xs
xsm
sm
md
lg

จากไชยาสู่มหานคร...การเดินทางของสวนโมกขพลาราม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
     “แม้ตัวท่านไม่อยู่ แต่คำตอบท่านมิได้ตาย ถ้อยคำของท่านจะยังปรากฏแก่ผู้ที่มีดวงตาเข้าใจภาษาคนภาษาธรรม แก่นสารของท่านที่พวกเราแม้อ่านไม่ออกจะกังวานก้องไกลไปอีกหลายศตวรรษข้างหน้าที่จะมาถึง”

     ข่าวคราวการสร้าง 'สวนโมกข์กรุงเทพ' หรือมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ ให้ปรากฏเป็นรูปเป็นร่างขึ้นกลางกรุง ชวนให้นึกถึงผลงานการประพันธ์เชิดชูพุทธทาสภิกขุ โดย เทพสิริ สุขโสภา ที่มีเรื่องราวบางบทตอน บอกเล่าถึงความพยายามของธิดาพญามารและเหล่าบริวารนับ 10 ตน ช่วยกันหิ้วหามชายหนุ่มใกล้ตาย บุกป่าฝ่าดง หลบลี้ผู้คน เฝ้าทนลำบากเพื่อไปให้ถึงยังจุดหมายปลายทาง คือ 'สวนโมกขพลาราม' อันเป็นธรรมสถานซึ่งท่านพุทธทาสภิกขุ จำพรรษาอยู่ เพื่อรับฟังข้อคิดทางธรรมจากท่าน

     แนวความคิดที่ผู้เขียนนิยายถ่ายทอดไว้ เมื่อครั้งวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาล พุทธทาสภิกขุ ทำให้อดนึกขึ้นมาเล่นๆ ไม่ได้ว่า การก่อกำเนิดขึ้นของสวนโมกข์กรุงเทพฯ จะเรียกความสนใจและนำพาผู้ศรัทธาในภาษาธรรมของพุทธทาสภิกขุให้มาเยือนมาชมได้มากน้อยเพียงไร เมื่อเทียบกับสวนโมกขพลารามที่แม้แต่ผู้ดำรงอยู่ในภพภูมิต่างๆ ยังปรารถนาไปเยือน

     แต่ก่อนจะไปรับฟังความเห็นของคนกรุงที่ปรารถนาสถานที่สำหรับพักใจให้สงบเย็น การรับฟังคำบอกเล่าและเป้าประสงค์ในการสร้างสวนโมกข์เมืองหลวง ย่อมถือเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้การถามไถ่ถึงแก่นของสวนโมกขพลาราม และความเป็นพุทธทาสภิกขุ ที่ควรค่าอย่างยิ่ง สำหรับให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา เรียนรู้

     ถ้อยความเหล่านี้ คือหลากทัศนะที่ว่านั้น
               
ยินดีต้อนรับ สู่ 'สวนโมกข์กรุงเทพ'

     “เราจะเก็บรวบรวมผลงานของท่านพุทธทาสทั้งหมดไว้ โดยเฉพาะต้นฉบับ ที่นี่สามารถเก็บรักษาต้นฉบับได้ดีกว่าที่สวนโมกข์ เพราะอากาศไม่ชื้น ไม่มีแมลง โดยเอกสารทั้งหมด และข้อมูลเสียงของท่านพุทธทาสจะถูกนำมาสแกนและแปลงไปอยู่ในรูปแบบของไฟล์ดิจิตอล แล้วขั้นต่อไปเราก็จะนำขอมูลทั้งหมดมาออนไลน์ทางเว็บไซต์ของหอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ โดยจุดมุ่งหมายของการทำหอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ นั้นก็เพื่อให้ประชาชนได้มาศึกษาผลงานของท่านพุทธทาส เผยแผ่งานของท่านออกไปสู่คนรุ่นใหม่และคนหมู่มาก”
     บัญชา พงษ์พานิช กรรมการและเลขานุการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ บอกกล่าวถึงวัตถุประสงค์สำคัญ ก่อนอธิบายเพิ่มเติมถึงเหตุผลของการสร้างสถานที่ดังกล่าวขึ้นในกรุงเทพ

     “เมื่อก่อนการไปสวนโมกข์เป็นเรื่องยาก การสร้างหอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญนั้น จึงตั้งอยู่บนแนวความคิดที่ว่า เป็นการพาสวนโมกข์เข้าหาคนหมู่มาก แล้วเราก็เลือกกรุงเทพเพราะเป็นเมืองใหญ่ นอกจากจะได้เข้าถึงคนส่วนมากแล้ว ยังเพื่อประโยชน์ในการค้นคว้าวิจัยงานของท่านพุทธทาสแก่ผู้ที่ต้องการอีกด้วย”

 
     นอกจากในด้านเอกสารและข้อมูลต้นฉบับแล้ว ในส่วนของรูปแบบการก่อสร้างนั้น ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ ยังได้มีการจำลองลานหินโค้งและสระนาฬิเกร์ อันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของสวนโมกข์เอาไว้ด้วย ดังคำอธิบายที่ว่า
     “หอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญนั้น ถูกเลือกสถานที่สร้างให้อยู่ริมสระน้ำใหญ่ภายในสวนรถไฟอยู่แล้ว เราจึงพยายามปรับให้คล้ายกันกับรูปแบบของสระนาฬิเกซึ่งเป็นปริศนาธรรมเกี่ยวกับนิพพานของท่านพุทธทาสที่สวนโมกข์ โดยมีการนำเอาต้นมะพร้าวมาไว้ ส่วนรูปแบบของสถาปัตยกรรมของหอจดหมายเหตุก็จะยึดเอารูปแบบของโรงมหรศพทางวิญญาณมาสร้าง”

     นอกจากสระนาฬิเกร์ และโรงมหรสพทางวิญญาณแล้ว ที่นี่ยังมีการสร้างลานปฎิบัติธรรม โดยทำเป็นลานหินโค้งและนำภาพจำลองพุทธประวัติแบบสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ที่มีเหมือนกันกับที่สวนโมกข์มาไว้ด้วย โดยเป็นการนำมาเพียงหนึ่งจากในห้าชุดที่ท่านพุทธทาสได้ทำไว้

     จากโครงสร้างดังที่กล่าวมานี้เอง ทำให้คนจำนวนมาก พร้อมขนานนามหอจดหมายเหตุฯ แห่งนี้ว่า 'สวนโมกข์กรุงเทพ'

     กระนั้น ในความเห็นของบัญชา ก็แย้งว่า

     “หอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญไม่ใช่สวนโมกข์ แต่ที่นี่จะเน้นการเป็นแหล่งเรียนรู้ พูดง่ายๆคือสวนโมกข์นั้นจะเป็นในเชิงลึกแต่ที่นี่เป็นเชิงกว้าง เปรียบเทียบได้ดังนี้คือสวนโมกข์เป็นโรงมหรสพทางวิณญาน ส่วนที่นี่เป็นโรงมหรสพทางการศึกษาและวิชาการ”


ทางเลือกของคนกรุง

     หลังจากได้รับรู้ถึงวัตถุประสงค์ของผู้ผลักดันให้เกิดหอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญแล้ว เราก็ลองนำเรื่องราวของสถานที่ดังกล่าว มาถามไถ่กับคนเมืองหลวงดูบ้าง ว่ารู้สึกเช่นไร หากจะมีแหล่งรวบรวมงานเขียนและข้อคิดทางธรรมของพุทธทาสภิกขุ ปรากฏขึ้นในเมืองกรุง

     เริ่มที่ ปณต ประกอบกุล ผู้กำกับหนังโฆษณาอิสระ ซึ่งสนับสนุนเต็มที่ เมื่อทราบว่า กรุงเทพกำลังจะมีสวนโมกข์

     “ไม่รู้ว่าที่เขามาสร้างนี่เป็นสำนักปฏิบัติธรมหรือเปล่า แต่ยังไงมันก็ดีนะ ถึงแม้ว่าในเมืองจะมีวัดเยอะอยู่แล้ว แต่วัดก็อาจจะไม่ใช่ที่สงบจิตสงบใจที่ดี วัดคือศาสนสถาน เพราะว่าในวัดพิธีกรรมมันเยอะ คนที่จิตใจว้าวุ่น ไปวัดจิตใจอาจจะไม่สงบจริง และการไปวัดก็ไปทุกเวลาไม่ได้ แต่ถ้ามีสวนโมกข์เกิดขึ้น อยากไปเมื่อไหร่เราก็ได้ไป"

