xs
xsm
sm
md
lg

ทางเอก : หัวใจกรรมฐาน (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

๕.๖ นิพพานไม่ใช่อารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐาน

ได้กล่าวไว้แล้วว่าการเจริญวิปัสสนา กรรมฐานต้องใช้รูปนาม หรือกายใจที่มี อยู่จริงเป็นอารมณ์เท่านั้น จะใช้นิพพาน หรือบัญญัติมาเป็นอารมณ์ไม่ได้

เหตุที่ใช้นิพพานมาเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาไม่ได้ ก็เพราะนิพพานไม่ใช่รูปนามหรือกายใจของตน การรู้นิพพานจึงไม่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่ารูปนามมีลักษณะเป็นไตรลักษณ์ จึงไม่ใช่ตัวตนของตน นอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังทรงแสดงหลักธรรมสำคัญพื้นฐานเกี่ยวกับการปฏิบัติเอาไว้ ได้แก่หลักธรรมเรื่องกิจในอริยสัจจ์ ซึ่งทรงสอนให้รู้ทุกข์หรือรูปนาม

ส่วนนิพพานหรือนิโรธเป็นสิ่งที่ควรทำให้แจ้ง ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องตามรู้ ผู้ปฏิบัติจะทำนิโรธให้แจ้งได้ด้วยการเจริญมรรค ซึ่งก็คือการรู้ทุกข์หรือรูปนามและการละสมุทัยคือตัณหานั่นเอง โดยเมื่อรู้ทุกข์หรือรู้รูปนามกายใจของตนจนแจ่มแจ้งแล้ว จิตจะหมดตัณหาหรือความทะยานอยากอันเป็นตัวสมุทัย และปล่อยวางรูปนาม แล้วประจักษ์แจ้ง นิพพานได้เอง การประจักษ์นิพพาน จึงเป็นผลของการปฏิบัติ ส่วนการรู้ทุกข์หรือรู้รูปนามนั้นเป็นการทำเหตุหรือเป็นตัวเนื้อแท้ของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

ผู้ปฏิบัติบางท่านแทนที่จะตามรู้รูปนาม กลับพยายามจะไปตามรู้นิพพานโดยตรง ซึ่งแท้ที่จริงแล้วจะกลายเป็น การหลงเพ่งช่องว่าง (อากาสานัญจายตนะ) และความไม่มีอะไร (อากิญจัญญายตนะ) เท่านั้น ไม่มีทางที่จะใช้นิพพานจริงๆเป็นอารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐานได้เลย เพราะนิพพาน เป็นสิ่งที่ปุถุชนไม่เคยเห็น เพียงรู้จักแต่ชื่อ การจะตามรู้นิพพานจึงเป็นเรื่องสุดวิสัย แต่พระอริยบุคคลระดับสูงตั้งแต่พระอนาคามีขึ้นไปที่ชำนาญในการเจริญฌานสมาบัติ สามารถใช้นิพพานเป็นอารมณ์ของสมถกรรมฐานได้ เรียกว่าสัญญาเวทยิตนิโรธหรือการเข้านิโรธสมาบัติ ซึ่งก็ไม่ใช่การเจริญวิปัสสนาเช่นกัน

สำหรับบัญญัติก็ใช้เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาไม่ได้ เพราะไม่ใช่ของจริงแท้ เป็นแต่เพียงสิ่งที่เราคิดฝันไปเองเท่านั้น เรื่องนี้ได้กล่าวไว้แล้วในข้อ ๕.๓ หากลืม ไปแล้วลองกลับไปทบทวนดูใหม่ก็ได้

๕.๗ สมมุติบัญญัติปิดบังปรมัตถ์

ได้กล่าวแล้วว่าการเจริญวิปัสสนากรรมฐานต้องรู้อารมณ์รูปนาม แต่การที่จะรู้ให้ถึงรูปนามได้จริงๆนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะจิตใจของเราถูกความคิดหรือสมมุติบัญญัติครอบงำมาแต่ไหนแต่ไร สมมุติบัญญัตินี้เองเป็นเครื่องปิดบังการเห็นรูปนามอันเป็นปรมัตถ์เอาไว้ ผู้ปฏิบัติจะต้องหลุดออกจากโลกของความคิดหรือสมมุติบัญญัติ ให้ได้ จึงจะรู้เห็นรูปนามของจริงได้

