xs
xsm
sm
md
lg

ทางเอก : หัวใจกรรมฐาน (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

๕.๕ ประเภทของอารมณ์ปรมัตถ์
เมื่อทราบความหมายของอารมณ์ ปรมัตถ์แล้ว คราวนี้จะกล่าวถึงประเภทของอารมณ์ปรมัตถ์ต่อไป แต่เรื่องนี้ค่อนข้างยากอยู่บ้าง สำหรับเพื่อนนักปฏิบัติที่ไม่สนใจพระปริยัติธรรม หากอ่านแล้วไม่เข้าใจก็ขอให้อ่านผ่านๆไปก่อน เมื่อลงมือปฏิบัติไปช่วงหนึ่งแล้ว เราจะพบเห็นสภาวธรรมของรูปนามมากมาย ซึ่งก็ตรงกับพระปริยัติธรรมนั่นเอง ถึงจุดนั้นค่อยกลับมาอ่านใหม่ก็จะเข้าใจเรื่องราวต่อไปนี้ได้ง่ายขึ้น
อารมณ์ปรมัตถ์แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คืออารมณ์ที่เป็นความปรุงแต่งได้แก่ รูปนาม กับอารมณ์ที่พ้นจากความปรุงแต่งได้แก่ นิพพาน

อารมณ์ที่เป็นรูปนามบางอย่างเท่านั้นจึงจะใช้เจริญวิปัสสนาได้ ส่วนนิพพานเอามาใช้เจริญวิปัสสนาไม่ได้
และเนื่องจากบทความเรื่องนี้มุ่งกล่าวถึงการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ดังนั้นจึงจะให้ความสนใจกับเรื่องรูปนามเป็นพิเศษ โดยจะกล่าวถึงสภาวะของรูปนามโดยสังเขป เพื่อให้เพื่อนนักปฏิบัติพอเข้าใจได้ว่ารูปนามเป็นอย่างไร แล้วจะได้ตามรู้สภาวะของรูปนามที่ปรากฏขึ้นจริงในกายในใจตนเองต่อไป

รูป คือสภาวะที่แปรปรวนแตกสลาย ได้เพราะปัจจัยต่างๆ อันขัดแย้ง เช่น ถูกทำลายได้ด้วยไฟ เป็นต้น รูปได้แก่ร่างกายและส่วนประกอบฝ่ายวัตถุ พร้อมทั้งพฤติกรรมและคุณสมบัติของมัน รูปมี ๒ กลุ่มใหญ่คือมหาภูตรูปกับอุปาทายรูป มหาภูตรูปมี ๔ ชนิด ส่วนอุปาทายรูปมี ๒๔ ชนิด รวมแล้วมีรูปทั้งหมด ๒๘ ชนิด

มหาภูตรูป เป็นรูปที่เป็นสภาวะดั้งเดิมจริงๆ มี ๔ อย่าง คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ

อุปาทายรูป เป็นรูปที่เป็นไปโดยอาศัยมหาภูตรูป หรือคุณและอาการ ของมหาภูตรูป มี ๒๔ อย่าง แต่ที่ขอให้เพื่อนนักปฏิบัติทำความรู้จักไว้เป็นพิเศษก็คือ (ก) ปสาทรูป มี ๕ อย่างคือประสาทตา ประสาทหู ประสาทจมูก ประสาทลิ้น และประสาทกาย ๕ (ข) โคจรรูป มี ๕ อย่าง ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ แต่ในเวลานับจำนวนของรูปจะตัดโผฏฐัพพะออก เพราะโผฏฐัพพะก็คือธาตุดิน ธาตุไฟ และธาตุลม อันเป็นมหาภูตรูปนั่นเอง (ค) หทยรูป หรือวัตถุ หรือหทยวัตถุ ได้ แก่ที่ตั้งแห่งใจ หทยวัตถุนี้นักปริยัติเชื่อว่าอยู่ที่หัวใจ แต่นักปฏิบัติจะเห็นว่า มีจุดที่นามธรรมต่างๆผุดขึ้นในอก จุดนี้แหละคือหทยวัตถุ และ (ง) วิญญัติรูป มี ๒ อย่างคือ กายวิญญัติและวจีวิญญัติ ที่น่าสนใจคือกายวิญญัติรูป เช่นรูปยืน รูปเดิน รูปนั่ง รูปนอน เป็นต้น

ที่เสนอให้เพื่อนนักปฏิบัติสนใจ ทำความรู้จักมหาภูตรูปกับอุปาทายรูปบางอย่าง ก็เพราะจะต้องใช้รูปเหล่านี้ในการเจริญสติปัฏฐานที่เป็นวิปัสสนากรรมฐานต่อไป เช่น (๑) อานาปานสติ ต้องรู้มหาภูตรูป คือความเป็นธาตุของลมหายใจ และหทยรูป (๒) อิริยาบถและสัมปชัญญะ ต้องรู้กายวิญญัติรูป และหทยรูป (๓) เวทนานุปัสสนา ต้องรู้มหาภูตรูป กายปสาทรูป และหทยรูป และ (๔) จิตตานุปัสสนา ต้องรู้ปสาทรูป โคจรรูป และหทยรูป เป็นต้น

อนึ่ง ยังเป็นการยากที่เพื่อนนักปฏิบัติจะรู้ถึงสภาวะของรูปทั้งหลายที่กล่าวมานี้ได้ ดังนั้น จำเป็นที่เพื่อน นักปฏิบัติจะต้องศึกษาเพิ่มเติมจากพระปริยัติธรรมหรือจากครูบาอาจารย์ต่อไป เพราะยังมีสาระสำคัญ ที่ต้องรู้อีกบางอย่าง เช่นช่องทางในการรู้รูป ได้แก่อายตนะทั้ง ๖ นั่นเอง แต่รูปแต่ละชนิดเราใช้อายตนะต่างๆกันเป็นช่องทางในการรับรู้ กล่าวคือ (๑) มหาภูตรูป ๓ อย่างคือธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม อันเป็นโผฏฐัพพะหรือสิ่งที่มากระทบถูกต้องกายเป็นสิ่งที่รู้ได้ทางกาย (๒) ธาตุน้ำรู้ได้ทางใจ (๓) ปสาทรูปทั้ง ๕ รู้ได้ทางใจ (๔) รูป (สี) รู้ได้ทางประสาทตา (๕) เสียงรู้ได้ทางประสาท หู (๖) กลิ่นรู้ได้ทางประสาทจมูก (๗) รสรู้ได้ทางประสาทลิ้น (๘) หทยรูปรู้ได้ทางใจ และ (๙) วิญญัติรูปรู้ได้ทางใจ และเครื่องมือในการรู้รูปก็คือสติ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาทั้งสิ้น แต่จะศึกษาพระปริยัติธรรมไว้ก่อน หรือจะปฏิบัติไปศึกษาไปภายใต้การกำกับดูแลของ ครูบาอาจารย์ก็ได้ แล้วแต่ความพอ ใจของแต่ละท่าน

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 109 ธันวาคม 2552 โดยพระปราโมทย์ ปาโมชฺโช)
กำลังโหลดความคิดเห็น