     นอกจากนี้ ปณตมองว่า เม็ดเงินที่ใช้เป็นต้นทุนในการสร้างสวนโมกข์ที่กรุงเทพนั้น คุ้มค่าเสียยิ่งกว่าคุ้ม

     “การสร้างอย่างอื่นก็ใช้เงินเยอะเหมือนกัน การไปทำสวนสาธารณะสักที่ก็น่าจะใช้เงินไม่หนีกันเท่าไหร่ แต่ถ้าสิ่งที่จะสร้างขึ้นนี่ ทำให้คนสักคนสองคนจิตใจสงบขึ้นก็คุ้มแล้ว ในกรุงเทพ ห้างฯมีเป็นร้อย ทางเลือกอื่นๆ มีไม่มาก ห้องสมุดอย่าง TCDC ก็มีแล้ว ถ้าจะมีอย่างสวนโมกข์บ้างก็น่าจะดี คือกิจกรรมที่มีอยู่ ในกรุงเทพ มันเป็นกิจกรรมที่ทำให้จิตใจเราวุ่นวายเสียส่วนใหญ่ แต่สำหรับคนอื่น ผมก็เดาใจไม่ได้นะ แต่อย่างน้อยถ้าของดีๆ อย่างนี้มาอยู่ใกล้ตัว วันนึงเขามีโอกาสเฉียดเข้าไป ก็อาจจะมีผลบ้าง ไม่มากก็น้อย เป็นการสร้างโอกาส”

     เช่นเดียวกันกับ พนิดา วสุธาพิทักษ์ นักศึกษาปริญญาโท ที่มีความสนใจในเรื่องของธรรมมะเป็นทุนเดิมอยู๋แล้ว

     “ถ้าส่วนตัวก็ว่าดีมาก เพาะเราก็ชอบและอยากไปสวนโมกข์อยู่แล้ว แต่ไม่รู้ว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร คนที่ชอบทางนี้อยู่แล้วก็คงชอบ ซึ่งอาจจะเป็นส่วนน้อยของสังคม คนอื่นเขาอาจจะยังไม่เบื่อกับการไปดูหนังหรือไปห้าง เพราะการสร้างโรงมหรสพทางวิญญาณ หรือลักษณะที่คล้ายกับสวนโมกข์แท้ๆ นั้น มันก็จะดึงดูดคนกลุ่มเดิมที่สนใจอยู่แล้วเข้ามา

     “ปกติอยู่ในกรุงเทพก็รู้สึกว่าทางเลือกน้อย ไปไหนก็ลำบากเพราะรถมันติด อย่างการจะมาสร้างสวนโมกข์ที่สวนรถไฟนี่ก็เป็นการเลือกทำเลที่ดีนะ เพราะอยู่ใกล้รถไฟฟ้า มันเอื้อต่อการเดินทาง ลักษณะของสวนโมกข์ที่กรุงเทพนั้นก็เหมือนกับหอศิลป์ กทม. นั่นแหละ เราก็ไม่รู้หรอก ว่าจริงๆ แล้วมีคนไปแค่ไหน แต่อย่างน้อยมันก็เป็นทางเลือกที่นอกเหนือไปจากห้างต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว”

 
สวนโมกขพลาราม
และ'พุทธทาสภิกขุ'

     นอกจากความเห็นที่ผู้คนมีต่อสวนโมกข์กรุงเทพแล้ว การทำความเข้าใจ ถึงความเป็นมาและความหมายนับแต่ดั้งเดิมของสวนโมกขพลาราม ก็นับเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การรับรู้ไม่น้อยไปกว่ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปริศนาธรรม หรือกุศโลบาย ที่พุทธทาสภิกขุแฝงฝังไว้ ในเอกลักษณ์สำคัญของสวนโมกข์ที่ผู้คนจำได้ติดตาฝังใจ
     เป็นต้นว่า ยอดเขาพุทธทอง, สระนาฬิเกร์, ลานหินโค้ง และโรงมหรสพทางวิญญาณ

     บัญชา เฉลิมชัยกิจ ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์สุขภาพใจที่จัดพิมพ์และเผยแพร่ผลงานของท่านพุทธทาสไว้หลายร้อยปก ทั้งเป็นผู้ที่เคยเดินทางไปเยือนสวนโมกขพลาราม ณ อำเภอไชยา และเคยรับฟังข้อคิดทางธรรมจากท่านพุทธทาสอยู่บ่อยครั้ง

