ของอารยันอินเดีย กับอารยันเปอร์เซีย ซึ่งมีคัมภีร์อเวสต์ ก็มีคณะเทพเจ้าคณะเดียวกันโดยในคัมภีร์พระเวทเรียกว่า อรรยมัน มิตระ โสมในอเวสต์ของพวกปาร์ซีก็ชื่อพ้องกัน แต่แปร่งสำเนียงไป เช่น อหริมัน มิถระ และโหม

พวกอารยันยุคพระเวทเป็นต้นกำเนิดของลัทธิความเชื่อในเรื่อง “พรหม” ความเชื่อในเรื่องพรหมนี้มีทัศนะว่า โดยดั้งเดิมนั้นพวกพราหมณ์ถือสารเป็นใหญ่ในองค์ประกอบของโลก เช่นเดียวกับพวกอารยันเชื้อสายกรีกคือ นับถือ ดิน น้ำ ลม ไฟ แต่เมื่อมีการโต้แย้งว่าใครสร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้ พวกพราหมณ์จึงได้กำหนดให้ “พรหม” เป็นผู้สร้างโลก เมื่อพราหมณ์ต้องอธิบายถึงการสร้างโลกแล้ว ก็ยังมีผู้สงสัยต่อว่า วิธีการสร้างโลกนั้นสร้างอย่างไร พวกพราหมณ์ได้อธิบายว่า ก่อนการสร้างโลกนั้นมีพรหมอยู่แล้ว และเมื่อมีพระพรหมก็มีธรรม ธรรมในภาวะแรกเริ่มนั้นปราศจากรูป แต่มาผสมกันจนปฏิสนธิเป็นสสาร สสารนี้พรหมเรียกว่า ก้อนกลม หรือไข่ พราหมณ์ว่าไข่นี้ลอยอยู่ได้ถึงหมื่นกัลป์ และไข่นี้มีพระพรหมอยู่ ต่อมาพระพรหมจึงสามารถบันดาลให้ไข่แตกออกเป็นสองซีก ซีกบนไปเป็นฟ้า ซีกล่างเป็นโลกที่มนุษย์อยู่ ดังนั้นพระพรหมจึงสร้างสรรพสิ่งทั้งปวงขึ้นจากสสารนี้ โดยในขั้นแรกสร้างไฟ ให้มาชำระความชั่วทั้งปวงให้หมดไป เมื่อหมดแล้วจึงสร้างน้ำมาดับไฟนั้นเสีย ความชุ่มชื่นของน้ำทำให้เกิดพืชพันธุ์ธัญญาหารขึ้นอย่างอุดมสมบูรณ์และมีสัตว์มีมนุษย์ ในจำนวนมนุษย์มีผู้หนึ่งเป็นลูกพระอาทิตย์และก็ได้ถูกยกให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครองประชาชน

ข้อสังเกตในการสร้างโลกของพวกพราหมณ์นี้ แสดงให้เห็นว่าในแรกเริ่มของปรัชญาทางตะวันออกนั้น ปรัชญาก็บรรลุจุดมุ่งหมายแห่งการแสวงหาเสียตั้งแต่ต้น คืออธิบายโลกและจักรวาลอย่างเบ็ดเสร็จ เป็นสูตรสำเร็จ เมื่อขจัดปัญหาในด้านนี้แล้ว ปรัชญาจึงเริ่มอธิบายสิ่งอื่นๆ เป็นระบบกลไกทางจิตและวิญญาณเพิ่มเติมมาทีหลัง เช่น กฎหมายของพระเจ้า และจริยธรรมที่มนุษย์พึงต้องปฏิบัติต่อลัทธิพราหมณ์นี้เราก็จะเห็นว่าในเบื้องต้นจริงๆ แล้ว สรรพสิ่งไม่มีรูป (อรูป) เกิดจากความว่างเปล่าทั้งสิ้น ความว่างเปล่านี้ก็เป็นเกราะป้องกันคำถามอื่นๆ เกี่ยวกับ “พรหม” เพราะผู้ที่จะบรรลุถึงพรหมได้ ก็จะพบกับความว่างเปล่านั้นเอง ภาวะที่เป็นอยู่ของพรหมคือความไม่มี

ศาสนาพราหมณ์ได้สร้างอาณาจักรทางลัทธิเป็นพวกแรก โดยการฟื้นลัทธินิยมทางศาสนาขึ้นมา กล่าวคือ มีตัวแทนจากสวรรค์มาปรากฏในฐานะเป็นผู้เผยแผ่ศาสนา และได้พัฒนามาเป็นชนชั้นพิเศษในสังคมที่มีฐานะเป็นหัวหน้าทางจิตใจ หรือเป็นคณะตัวแทนจากสวรรค์คือ วรรณะพราหมณ์ที่มีความสำคัญพอๆ กันกับพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็น “หัวหน้าทางโลก” และด้วยเหตุที่สวรรค์กับโลกนั้นมีความสัมพันธ์กันอยู่โดยตลอดในช่วงระยะประวัติศาสตร์ยุคนี้ ดังนั้นความสัมพันธ์ดังกล่าวจึงแปรมาเป็นพันธมิตรระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ซึ่งแบ่งเป็นสองพวกทำการปกครองทางธรรมและทางโลกตามลำดับ

พราหมณ์แบ่งออกได้เป็นสองพวก พวกแรกถือลัทธิเคร่งครัด ปฏิเสธความสุขทางโลกอย่างสิ้นเชิง ไม่มีครอบครัว ตัดขาดกามคุณ พวกหลังลดหย่อนความเคร่งครัดไปมากคือ ยังคงถือครอบครัวอยู่ พวกแรกเรียกว่า “พรหมจรรย์” พวกหลังเรียกว่า “คฤหบดีพราหมณ์” จุดมุ่งหมายของชีวิตในพวกพรหมจรรย์คือต้องการ “ภาวะของการเข้าถึงธรรม” ที่เรียกว่า “อาตมัน” อันเป็นภาวะสูงสุดยอดสำหรับปัจเจกบุคคลที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต พราหมณ์กลุ่มหลังนี้มีพื้นฐานอยู่ที่การปฏิบัติตน ให้ประสบความสุขในทางโลกและในฐานะผู้นำทางวรรณะมากกว่าต้องการสลัดสรรพสิ่งให้พ้นจากตัวโดยสิ้นเชิง พราหมณ์พวกแรกจึงไม่ปรารถนาลาภยศในทางโลก เพราะสิ่งเหล่านั้น “ไม่บริสุทธิ์” พวกหลังเห็นว่าการเข้ารีตทางพรหมสร้างเกียรติยศให้แก่ตน เพราะตนเองนั้นเป็นสื่อโดยตรงระหว่างมนุษย์กับพรหม อีกทั้งพิธีบูชาพรหมเป็นเครื่องช่วยมนุษย์ให้พ้นภาวะแห่งความทุกข์โศก คฤหบดีพราหมณ์จึงมีบทบาทในทางสังคมและการเมืองมาก

หลักแกนของความเชื่อในอาตมันนั้นสัมพันธ์กับภาวะหนึ่งเดียว (Oneness) ของพรหมนั่นเอง พระพรหมนั้นสร้างทุกๆ อย่างในโลกและจักรวาล หรือในทางกลับกันทุกๆ ส่วนนั้นเป็นภาวะทางรูปที่ถือกำเนิดมาจากพรหมทั้งสิ้น มนุษย์เองก็มีตัวตนของพรหมอยู่ทุกอณู พวกพราหมณ์จึงเชื่อว่าถ้าอยากรู้จักพรหมก็ต้องรู้จักตัวเองให้ถ่องแท้เสียก่อน ความหมายของ “อาตมัน” ก็คือสิ่งนี้คือหมายความว่าสิ่งทั้งหมดรวมอยู่ในสิ่งเดียวและสิ่งเดียวคือทั้งหมด ดังตัวอย่างน้ำ ภาวะของน้ำนั้นมีคุณลักษณะเอกภาพ สาระทางรูปต่างกันไปตามภาวะประกอบ เช่น น้ำในบึง น้ำในลำธาร น้ำในมหาสมุทร น้ำในร่างกายมนุษย์ ดังนั้นความแตกต่างระหว่างน้ำทั้งหลายทั้งปวงไม่ได้อยู่ที่ “ความเป็นน้ำ” แต่อยู่ที่ว่าน้ำนั้นไปอยู่ในที่ใดในสถานะเช่นไร สรุปแล้ว หยดน้ำก็คือหยดน้ำที่มี “ความเป็นเอกภาพ” เหมือนกันไปหมด ความเป็นเอกภาพนี้คืออาตมันนั่นเอง (ปราชญ์ทางกรีกที่ให้ความเห็นในเชิงนี้คือ พาร์มีนิดีส (Parmenides) ที่ถือว่ามีความเป็นหนึ่งอยู่หนึ่งเดียวในโลก นอกนั้นเป็นองค์ประกอบย่อยทั้งหมด) ภควัทคีตาได้อธิบายว่าอาตมัน คือสิ่งที่เป็นอมตะเพราะ

                "อาตมันไม่มีการเกิด ไม่มีการดับ
                 ไม่เคยหมดสภาพไป
                 ไม่เคยมีการเริ่มต้น
                  เป็นอมตะ ไม่มีต้นกำเนิด
                 ไม่เปลี่ยนแปลงตราบชั่วกัลปาวสาน”

อาตมันจึงเป็นภาวะอมตะของมนุษย์ ที่มนุษย์ทุกๆ คนจะเข้าถึงความเป็นอมตะนี้ได้ด้วยกันทุกๆ คน สำหรับคนที่ไม่สามารถเข้าถึงอาตมันได้ในชาติใดชาติหนึ่ง เขาก็ย่อมไม่เป็นอมตะ จะทำให้ภพหน้าต้องแปรรูปไป วนเวียนอยู่ในการเกิดใหม่ ตายใหม่ ยังไม่หลุดพ้นสภาพของมนุษย์ ภายใต้เงื่อนไขนี้จึงคล้ายคลึงกับพวกกรีกโบราณที่เชื่อในลัทธิออฟิก (Ophic) ที่เน้นกฎแห่งการเวียนว่ายตายเกิดนั่นเอง

ลัทธิอาตมันได้อธิบายว่า วิญญาณของมนุษย์หรือสัตว์ล้วนกำเนิดมาจากพรหม จุดบั้นปลายของวัฏจักรจึงต้องกลับไปหาพรหมอีก การเข้าหาพรหมเป็นมหาสุข มนุษย์ซึ่งเป็นสสารมีรูปก็จะกลายเป็นอรูปมนุษย์ เพระได้หลุดพ้นแล้ว (ติดตามตอนต่อไปในสัปดาห์หน้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น