xs
xsm
sm
md
lg

มองปัญหาด้วยปัญญา:

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การที่จักสะสมอบรมบารมีธรรมร่วมกัน
อันดับแรกต้องมีความเห็นตรงกัน
มีการกระทำร่วมกัน และมีไมตรีต่อกัน
จึงจักถือว่าเป็นการสร้างสัมพันธภาพอันดีต่อกัน
ทางจิตวิญญาณและพฤติกรรม

ปุจฉา
ระบบผูกพันทางจิตวิญญาณ


ลูกเคยได้ยินหลวงปู่เคยสอนว่า คนที่มีบารมีธรรมร่วมกันนั้นไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ต้องมาเจอกัน ลูกขอเมตตาหลวงปู่ชี้แนะระบบความผูกพันทาง จิตวิญญาณดังกล่าวว่า มีการสร้างสมอย่างไร ? มีระยะเวลายาวนานขนาดไหน ? มีวิถีทางที่จะพัฒนาขึ้นได้หรือไม่

วิสัชนา

'การที่จักสะสมอบรมบารมีธรรมร่วมกัน อันดับแรกต้องมีความเห็นตรงกัน มีการกระทำร่วมกันและมีไมตรีต่อกัน เช่นนี้จึงจักถือว่าเป็นการสร้างสัมพันธภาพอันดีต่อกันทางจิตวิญญาณและพฤติกรรม ถามว่าต้องทำเป็นระยะยาวนานขนาดไหน อันนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับคุณว่า คุณจักมีความประสงค์จักสมาคมกับเขาให้อยู่ในระดับไหน ถ้าเพียงแค่พอให้เห็นหน้า พูดคุยและทำความรู้จัก ก็มิต้องใช้เวลาในการสั่งสมบารมีร่วมกันมากนัก แค่มีโอกาสทำร่วมกัน เช่นนี้ก็ถือว่าสำเร็จประโยชน์ แต่ถ้าปรารถนาจะคบหาสมาคมกัน ให้อยู่ในระดับแนบแน่น ดังนี้ก็ต้องสร้างบารมีร่วมกันบ่อยๆ มากๆ และต้องด้วยอาการ 3 อย่างดังกล่าวมาแล้ว เป็นเช่นนี้ก็ถือได้ว่าเป็นการพัฒนาสัมพันธภาพแก่กันและกันให้แนบแน่นเจริญ'

ปุจฉา
บริสุทธิ์โดยไม่ต้องปลงอาบัติ


ขออนุญาตขอความรู้จากหลวงปู่ค่ะ พระที่บรรลุโสดาบันจะมีศีล 227 ข้อบริสุทธิ์ไหมคะ ? ศีล 5 บริสุทธิ์นั้นทราบแล้วค่ะ แต่พระอริยะระดับไหนคะที่จะมีศีล 227 ข้อบริสุทธิ์โดยไม่ต้องปลงอาบัติอีกเลย คงต้องถึงขั้นพระอรหันต์ใช่ไหมคะ ?

วิสัชนา

'ผู้ที่จักบรรลุพระอริยบุคคลเบื้องต้นขั้นพระโสดาบัน นอกจากจะบริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยศีลแล้ว ยังจะต้องสลัดตัดให้หลุดจากเครื่องร้อยรัด 3 อย่างที่เรียกว่า สังโยชน์ 3 ได้แก่

สักกายทิฏฐิ 1 ความเห็นว่ามีตัวมีตน ถือตัวถือตน สีลัพพตปรามาส 1 ความยึดมั่นใน ศีลพรตของตนเองด้วยอำนาจกิเลส โดยคิดว่าศีลพรตที่ มีดีกว่าผู้อื่น วิเศษกว่าผู้อื่น จนกลายเป็นความงมงาย

วิจิกิจฉา 1 ความลังเลสงสัยในกฎของกรรม ความลังเลสงสัยวิถีปฏิบัติตามมรรคาปฏิปทา (ทางสายกลาง)

พระอรหันต์ย่อมมีศีล ทั้งปวงบริสุทธิ์ แต่ก็มิใช่ห้ามปลงอาบัติ ดูตัวอย่างพระอานนท์ ท่านบรรลุพระอรหันต์แล้ว แต่พระสงฆ์ทั้งหลายยังปรับอาบัติทุกกฎท่านในฐานะ ไม่ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า อาบัติอะไรที่พระองค์ทรงสั่งให้ยกเลิก พระอานนท์เลยยอมทำตามมติสงฆ์ ด้วยเห็นความเจริญของหมู่สงฆ์'

ปุจฉา
เมื่อไรจะรู้ปรมัตถ์
ถ้ามัวแต่กำหนดสมมติ
บัญญัติรอบกาย?


ขออนุญาตถามค่ะ มีธรรม เทศนาตอนหนึ่งว่าอาจารย์ท่านหนึ่งทดสอบลูกศิษย์ให้ขึ้นบันไดหลายขั้น แล้วถามว่าขั้นที่ 37 มีอะไร ตอบไม่ได้ก็กลับไปฝึกใหม่ ตามมหาสติปัฏฐาน ท่านให้ฝึกจิตให้รู้ในกาย... เวทนา... จิต... ธรรมให้ตั้งสติอยู่ในฐานกาย ขึ้นบันไดก็ให้รู้กายที่ไหวไป รู้สึกตึงไหวที่กายล่าง สัมผัสแข็ง ก็ปรากฏที่ปลายของกาย สูงขึ้นๆ ก็อาจมีเวทนาที่กาย แต่นี่ให้รู้สิ่งปรากฏรอบนอกกายว่ามีอะไร เห็นอะไร อย่างตอนหนึ่งของเซน ก็ให้รู้ว่าถอดรองเท้าข้างไหนของ ประตู นั่นเหมือนถามว่าสัญญาขันธ์เก็บข้อมูลได้ดีแค่ไหน แล้วเมื่อไรจะรู้ปรมัตถ์ ถ้ามัวแต่กำหนดสมมติบัญญัติรอบกาย?

วิสัชนา

'ฟังคำถามของคุณแล้วน่าจะเป็นผู้คงแก่เรียนและคงจะรู้มากไม่ใช่น้อย ช่างน่าสรรเสริญ จริง อาตมาเป็นผู้ศึกษามาน้อย ได้แต่เข้าใจเอาเองว่า วิถีแห่งพุทธะนั้นเป็นวิถีแห่งความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ในวิถีงาน วิถีพูด วิถีคิด วิถีจิต วิถีชีวิต ต้องรู้รอบ ทั้งสมมติบัญญัติและปรมัตถ์สัจจะ นั่นถึงจะสมกับคำว่า ปัญญาคือแสงสว่างในโลก จักมี ประโยชน์อะไรเล่าถ้าปัญญานั้นมีเอาไว้ส่องดูแต่ตัวของเรา แต่รอบข้างกายมิได้รู้เลยว่าอะไรได้เปลี่ยนแปลงไป ดังคำพูดที่ว่า ทัพพีคนแกง หาได้รู้รสแกงที่คนไม่'

ปุจฉา
จิตกับใจแยกจากกันได้อย่างไร


มีคำถามจะฝากนมัสการเรียนถามหลวงปู่เกี่ยวกับธรรมะข้อหนึ่งค่ะ 'เชื่อว่าจิต กับใจแยกจากกันได้จริง (ไม่ใช่ตอนตาย หมายถึงตอนที่ยังมีลมหายใจอยู่) ทำได้อย่างไร เช่นเวลาที่กายเจ็บป่วยแล้วใจก็เศร้าหมอง เราจะมีทางระงับได้อย่างไรเพื่อไม่ให้กายเป็นนายของใจ?

