xs
xsm
sm
md
lg

อสิติมหาสาวก : ตอนที่ 79 กลุ่มพระมานพ 16 (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอตทัคคะ-อดีตชาติ(ต่อ)

พระเจ้ากัฎฐวาหนะทรงดีพระทัยมากที่ได้รับพระราชสารฉบับนี้ ทรงบูชาด้วยเครื่องสักการะราคาแพง พระองค์รับสั่งให้บรรดาอำมาตย์และพสกนิกรมาชุมนุมกันที่พระลานหลวง แล้วทรงประกาศให้ทราบถึงเนื้อหาของพระราชสารจาก พระเจ้าพาราณสี

“สิ่งมีค่า คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อุบัติขึ้นในโลกแล้ว พวกเราจะทำอย่างไรกันดี” พระเจ้ากัฎฐวาหนะตรัสปรึกษา

“ขอเดชะ พระอาญาไม่พ้นเกล้า” อำมาตย์คนหนึ่งกราบทูล “ขอให้พระองค์ประทับอยู่ที่นี้แหละ ส่วนพวกข้าพระพุทธเจ้าจะสืบดูให้รู้แน่ แล้วจะกลับมาถวายรายงานให้ทรงทราบ”

พระเจ้ากัฎฐวาหนะทรงเห็นด้วย จึงทรงอนุญาตให้อำมาตย์ ๑๖ คนพร้อมด้วยบริวาร เดินทางไปเมืองพาราณสี แต่ขณะที่อำมาตย์เหล่านั้นกำลังอยู่ระหว่างเดินทาง พระพุทธเจ้ากัสสปะได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปก่อน ดังนั้น เมื่อไปถึงเมืองพาราณสีจึงมิได้พบพระพุทธเจ้า คงได้พบแต่พระสงฆ์สาวก และเมื่อได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปริพิพานแล้วก็เสียใจเป็นกำลัง แต่ก็ยังมีสติข่มความเสียใจลงได้ จากนั้นได้ขอให้พระสงฆ์สาวกนั้นแสดงธรรมที่พระพุทธเจ้าประทานไว้ให้ฟัง ซึ่งท่านได้แสดงว่า

“พระพุทธเจ้าประทานพระโอวาทไว้ว่า บุคคลควรถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ควรรักษาศีล ๕ ควรสมาทานอุโบสถมีองค์ ๘ ควรให้ทาน และควรออกบวช”

อำมาตย์ทั้งหมดนั้น ครั้นได้ฟังพระพุทธโอวาทแล้วก็เกิดความเลื่อมใส จึงต่างขอบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา เหลืออยู่ก็แต่อำมาตย์ผู้เป็นพระราชนัดดา ของพระเจ้ากัฏฐวาหนะเท่านั้นที่มิได้ขอบวช เนื่องจากทูลรับปฏิญญาจากพระเจ้ากัฏฐวาหนะ ว่าจะกลับมาทูลข่าวคราวเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ให้ทรงทราบ อำมาตย์นั้นได้เดินทางกลับไปยังแคว้นกัฎฐวาหนะ โดยได้นำกระบอกกรองน้ำของพระพุทธเจ้าไปด้วย พร้อมทั้งได้นิมนต์พระสงฆ์ ๒ รูป คือ พระวินัยธรและพระธรรมธรไปด้วยกับตน เมื่อไปถึงแคว้นกัฏฐวาหนะและได้เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินแล้วก็กราบทูลว่า

“ขอเดชะพระอาญาไม่พ้นเกล้า พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อุบัติขึ้นในโลกจริง แต่ว่าบัดนี้ พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว คงเหลืออยู่ก็แต่พระธรรมและพระสงฆ์เท่านั้น”

พระเจ้ากัฎฐวาหนะ ทรงเกิดปีติโสมนัสยิ่งนักที่ได้ทราบว่า พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ อุบัติขึ้นในโลกจริง แต่ก็ทรงรู้สึกเสียดายที่ไม่ทันได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า อย่างไรก็ตามพระองค์ก็ยังทรงอุ่นพระทัยว่าได้เกิดทันพระพุทธศาสนา และหลังจากได้ฟังธรรมจากพระวินัยธรและพระธรรมธรแล้ว ก็ประกาศพระองค์นับถือพระรัตนตรัย สมาทานศีล ๕ ครั้นถึงวันอุโบสถก็ทรงรับศีล ๘ พร้อมทั้งทรงถวายทานตลอดพระชนมายุ

