xs
xsm
sm
md
lg

บทความจาก นสพ. ผู้จัดการ

x

สื่อใจสมานสร้างสรรค์:

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถ้าไม่หยุดคิด ข้างนอกดูเงียบ
ข้างในก็ยังดังอึกทึกและเป็นทุกข์


เรื่องที่ 112 วินัยการอยู่ร่วมกันด้วยจิตเงียบ
ตอนที่ 2/2 วิธีสร้างจิตเงียบ

ดังคำกล่าวของอาจารย์ทางธรรมระดับอาวุโส (ศาสตราจารย์คุณหญิง) อุบาสิกาคุณรัญจวน อินทรกำแหง ได้ชี้ประเด็นให้เห็นว่า การพัฒนาจิตเงียบให้เกิดขึ้น จะเป็นการลดละกำลังความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาหรืออีกนัยหนึ่ง ลดละกำลังของสิ่งที่เรียกว่า 'ตัวกู' ให้ลดลง ความเบาสบายก็จะเกิดขึ้น

ข้อต่อไปที่ควรพิจารณาก็คือ แล้วจิตเงียบนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

การสร้างจิตเงียบนี้จะสร้างได้อย่างไร

มันจะเกิดได้เมื่อข้างนอกหยุดพูด หยุดคุย ใช้เวลามอง ข้างในดูตัวเอง หยุดพูด หยุดคุย หยุดสนทนา หยุดปรับทุกข์ โปรดรักษาให้เคร่งครัด เพราะระหว่างพูดคุยกันจิตมันไปกับคำพูด ถ้าคุยสนุกสนาน จิตมันก็ลอยขึ้นไป ถ้าหากคุยกันด้วยความขัดแค้นเคืองใจ จิตมันก็ตกลง มีประโยชน์อะไร เรามาฝึกจิตแล้ว คุยกัน ขอได้โปรดระงับการพูดคุย ถ้าผู้ใดทำได้ ประโยชน์จะเกิดขึ้น กับท่านเอง ไม่ใช่เกิดกับคนอื่น แต่ถ้าหากทำไม่ได้ นอกจากตัวเองไม่ได้ประโยชน์แล้ว ยังเป็นการเบียดเบียนผู้ปฏิบัติตน ที่มีความตั้งใจอยากจะอยู่เงียบ สร้างจิตเงียบ เพื่อให้การปฏิบัตินี้มีประสิทธิภาพ การร่วมมือของเราทุกคนในการที่จะรักษาความเงียบ สร้างจิตให้เกิดขึ้นได้จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

ขอเน้นว่า จิตเงียบจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

ประการแรกที่สุดคือ หยุดพูด หยุดคุย หยุดใส่ใจ หยุดมองดู คนอื่น เพื่อยุติการวิพากษ์วิจารณ์วิเคราะห์ การเปรียบเทียบต่างๆ นานา หน้าที่ของเราดูแค่ตัวเอง มีอะไรรู้สึกเคร่งเครียด ก็ใช้ลมหายใจเข้าไปช่วย ข้างนอกหยุดพูด หยุดดูคนอื่น ข้างในก็ต้องหยุดคิด ถ้าไม่หยุดคิด ข้างนอกดูเงียบ ข้างในก็ยังดังอึกทึกและเป็นทุกข์ ฉะนั้น ต้องตัดความคิดในขณะปฏิบัติให้ได้ โดยใช้ลมหายใจ ด้วยการใช้คำปลอบใจ 'เช่นนั้นเอง' มันมาแล้วมันก็ไป มันเกิดแล้วมันก็ดับ เพื่อให้จิตเราแข็งแรง เข้มแข็ง มั่นคงที่จะอยู่กับการหยุดคิด เพื่อระงับความวิตกกังวล เพื่อยุติความระแวงสงสัย เช่น การปฏิบัตินี้มันดีหรือ ใช้ได้แน่หรือไม่ต้องสงสัย แต่ต้องทดสอบด้วยการกระทำของตัวเอง

พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ใครเชื่อท่าน ท่านบอกให้รู้ว่า วิธีการ เป็นเช่นนี้ ลองปฏิบัติเอง เห็นผลแล้วจึงเชื่อ นี่คือการเป็นชาวพุทธ ที่แท้จริง ไม่ต้องสงสัยว่าทำแล้วจะได้อะไรหรือไม่ได้อะไร เพราะถ้าสงสัยเมื่อใดมันกลายเป็นอุปสรรค เพราะจิตไปอยู่กับความสงสัย ไม่อยู่กับการปฏิบัติ หยุดความระแวงสงสัย แล้วจิตนี้ก็จะมีความว่าง มีความสงบ และมีพลังที่จะจ้อง จะดู จะศึกษา แล้วจะสามารถปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นี่เป็นบทนำสู่จิตตภาวนา ซึ่งที่นี่เราปฏิบัติด้วยวิธีอานาปานสติ

อานาปานสติ คือ การใช้ลมหายใจเป็นอารมณ์ คำว่า อารมณ์ในที่นี้ ไม่ได้หมายความอย่างอารมณ์ทางโลก อารมณ์ทางโลกหมายถึงความรู้สึก เช่น ดีใจ เสียใจ โกรธ อิจฉาริษยา ไม่พอใจ นั่นอารมณ์ทางโลก แต่ที่บอกว่าเราใช้ลมหายใจเป็นอารมณ์ หมายความว่า เป็นเครื่องกำหนดทุกลมหายใจ เข้า-ออก ทุกขณะที่หายใจเข้าก็รู้ลมหายใจเข้า รู้ไม่ใช่คิด ไม่ใช่คิดว่า ลมหายใจกำลังเข้า แต่รู้สึกได้ สัมผัสด้วยใจข้างในว่า นี่ลมหายใจกำลังเข้านะ สัมผัสกับความเคลื่อนไหวที่กำลังเข้ามา และก็รู้ลมหายใจออกทุกขณะ นี่คือ การเอาลมหายใจเป็นอารมณ์ หมายความว่า ทุกขณะที่กำลังลืมตาอยู่ หายใจอยู่ จะไม่นึกอื่นใดนอกจากอยู่กับลมหายใจ

เรายังไม่มีเวลาขึ้นอานาปานสติโดยตรง ก็ขอให้ใช้ลมหายใจ เป็นอารมณ์ คือรู้ลมหายใจทุกขณะ ไม่ว่า นั่ง ยืน เดิน หรือนอน หรือจะไปรับประทานอาหาร อาบน้ำ ซักผ้า ทำกิจกรรมอะไรก็ตาม ตราบใดที่ยังหายใจอยู่ โปรดจงรู้มันทุกขณะที่หายใจเข้าและออก แล้วความรู้สึกตัวทั่วพร้อมก็จะค่อยๆ เกิดขึ้นในจิตทีละน้อยๆ นั่นแหละเรียกว่า จิตที่มีสติ ฉะนั้น จงเคลื่อนไหวเปลี่ยนอิริยาบถช้าๆ ไม่ต้องเร่งรีบ แล้วก็รู้ลมหายใจทุกขณะ หยุดความสนใจต่อเพื่อน ผู้ร่วมปฏิบัติ จงสนใจแต่ข้างในของตนเท่านั้น แล้วประโยชน์จะเกิดขึ้นแก่ตัวท่านเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น