ตัวอย่างเช่นเมื่อเรายกมือชูขึ้นตรงหน้าและมองไปที่มือนั้น เราจะเกิดความรู้สึกทันทีว่านี่คือ “มือของเรา” ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่เรามองเห็นไม่ใช่มือ แต่เป็นภาพหรือสีที่ตัดกันเป็นรูปทรงอย่างหนึ่งที่คนไทยสมมุติเรียกกันว่ามือ คนจีนเรียกว่าชิ่ว อังกฤษเรียกว่าแฮนด์ ตัวสีนี่แหละคืออารมณ์ปรมัตถ์หรือรูปที่แท้จริงที่ตามองเห็น ส่วนคำเรียกขานเป็นบัญญัติ

ถ้าเราเอามืออีกข้างหนึ่งลูบลงบนมือข้างที่เราชูขึ้นนั้น คนทั่วไปจะรู้สึกว่า “เราลูบมือ” ทั้งที่ในความเป็นจริง “เราลูบมือ” เป็นเพียงความคิดของเราเอง ส่วนสิ่งที่เป็นความจริงก็คือ วัตถุธาตุอันหนึ่งกระทบกับวัตถุธาตุอีกอันหนึ่ง โดยอาจรู้สึกถึงความเป็นท่อนแข็งๆ หรือธาตุดินของสิ่งที่กำลังลูบอยู่นั้น หรือรู้สึกถึงความอุ่นๆ หรือธาตุไฟของวัตถุธาตุที่กระทบกันนั้น สิ่งที่เป็นของจริงแท้ก็คือวัตถุหรือรูปธรรมอันหนึ่งเท่านั้น ไม่มีความเป็นเรา มือของเรา หรือแขนของเราที่ไหนเลย นอกจากจะคิดเอาเองตามความจำได้หมายรู้เก่าๆ ว่านี้คือตัวของเรา มือของเรา หรือแขนของเรา

ในขณะที่นั่งอยู่ คนทั่วไปจะคิดว่า “เรานั่ง” แต่ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกว่า “รูปหรือ วัตถุก้อนนี้มันตั้งอยู่ในอาการอย่างหนึ่ง” เมื่อเดิน คนทั่วไปจะรู้สึกว่า “เราเดิน” แต่ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกว่า “วัตถุธาตุหรือก้อนอะไรนี้มันมีอาการเคลื่อนไหว”

เมื่อหายใจออก หายใจเข้า คนทั่วไปจะรู้สึกว่า “เราหายใจออก เราหายใจเข้า” แต่ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกว่า “วัตถุธาตุมันเคลื่อนไหว มีธาตุไหลไปไหลมาในก้อนธาตุนี้”

เมื่อรู้ท้องที่พองยุบ หรือรู้เท้าที่ยก ย่าง เหยียบ คนทั่วไปจะรู้สึกว่า “เราหายใจ หรือท้องของเราพอง ท้องของเรายุบ หรือเราเดิน เรายก เราย่าง เราเหยียบ” หรือบางท่านก็ไปคิดเอาว่า “นี่ท้องพอง นี่ท้องยุบ นี่ยก นี่ย่าง นี่ เหยียบ” ทั้งที่ท้องพอง ท้องยุบ ยกเท้า ย่างเท้า เหล่านี้ล้วนเป็นสมมุติบัญญัติทั้งสิ้น สิ่งที่เป็นอารมณ์ปรมัตถ์ของจริง ก็คือ “รูปมันเคลื่อนไหว” เท่านั้นเอง

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 111 กุมภาพันธ์ 2553 โดย พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช)
กำลังโหลดความคิดเห็น