Text by ฮักก้า Photo by วรงค์กร ดินไทย
เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนได้หันมาตระหนักถึงความงามอย่างแท้จริงของกรุงเทพฯ และร่วมกันดูแลรักษาไว้ต่อไป
ฌอง-แบ็บทิสต์ เดอแบงส์ (Jean-Baptiste Debains) ประธานบริหาร บริษัท หลุยส์ วิตตอง ประจำภาค พื้นเอเชีย แปซิฟิค จึงเชื้อเชิญ 9 ศิลปิน ได้แก่ ชัย ราชวัตร, ศ.ปรีชา เถาทอง, รศ.พิษณุ ศุภนิมิตร, ผศ.ถาวร โกอุดมวิทย์,เกริกบุระ ยมนาค,ผศ.ธีรวัฒน์ งามเชื้อชิต,เนติกร ชินโย, จินตนา เปี่ยมศิริ และพงศ์ศิริ คิดดี มาร่วมกันนำเสนอความงามของกรุงเทพฯ ผ่านผลงานจิตรกรรม จำนวน 18 ภาพ
และนำมาจัดแสดงให้ผู้ที่สนใจได้ชม ระหว่างวันนี้ - 31 ม.ค. 54 บริเวณด้านหน้าร้าน หลุยส์ วิตตอง ชั้น G ศูนย์การค้าเกษร ก่อนจะมอบหน้าที่ให้ บริษัท คริสตี้ อ๊อกชั่น ประเทศไทย จัดการประมูลเพื่อนำรายได้ทั้งหมดสมทบทุนมูลนิธิชัยพัฒนา
Journey through The City of Angels เป็นชื่อของนิทรรศการที่มาจากความหมายของชื่อกรุงเทพมหานคร ซึ่งแปลได้ว่านครแห่งเทพ และสถานที่สำคัญต่างๆที่ศิลปินเลือกมานำเสนอผ่านผลงาน ก็เปรียบได้กับเทพยดาที่กำลังปกป้องคุ้มครองนครแห่งนี้อยู่
เกริกบุระ ยมนาค นักวาดภาพประกอบชื่อดัง ผู้เคยคว้ารางวัลชนะเลิศจากการประกวดภาพวาดประกอบหนังสือ Noma Concours จัดโดยศูนย์วัฒนธรรมเอเชียแปซิฟิคแห่งยูเนสโก นอกจากภาพ “พระราชวังพญาไท” ผลงานชิ้นที่โดดเด่นในนิทรรศการครั้งนี้ คือภาพ “ถนนพระราชดำเนิน” อันเป็นภาพที่แสดงออกถึงความโอ่อ่า ของสถาปัตยกรรมบนเส้นทางถนนราชดำเนินที่มีมาช้านาน
เกริกบุระถ่ายทอดทิวทัศน์ของถนนสายนี้ในมุมพาโนรามา ซึ่งมองลงมาจากชั้นบนของหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในภาพปรากฏให้เห็นพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ป้อมมหากาฬและกำแพงเมืองเก่าที่ตั้งเรียบถนนมหาชัย เรื่อยมาจนถึงโลหะปราสาทและสิ้นสุดที่วัดราชนัดดารามวรวิหาร โดยมีวัดสระเกศและภูเขาทองตั้งตะหง่านเป็นทิวทัศน์เบื้องหลังภาพนี้
เพราะผูกพันกับแม่น้ำ เนื่องจากเกิดและเติบโต ตลอดจนชอบที่จะใช้ชีวิตอยู่ริมแม่น้ำมาตลอด รศ.พิษณุ ศุภนิมิตร ศิลปินผู้วาดภาพสีน้ำปลอดมลพิษ และเจ้าผลงานงานเขียนมากมาย แทนที่จะเลือกนำเสนอภาพของสถาปัตยกรรม จำพวก วัด และวัง กลับสนใจเลือกถ่ายทอดความงามของ “แม่น้ำเจ้าพระยา” จากมุมมองบนธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ และ “สะพานพระราม 8” ตอนกลางคืน
“รูปแม่น้ำ ไม่ค่อยมีคนอยากเขียน เพราะในความรู้สึกของบางคนแล้วมันเกือบจะไม่มีอะไร แต่ผมคิดว่ามันมี ก็เลยเลือกเขียนแม่น้ำ ซึ่งมันไม่ใช่แม่น้ำอย่างเดียวไง ผมยังเขียนภาพสะพานพระราม 8 ด้วย เพราะผมคิดว่าไม่มีใครเคยเขียน และถ้าเขียนตอนกลางวันก็คงไม่สวยเท่าไหร่ ก็เลยเลือกเขียนสะพานพระราม 8 ในบรรยากาศตอนกลางคืน เพราะคิดว่าสวยกว่า”
เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของผลงานศิลป์ที่พาเราไปสัมผัสกับความงามของกรุงเทพในมุมมองที่แตกต่างกันไป ในนิทรรศการยังมีอีกหลายผลงานของหลายศิลปินที่งดงามไม่แพ้กัน อาทิ วัดเบญจมบพิตร ของ ศ.ปรีชา เถาทอง,เสาชิงช้า ของ ผศ. ถาวร โกอุดมวิทย์,พระบรมมหาราชวัง ของ พงษ์ศิริ คิดดี,อนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้า ของ ผศ.ธีรวัฒน์ งามเชื้อชิด, วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ของ ชัย ราชวัตร,พระที่นั่งวิมานเมฆ ของ เนติกร ชินโย และ ป้อมพระสุเมรุ ของ จินตนา เปี่ยมศิริ
หลังจากได้ร่วมสร้างสรรค์ผลงานเพื่อนิทรรศการนี้ ศิลปินหลายท่านกล่าวคล้ายกันว่า สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ สายตาที่เคยมองผ่าน เปลี่ยนมาสนใจและรักกรุงเทพมากขึ้น
หนึ่งในจำนวนนั้นคือ ชัย ราชวัตร เจ้าของคอลัมน์การ์ตูนเสียดสีการเมืองเรื่อง “ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน” และศิลปินผู้วาดการ์ตูนประกอบพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระมหาชนก”
“ด้วยความที่เราอยู่กรุงเทพ สิ่งต่างๆรอบตัว เราคุ้นเคยกับมัน ผ่านและเห็นทุกวันจนไม่รู้สึกว่ามันสวยงาม ดังนั้นจึงทำให้เวลาที่เรานึกอยากจะถ่ายรูป หรือเขียนรูปอะไรสวยๆ เรามักจะนึกถึงต่างจังหวัด
แต่พอผมมาเขียนรูปให้นิทรรศการนี้ มันทำให้ผมได้สัมผัสกรุงเทพในมิติที่ลึกกว่าเดิม และรู้สึกว่ากรุงเทพสวยนะ ซึ่งถ้าศิลปินสามารถดึงเอาความงามของกรุงเทพออกมาให้คนทั่วไปได้เห็นกันเยอะๆ ผมเชื่อว่าจะทำให้คนมีความรู้สึกรัก,หวงแหน ช่วยกันอนุรักษ์และทำให้กรุงเทพน่าอยู่ขึ้นอีกเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความสะอาด หรือเรื่องของความปลอดภัยของคนกรุงเทพ
ส่วนเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง จะขัดแย้งอย่างไร มันเป็นเรื่องของความขัดแย้งทางความคิด แต่เราอย่าไปทำลายกรุงเทพ เพราะกรุงเทพมันเป็นสมบัติของเรา และเป็นหัวใจหลักทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย”