xs
xsm
sm
md
lg

ความสุข

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

วันก่อนลูกศิษย์วชิราวุธมาหา บอกว่าจบไป 3 ปีแล้ว อยากทำหนังสือรุ่น จึงขอสัมภาษณ์ผม ลูกศิษย์สองคนนี้คนหนึ่งกำลังเรียนปริญญาโทอยู่ที่ออสเตรเลีย อีกคนหนึ่งเพิ่งจบหมอไปทำงานที่ด่านซ้าย จังหวัดเลย เมื่อพบกันก็อดพูดถึงความหลังไม่ได้ โดยเฉพาะสิ่งดีๆ ที่เขาได้รับเมื่ออยู่โรงเรียนที่เขาจำได้ดีคือ การที่มีปาฐกถาเชิญคนมาพูดเดือนละครั้ง มีคราวหนึ่งที่อมาตยา เซ็น มาพูด คนที่เรียนอยู่ออสเตรเลียเล่าว่า มีเพื่อนชาวสิงคโปร์ที่นิยมนับถืออมาตยา เซ็น มาก เขาไม่เชื่อว่า อมาตยา เซ็น มาพูดที่โรงเรียน

ที่วชิราวุธมีผู้ได้รับรางวัลโนเบลมาพูด 2 คนแล้ว คนแรกคือ รพินทร นาถะกอร์ เมื่อปี พ.ศ. 2477 และต่อมาคือ อมาตยา เซ็น สมัย พ.ศ. 2472 “ครูเจ้าคุณ” (พระยาปรีชานุสาส์น) เป็นผู้เชิญมา ครั้งที่อมาตยา เซ็น มาพูดก็ด้วยความอนุเคราะห์ของคุณอานันท์ ปันยารชุน บุตรชายท่าน

นอกจากนั้นก็ยังมี Edward de Bono และคนอื่นๆ รวมทั้ง สนธิ ลิ้มทองกุล ด้วย เวลานั้นสนธิ ยังไม่มีบทบาททางการเมือง พวกลูกศิษย์หวนระลึกไปแล้วก็ตื่นเต้น ตอนนั้นพวกเขาเพิ่งอยู่ ม.1 เท่านั้น การที่มารำลึกถึงเรื่องเก่าๆ ก็เพราะเขานึกได้ว่า เมื่อเขายังเล็ก โรงเรียนให้อะไรต่อมิอะไรเขามาก อย่างน้อยพวกเขาก็ยังนึกถึงครูดีๆ ที่เขาชื่นชอบ แม้ในปัจจุบันก็ยังมีการติดต่อกับครูอยู่ วันที่มาพบผม ครูก็มาด้วย

เป็นเรื่องแปลกที่ครูที่เด็กชื่นชอบ จำคำสอนได้ และมีความผูกพันต่างก็ไม่ได้เรียนจบครุศาสตร์สักคน แต่นักเรียนชอบมาก ไม่ว่าจะเป็น “ครูป้าต่าย” หรือ “ครูนุ้ย” ตลอดจนครูฝรั่ง (Dr.Nyle) นักเรียนที่ผ่านครูเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เติบโตขึ้นเป็นเด็กช่างอ่าน ช่างคิด และมีความเห็นดีๆ ทั้งนั้น

วันนั้น เขาบอกว่าอยากทำหนังสือรุ่นให้แหวกแนวออกไป หนังสือรุ่นส่วนใหญ่จะคล้ายๆ กัน และมีความเป็นทางการ รูปครูก็ถ่ายหน้าตรงไม่ยิ้ม เขาจึงอยากทำหนังสือรุ่นที่เต็มไปด้วยความสุข อยากถ่ายรูปผมที่ยิ้มกว้างๆ และเรื่องที่จะเป็นแนวของหนังสือก็คือ “ความสุข”

เขาถามผมว่า “ความสุข” ในทัศนะของผมคืออะไร ผมตอบว่า “คือการที่ได้ทำในสิ่งที่ตนชอบ” การที่จะทำสิ่งนี้ได้ ก็จะต้องรู้จักตนเองเสียก่อน ว่าเราคือใคร เราต้องการอะไรในชีวิต ผมเพิ่มเติมว่า แต่บางครั้ง เราก็ต้องรู้จักรอคอย ไม่แสวงหาความสุขแบบเร็วๆ หรือชั่วคราว ชั่วแล่น เราต้องรู้จักอดทน อดกลั้น อย่างที่สุภาษิตโบราณบอกว่า “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน”

ลูกศิษย์บอกว่า จริงครับ แต่บางทีเราก็ไม่ได้ทำสิ่งที่เราชอบ มีคนหนึ่งตอนอยู่โรงเรียนชอบทำหนังมาก ก่อนผมจะออกมา เขาทำหนังเกี่ยวกับตัวผม เป็นหนังสั้นๆ เพื่อนเล่าว่า พอจบก็มุ่งเข้าไปเรียนคณะนิเทศศาสตร์ ตั้งใจไปสร้างหนังเต็มที่ ไปๆ มาๆ ก็ต้องเป็นประธานรุ่น ทำโน่นทำนี่ให้เพื่อนๆ จึงอดทำหนัง ผมก็บอกว่าไม่เป็นไร เพราะในบั้นปลายก็จะทำในสิ่งที่ตนอยากทำจนได้