วิสัชนา

'จริงๆ แล้วคำถามถามค่อนข้างจะสับสน ก่อนที่จะมาพูดถึงเรื่องจิตกับใจแยกกันได้จริงหรือไม่ หลายคนอาจจะสงสัยว่าอะไรคือจิต และอะไรคือใจ จิตในภาษาธรรมะ วิชาการ ศาสนา เขาเรียกมันเป็นสภาวธรรม จิตนี้เป็นสภาวธรรม ไม่มีรูปร่างแต่ต้องการที่อยู่ ธรรมชาติของจิตคือมีความซึมสิง ซึมทราบ มีตัวรู้ เมื่อจิตไม่มีรูปร่างต้องการที่อยู่ มีคุณสมบัติคือรับรู้อารมณ์ รับรู้สภาวธรรม ที่อยู่ของจิตก็คือกายนี้ ส่วนใจ หรือภาษาบาลีหรือภาษาวิชาการศาสนา เขาเรียกว่า หะทะยัง หรือหัวใจ มีสัณฐานกลมเหมือนดอกบัวตูมใหญ่เล็กเท่าเจ้าของกับกำปั้นของคนคนนั้น รูปร่างจะใหญ่โตเท่ากับกำปั้นของผู้เป็น เจ้าของใจใจนั้น ใจนี้มีหน้าที่สูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงร่างกาย เหมือนโรงงานสูบน้ำ เพราะฉะนั้นจิตอิงอาศัยกายและใจนี้ โดยภาษาธรรมะแล้ว จิตนี้เปรียบ ดั่งพลังงานมีอำนาจเหนือการควบคุมของสมอง สำหรับผู้ไม่ได้รับการฝึกปรือ แต่ถ้าผู้ควบคุม แล้วคือฝึกปรือแล้ว ก็สามารถควบคุมจิตนี้ให้ดำรงตั้งมั่น หรือแยกออกจากกายและใจนี้ได้ การควบคุมหรือการฝึกปรืออันนั้นก็ได้มาจากการเจริญสติและทำให้สติตั้งมั่น เมื่อสติตั้งมั่นอยู่ในจิตนี้แล้ว เราก็จะควบคุมจิตนี้ได้ไม่ให้รับความรู้สึกจากเวทนาที่ปรากฏทางใจ หรือเวทนาที่ปรากฏทางกาย คำถามที่ถามว่า ทำอย่างไรที่จะแยกจิตออกจากใจ ก็คือ ต้องฝึก ต้องมีสติ ฝึกให้จิตนี้ปรากฏสติทุกดวงที่เกิดดับ จนเป็นความชำนาญสามารถแยกจิตออกจากใจได้ เมื่อจิตออกจากใจก็คือเหมือนกับจิตที่ออกจากกาย กายตรงไหนที่เป็นทุกข์เดือดร้อน เช่นปวดขา ปวดมือ ปวดหัว ปวดท้อง อาการปวดเป็นเวทนา เมื่อจิตนี้สามารถแยกออกจากใจได้ก็คือไม่รับรู้อารมณ์ที่ปรากฏขึ้น เวทนานั้นก็จะไม่มีอำนาจ คือจะไม่มีอำนาจครอบคลุมกายนี้ มีเรื่องอยากจะบอกคุณอีกนิดหนึ่งว่า โดยธรรมชาติของกาย มีสมองเป็นผู้ควบคุมการทำงานของกาย มีใจทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงสมอง มีจิตเป็นผู้ควบคุมการทำงานของสมอง ใจ กาย จิตจะทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ในและนอกกายนี้ เมื่อฝึกจิตดีแล้ว กายนี้ก็ย่อมไม่มีอิทธิพลต่อจิต'

ปุจฉา
สติควบคุมจิต


หลวงปู่สอนไว้ว่าให้ใช้สติควบคุมจิต เหมือนประตูหน้าต่าง แสดงว่าอารมณ์ต่างๆ เช่น โทสะ โมหะ จะต้องเกิดขึ้นก่อนแล้วสติ ค่อยกำกับทีหลัง มีข้อยกเว้นสำหรับพระอรหันต์ที่ยังอยู่ในสังคมไม่ใช่อยู่ในป่า (สมมติว่ามี) หรือไม่ คือ จิตจะไม่เกิดอารมณ์ ต่างๆ ที่ไม่ดีเลย หรือว่ามีอารมณ์ เหมือนกันแต่สติตามได้ทันตลอดเวลา