พระเจ้ากัฎฐวาหนะ อำมาตย์เอก ๑๖ คน พร้อมด้วยบริวาร ๑๖,๐๐๐ คน ได้เกิดร่วมกันและทำบุญร่วมกันในศาสนาของพระพุทธเจ้ากัสสปะด้วยประการฉะนี้ ผลบุญในชาตินั้นส่งให้ท่านเหล่านั้นไปเกิดในเทวโลก จนกระทั่งถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ทั้งหมดนั้นมาเกิดเป็นมนุษย์ พระเจ้ากัฎฐวาหนะมาเกิดเป็นพาวรี บุตรพราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้ามหาปเสนทิโกศล พระราชบิดาของพระเจ้าปเสนทิโกศล ส่วนอำมาตย์เอก ๑๖ คน พร้อมด้วยบริวาร ๑๖,๐๐๐ คน ได้เกิดเป็นบุตรพราหมณ์ในเมืองสาวัตถีดังกล่าวมาแล้ว

วาจานุสรณ์

หลังจากได้บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนาแล้ว พระสาวกทั้งหมดนั้นก็ดำเนินชีวิตตามรูปแบบของพระ นั่นคือ อยู่โคนต้นไม้ เที่ยวบิณฑบาตเลี้ยงชีวิต นุ่งห่มผ้าเพียงแค่ ๓ ผืน แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้มีการบันทึกเรื่องราวและคำพูดแสดงความรู้สึกของท่านไว้ มีบันทึกก็แต่เฉพาะของพระโมฆราชเท่านั้น

ดังได้กล่าวไว้แล้วว่าพระพุทธเจ้าทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านครองผ้าเศร้าหมอง ไม่ยอมรับผ้าใหม่ แม้ได้มาก็พยายามทำลายให้หมดความใหม่ หมดความสวยงามเสียก่อนจึงจะยอมนุ่งห่ม เพราะเหตุที่ชอบนุ่งห่มผ้าเก่าประกอบกับกรรมในอดีตชาติส่งผล จึงทำให้ท่านเกิดมีตุ่มขึ้นตามร่างกาย ซึ่งทำให้ต้องรับทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส โดยเฉพาะเวลาจำวัด แต่ท่านก็ไม่ได้เดือดร้อนใจแต่อย่างใด

พระพุทธเจ้าทรงทราบถึงความลำบากของท่านตลอดเวลา ดังนั้น เมื่อฤดูหนาวมาถึงจึงเสด็จไปเยี่ยมแล้วตรัสถามว่า

“โมฆราช ผิวหนังเธอเลวร้าย แต่ใจของเธอสิงามนัก เธอช่างมีใจมั่นคง แต่บัดนี้ฤดูหนาวมาเยือนแล้ว ท่ามกลางราตรีที่หนาวเหน็บ เธอจักทำอย่างไร”

พระโมฆราชก้มลงกราบพระพุทธเจ้า แล้วกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า แคว้นมคธสมบูรณ์ด้วยข้าวกล้า หนาวนี้ ข้าพระองค์จะใช้ฟางต่างฟูกและผ้าห่ม เมื่อข้าพระองค์นอนอย่างนี้ก็คงจะมีความสุขได้ไม่แพ้คนที่เขานอนบนที่นอนชนิดเลิศและห่มด้วยผ้าห่มชนิดดี”

พระพุทธเจ้าทรงมองท่านด้วยพระเนตรอ่อนโยน พระพักตร์ยิ้มละไมคล้ายจะตรัสว่า นี่แหละจิตของพระอรหันต์ และคำพูดของท่านนับเป็นวาจานุสรณ์สำหรับเตือนใจให้พุทธบริษัทรุ่นหลังระลึกถึงยถาลาภสันโดษ (ความยินดีตามที่ได้)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 127 มิถุนายน 2554 โดย ผศ.ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ)
กำลังโหลดความคิดเห็น