xs
xsm
sm
md
lg

บทความจาก นสพ. ผู้จัดการ

x

สื่อใจสมานสร้างสรรค์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การสร้างจิตเงียบ
คือ วินัยที่เราทุกคนจะต้องฝึกในขณะที่อยู่ร่วมกัน
การปฏิบัติจิตตภาวนาจึงจะมีประสิทธิภาพ

เรื่องที่ 112 วินัยการอยู่ร่วมกันด้วยจิตเงียบ
ตอนที่ 1/2 จิตเงียบคืออะไร?

ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายในขณะที่สังคมทั้งทางโลกและทางธรรมกำลังเผชิญกับอกุศลวิบากอย่างเข้มข้น ขอน้อมนำหลักธรรมที่ถ่ายทอดโดยท่านอาจารย์อาวุโส (ศาสตราจารย์ คุณหญิง) หรือ อุบาสิกาคุณรัญจวน อินทรกำแหง ในปัจจุบัน มาช่วยยกระดับความรู้สึกในจิตใจ กันในเรื่องวินัยการอยู่ร่วมกันด้วยจิตเงียบ โดยจะนำเสนอต่อเนื่องกัน 2 ครั้งนะคะ คือสัปดาห์นี้ เสนอในความหมายว่าจิตเงียบคืออะไร ส่วนสัปดาห์จะเสนอ วิธีการสร้างจิตเงียบ ค่ะ

*การปฏิบัติจิตตภาวนาร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีวินัยเพื่อควบคุมการปฏิบัติหรือการฝึกอบรม วินัยที่เรา ทุกคนจะต้องฝึกในขณะที่อยู่ในสถานที่นี้ก็คือ การสร้างจิตเงียบ

สร้างอย่างอื่นเราต้องลงทุนทรัพย์สินเงินทอง ส่วนการสร้างจิตเงียบไม่ต้องลงทุนด้วยวัตถุสิ่งของอื่นใด แต่ต้องลงทุนความมานะพากเพียร ความพยายามและความตั้งใจจริง ต้องอดทนข่มขี่บังคับใจ

ขอเสนอให้ช่วยกันสร้างจิตเงียบให้เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่อยู่ร่วมกันนี้ เพื่อให้การพัฒนาสติและการฝึกจิตตภาวนาได้ผลคุ้มค่าแก่ความตั้งใจและความเหนื่อยยากที่เราอุตส่าห์มา และถ้าผู้ใดสามารถนำไปปฏิบัติต่อไปได้ ก็ย่อมจะเกิดประโยชน์แก่ชีวิตเป็นอย่างยิ่ง

จิตเงียบคืออะไร

ถ้านึกไม่ออกว่า จิตเงียบคืออะไร ก็ขอเสนอให้ลองเปรียบเทียบกับจิตดัง ขอให้ลองพิจารณาดูว่า จิตดังคืออะไร ที่จิตมันดัง ดังด้วยอะไร ถ้าหากมันดังทางกาย มันดังด้วยการกระทำ เดินดัง ทำอะไรตึงตัง หรือว่าส่งเสียงดัง แต่จิตที่ดังมองไม่เห็น เราจึงไม่ค่อยรู้ว่าจิตมันดัง เพราะมันดังตลอดเวลา มันจึงรบกวนเราดังด้วย อะไร ดังด้วยกิเลส คิดถึงไอ้โน่นคิดถึงไอ้นี่ด้วยจิตมิจฉาทิฐิ

ขอได้โปรดทราบว่า ในบรรดาสิ่งที่มีความเร็วมากที่สุดนั้น ไม่มีอะไรเร็วเท่ากับจิต ความแล่นเร็วของจิตที่เป็นมิจฉาทิฐิ มันแล่นได้เร็ว นั่งอยู่ตรงนี้อยู่กับที่ แต่จิตไปรอบโลกไม่รู้กี่รอบ จิตนี้มันไปเร็วที่สุด มันวิ่งเร็วที่สุดด้วยความคิดที่มันวิ่งวุ่นไปโน่น ไปนี่ ด้วยความวิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ ด้วยความรัก ด้วยความ โกรธ ความเกลียด หรือบางทีก็อิจฉาริษยา จิตมันก็เลยดังอึกทึกวุ่นวาย กระสับกระส่ายสับสนอยู่ตลอดเวลา แล้วมันก็หนัก เหน็ดเหนื่อย เจ็บปวดขมขื่น ด้วยความที่ไม่ได้ดังใจ นี่แหละจิตมันดังอึกทึกอย่างนี้ อึกทึกด้วยความคิดที่เป็นมิจฉาทิฐิ ไม่ใช่ความ คิดที่เกิดประโยชน์แก่ชีวิตทางบ้านหรือการงาน หรือแก่อะไรเลย

ส่วนจิตเงียบมันก็ตรงกันข้ามกับจิตดัง จิตเงียบคือจิตที่หยุด หยุดนิ่งกระแสแห่งความคิดที่ไม่จำเป็นแก่ชีวิต จะคิดก็ต่อเมื่อมัน จำเป็น อันจะนำประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่งาน แก่ส่วนรวม แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง นั่นจึงเป็นความคิดที่ถูกต้องเป็นสัมมาทิฐิ จิตมันก็เงียบ

จิตเงียบคือจิตที่ว่าง ว่างจากความคิด ว่างจากความวิตกกังวล ที่มาทำให้จิตระส่ำระสาย มันเงียบ มันสงบ มันเยือกเย็นผ่องใส ไม่กระเพื่อม นี่คือสภาพของจิตเงียบ มันมีความว่างจากการรบกวนของกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ ความกระหายที่อยากให้ได้ดังใจก็ไม่มี นั่นคือสภาพจิตว่าง เป็นจิตที่เย็นที่สบาย

ลองฝึกการสร้างจิตเงียบในลักษณะนี้ แล้วจะได้ยินเสียงของธรรมชาติที่บอกเราอยู่ทุกขณะ ให้เห็นถึงไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์ คือ ลักษณะอันเป็นธรรมดา 3 ประการ คือ สภาวะของอนิจจัง-ความเปลี่ยนแปลง ทุกขัง-ความทนได้ยาก อนัตตา-ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

นอกจากนี้เสียงของธรรมชาติยังแสดงให้เห็นว่า วัฏฏะของชีวิต วงเวียนของชีวิต หรือความวุ่นวายของชีวิต เกิดขึ้นจากปัจจัย 3 อย่าง คือ กิเลส กรรม วิบาก กิเลสคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากตัณหา เป็นโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง พอโลภะเกิดขึ้น- อยากได้ดึงเข้ามาหาตัว โทสะเกิด-ไม่อยากได้ผลักออก โมหะเกิด-ลังเลสงสัย เมื่อหยุดอยู่แค่นั้นไม่ได้ก็เกิดการกระทำคือกรรม แล้วก็เกิดวิบากคือผลของการกระทำ โดยผลจะเป็นอย่างใดก็แล้วแต่เหตุแห่งการกระทำนั้น

ถ้าเราพัฒนาจิตให้สามารถสร้างจิตเงียบขึ้นได้ จิตนี้จะมี ความว่างจนได้ยินเสียงของธรรมชาติ หมั่นเฝ้าดู สังเกตให้รู้จักความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เมื่อดู ลงไปก็จะเห็นว่า ที่ชีวิตมันวุ่นวาย มันเดือดร้อนระส่ำระสาย เป็นทุกข์ขมขื่น อยู่นี้ก็เพราะมันหยุดกิเลส กรรม วิบาก ไม่ได้ แต่ถ้ามีการฝึกพัฒนาจิตจนถึงที่สุดได้เมื่อใด ก็จะตัดได้ หยุดได้ในทันที วัฏฏะของชีวิตมันหยุดมันขาดตรงนั้นเอง การสร้างจิตเงียบจึงมีความสำคัญ เป็นคุณสมบัติและเป็นปัจจัยที่จำเป็นของผู้ปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง

เราเงียบเพื่อจะมีโอกาสดูข้างใน วิธีศึกษาข้างในต่างจากการ ศึกษาข้างนอกโดยสิ้นเชิง เมื่อเรามาศึกษาข้างใน เราหยุดการใช้ความคิด การใช้สมอง สติปัญญา แต่เราใช้ความรู้สึกสัมผัส สังเกต เฝ้าดูลงไปถึงสิ่งที่มันเกิดขึ้นจริงๆ ภายใน

หยุดใช้สมอง เอาพลังทั้งหมดที่มีเข้าไปดูข้างใน ดูด้วยความรู้สึก เพื่อให้สัมผัสกับอาการที่มันเกิดขึ้นข้างใน เป็นอาการของ ความร้อนหรือความเย็น อาการของความระส่ำระสาย หรืออาการ ของความวิตกกังวล หยุดนิ่งไม่ได้ ตามดูลงไปด้วยความรู้สึก จนสัมผัสได้ถึงความร้อนที่เกิดขึ้นเพราะความวิตกกังวลวุ่นวายต่างๆ นอกจากนั้นก็ดูลงไปอีกว่า เมื่อใดที่ความรู้สึกนึกคิดเหล่านี้หายไป หยุดไป แล้วจิตนี้เป็นอย่างไร ดูอาการที่เกิดขึ้น จะเห็นว่ามัน ว่างโล่ง ไม่มีความรบกวนเกิดขึ้นเลย แล้วขณะนั้นจิตมีอาการอย่างไร เงียบ สงบ ไม่มีความกระทบ มีแต่ความว่างจากความรบกวนของโลภะ โทสะ โมหะ ความยึดมั่นถือมั่นใดๆ จ้องดูลงไปแล้วจะเห็นความว่างที่เกิดขึ้น

เรานั่งกินอยู่หลายสิบคนในห้องประชุม โปรดทำความรู้สึกให้เหมือนกับว่ามีเราคนเดียว อยู่ในห้องอาหาร ในที่พัก หรือเดินอยู่ในสวนโมกข์นานาชาติ ก็ให้มีความรู้สึกว่ามีเราคนเดียว ไม่ต้อง ไปใส่ใจคนอื่น คนนั้นช่างพูด คนนั้นแต่งตัวไม่เรียบร้อย คนนั้นเดินดัง คนนั้นยุกยิกน่ารำคาญไม่อยากนั่งใกล้

นั่นคือการดูข้างนอก เมื่อดูข้างนอกมันเห็นอะไรถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง เราก็เปรียบเทียบ วิพากษ์วิจารณ์ หงุดหงิด ขัดเคือง แต่พอเราหยุดดูข้างนอก ต่อให้นั่งติดกันก็รู้สึกเหมือนเราอยู่คนเดียว เอาความรู้สึกย้อนดูเข้าไปข้างใน แล้วเราจะรู้สึกว่าไม่มีอะไรมารบกวน มีใครหายใจดังไปหน่อย เขาจะขยับตัวเปลี่ยนท่าทางอย่างไร ก็ไม่รู้สึกกระทบกระเทือน เพราะขณะนั้นจิตไม่ออกไปศึกษาเฝ้าดูข้างนอก มันย้อนกลับเข้ามาดูอยู่แต่ข้างใน ขอให้ลองฝึกฝนดูแล้วจะเห็นความจริงด้วยตาใน มันจะเกิดขึ้นเอง ทีละน้อยๆ

นอกจากนั้นแล้ว การพัฒนาจิตเงียบให้เกิดขึ้น จะเป็นการลดละกำลังความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาหรืออีกนัยหนึ่ง ลดละกำลังของสิ่งที่เรียกว่า 'ตัวกู' ให้ลดลง ความเบาสบายก็จะ เกิดขึ้น

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า/วิธีสร้างจิตเงียบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น