วิสัชนา

'ก่อนอื่นคุณต้องเข้าใจก่อนว่าโทสะนั้นมีอยู่เดิม แต่บุคคลผู้รับโทสะหามีไม่ โมหะนั้นมีอยู่เดิม บุคคลผู้รับโมหะนั้นหามีไม่ ราคะนั้นมีอยู่เดิม แต่บุคคลผู้รับราคะนั้นมีอยู่ไม่ เมื่อโทสะ โมหะ ราคะ มันมีอยู่เดิมแล้วเราไม่มี ก็คือตัวเราจริงๆ ไม่มี แต่ที่เราเข้าไปรับมัน ก็ เพราะเราไปปรุงแต่งว่าตัวเรามีแล้วเรารับมันเข้ามาใช้ประโยชน์ ราคะ โทสะ โมหะ เป็นสิ่งที่มีอยู่ในโลกเดิมก่อนที่คุณจะเกิด ทีนี้เมื่อมันมีอยู่เดิม คุณเกิดมาหน้าที่ของคุณก็คือเพียงแค่ระวังอย่าให้ไปเปื้อน อย่าให้ไปแปดเปื้อน อย่าให้มันมีอำนาจ มาทำให้จิตวิญญาณของคุณขุ่นมัวเท่านั้นเอง สติก็เป็นตัวกางกั้น สติทำหน้าที่หรือมีหน้าที่ที่จะเปิดปิดประตูแห่งใจคุณว่า อะไรควรรับ อะไรไม่ควรรับ นี่เรียกว่า ราคะ โทสะ โมหะ ที่เป็น ทุนเดิมของโลกมีอยู่แล้ว ส่วนราคะ โทสะ โมหะที่เป็นทุนเดิมของกรรม หรือพิธีกรรม หรือ จิตวิญญาณของคุณ ที่เป็น ทุนเดิม เรียกว่า โลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต ก็คือคุณเกิด มาจาก ราคะ โทส โมหะ ที่เป็น มูลเดิมของจิตวิญญาณคุณที่สั่งสมอบรมมาแต่อดีตชาติ ที่เรียกว่าอนุสัย เมื่อสั่งสมอบรมมา แต่เก่าก่อนแล้ว สิ่งเหล่านี้ หน้าที่ของคุณ เกิดเป็นคนต้องชำระล้าง ละตัดให้หลุด อย่าปล่อยให้มันมาฉุดเราอยู่ รวมๆ ก็คือ ราคะ โทสะ โมหะ มีทั้งภายใน ก็คือจิตเดิมของคุณมีมาเก่า และมีทั้งภายนอกก็คือมีอยู่ในโลกนี้แล้ว มันจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ประตูหน้าต่างมีเอาไว้สำหรับป้องกันพายุข้างนอก แต่ไม้กวาด ผ้าขี้ริ้ว ผ้าเช็ดถู มีสำหรับไว้ป้องกันฝุ่นละอองภายใน ถ้าคุณ มีสองสิ่งนี้ได้ก็ถือว่าคุณมีสติ สมาธิ และปัญญา จะกำจัดสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ของจิตคุณทั้งภายใน และภายนอกได้ ส่วนคำถามที่ถามว่า พระอรหันต์ เป็นผู้ที่เจริญซึ่งสติ สมาธิ และปัญญาแล้ว ก็คือมีทั้งประตูหน้าต่าง และเครื่องกำจัดภายในที่สมบูรณ์ ที่ไม่มีรูรั่ว ที่สามารถป้องกัน ราคะ โทสะ โมหะ หรือภัยพิบัติจากข้างนอกได้แล้ว แล้วก็มีเครื่องดูดฝุ่น มีทั้งผ้าเช็ดพื้น มีทั้งไม้กวาดอันสมบูรณ์ แล้วก็มีพนักงานที่พร้อมที่จะทำลายสิ่งที่เป็นภายในที่เรียกว่าฝุ่นละอองนั้นหมดไปเรียบร้อยแล้ว รวมๆ ก็คือพระอรหันต์ไม่มีมลพิษทั้งภายในหมดแล้ว ภายนอกก็ไม่มีอำนาจเหนือท่านแล้ว พระอรหันต์ไม่ใช่ไม่มีมลภาวะแต่ภายนอก ภายนอกไม่มีสิทธิ์ พระอรหันต์นี่ไม่สามารถที่จะไปทำลายโทสะ โมหะ ราคะ ของโลกได้ ก็บอกแล้วว่ามันมีอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ถ้าจะทำลายก็ต้องวางระเบิดเวลาเผาผลาญโลก หรือไม่ก็ทำลายโลกไป ก็ไม่แน่ใจว่าโลกนี้มันระเบิดแล้วจะหมดราคะ โทสะ โมหะ หรือไม่ เพราะฉะนั้นพระอรหันต์เป็นผู้หมดจาก กิเลสทั้งภายในและไม่ปล่อยให้ภายนอกมามีอำนาจเหนือท่าน ราคะ โทสะ โมหะ ข้างนอกมีอยู่ แต่ไม่ทำให้ท่านต้องเดือดร้อน เท่านั้นเอง'

