ครั้งที่ 17/ตอนจบ
การป้องกันความผิดพลาด
5.3 การป้องกันความผิดพลาด ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ผู้ปฏิบัติต้องอาศัยกัลยาณมิตรคือครูบาอาจารย์ที่รู้จริง และ/หรือมีโยนิโสมนสิการ แต่ในยุคนี้เมื่อพระพุทธเจ้าไม่ได้ดำรงพระชนม์อยู่ให้เราทูลถามได้แล้ว ก็ไม่มีผู้ใดยืนยันได้ว่า ท่านผู้ใดเป็นกัลยาณมิตรผู้รู้จริงและประกอบด้วย เมตตากรุณาอันบริสุทธิ์ เราก็ได้แค่คาดเดาด้วยจิตของคนที่ยังมีกิเลสอยู่ว่า ท่านผู้นั้นผู้นี้น่าจะเป็นผู้รู้จริง ซึ่งถ้าเราเดาผิด หลงเดินตามท่านที่ยังหลงผิดอยู่ การปฏิบัติของเราก็จะต้องเตลิดเปิดเปิงออกนอกลู่นอกทาง ตามอาจารย์ไปอย่างแน่นอน ดังนั้นไม่ควรน้อมใจเชื่ออาจารย์ให้มากนัก แต่ควรศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้แจ่มชัด แล้วอาศัยการพิจารณาอย่างแยบคายไปตรวจสอบคำสอนของอาจารย์ และสังเกตตรวจสอบการปฏิบัติของตนด้วยว่า ถูกตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่ ทั้งนี้ ถ้าการปฏิบัติใดถูกตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงในจิตใจตนเอง ที่จะมีอินทรีย์แก่รอบขึ้นตามลำดับ แต่ถ้าปฏิบัติไปนานๆ ด้วยความพยายามตามสมควรแล้ว ไม่เห็นพัฒนาการในตนเองที่พออุ่นใจได้ ก็พึงตั้งข้อสังเกตไว้ว่า สิ่งที่ตนปฏิบัติอยู่นั้นอาจจะไม่ถูกต้องก็ได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะ (1) อาจารย์สอนผิด หรือ (2) อาจารย์สอนถูก แต่ตนปฏิบัติผิด จนจิตไปติดข้องลุ่มหลงอยู่กับสภาวะอันใดอันหนึ่งโดยไม่รู้ตัว หรือ (3) อาจารย์สอนถูกและตนปฏิบัติถูก แต่ยังย่อหย่อนความเพียร หรืออินทรีย์ยังไม่แก่รอบพอที่จะเกิดมรรคผล ก็ได้
การปฏิบัติที่ถูกต้องจะช่วยลดละอกุศล ลงได้โดยไม่ต้องฝืนใจมากนัก และทำกุศลให้เจริญขึ้นตามลำดับโดยไม่ต้องพยายามมากนัก ทั้งกุศลที่เจริญขึ้น ก็ต้องเป็นกุศลที่ประกอบด้วยสติปัญญา ไม่ใช่ความงมงาย หรือมีกิเลสซ่อนอยู่เบื้องหลัง ทั้งนี้กุศลที่จะเจริญขึ้นตามลำดับได้แก่
5.3.1 ผู้ปฏิบัติถูกต้อง จะมีสติ ซึ่ง ผู้เขียนมักจะเรียกว่า 'ตื่น' และได้รับความสุขในปัจจุบันเพราะความมีสตินั้น ทำให้จิตเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน หากปฏิบัติแล้วเครียดมากขึ้นทุกที แสดงว่าทำผิดแน่นอน
5.3.2 ผู้ปฏิบัติถูกต้อง จะมีความละอายต่อการทำชั่ว และเกรงกลัวต่อผลของบาป
5.3.3 ผู้ปฏิบัติถูกต้อง จะมีความสมบูรณ์แห่งศีล 5 ดีขึ้นตามลำดับ เรื่องศีล 5 นี้เป็นศีลที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นองค์ประกอบของอริยมรรค กล่าวคือศีลข้อ 1 ข้อ 2 และ ข้อ 3 เป็นองค์ธรรมของสัมมากัมมันตะ ศีลข้อ 4 เป็นองค์ธรรมของสัมมาวาจา และศีลข้อ 5 เป็นเครื่องสนับสนุนสัมมาสติ ดังนั้นศีล 5 จึงเป็นศีลที่จำเป็นที่สุด ส่วนศีลที่มากกว่านั้นเป็นเครื่องช่วยบรรเทาความพัวพันในกาม
