"พระธรรมโกศาจารย์" ชี้พุทธศาสนา-วิทยาศาสตร์ขัดกันเพราะไม่ได้มุ่งหวังปัญญา พาสู่ความงมงาย ส่วนหนังสือที่พยายามเชื่อมโยงพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ โดยดึงไอนสไตน์มาช่วยทำให้ “ขายดี” ทั้งที่ข้อมูลผิดพลาด "ท่าน ว.วชิรเมธี" ชี้เหตุคนไทยอ่อนทั้งพุทธและวิทย์ ระบุศาสนาและวิทยาศาสตร์มาจากพิมพ์เดียวกัน ต่างต้องช่วยสร้างวัฒนธรรมแห่งปัญญา แก้ปัญหาดับทุกข์
ประชุมเสวนา “พุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ สร้างสรรค์วัฒนธรรมแห่งปัญญา” ขึ้นเมื่อวันที่ 13 พ.ย.52 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยความร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สวทน.) และหน่วยงานอีก 10 หน่วยงาน ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้เข้าร่วมด้วย
พระธรรมโกศาจารย์กล่าวว่า ความสนใจในการเชื่อมโยงพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์นั้น เป็นปลายคลื่นที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อกว่า 20 ปี ก่อนที่มีนักควอนตัมได้เข้าไปศึกษาพุทธศาสนาและพบปรากฏการณ์ที่สอดคล้องกับหลักการทางควอนตัม ส่วนเมืองไทยเพิ่งมาพูดกันไม่นานนี้
ทั้งนี้พุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ ต่างก็มุ่งแสวงหาความจริง เสมือนหาตาน้ำซึ่งหากขุดจนพบที่สุดก็จะบรรจบกัน แต่ที่ขัดกันเพราะเราไม่ได้มุ่งหวัง “ปัญญา” ซึ่งเราอาจงมงายในวิทยาศาสตร์ได้ หากเราไม่แสวงหาปัญญา เมื่อวิทยาศาสตร์ว่าอย่างไรก็ว่าตาม
ด้านพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ท่าน ว.วชิรเมธี กล่าวว่าวิทยาศาสตร์และพุทธศาสนานั้นแทบจะมีพิมพ์เดียวกัน เริ่มจากเจ้าชายสิทธัตถะได้สังเกตเห็นปรากฏารณ์ธรรมชาติ เกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้วเกิดคำถามว่าทำไม เช่นเดียวกับไอแซค นิวตัน เห็นลูกแอปเปิลหล่น (ไม่ต้องสนใจว่าแอปเปิลหล่นใส่หัวจริงหรือไม่) แล้วตั้งคำถามว่าทำไมไม่ลอยสู่ท้องฟ้า แต่หล่นสู่พื้นดินเสมอไป
“พุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ ต่างใช้ท่าทีทางปัญญาเหล่านี้ต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว ทำให้เห็นความจริงของธรรมชาติ พระพุทธเจ้าค้นพบความจริงแล้วนำมาดับทุกข์ ส่วนวิทยาศาสตร์ก็ค้นพบความจริงแล้วมาประยุกต์เป็นเทคโนโลยีเพื่อดับทุกข์ แต่บางกรณีดับหมด บางกรณีทำให้เกิดทุกข์ใหม่” ท่าน ว.วชิรเมธีกล่าว
ท่าน ว.วชิรเมธีกล่าวว่า ทั้งพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ต่างเริ่มต้นด้วยท่าทีของปัญญา ศรัทธาในธรรมชาติและมุ่งมั่นดับทุกข์ แต่ต่างกันที่พุทธศาสนาจะคำนึงถึงคุณค่าทางจริยธรรมเสมอ แล้ววิทยาศาสตร์คำนึงถึงเรื่องนี้หรือไม่ ขณะที่ปัญญาของวิทยาศาสตร์ติดอยู่ที่โลกียะ แต่ปัญญาในทางพุทธศาสนา เลยปัญญาจากห้องปฏิบัติการ และเป็นปัญญาที่ไม่เคยทำร้ายใคร
