ก.ล.ต. โหมโรงหลักเกณฑ์การทำแบบสอบถามประเมินความเสี่ยงนักลงทุน ก่อนบังคับใช้ 1 ก.ค. นี้ ทั้งหุ้นและกองทุนรวม ฝากกองทุนขานรับ ทยอยส่งแบบสอบถามถึงลูกค้า 2 ล้านบัญชี ส่วนลูกค้าใหม่ขีดเส้น ถ้าไม่กรอกก่อนห้ามขายเด็ดขาด
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2554 สำนังานก.ล.ต. จะบังคับใช้หลักเกณฑ์การทำแบบสอบถามประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงหรือ suitability test สำหรับบริษัทจัดการกองทุน ผู้ขายหน่วยลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ รวมถึงเจ้าหน้าที่การตลาดและผู้มีใบอนุญาตติดต่อกับนักลงทุน เพื่อเป็นขั้นตอนเริ่มต้นในการซื้อขายหลักทรัพย์ หรือหน่วยลงทุน ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง เพราะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ลงทุนและผู้ขายสินค้า
โดยสมาคมผู้ประกอบธุรกิจและ ก.ล.ต. ได้ร่วมกันออกแบบคำถามมาตรฐานให้ผู้ประกอบธุรกิจใช้เป็นแนวทาง ส่วนทางด้านผู้ประกอบธุรกิจก็ได้มีการเตรียมความพร้อม โดยจัดวิธีการให้ผู้ลงทุนตอบแบบสอบถามได้สะดวกและประหยัดเวลา ซึ่งผู้ลงทุนควรให้ความร่วมมือในการทำแบบสอบถาม ไม่ควรเห็นว่าเป็นภาระหรือเสียความเป็นส่วนตัว เนื่องจากประโยชน์ที่ได้รับจะมีมากกว่า ทั้งนี้ แบบสอบถามประเมินความเสี่ยงดังกล่าวจะทำทุกๆ 2 ปี
"ที่ผ่านมาการที่ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลของสินค้าทางการเงินทำให้ได้ ‘รู้เขา’ คือรู้จักผู้ออกสินค้า บริษัทที่จะลงทุน หรือลักษณะของสินค้าที่จะลงทุน และเมื่อมีการนำแบบประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงมาใช้ จะทำให้ผู้ลงทุนได้ ‘รู้เรา’ หรือรู้จักตนเองเพิ่มขึ้นมา ทำให้รู้ว่าเหมาะกับการลงทุนในสินค้าประเภทใด ช่วยลดปัญหาการลงทุนผิดพลาด หรือลงทุนในสิ่งที่ตนไม่รู้จัก"นายธีระชัยกล่าว
นางวรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคมบลจ.) และกรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง จำกัด กล่าวว่า ในส่วนของธุรกิจกองทุนรวม บริษัทสมาชิกได้ทยอยส่งแบบสอบถามดังกล่าวไปยังลูกค้าบ้างแล้ว ซึ่งปัจจุบันกองทุนรวเองมีนักลงทุนที่ลงทุนอยู่ทั้งหมดประมาณ 2 ล้านบัญชี โดยแบบสอบถามนั้นจะมีลักษณะที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน คือลูกค้าจะต้องตอบแบบสอบถามทั้งหมด11ข้อ ซึ่งทั้ง 11 ข้อดังกล่าวจะวัดระดับความเสี่ยงของนักลงทุนแต่ละรายว่ามีความเสี่ยงระดับใดและสามารถลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงระดับใดได้บ้าง
ทั้งนี้ ในกรณีที่นักลงทุนรายนั้น สามารถรับความเสี่ยงได้ต่ำกว่าระดับความเสี่ยงของกองทุน ก็จะให้นักลงทุนรายนั้นเซ็นรับทราบเพื่อเป็นการยืนยันว่า ได้ทราบความเสี่ยงของตนเองและความเสี่ยงของกองทุนแล้ว หากเกิดปัญหาขึ้นมา ผู้ลงทุนต้องรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นนั้นเอง
นางวรวรรณกล่าวว่า ในการกรอกแบบสอบถามเพื่อวัดความเสี่ยงนั้น มีข้อกำหนดเอาไว้ด้วยว่า ห้ามผู้ขายหน่วยลงทุนขายกองทุนให้กับนักลงทุนที่ไม่ได้กรอกแบบสอบถามเด็ดขาด ซึ่งหากมีการฝ่าฝืนก็จะมีบทลงโทษจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ต่อไป
สำหรับการจัดระดับความเสี่ยงของกองทุนนั้น ทางสมาคมบลจ.ก็ได้ดำเนินการให้บริษัทสมาชิกที่เป็นบลจ.ทั้งหมด ปรับปรุงแก้ไขความเสี่ยงของกองทุนเก่าให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมดแล้ว โดยในส่วนของกองทุนใหม่เอง บลจ.ต้องระบุความเสี่ยงของกองทุนให้ชัดเจนในหนังสือชี้ชวนด้วย ซึ่งในส่วนนี้ สมาคมบลจ.เองก็จะตรวจสอบอีกครั้งว่า ระดับความเสี่ยงดังกล่าวตรงกับข้อเท็จจริงหรือนโยบายการลงทุนหรือไม่
"ปัจจุบันนี้อุตสาหกรรมกองทุนรวมของไทยมีพัฒนาการและเติบโตอย่างรวดเร็ว กองทุนรวมที่ออกมาในระยะหลังมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ และแม้ว่าการลงทุนในกองทุนรวมเป็นการมอบเงินให้มืออาชีพบริหารให้ แต่ผู้ลงทุนเองก็ต้องรู้ถึงความสามารถในการรับความเสี่ยงของตน เพื่อเลือกลงทุนในกองทุนที่มีระดับความเสี่ยงเหมาะสมและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การลงทุน"นางวรวรรณกล่าว
นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า ผู้ขายควรให้ความสำคัญกับการรู้จักลูกค้าของตน โดยเฉพาะเรื่องความสามารถในการรับความเสี่ยงในการลงทุน เปรียบเสมือนเป็นการตรวจเช็คสุขภาพของลูกค้า เพื่อที่จะได้ให้คำแนะนำและเสนอขายหลักทรัพย์ได้เหมาะสม เพราะการลงทุนในหลักทรัพย์มีความเสี่ยงสูง หากลูกค้าลงทุนไปโดยไม่รู้ว่าหลักทรัพย์นั้นเหมาะสมกับตนหรือไม่ เมื่อประสบผลขาดทุนมักจะรับไม่ได้ ผิดหวัง และเข็ดกับการลงทุน ซึ่งในส่วนของผู้ลงทุนเองในการทำแบบสอบถามนี้ถือว่าไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนแต่อย่างใด
ปัจจุบัน มีผู้ลงทุนที่เปิดบัญชีซื้อขายกับโบรกเกอร์รวมทั้งสิ้นกว่า 5 แสนราย ซึ่งในเบื้องต้น ในส่วนของโบรกเกอร์เองจะทยอยส่งแบบสอบถาดังกล่าวล่าวให้กับลูกค้าที่แอกทีฟก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยๆ ขยายไปสู่นักลงทุนทั้งหมด รวมถึงนักลงทุนที่เปิดบัญชีใหม่ด้วย
นางรัชนี นพเมือง ผู้แทนจากสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม พร้อมไปกับการสนับสนุนให้ผู้มีเงินออมเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่เหมาะสมกับตน กองทุนรวมไม่ใช่เงินฝากธนาคาร มีโอกาสที่ผู้ลงทุนจะได้รับอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝาก แต่ก็มีระดับความเสี่ยงในการลงทุนที่แตกต่างกันตามนโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุน การที่ผู้ลงทุนให้ข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของตนไว้กับผู้ขาย จะทำให้ผู้ขายของธนาคารสามารถเสนอขายกองทุนรวมที่เหมาะสมกับผู้ลงทุน และปัญหาการเสนอขายกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงเกินไปจะลดลงด้วย
เนื่องจากผู้ขายต้องอธิบายถึงความเสี่ยงที่สูงเกินระดับที่ผู้ลงทุนรับได้ให้ผู้ลงทุนเข้าใจและผู้ลงทุนต้องลงนามรับทราบความเสี่ยง ดังนั้นจึงต้องขอความร่วมมือจากผู้ลงทุนในการทำแบบสอบถาม ซึ่งจะได้ประโยชน์ต่อทั้งผู้ลงทุนและเจ้าหน้าที่ผู้ขายหน่วยลงทุน
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า การทำ suitability test เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์ เพราะจะทำให้ทราบถึงความสามารถในการรับความเสี่ยงของลูกค้า จึงสามารถให้คำแนะนำที่สอดคล้องกับระดับความเสี่ยง รวมทั้งมีข้อมูลที่จะนำไปพิจารณาออกสินค้าให้ตอบรับความต้องการของผู้ลงทุน ทำให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกที่ตรงกับความต้องการและการจัดการการลงทุนทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นการเสริมสร้างการพัฒนาตลาดทุนให้มีเสถียรภาพ มีความสมดุล และมีความมั่นคงต่อไป
ทั้งนี้ ในส่วนของสภาธุรกิจตลาดทุนเอง จะกลับไปศึกษาแนวทางในการจัดทำศูนย์การในการรวบรวมความเสี่ยงของนักลงทุนทั้งหมดเอาไว้ที่เดียวเช่นเดียวกับเครดิตบูโร เพื่อลดการกรอกข้อมูลซ้ำซ้อนหากผู้ลงทุนรายเดียวต้องลงทุนกับหลายโบรกเกอร์หรือหลาย บลจ. รวมถึงช่องทางในการประเมินความเสี่ยงผ่านระบบอิเล็คทรอนิกส์ด้วย