5.3.4 ผู้ปฏิบัติถูกต้อง จะได้ความ ตั้งมั่นของจิตหรือสัมมาสมาธิ
5.3.5 ผู้ปฏิบัติถูกต้อง จะได้สัมมาทิฐิ เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น และเข้าใจธรรม
5.3.6 ผู้ปฏิบัติถูกต้อง จะได้ความเบาบางจางคลายจากความยึดถือทั้งหลาย
5.3.7 ผู้ปฏิบัติถูกต้อง จะถึงความหลุดพ้นจากความยึดถือในรูปนามและสิ่งทั้งปวง
5.3.8 ผู้ปฏิบัติถูกต้อง จะได้ความรู้เกี่ยวกับธรรมแห่งความหลุดพ้นคือนิพพาน
ขอฝากให้เพื่อนนักปฏิบัติสำรวจพัฒนาการทางจิตใจของตนเองทุกๆ ไตรมาส ถ้าไม่มีพัฒนาการเลย หรือเกิดความเสื่อมถอยมากขึ้นทุกทีๆ ก็จำเป็นต้องตรวจสอบว่าเกิดจากอะไร เช่นมีภาระหมกมุ่นทางโลกมากจนไม่มีเวลาและกำลังที่จะปฏิบัติหรือไม่ ศีลบกพร่องหรือไม่ เรียนรู้จิตใจตนเองน้อยเกินไปหรือไม่ ขาดการปฏิบัติในรูปแบบและการทำความสงบสุขทางใจหรือไม่ ฟุ้งซ่านในธรรมหรือไม่ และไปติดในภพของนักปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งเช่นความนิ่งความว่างหรือไม่ เป็นต้น หากตรวจสอบไม่ได้ หรือตรวจสอบแล้วไม่แน่ใจ ก็ต้องขวนขวายศึกษาจากครูบาอาจารย์ที่รู้จริง ซึ่งก็หาได้ยากเหลือเกิน
(จบบริบูรณ์)
การป้องกันความผิดพลาด
5.3 การป้องกันความผิดพลาด ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ผู้ปฏิบัติต้องอาศัยกัลยาณมิตรคือครูบาอาจารย์ที่รู้จริง และ/หรือมีโยนิโสมนสิการ แต่ในยุคนี้เมื่อพระพุทธเจ้าไม่ได้ดำรงพระชนม์อยู่ให้เราทูลถามได้แล้ว ก็ไม่มีผู้ใดยืนยันได้ว่า ท่านผู้ใดเป็นกัลยาณมิตรผู้รู้จริงและประกอบด้วย เมตตากรุณาอันบริสุทธิ์ เราก็ได้แค่คาดเดาด้วยจิตของคนที่ยังมีกิเลสอยู่ว่า ท่านผู้นั้นผู้นี้น่าจะเป็นผู้รู้จริง ซึ่งถ้าเราเดาผิด หลงเดินตามท่านที่ยังหลงผิดอยู่ การปฏิบัติของเราก็จะต้องเตลิดเปิดเปิงออกนอกลู่นอกทาง ตามอาจารย์ไปอย่างแน่นอน ดังนั้นไม่ควรน้อมใจเชื่ออาจารย์ให้มากนัก แต่ควรศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้แจ่มชัด แล้วอาศัยการพิจารณาอย่างแยบคายไปตรวจสอบคำสอนของอาจารย์ และสังเกตตรวจสอบการปฏิบัติของตนด้วยว่า ถูกตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่ ทั้งนี้ ถ้าการปฏิบัติใดถูกตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงในจิตใจตนเอง ที่จะมีอินทรีย์แก่รอบขึ้นตามลำดับ แต่ถ้าปฏิบัติไปนานๆ ด้วยความพยายามตามสมควรแล้ว ไม่เห็นพัฒนาการในตนเองที่พออุ่นใจได้ ก็พึงตั้งข้อสังเกตไว้ว่า สิ่งที่ตนปฏิบัติอยู่นั้นอาจจะไม่ถูกต้องก็ได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะ (1) อาจารย์สอนผิด หรือ (2) อาจารย์สอนถูก แต่ตนปฏิบัติผิด จนจิตไปติดข้องลุ่มหลงอยู่กับสภาวะอันใดอันหนึ่งโดยไม่รู้ตัว หรือ (3) อาจารย์สอนถูกและตนปฏิบัติถูก แต่ยังย่อหย่อนความเพียร หรืออินทรีย์ยังไม่แก่รอบพอที่จะเกิดมรรคผล ก็ได้