     บัญชาได้บอกเล่าถึงความเป็นพุทธทาสภิกขุและสวนโมกขพลารามได้อย่างน่าสนใจ

     “ท่านอาจารย์เรียกตัวเองว่า 'พุทธทาส' หมายถึงผู้รับใช้พระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นส่วนที่ชี้ให้เห็นว่า ท่านมุ่งที่จะนำคำสอนของพระพุทธเจ้านับแต่เมื่อ 2500 ปีที่ล่วงมา นำมาชี้แจงแถลงไขให้หมู่ชนส่วนใหญ่เข้าใจง่ายขึ้น โดยใช้ภาษาไทยแบบชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจกฏธรรมชาติและ ธรรมะของพระพุทธเจ้าง่ายเข้า เพื่อนำไปประยุกต์กับกฏของชีวิต ดับทุกข์ได้จริง และพบกับความสงบเย็นอันเป็นเป้าหมายของชาวพุทธได้จริงๆ คำสอนของพระพุทธเจ้า ในส่วนที่เป็นแก่นล้วนๆ คือสิ่งที่สามารถนำมาใช้ได้จริงในปัจจุบัน เพราะเป็นสิ่งที่ไม่มีความงมงาย”

 
     ส่วนโรงมหรสพทางวิญญาณที่มีการจำลองมาไว้ ณ สวนโมกข์เมืองกรุงด้วยนั้น บัญชา เท้าความให้ฟังว่า

     “เมื่อปี พ.ศ. 2505 ท่านพุทธทาสเห็นว่า ชาวบ้านมีกิจกรรมทางสาระบันเทิงที่ผิดๆ จำนวนมาก เช่นไปสำมะเลเทเมาตามโรงหนังโรงละคร ไปเที่ยวกลางคืน ดูการละเล่นที่ไม่เป็นประโยชน์มากนัก ท่านก็คิดว่าน่าจะมีโรงหนังแบบพุทธ ซึ่งท่านเรียกว่า 'โรงมหรสพทางวิญญาณ' โดยท่านใช้อุบายวิธีคือ ทำเป็นอาคาร 2 ชั้น ขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายๆ กับโรงภาพยนตร์ มีจอภาพยนตร์ และสิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือ ผนังทุกตารางนิ้ว และเสาทุกต้น ท่านจะให้พระและเณรที่พอมีฝีมือ มีความตั้งใจทางด้านการเขียนภาพ นำภาพที่เป็นปริศนาธรรมต่างๆ เป็นคติสอนใจต่างๆ ทั้งของไทยโบราณบ้าง ของญี่ปุ่น จีน ยุโรป หรือแม้แต่พระเยซู มาเขียนไว้ในโรงมหรสพทางวิญญาณ

 
     "เมื่อมาเดินชมก็จะพบว่า นอกจากความสวยงามของภาพแล้ว ก็จะเกิดความคิดทางจริยธรรม ทางศีลธรรม และทางปรมัตถธรรม ซึ่งหมายถึงธรรมสูงสุดที่ช่วยให้พ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนมีอยู่บนผนังทั้งหมด”

     นอกจากลานหินโค้ง และโรงมหรสพทางวิญญาณแล้ว สระนาฬิเกร์ ก็นับเป็นอีกสัญลักษณ์สำคัญของสวนโมกข์ ซึ่งบัญชา อธิบายความหมายไว้อย่างลุ่มลึกว่า

 
     “สระนาฬิเกร์เป็นอุบายของท่านพุทธทาส โดยมีที่มาจากเพลงกล่อมเด็กของภาคใต้ที่มีมาตั้งแต่โบราณ บทเพลงกล่อมเด็กบทนี้มีชื่อว่า
มะพร้าวนาฬิเกร์ เนื้อเพลงมีว่า มะพร้าวนาฬิเกร์ ต้นเดียวโนเน อยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกก็บ่ต้อง ฟ้าร้องก็บ่ถึง ถึงได้แต่ผู้พ้นบุญเอย ซึ่งท่านพุทธทาสมองว่า เนื้อความในบทเพลงนี้สื่อความหมายถึงการพ้นทุกข์ของคน”