ปุจฉา
ไหว้พระต้องจุดธูปไหม

การสวดมนต์ไหว้พระ จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องจุดธูป 3 ดอก, 9 ดอก ในเมื่อจุดประสงค์ ของการปฏิบัติคือการเดินตามรอยพระบาทพระพุทธองค์สู่ นิพพาน เหตุใดผู้ปฏิบัติบางคนจึงติดอยู่กับพิธีกรรม หากเราไม่ติดอยู่กับพิธีกรรม เช่นการจุดธูปจุดเทียน แต่เราตั้งมั่นในการฝึกจิตดัดใจกาย เราจะเข้าถึงธรรมะของพระพุทธองค์ได้เท่ากับผู้ที่จุดธูปจุดเทียนหรือไม่

วิสัชนา

'ก็ถูกทั้งสองวิธีคุณ วิถีแห่งการเข้าไปสู่พุทธิภาวะ พุทธิธรรม หรือวิถีแห่งธรรมะ แต่ละคนมีวิถีของตนไม่เหมือนกัน คือแตกต่างกัน บางคนก็ชอบนิยมที่จะเจริญพระพุทธมนต์บทมากๆ ยาวๆ เพื่อทำให้จิตสงบ บางคนก็ชอบที่จะไม่อยากเจริญพระพุทธมนต์ ชอบที่จะนั่งนิ่งๆ เงียบๆ และทำจิตให้ผ่อนคลายปล่อยวาง สบายๆ อยู่กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บางคนก็ชอบที่จะมีพิธีกรรมและพิธีการ จุดธูป จุดเทียน แต่งชุดขาว บูชาพระรัตนตรัย รักษาศีล แล้วจึงจะมาเจริญภาวนา ถามว่าแต่ละวิถีผิดไหม ก็ไม่ได้ผิดอะไรถ้าเขาทำแล้วไม่มีใครเดือดร้อน ขึ้นอยู่กับว่าคุณชอบอะไรก็ทำในสิ่งที่คุณชอบ ทำแล้วคุณไม่เดือดร้อน คนร่วมกระทำกับคุณก็ไม่เดือดร้อน ผู้ดูเขากระทำ ดูเรากระทำก็ไม่เดือดร้อนก็จงทำไปเถอะ ถ้าคุณ มั่นใจว่าการกระทำอันนั้นเพื่อยังให้เกิดความฉลาด สะอาด สว่าง สงบ'
กำลังโหลดความคิดเห็น