xs
xsm
sm
md
lg

ทางเอก : หัวใจกรรมฐาน (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

๘. ผลของการปฏิบัติธรรม (ต่อ)

ความสุขเป็นลำดับๆ ของนักปฏิบัติธรรม มีดังนี้ คือ

๘.๑ ความสุขจากการมีศีล

นักปฏิบัติจะต้องมีศีลกำกับจิตใจไว้เสมอ จะทำผิดอะไรก็พอจะได้ แต่อย่าทำผิดศีลก็แล้วกัน เพราะการทำผิดศีลมีผลเป็นการสร้างความทุกข์ให้กับตนเองและผู้อื่น ในขณะที่การมีศีลนำความสุขมาให้ตนเองและผู้อื่นด้วย

คนส่วนมากมักจะคิดว่าการถือศีลนำความทุกข์มาให้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การถือศีลนำความสุขความสบายมาให้

ลองเปรียบเทียบดูก็ได้ว่า ผู้ที่คิดจะฆ่าผู้อื่นกับผู้มีเมตตา ผู้ที่คิดจะขโมยกับผู้ที่คิดจะให้ ผู้ที่ทรยศล่วงเกินสิ่งอันเป็นที่รักของผู้อื่นกับผู้ที่สันโดษในสิ่งอันเป็นที่รักของตน ผู้ที่พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ และพูดเพ้อเจ้อกับผู้ที่กล่าววาจาตามจริง กล่าวด้วยเมตตา และกล่าวด้วยความไพเราะอ่อนหวาน และกล่าวเพราะเห็นประโยชน์อันชอบธรรมของผู้อื่นและตนเอง ฯลฯ และผู้ที่ ติดสิ่งเสพติดกับผู้ไม่ติดสิ่งเสพติด เหล่านี้ใครจะมีความสุขมากกว่ากัน ถ้ามองอย่างคนที่รู้ผิดชอบชั่วดีก็คงตอบได้ว่า คนมีศีลย่อมมีความสุขมากกว่าคนไร้ศีลอย่างแน่นอน

๘.๒ ความสุขจากการเจริญสมถกรรมฐาน

ธรรมดาจิตใจของเราย่อมเคลื่อนไหวดิ้นรนอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวก็คว้าอารมณ์นั้น เดี๋ยวก็คว้าอารมณ์นี้ สร้างความเหน็ดเหนื่อยเป็นอย่างมาก เพราะจิตใจต้องทำงานหนักยิ่งกว่าทาสในโรงงาน คือต้องทำงานทั้งวันทั้งคืนโดยหาความสงบสุขไม่ได้เลย

แต่เมื่อเราทำสมถกรรมฐาน เรามีสติระลึกรู้อารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง ให้จิตได้พักอยู่กับอารมณ์ที่น่าสบายใจเพียงอารมณ์เดียว ไม่ต้องวิ่งไปวิ่งมาทั้งวันทั้งคืน สิ่งที่ได้รับก็คือความสงบสุขในจิตใจของตนซึ่งไม่ต้องอิงอาศัยสิ่งภายนอก

๘.๓ ความสุขจากการมีสติเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน

เมื่อจิตจดจำสภาวะของรูปนามใดได้ จิตจะเกิดสติระลึกรู้ขึ้นได้เองเมื่อรูปนามนั้นปรากฏขึ้น ทันทีที่จิตมีสติ จิตจะเป็นกุศลโดยอัตโนมัติ และจิตที่เป็นกุศลจะมีเวทนาได้เพียง ๒ ชนิดเท่านั้น คือโสมนัสเวทนาและอุเบกขาเวทนา จะมีความทุกข์คือโทมนัสเวทนาไม่ได้เลย เนื่องจากโทมนัสเวทนาเกิดร่วมได้กับอกุศลจิตเท่านั้น

โสมนัสเวทนาและอุเบกขาเวทนาจัดได้ว่าเป็นความสุข ทางใจได้ทั้งคู่ คือตัวอุเบกขาเวทนา แม้จะไม่ใช่ความสุขในระดับโสมนัสเวทนา แต่ก็จัดว่าเป็นความสุขได้เหมือนกัน เพราะจิตไม่ถูกความทุกข์โทมนัสครอบงำ

เพื่อนนักปฏิบัติท่านใดที่เกิดสติและจิตตื่นขึ้นมาแล้วนั้น จะเข้าใจในสิ่งที่ผู้เขียนกล่าวนี้ได้ด้วยตนเอง คือทันที ที่สติเกิดขึ้น จิตจะเกิดความรู้เนื้อรู้ตัว เกิดสภาวะรู้ ตื่น เบิกบาน สงบ สะอาด และสว่างขึ้นมาเอง จิตจะมีความสุขโสมนัสโชยแผ่วขึ้นมาเอง หรือเกิดอุเบกขาเวทนาอันอบอุ่นนุ่มนวลเบาสบายขึ้นมาเอง โดยไม่ต้องทำอะไรเลย ซึ่งต่างจากความสุขอันเกิดจากการทำสมถกรรมฐาน ที่ต้องทำสมถกรรมฐานจนจิตสงบแล้ว จึงเกิดโสมนัส เวทนา และอุเบกขาเวทนาขึ้นมา