     “คำว่ามะพร้าวนาฬิเกร์ มะพร้าวชนิดนี้ เป็นมะพร้าวชนิดหนึ่งของภาคใต้ สื่อความหมายถึงตัวเรา ต้นเดียวโนเน คำนี้ ผมตีความว่าเราทุกคนเกิดมาล้วนต้องเป็นที่พึ่งแห่งตน ดังพุทธพจน์ที่ ว่า 'อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ' ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน การพึ่งผู้อื่นก็พึ่งได้แต่เพียงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แต่การพึ่งได้สูงสุดก็คือความดับทุกข์สิ้นเชิง ซึ่งก็คือ โนเน โดดเดี่ยว หนึ่งเดียว”

     ส่วนคำว่า 'กลางทะเลขี้ผึ้ง' หมายความว่ามนุษย์เราเกิดมาเหมือนอยู่กลางทะเล คือ มีแต่ความเวิ้งว้าง ว้าเหว่ ในโลกที่กว้างขวาง เราต้องแสวงหาทางออกที่จะนำมาสู่เกาะ สู่แผ่นดิน แล้วทะเลนี้ไม่ใช่ทะเลธรรมดา แต่เป็นทะเลขี้ผึ้ง
     “ตามปรกติแล้ว ขี้ผึ้งนั้นเมื่อถูกความร้อนเพียงเล็กน้อย ก็จะหลอมละลายได้ง่าย ความร้อนเปรียบเสมือนกิเลส ตัณหา อุปาทาน เมื่อมีกิเลสซึ่งเป็นเครื่องแผดเผาให้เกิดความทุกข์ความร้อนรน ทะเลขี้ผึ้งนั้นก็ย่อมจะหลอมละลาย ต้นมะพร้าวที่ขึ้นอยู่กลางทะเลก็จะเดือดร้อนไปด้วย นั่นก็คือ ตัวเราจะเดือดร้อนไปกับกิเลสของเราเอง

     “คำว่า ฝนตกก็บ่ต้อง ฟ้าร้องก็บ่ถึง หมายความว่า ฝนนั้นคือความเย็น คือความสุข ฟ้าร้องคือความอึกทึก คือความตกอกตกใจ เป็นความหวั่นไหว เป็นความทุกข์ชนิดหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะเป็นฝนก็ตาม หรือฟ้าร้องก็ตาม ก็ไม่ถูกเจ้ามะพร้าวนาฬิเกร์ซึ่งหมายถึงตัวเรา สื่อได้ว่า คนเรานั้นจะต้องอยู่บนทางสายกลาง ตั้งหลักอยู่บนความสงบเย็น ไม่สุดโต่งไปบนทางใดทางหนึ่ง เมื่อฝนฟ้าไม่อาจต้องเราได้ ก็หมายความว่าเรามีความสงบทางจิตใจ มีความปล่อยวาง มีความละวางสูง

     “ส่วนประโยคที่ว่า 'ฝนตกบ่ต้อง ฟ้าร้องบ่ถึง ถึงแต่ผู้พ้นบุญเอย' ตรงนี้แหละที่เป็นโลกุตรธรรม คือ ท่านอาจารย์เคยสอนว่า 'ชั่วหรือดีก็อัปปรีย์ ทั้งนั้น' นั่นก็หมายความว่า ความสุขหรือความทุกข์ล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน เพราะสุขคือทุกข์น้อย ส่วนทุกข์ก็คือสุขน้อย มันเป็นสิ่งเดียวกัน ดังนั้น การที่จะเข้าสู่นิพพาน หรือ 'ถึงได้เฉพาะผู้พ้นบุญ' ก็หมายถึง ผู้พ้นบุญย่อมไม่ยึดถือสิ่งใดๆ แม้กระทั่งเมื่อทำบุญก็ไม่ยึดติดในบุญ ทำดีก็ไม่หวังผลตอบแทน เป็นจิตใจที่สูงขึ้นไป ดังที่ท่านพุทธทาสบอกว่า สุขที่แท้ไม่ต้องการความสุข เหล่านี้คือบทสรุปของบทเพลงกล่อมเด็กของชาวใต้ที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งก็คือ การสอนลูกหลานให้มุ่งสู่นิพพานนั่นเอง”

                     …........

