xs
xsm
sm
md
lg

อสีติมหาสาวก : ตอนที่ ๗๘ กลุ่มพระมาณพ ๑๖ (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอตทัคคะ-อดีตชาติ (ต่อ)

พระสาวกทั้ง ๑๖ นี้ แม้ว่าจะไม่มีกล่าวว่าได้เกิดร่วมกันในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ที่กล่าวมา แต่ก็มีระบุว่าท่านพร้อมด้วยพระบริวาร รูปละ ๑,๐๐๐ รูปนั้น ได้มาเกิดร่วมกันในศาสนาของพระพุทธเจ้ากัสสปะ โดยในชาตินั้นฤาษีพาวรีเกิดเป็นพระเจ้ากัฎฐวาหนะ ดังมีเรื่องเล่าว่า

ในเมืองพาราณสี มีช่างไม้ที่มีความสามารถมากอยู่คนหนึ่ง ช่างไม้คนนี้มีศิษย์เอกอยู่ ๑๖ คน และศิษย์เอกแต่ละคนนั้นต่างมีศิษย์อีกคนละ ๑,๐๐๐ คน เป็นอันว่า เมื่อรวมทั้งอาจารย์ศิษย์เอกและศิษย์บริวารแล้ว ช่างไม้ทั้งคณะนี้ก็มีถึง ๑๖,๐๑๗ คน ช่างไม้คณะนี้ทำมาหากินร่วมกันด้วยการขึ้นไปนำไม้จากภูเขามาสร้างเป็นบ้านหรือปราสาท แล้วขายให้แก่เศรษฐีหรือพระราชา ซึ่งรายได้จากการขายบ้านหรือปราสาทแต่ละหลังนั้น เพียงพอที่จะแบ่งปันกันเลี้ยงชีวิต

วันหนึ่ง ช่างไม้ผู้เป็นอาจารย์พิจารณาเห็นว่า อาชีพช่างไม้แม้จะมีรายได้ดีใน ตอนนี้ แต่ถ้าแก่ตัวไปแล้วจะลำบาก เพราะรายได้ขึ้นอยู่กับการทำงาน ถ้าทำงานไม่ได้ก็ไม่มีรายได้ และเมื่อแก่ตัวไปแล้วก็คงทำงานนี้ไม่ไหว

ครั้นคิดได้อย่างนี้แล้ว ช่างไม้จึงออกปากชวนบรรดาศิษย์ให้ออกไปหาเมืองครองสักเมืองหนึ่ง ศิษย์เหล่านั้นเห็นด้วย จึงพร้อมกันตกลงใจไปอยู่ ณ บริเวณใกล้ป่าหิมพานต์

เมื่อตกลงใจกันได้อย่างนี้ ทั้งหมดก็ช่วยกันสร้างพาหนะที่จะพาพวกเขาเล็ด ลอดออกไปจากเมืองพาราณสีโดยไม่มีใครจับได้ พาหนะที่สร้างขึ้นนั้น คือ นกใหญ่ทำด้วยไม้แล้วใส่เครื่องยนต์ไว้ข้างใน ซึ่งเมื่อติดเครื่องยนต์ นกไม้นั้นก็จะเหิรขึ้นสู่ท้องฟ้าแล้วพาไปยังที่หมาย

ช่างไม้เหล่านั้นเมื่อสร้างนกใหญ่เสร็จแล้ว ก็ขนย้ายครอบครัวให้เข้าไปอยู่ในนกนั้นพร้อมทั้งพวกตน เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยก็ติดเครื่องยนต์ทันที จากนั้นไม่นานนกไม้ก็พาทุกชีวิตเหิรฟ้าไปส่งที่ป่าหิมพานต์

ที่ป่าหิมพานต์นี้เอง พวกเขาได้ครองเมืองเมืองหนึ่ง โดยอภิเษกช่างไม้ผู้เป็นอาจารย์ให้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า “กัฎฐวาหนะ” (พระเจ้าแผ่นดินผู้มีพาหนะทำด้วยไม้) และเมืองนั้นก็มีชื่อว่า “กัฏฐวาหนะ” ตามพระนามของพระเจ้าแผ่นดิน ส่วนศิษย์เอก ๑๖ คนเป็นอำมาตย์

พระเจ้ากัฎฐวาหนะทรงเป็นชาวเมืองพาราณสีมาแต่กำเนิดดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้น เมื่อมาประทับอยู่ห่างจากบ้านเกิดเมืองนอนก็ยังคงผูกสัมพันธ์กับพระเจ้าพาราณสี พ่อค้าเมืองพาราณสีเดินทางขึ้นไปค้าขายยังเมืองกัฎฐวาหนะอยู่บ่อยๆ ในขณะเดียวกันพ่อค้าจากเมืองกัฎฐวาหนะก็เดินทางลงมาค้าขายยังเมืองพาราณสี ด้วยเช่นกัน

พระเจ้ากัฎฐวาหนะทรงต้อนรับพ่อค้าจากเมืองพาราณสีเป็นอย่างดี ทรงประกาศให้ยกเว้นการเก็บภาษีจากพ่อค้าเหล่านั้น และเมื่อพ่อค้าเหล่านั้นทูลลาเดินทางกลับ ก็ทรงส่งบรรณาการมากับพ่อค้าเหล่านั้น เพื่อถวายแด่พระเจ้าพาราณสี พระเจ้าพาราณสีก็เช่นกัน ทรงต้อนรับพ่อค้าจากเมืองกัฎฐวาหนะเป็นอย่างดี และทรงส่งพระราชสารไปถวายพระเจ้ากัฎฐวาหนะ โดยทรงระบุว่า

“ถ้าในบ้านเมืองของพระองค์เกิดมีสิ่งอัศจรรย์ที่สมควรดูหรือสมควรได้ยิน ขอทรงพระกรุณาให้หม่อมฉันได้ดูหรือได้ยินด้วย”

พระเจ้ากัฎฐวาหนะก็ทูลตอบพระราชสารไปในลักษณะเดียวกัน

อยู่มาคราวหนึ่งพระเจ้ากัฎฐวาหนะทรงได้ผ้ากัมพลมาผืนหนึ่ง ผ้ากัมพลผืนนี้เนื้อละเอียดสีสวยสดคล้ายแสงอาทิตย์แรกอุทัย พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นของมีค่าจึงทรงส่งมาถวายพระเจ้าพาราณสี เพื่อให้ได้ทอดพระเนตรตามที่ตกลงกันไว้

ฝ่ายพระเจ้าพาราณสีทรงดีพระทัยมากและทรงคิดถึงบรรณาการที่จะส่งไปถวาย พระเจ้ากัฎฐวาหนะเป็นการตอบแทน ขณะที่ทรงพิจารณาอยู่นั้นก็ทรงเห็นว่า ขณะนี้พระรัตนตรัยอุบัติขึ้นแล้วในโลก สิ่งใดจะมีค่ามากไปกว่าพระรัตนตรัยย่อมไม่มี ดังนั้น จึงทรงส่งพระราชสารไปว่า

พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก เพื่อเกื้อกูลสรรพสัตว์
พระธรรมอุบัติขึ้นแล้วในโลก เพื่อความสุขของสรรพสัตว์
พระสงฆ์อุบัติขึ้นแล้วในโลก เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยม

(อ่านต่อฉบับหน้า)


(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 126 พฤษภาคม 2554 โดย ผศ.ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ)
กำลังโหลดความคิดเห็น