สตินั้นเมื่อเคยเกิดขึ้นแล้วก็จะยิ่งเกิดได้ง่ายขึ้นๆ เพราะยิ่งปฏิบัติไปนานวันจิตจะยิ่งรู้จักและจดจำสภาวะของรูปนามได้มากขึ้นทุกที ยิ่งรู้จักและจดจำสภาวธรรมได้มากสติก็ยิ่งเกิดบ่อย

ยิ่งสติเกิดบ่อยก็ยิ่งมีความสุข ยิ่งมีความสุขก็ยิ่งมีฉันทะคือความพอใจที่จะมีสติระลึกรู้รูปนามบ่อยๆ ยิ่งมีฉันทะก็ยิ่งมีความเพียรคือจิตจะขยันรู้รูปนาม

ยิ่งมีความเพียรก็ยิ่งใส่ใจ ยิ่งใส่ใจจิตก็ยิ่งเคล้าเคลียคอยเรียนรู้รูปนามอยู่เนืองๆ และเมื่อเรียนรู้บ่อยเข้า จิตจะเกิดปัญญาคือเข้าใจความเป็นจริงของรูปนาม จนละความเห็นผิดและปล่อยวางความถือมั่นในรูปนามลงได้ในที่สุด

สรุปแล้วการมีสติระลึกรู้รูปนามทำให้เกิดความสุขในปัจจุบัน โดยไม่ต้องทำอะไรเลยและไม่ต้องอิงอาศัยกามคุณอารมณ์ภายนอกด้วย การเจริญสติจึงให้ความสุขตลอดสายของการปฏิบัติแม้ในระหว่างที่ยังต้องปฏิบัติอยู่ จัดว่าเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันได้อีกอย่างหนึ่ง นอกเหนือจากการทรงจิตไว้ในฌาน และเป็นความสุขที่ให้ปัญญาด้วย ไม่เหมือนการทำฌานซึ่งให้แต่ความสุขสงบเพียงอย่างเดียว

๘.๔ ความสุขจากการมีปัญญารู้รูปนามตามความเป็นจริง

เมื่อมีสติรู้รูปนามตามความเป็นจริงด้วยจิตใจที่ตั้งมั่นและเป็นกลางบ่อยเข้า ในที่สุดจิตก็จะเข้าใจความเป็นจริงของรูปนามได้อย่างประณีตลึกซึ้งไปตามลำดับ จิตที่รู้ความจริงของรูปนามจะมีความอิ่มอกอิ่มใจ เป็นความสุขคล้ายกับผู้ใหญ่ที่เข้าใจและประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่เหมือนฌานที่ให้ความสุขความสบายแบบไร้เดียงสา

ยิ่งเข้าใจรูปนามมากขึ้นจิตก็ยิ่งเข้าถึงความเป็นกลางต่อสังขารทั้งปวงมากขึ้น ความกระเพื่อมกวัดแกว่งตลอด จนความฟูขึ้นและแฟบลงของจิตเมื่อกระทบอารมณ์ต่างๆ จะลดน้อยลงเป็นลำดับ และก็ยิ่งมีความอิ่มอกอิ่ม ใจมากขึ้นไปอีก เพราะเห็นความจริงว่าความสุขก็ไม่เที่ยง ความทุกข์ก็ไม่เที่ยง กุศลก็ไม่เที่ยง อกุศลก็ไม่เที่ยง ธรรมที่ละเอียดก็ไม่เที่ยง ธรรมที่หยาบก็ไม่เที่ยง ธรรมภายในก็ไม่เที่ยง ธรรมภายนอกก็ไม่เที่ยง จิตจะเป็นกลางหมดความดิ้นรนที่จะหาความสุขหรือหนีความทุกข์ หมดความ ดิ้นรนที่จะรักษากุศลหรือจะละอกุศล หมดความดิ้นรนที่จะแสวงหาธรรมละเอียดและละธรรมหยาบ หมดความดิ้นรนที่จะให้จิตอยู่ภายในและไม่ส่งจิตออกไปภายนอก จิตที่หมดความอยากและหมดความดิ้นรนทำงานทางใจนั้น ย่อมมีความสงบสุขอยู่ในตัวเอง

อนึ่ง การรู้รูปนามตามความเป็นจริงคือการค้นพบตนเอง เข้าใจตนเอง ผู้ใดค้นพบตนเองหรือรู้จักตนเองแล้ว จิตใจจะเต็มอิ่ม มั่นคงและมีความสุขอยู่ในตนเอง

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 126 พฤษภาคม 2554 โดย พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช)
กำลังโหลดความคิดเห็น