อย่างไรก็ดี สำหรับหนังสือที่พยายามอธิบายพระพุทธศาสนาด้วยวิทยาศาสตร์ และเป็นหนังสือขายดี แต่พบว่าเต็มไปด้วยการอ้างอิงที่ผิดพลาดทางวิทยาศาสตร์ ทำไมจึงขายดี นั่นก็แสดงว่าชาวพุทธไทยนั้นอ่อนทั้งพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ หรือบางทีอาจไม่มั่นใจในพุทธศาสนาด้วยหรือไม่ จึงต้องนำไอน์สไตน์มาร่วมด้วยเพื่อให้ดูยิ่งใหญ่
“ถ้าชาวพุทธพูดถึงพุทธศาสนาในท่าทีที่ต่ำต้อย จนต้องหยิบวิทยาศาสตร์มาร่วมด้วย แสดงว่าเราไม่เชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา” ท่าน ว.วชิรเมธีกล่าว แล้วบอกว่า การที่หนังสือดังกล่าวขายดีนั้นจะเป็นการสั่งสมความรู้ที่ผิดๆ ให้สังคมไทย ซึ่งผู้ที่จะอธิบายพุทธศาสนาด้วยวิทยาศาสตร์นั้นต้องเป็น “กูรู” ในทั้งสองด้าน แต่ทางที่ดีต่างฝ่ายควรหันกลับไปศึกษาในศาสตร์ของตนเองให้ลึกซึ้ง
พร้อมกันนี้ ท่าน ว.วชิรเมธี ได้สรุปว่า ทั้งวิทยาศาสตร์และพุทธศาสนานั้นต้องสร้างวัฒนธรรมแห่งปัญญา 4 อย่าง คือ 1.ปัญญาที่เป็นสากล ปัญญาสำหรับวิทยาศาสตร์มีข้อจำกัดที่ค้นพบความจริงได้เพียงชั่วขณะนั้น ทำอย่างไรจะเข้าถึงปัญญาสุดท้ายร่วมกัน 2.ปัญญาที่เราต้องการคือปัญญาที่ทำให้เราเข้าถึงการเป็นมุษย์ที่เป็นจริงเป็นสากล
“เวลานี้โลกมีปัญหามาก เพราะมนุษย์ตะวันตกก็เหยียดมนุษย์เอเชีย มนุษย์เอเชียก็เหยียดมนุษย์ในประเทศที่ด้อยกว่า ทำอย่างไรจึงจะสร้างปัญญา ทะลุกรอบคิดทั้งหมดแล้วมองว่าคนทั้งโลกเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเรา ไม่แบ่งมนุษย์ผิวเหลือง ผิวขาว ผิวดำ ก้าวข้ามสมมติไปเป็นเห็นมนุษย์เป็นมนุษย์ทั้งหมด” ท่าน ว.วชิรเมธีกล่าว
3.ปัญญาที่สร้างความรักสากล ที่เห็นว่ามนุษย์ทั้งหลายอยู่ในกฎธรรมชาติเดียวกัน สถานะเดียวกัน มีเกิด แก่ เจ็บตาย และ 4.พุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ต้องช่วยกันทำให้มนุษย์สร้างสรรค์สันติภาพสากล เพราะสันติภาพในทุกวันนี้เป็นเพียงสันติภาพที่มีแค่ชั่วคราว เพื่อรอสงครามที่จะเกิดขึ้นใหม่ หลังสิ้นสุดสุดสงครามโลกก็เกิดสงครามเย็น หลังจบสงครามเย็นก็เกิดสงครามเศรษฐกิจ ดังนั้นทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงสันติภาพสากล
สำหรับการประชุมเสวนานี้ จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษา 5 ธ.ค. 52 โดยอีก 10 หน่วยงานที่ร่วมจัดงานได้แก่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สถาบันวิมุตตยาลัย มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ กรุงเทพมหานคร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ ชมรมครูฟิสิกส์แห่งประเทศไทย ชมรมคนการเงินรุ่นใหม่แห่งประเทศไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย