xs
xsm
sm
md
lg

อบรมกรรมฐาน : โพชฌงค์โดยสรุป (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การกำหนดปัจจุบันธรรม

เพราะฉะนั้น โพชฌงค์จึงเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์เมื่อหัดกำหนดให้รู้จักลักษณะของแต่ละข้อ แม้โดยย่อดังกล่าวมานี้ก็ใช้ในการปฏิบัติธรรมกรรมฐานได้ทุกข้อ และเมื่อต้องการจะกำหนดเป็นปัจจุบันธรรม ธรรมที่เป็นปัจจุบันธรรมคือว่าเอาปัจจุบันธรรมเป็นกรรมฐาน ก็คือให้ทำสติระลึกได้ถึงอายตนะภายในและอายตนะภายนอกของตนที่ประสบกันอยู่ในปัจจุบัน เพราะว่าอายตนะภายในภายนอกของแต่ละบุคคลนี้ย่อมประสบกันอยู่ทุกขณะ เมื่อตากับรูปประจวบกันประสบกัน ก็ให้มีสติรู้ หูกับเสียงประจวบกันประสบกันก็ให้มีสติรู้ จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายและสิ่งถูกต้องทางกาย มโนคือใจ และธรรมคือเรื่องราวที่ผุดขึ้นในใจประจวบกันประสบกันก็ให้มีสติรู้

การกำหนดทางขันธ์ห้า

ในการกำหนดนี้จะกำหนดทางขันธ์ห้าก็ได้ จะกำหนด ทางนิวรณ์ก็ได้ การกำหนดทางขันธ์ห้านั้น ก็คือกำหนดว่า เมื่ออายตนะภายในกับอายตนะภายนอกที่ประจวบหรือประสบกันอยู่ในปัจจุบัน ดังกล่าวนี้ ก็เกิดวิญญาณความรู้สึกเห็นรูปทางตา ความรู้สึกได้ยินเสียงทางหู ความรู้สึกทราบกลิ่นทางจมูก ความรู้สึกทราบรสทางลิ้น ความรู้สึกทราบสิ่งถูกต้องทางกาย ความรู้สึกรู้เรื่องทางมโนคือใจ ดั่งนี้เป็นวิญญาณ เมื่ออายตนะภายในภายนอกกับวิญญาณทั้งสามนี้รวมกันเข้า อันหมายความว่ากระทบถึงจิตแรง ก็เป็นสัมผัสหรือเป็นผัสสะ ดั่งนี้คือผัสสะ เมื่อเป็นผัสสะก็เป็นเวทนา ความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์หรือ เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข เมื่อเป็นเวทนาขึ้นมาก็เกิดสัญญา ความจำหมาย เมื่อเกิดสัญญาคือความจำหมายก็เกิดสังขาร คือความคิดปรุงหรือความปรุงคิดขึ้นตามสัญญาคือความจำหมายนั้น

หัดทำสติให้รู้ขันธ์ห้าดั่งนี้ว่า อายตนะภายในภายนอก ที่ประจวบกันนั้น ก็เป็นส่วนรูปขันธ์วิญญาณ สัมผัสเวทนา สัญญา สังขารก็เป็นนามขันธ์ เป็นขันธ์ห้าที่เป็นปัจจุบันธรรมที่บังเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ในอารมณ์ทั้งหลาย อารมณ์อันหนึ่งก็เป็นที่ตั้งของขันธ์ห้า เป็นที่เกิดของขันธ์ห้าคราวหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ทางตา หรือทางหู หรือว่าทางอื่น และจิตนี้ตามหลักที่ท่านแสดงไว้รับอารมณ์ในคราวละหนึ่งเท่านั้น ฉะนั้น อารมณ์ที่รับกันคราวละหนึ่งนี้ก็เป็นที่เกิดที่ตั้งของขันธ์ห้ากันคราวหนึ่งๆ ทุกอารมณ์ไป และอารมณ์อันหนึ่งนั้นเกิดขึ้นดับไป แล้วอารมณ์ที่สองจึงจะเกิดขึ้นดับไป แล้วอารมณ์ที่สามจึงจะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ฉะนั้นขันธ์ห้าจึงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทุกอารมณ์

นี้เป็นหลักของสัจจะ คือความจริงของขันธ์ห้า ของอารมณ์ที่ดำเนินไปอยู่ แต่ว่าสติที่จะกำหนดให้รู้ให้ทันนั้นเป็นการยากเพราะว่าละเอียดมาก แต่แม้เช่นนั้นหัดกำหนดไปตามหลักที่ท่านแสดงไว้ก่อน โดยที่เมื่อไม่สามารถจะกำหนดให้ทันทั้งขันธ์ห้าหรือว่าทั้งหมด ก็กำหนดแต่เพียงลักษณะอันใดอันหนึ่งหรือกำหนดโดยส่วนรวม กำหนดที่ลักษณะอันใดอันหนึ่งนั้นก็คือกำหนดที่ลักษณะของตาของรูป ของเสียงของหู เป็นต้น อันเป็นส่วนรูปขันธ์ดั่งนี้ ที่ประจวบกันเข้าคราวหนึ่งๆ ก็ได้ กำหนดอาการของนาม เช่น อาการที่เห็น อาการที่ได้ยินที่เป็นตัววิญญาณอย่างเดียวดั่งนี้ก็ได้ กำหนดอาการที่เป็นสัมผัส เป็นเวทนา เวทนาชัดคือที่เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ดูเข้ามาที่จิตว่า เห็นสิ่งนี้แล้วเป็นอย่างไร สบายหรือไม่สบาย ได้ยินสิ่งนี้แล้วเป็นอย่างไร สบายหรือไม่สบาย ถ้าสบายก็สุข ถ้าไม่สบายก็ทุกข์ ดั่งนี้ก็ได้ และกำหนดดูที่สัญญาคือความจำหมายว่า เมื่อสุขก็จำหมายอยู่ในสุข ทุกข์ก็อยู่ในทุกข์คือมีความจำหมายอยู่ในสุขในทุกข์นั้นไม่ลืม แต่ถ้าไม่จำหมายอยู่ในสุขในทุกข์นั้น ปล่อยไปเสียก็สิ้นเรื่องไป แต่ว่าไม่ได้ปล่อย ยังจำหมายเอาไว้ แล้วก็ปรุงสิ่งที่จำหมายไว้นั้นนั่นเอง คิดปรุงก็เป็นรักเป็นชัง เป็นต้น ดั่งนี้ ก็ให้รู้ว่าเป็นตัวปรุง เป็นตัวสังขารคือตัวปรุง จิตนี้เองปรุงเอาสิ่งที่จำนั่นแหละมาปรุง ถ้าเป็นสุขก็ปรุงเป็นชอบ ถ้าเป็นทุกข์ก็ปรุงเป็นชัง ก็จิตอันนี้เองปรุงก็ดูตัวความปรุง ว่าจิตนี้เป็นสังขาร เป็นตัวความปรุง ดั่งนี้ก็ได้

ทั้งหมดนี้เป็นสติที่กำหนดในด้านขันธ์ห้าที่เป็นปัจจุธรรม และธรรมวิจัยก็ไปด้วยกัน คือว่า จะจำแนกออกไปได้ว่านั่นเป็นรูป นั่นเป็นนาม นั่นเป็นรูปประเภทนั้น นั่นเป็นนามประเภทนั้น และวิริยะคือความเพียรก็เข้ามา ในเมื่อมีนิวรณ์เข้ามาก็ละ เมื่อเป็นตัวสติที่กำหนดธรรมวิจัยที่จำแนกอยู่ก็ส่งเสริมให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น รักษาเอาไว้ ดั่งนี้ก็เป็นวิริยะ และข้ออื่นก็จะตามมา ดั่งนี้เป็นไปในปัจจุบันธรรมที่เป็นไปในขันธ์ห้า

การกำหนดในนิวรณ์

คราวนี้ถ้าจะกำหนดที่เป็นไปในนิวรณ์ก็กำหนดได้เช่นเดียวกัน โดยเอาขันธ์ห้าที่เป็นไปในอารมณ์ดังกล่าวนี้เป็นตัวหลัก แล้วกำหนดดูในเมื่ออายตนะภายในอายตนะภายนอกประจวบกัน ก็เป็นวิญญาณ เป็นสัมผัสเป็นเวทนา แล้วก็เป็นสัญญา เป็นสังขารดังกล่าวนั้น แต่ว่าเมื่อเป็นเวทนาขึ้นมาแล้ว สังโยชน์เข้าจับ คือกิเลสเข้าจับ จับเวทนา จับสัญญา จับสังขาร ก็จับขันธ์ห้านี่แหละ เมื่อเป็นส่วนที่เป็นสุข น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ก็เป็นกามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ขึ้นมา ถ้าเป็นทุกข์ก็เป็นส่วนที่ไม่น่าปรารถนาพอใจ ก็เป็นปฏิฆะ หงุดหงิด เป็นพยาบาท โกรธแค้นขัดเคืองขึ้นมา ถ้าหากเป็นเวทนาที่เป็น กลางๆ และมิได้พิจารณา ก็ก่อให้เกิดความง่วงงุนเคลิบ เคลิ้ม ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ และความเคลือบแคลงสงสัยขึ้นมา ก็เป็นนิวรณ์ขึ้น ก็ให้มีสติกำหนดรู้ตัวนิวรณ์ที่บังเกิดขึ้น เงื่อนอยู่ตรงเวทนา สังโยชน์เข้ามาจับเวทนา จับสัญญา จับสังขาร ก็ปรุงให้เป็นนิวรณ์ขึ้นมา นิวรณ์อันนี้ก็รวมอยู่ในสังขารขันธ์ ตัวปรุง โดยที่สังโยชน์หรือกิเลสจับเวทนา จับสัญญา แล้วก็ปรุงเป็นตัวสังขารที่เป็นขันธ์ห้านี่แหละ ก็ปรุงให้เป็นนิวรณ์ขึ้นมาเป็นกองชอบบ้าง เป็นกองชังบ้าง เป็นกองหลงบ้าง เข้ามากลุ้มกลัดจิตอยู่ อาศัยอารมณ์ทั้งหลายที่กล่าวมานั้น ทำให้มีสติ กำหนดให้รู้จัก ก็มีธรรมวิจัยเลือกเฟ้นออกไปว่านี่เป็นนิวรณ์เมื่อนิวรณ์เกิดขึ้นดังนี้ ก็เป็นอันตรายต่อกรรมฐานต่อสติก็ปฏิบัติละนิวรณ์ ระงับนิวรณ์ แล้วก็รักษาสติรักษากรรมฐานเอาไว้ ดั่งนี้นิวรณ์ก็จะสงบ สติที่เป็นไปในกรรมฐานก็จะดำรงอยู่ ปีติก็เข้ามา ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขาที่เป็นโพชฌงค์ก็เข้ามาดั่งนี้ เพราะฉะนั้นโพชฌงค์จึงใช้ได้ เอาปัจจุบันธรรมนี่เป็นกรรมฐาน ก็คืออายตนะภายในภาย นอกที่ประจวบกันอยู่นี้ กำหนดเป็นไปในขันธ์ห้าก็ได้ เป็นไปในนิวรณ์ห้าดังกล่าวแล้วก็ได้ และผลก็จะบังเกิดขึ้นในทางระงับนิวรณ์ ส่งเสริมสติที่เป็นไปในกรรมฐานให้เจริญก้าวหน้า

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 112 มีนาคม 2553 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น