 
     นอกเหนือจาก เอกสาร ผลงาน หนังสือ และบทบันทึกของพุทธทาสภิกขุที่ถูกรวบรวมไว้กว่า 20,000 รายการ แล้ว สำหรับผู้สนใจเดินทางไปเยือนหอจดหมายเหตุพุทธทาสอินมปัญโญ หรือสวนโมกข์กรุงเทพ ที่มีกำหนดแล้วเสร็จราวกลางปี 2553 นั้น
     เราหวังว่าเรื่องเล่าจากสวนโมกข์ไชยาที่นำมาฝากในวันนี้ อาจก่อให้เกิดแรงสะกิดทางคติธรรมบ้างไม่มากก็น้อย ยามเมื่อแลเห็นลานหินโค้ง สระนาฬิเกร์หรือแม้แต่โรงมหรสพทางวิญญาณที่สร้างจำลองไว้ ณ บริเวณสระน้ำใหญ่ของสวนวชิรเบญจทัศ หรือสวนรถไฟ จตุจักร นั่นเอง

                    ….........
              เรื่องโดย : ทีมข่าว CLICK 

***ล้อมกรอบ***
กว่าจะเป็น...หอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ

     สำหรับการดำเนินการก่อสร้างหอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ หรือ สวนโมกข์กรุงเทพฯ นั้น งบประมาณโดยรวมแล้ว ทางคณะกรรมการมูลนิธิหอจดหมายเหตุฯ ประมาณการณ์ไว้ว่า จะใช้งบราว 235 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน
     คือ 1. การก่อสร้างใช้งบประมาณ 185 ล้านบาท และ 2. การบริหารจัดการ ใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท ซึ่งเงินทุนที่นำมาใช้ในการประเดิมก่อสร้างนั้น ได้รับการสนับสนุนจากหลากหลายองค์กรณ์ อาทิ กระทรวงวัฒนธรรม, บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
    โดยมีการมอบทุนก่อสร้างผ่านการประสานงานของคณะกรรมการมูลนิธิหอจดหมายเหตุฯ ที่มีการประสานงานเริ่มต้นนับตั้งแต่ ปี 2548 เป็นต้นมา และเริ่มกระบวนการก่อสร้างนับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2551
     การก่อสร้างตัวอาคารและบริเวณลานหินโค้งโดยรอบ คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์และเปิดให้บริการราวเดือน พฤษภาคม 2553

     โครงสร้างของตัวอาคารหอจดหมายเหตุฯ ชั้นบนสุดเป็นที่รวบรวมเอกสาร ต้นฉบับของงานศึกษาค้นคว้าและสื่อธรรมะของท่านพุทธทาส โดยมีรวบรวมไว้กว่า 20,000 รายการ มีภาพกว่า 50,000 ภาพ มีไฟล์เสียงกว่า 1,900 กิกะไบต์

     ส่วนกลางของหอจดหมายเหตุฯ จะมีการนำเสนอภาพปริศนาธรรม มีศูนย์ปฏิบัติธรรม ซึ่งสามารถจัดอบรม สัมมนา อภิปราย และฝึกสมถวิปัสสนาได้

     นอกจากนี้ยังมีโรงมหรสพทางวิญญาณ นำมาจัดแสดงในรูปแบบสื่อผสมด้วย โดยมีท่านเจ้าคุณ ป.อ. ปยุตโต พระไพศาล วิสาโล และท่าน ว.วชิรเมธี เป็นที่ปรึกษาให้คำชี้แนะ

     ส่วนชั้นล่างสุดของอาคารหอจดหมายเหตุฯ จะมีการจำลองสระนาฬิเกร์ ที่สะท้อนถึงปริศนาธรรมของการเวียนว่ายตายเกิด มีลานหินโค้ง มีภาพแกะสลักนูนต่ำที่แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ นอกจากนี้ จะมีการเปิดบริการเป็นห้องสมุด ให้บริการยืมหนังสือธรรมะและค้นคว้าทำสำเนาได้ด้วย เพื่อประโยชน์ในการศึกษาข้อคิด ผลงานของท่านพุทธทาสและหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา

     ผู้สนใจร่วมสมทบทุนในการดำเนินการก่อสร้าง หรือร่วมเป็นอาสาสมัครในกิจกรรมต่างๆ ของหอจดหมายเหตุ สอบถามเพิ่มเติมที่ 0-2305-9589-90 หรือ www.bia.or.th

                    ..............
กำลังโหลดความคิดเห็น