xs
xsm
sm
md
lg

ทางเอก : หัวใจกรรมฐาน (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

๕. ขยายความเกี่ยวกับ “อารมณ์ที่ถูกต้อง”
๕.๑ ความหมายของอารมณ์
อารมณ์เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นพร้อมกับจิตเสมอ เพราะจิตคือธรรมชาติที่ รู้อารมณ์ ส่วนอารมณ์คือสิ่งที่ถูกจิตรู้ ความหมายของอารมณ์ในทางพระพุทธศาสนาจึงต่างจากคำว่าอารมณ์ในภาษาไทยที่มักจะหมายถึงความรู้สึกทางใจต่างๆ ในขณะที่อารมณ์ในทางพระพุทธศาสนาหมายถึงทุกสิ่งที่จิตไปรู้เข้า จะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ได้ แม้กระทั่งนิพพานและบัญญัติก็เป็นอารมณ์ได้เช่นกัน
จิตเกิดขึ้นได้ทางทวารทั้ง ๖ คือทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เพื่อทำหน้าที่รู้อารมณ์ที่กระทบทางทวารทั้ง ๖ คือ
(๑) อารมณ์ที่กระทบทางตาคือ รูปหรือสี จัดเป็นรูปชนิดหนึ่ง
(๒) อารมณ์ที่กระทบทางหูคือ เสียง จัดเป็นรูปอีกชนิดหนึ่ง
(๓) อารมณ์ที่กระทบทางจมูกคือ กลิ่น จัดเป็นรูปอีกชนิดหนึ่ง
(๔) อารมณ์ที่กระทบทางลิ้นคือ รส จัดเป็นรูปอีกชนิดหนึ่ง
(๕) อารมณ์ที่กระทบทางกายคือโผฏฐัพพะ จัดเป็นรูปอีก ๓ ชนิดได้แก่ ความอ่อน-แข็งหรือธาตุดิน ความเย็น-ร้อนหรือธาตุไฟ และความตึง-ไหวหรือ ธาตุลม และ
(๖) อารมณ์ที่กระทบทางใจคือ ธัมมารมณ์ อันประกอบด้วย (ก) รูปทั้งหมดที่เหลือจากรูปที่รู้ด้วยทวารทั้ง ๕ ที่กล่าวมาแล้ว (ข) จิต (ค) เจตสิกทั้งหมดคือความรู้สึกสุข ทุกข์ และเฉยๆ หรือเวทนา ความจำได้หมายรู้หรือสัญญา และความคิดนึกปรุงแต่งหรือสังขาร (ง) นิพพาน และ (จ) บัญญัติ ใจจึงเป็นเครื่องมือรู้อารมณ์ที่กว้างขวาง ที่สุด และทำงานมากที่สุดด้วย

๕.๒ ประเภทของอารมณ์
ในบรรดาอารมณ์ทั้งหมดนั้น สามารถจำแนกออกได้เป็น ๒ กลุ่มใหญ่คืออารมณ์บัญญัติ (ดูข้อ ๕.๓) กับอารมณ์ปรมัตถ์ (ดูข้อ ๕.๔) และอารมณ์ปรมัตถ์ยังจำแนกออกได้เป็น ๔ อย่างคือ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน สำหรับจิตและนิพพานนั้นมีสภาวะเพียงอย่างเดียว แต่เจตสิกและรูปยังแยกชนิดย่อยๆ ออกไปได้อีกมากมาย (ดูข้อ ๕.๕) ซึ่งในชั้นนี้ยังเกินความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ สิ่งที่พวกเรานักปฏิบัติควรเรียนรู้ในเบื้องต้นก็คือ จะต้องจำแนกให้ได้ว่าอารมณ์บัญญัติกับอารมณ์ปรมัตถ์แตกต่างกันอย่างไร เพราะจำเป็นต้องรู้เพื่อการเจริญวิปัสสนาต่อไป

๕.๓ อารมณ์บัญญัติ
ก่อนจะกล่าวถึงอารมณ์บัญญัติจำเป็นต้องกล่าวถึงบัญญัติเสียก่อน เพราะอารมณ์บัญญัติก็คือบัญญัติที่ใจไปรู้เข้านั่นเอง
บัญญัติเป็นของจริงโดยสมมุติหรือโดยคำเรียกขานกันตามโวหารที่นิยมหรือตกลงกันเฉพาะหมู่เหล่าหรือชุมชน มี ๒ อย่างคือ (๑) สัททบัญญัติหรือบัญญัติเพื่อการเรียกขาน เช่น ผู้หญิง ผู้ชาย เรือ ถนน สุนัข ทะเลทราย รวมทั้งชื่อเฉพาะของบุคคล สถานที่ และตำแหน่ง เป็นต้น และ (๒) อัตถบัญญัติหรือบัญญัติที่แสดงเนื้อหา ผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น ไฟแดงหมายถึงให้หยุด ไฟเขียวหมายถึงให้ไป และกากะบาดสีแดงหมายถึงสภากาชาด เป็นต้น คำเรียกขานเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่จริงแต่เป็นจริงขึ้นมาโดย สมมุติ แม้กระทั่งสิ่งที่เป็นคำเรียกขานถึงปรมัตถ์ก็เป็นบัญญัติเหมือนกัน เช่นบัญญัติว่าอาการทางกายทางใจอย่างนี้เรียกว่ารูปยืน รูปเดิน รูปนั่ง รูปนอน รูปเย็น รูปร้อน รูปอ่อน รูปแข็ง ความสุข ความทุกข์ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ฯลฯ ซึ่งเพื่อนนักปฏิบัติบางกลุ่มถือว่าเป็นปรมัตถ์ ความจริงก็ยังเป็นเพียงการบัญญัติถึงปรมัตถ์เท่านั้น เพราะคำเรียกขานไม่ใช่ตัวแท้ของปรมัตถธรรม
สำหรับอารมณ์บัญญัติได้แก่สิ่งสมมติหรือบัญญัติที่ใจไปรู้เข้า อารมณ์บัญญัติเป็นสิ่งที่ใช้เจริญวิปัสสนาไม่ได้ใช้ได้เฉพาะในการเจริญสมถกรรมฐานเท่านั้น เพราะอารมณ์บัญญัติไม่ใช่ปรมัตถธรรมอันเป็นของจริงแท้ที่ใครๆ จะสำคัญมั่นหมายเอาได้ว่าเป็นตัวเรา ทั้งอารมณ์บัญญัติก็ไม่แสดงไตรลักษณ์ ถ้าจะหาลักษณะให้ ก็มีได้แค่อนัตตลักษณะ ไม่มีอนิจจลักษณะและทุกขลักษณะ

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 107 ตุลาคม 2552 โดยพระปราโมทย์ ปาโมชฺโช)
กำลังโหลดความคิดเห็น