ผมอยู่มาหลายสิบปีแล้ว นับว่าผ่านชีวิตมามาก มีทั้งทุกข์และสุข บางคนเห็นว่าความสุขที่แท้จริงไม่มี มีแต่ทุกข์น้อยเท่านั้น ที่ไม่มีความทุกข์เลยเห็นจะยาก ดังนั้น ความทุกข์และความสุขจึงเป็นสิ่งสัมพันธ์ เป็นระดับของทุกข์มาก-ทุกข์น้อยเท่านั้นเอง

พระท่านว่า “อโรคา ปรมา ลาภา” ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ ก็จริง ผมเคยมีความทรมานมาก ตอนอายุ 40 ตอนนั้นไปสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ผมเล่นเทนนิส วันหนึ่งเกิดปวดเท้าก็เลยนึกว่าเพราะเล่นเทนนิส ปรากฏว่าเป็นเก๊าท์ เดินไม่ได้ และโรคเก๊าท์ก็กำเริบเป็นระยะๆ กว่าจะหายก็กินเวลาหลายปี

การเรียนหนังสือเป็นช่วงเวลาที่สบายกว่าตอนทำงาน เพราะเด็กๆ ก็ไม่ค่อยเรียน เล่นกีฬา และยั่วเย้ากระเซ้าแหย่เพื่อนเสียมากกว่า ตอนเรียนปริญญาตรีจึงลำบากมาก ผมสอบตกหนึ่งปี เวลานี้ก็ยังฝันเป็นระยะๆ บางทีฝันว่ากลับไปเรียนปริญญาตรีใหม่ ในฝันก็รู้ว่าเราจบปริญญาเอกแล้ว แต่ก็มาเรียนปริญญาตรี แล้วก็ฝันว่าทำคะแนนไม่ดี ตกอยู่วิชาหนึ่ง แม้จะเรียนปีสุดท้ายแล้ว วิชาบังคับก็ยังไม่ผ่าน แสดงว่า ความกลัวมันฝังใจจริงๆ

พูดถึงความสุข ผมเพิ่มเติมว่า คือ “ความสามารถที่จะเลือกได้” และก็มีทางเลือกหลายๆ ทางได้ ดังนั้น ผมจึงคิดว่าในการเรียนรู้นั้น ต้องเปิดโอกาสให้เด็กเลือกได้หลายๆ อย่าง ที่วชิราวุธจึงมีกิจกรรมมากมายหลายสิบอย่างให้เด็กเลือก เด็กทุกคนก็มีความสุข เพราะมีการบังคับน้อยมาก แต่บางคนก็เห็นว่ามากเกินไป บางคนคิดว่าระบบการเรียน ควรมีระเบียบวินัย เด็กจะเลือกโน่นเลือกนี่ไม่ได้

คนที่ไม่มีทางเลือกเลย จะมีความสุขไปได้อย่างไร เคล็ดลับของชีวิตก็คือ เมื่อเราคิดว่าเราเป็นนายของชะตากรรม เราก็เลือกชีวิตเอง แล้วรับผิดชอบในผลที่ตามมา ความคิดเช่นนี้ บางทีเรียกว่า ปรัชญา Existentialism

ผมเปิดโอกาสให้ลูกมีทางเลือกมากๆ แต่สังเกตว่า เด็กสมัยนี้ (รวมทั้งลูกๆ ผมด้วย) ชอบแสวงหาความสุขระยะสั้นๆ ดูได้จากการไปเที่ยว ยอมเสียเงินมากๆ และเลือกทำงานที่ตนชอบ โดยเฉพาะลูกสาวชอบทำงานที่มีอิสระ ทำอยู่บ้าน และเลือกลูกค้าที่จะทำงานด้วย บางทีไปเขียนคอลัมน์ให้นิตยสารที่มีชื่อ ซึ่งทางคนทำคิดว่าใครๆ ก็อยากไปเขียน วันหนึ่งทางนิตยสารบอกว่า เวลาไปสัมภาษณ์ หรือไปถ่ายรูปร้านอะไรมา ก็ไม่ต้องเขียนระบุชื่อร้านไว้ ลูกสาวผมรับไม่ได้ก็เลยเลิกเขียน แต่เขามีทางเลือก เพราะเขาสามารถเขียนให้นิตยสารเล่มอื่นๆ ได้

สิ่งที่เราต้องอดทนเพราะเลือกไม่ได้ หรือแม้จะมีทางเลือก แต่ผลก็เหมือนเดิม ก็คือนักการเมือง และการเมืองไทยเรา ทำอย่างไรได้นอกจากต้องยอมทนไป โดยใช้ความอดกลั้น อดทนมากๆ เท่านั้นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น