การปฏิบัติที่ถูกต้องจะช่วยลดละอกุศล ลงได้โดยไม่ต้องฝืนใจมากนัก และทำกุศลให้เจริญขึ้นตามลำดับโดยไม่ต้องพยายามมากนัก ทั้งกุศลที่เจริญขึ้น ก็ต้องเป็นกุศลที่ประกอบด้วยสติปัญญา ไม่ใช่ความงมงาย หรือมีกิเลสซ่อนอยู่เบื้องหลัง ทั้งนี้กุศลที่จะเจริญขึ้นตามลำดับได้แก่
5.3.1 ผู้ปฏิบัติถูกต้อง จะมีสติ ซึ่ง ผู้เขียนมักจะเรียกว่า 'ตื่น' และได้รับความสุขในปัจจุบันเพราะความมีสตินั้น ทำให้จิตเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน หากปฏิบัติแล้วเครียดมากขึ้นทุกที แสดงว่าทำผิดแน่นอน
5.3.2 ผู้ปฏิบัติถูกต้อง จะมีความละอายต่อการทำชั่ว และเกรงกลัวต่อผลของบาป
5.3.3 ผู้ปฏิบัติถูกต้อง จะมีความสมบูรณ์แห่งศีล 5 ดีขึ้นตามลำดับ เรื่องศีล 5 นี้เป็นศีลที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นองค์ประกอบของอริยมรรค กล่าวคือศีลข้อ 1 ข้อ 2 และ ข้อ 3 เป็นองค์ธรรมของสัมมากัมมันตะ ศีลข้อ 4 เป็นองค์ธรรมของสัมมาวาจา และศีลข้อ 5 เป็นเครื่องสนับสนุนสัมมาสติ ดังนั้นศีล 5 จึงเป็นศีลที่จำเป็นที่สุด ส่วนศีลที่มากกว่านั้นเป็นเครื่องช่วยบรรเทาความพัวพันในกาม
5.3.4 ผู้ปฏิบัติถูกต้อง จะได้ความ ตั้งมั่นของจิตหรือสัมมาสมาธิ
5.3.5 ผู้ปฏิบัติถูกต้อง จะได้สัมมาทิฐิ เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น และเข้าใจธรรม
5.3.6 ผู้ปฏิบัติถูกต้อง จะได้ความเบาบางจางคลายจากความยึดถือทั้งหลาย
5.3.7 ผู้ปฏิบัติถูกต้อง จะถึงความหลุดพ้นจากความยึดถือในรูปนามและสิ่งทั้งปวง
5.3.8 ผู้ปฏิบัติถูกต้อง จะได้ความรู้เกี่ยวกับธรรมแห่งความหลุดพ้นคือนิพพาน
ขอฝากให้เพื่อนนักปฏิบัติสำรวจพัฒนาการทางจิตใจของตนเองทุกๆ ไตรมาส ถ้าไม่มีพัฒนาการเลย หรือเกิดความเสื่อมถอยมากขึ้นทุกทีๆ ก็จำเป็นต้องตรวจสอบว่าเกิดจากอะไร เช่นมีภาระหมกมุ่นทางโลกมากจนไม่มีเวลาและกำลังที่จะปฏิบัติหรือไม่ ศีลบกพร่องหรือไม่ เรียนรู้จิตใจตนเองน้อยเกินไปหรือไม่ ขาดการปฏิบัติในรูปแบบและการทำความสงบสุขทางใจหรือไม่ ฟุ้งซ่านในธรรมหรือไม่ และไปติดในภพของนักปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งเช่นความนิ่งความว่างหรือไม่ เป็นต้น หากตรวจสอบไม่ได้ หรือตรวจสอบแล้วไม่แน่ใจ ก็ต้องขวนขวายศึกษาจากครูบาอาจารย์ที่รู้จริง ซึ่งก็หาได้ยากเหลือเกิน
(จบบริบูรณ์)