xs
xsm
sm
md
lg

ทางเอก : หัวใจกรรมฐาน (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

๕.๕ ประเภทของอารมณ์ปรมัตถ์ (ต่อ)

นาม คือธรรมชาติที่เป็นความรู้สึกนึกคิดต่างๆ อันเป็นนามธรรม จำแนกได้เป็น ๒ อย่างคือ จิตและเจตสิก

- จิต คือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ถึงแม้จิตจะจำแนกออกไปได้มากมายถึง ๘๙ ดวงก็ตาม แต่จิตที่ใช้เจริญวิปัสสนาได้จริงก็มีไม่มากนัก โดยเฉพาะท่านที่ไม่ได้ฌานสมาบัติจะเหลือจิตที่ใช้ทำวิปัสสนาได้เพียง ๔๕ ดวง เพราะจิตนอกนั้นจะไม่เกิดขึ้นกับท่าน
บุคคลทั่วไปจะไม่มีจิต ๔๔ ดวงต่อไป นี้คือ (๑) โลกุตรจิต ๘ ดวง เป็นจิตที่เกิด ขึ้นในกระบวนการบรรลุมรรคผล ซึ่งใช้เจริญวิปัสสนาไม่ได้อยู่แล้ว เพราะไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเนืองๆ และในขณะที่โลกุตรจิตเกิดขึ้นก็จงใจเจริญวิปัสสนาไม่ได้อยู่แล้ว (๒) มหากิริยาจิต ๘ ดวง และหสิตุปบาทจิตอีก ๑ ดวง เป็นจิตที่เกิดขึ้นเฉพาะในพระอรหันต์ ซึ่งท่านก็พ้นจากงานเจริญวิปัสสนากรรมฐานไปแล้ว (๓) รูปาวจรจิต ๑๕ ดวงและอรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง ซึ่งเป็นจิตที่เกิดเพราะการทำฌานสมาบัติต่างๆ

จิต ๔๕ ดวงที่เกิดในบุคคลทั่วไป ล้วน แต่เป็นจิตในกามาวจรภูมิทั้งสิ้น ประกอบด้วย (๑) อกุศลจิต ๑๒ ดวง จำแนกเป็นโลภมูลจิต ๘ ดวง โทสมูลจิต ๒ ดวง และโมหมูลจิต ๒ ดวง (๒) มหากุศลจิต ๘ ดวง (๓) วิบากจิต ๒๓ ดวง จำแนกเป็นอกุศล วิบากจิต ๗ ดวง กุศลวิบากอเหตุกจิต ๘ ดวง และมหาวิบากจิต ๘ ดวง และ (๓) อเหตุกกิริยาจิตอีก ๒ ดวงคือปัญจทวาราวัชชนจิต กับมโนทวาราวัชชนจิต

หากยังรู้สึกว่าจิต ๔๕ ดวงนี้มากเกินไป จะรวบย่อลงทำความรู้จักกับจิตเพียง ๘ ประเภทก็ได้ เพราะแม้แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนให้เจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานด้วยจิต ๘ ประเภทนี้ ประกอบด้วย (๑) จิตที่มีราคะ (๒) จิตที่ไม่มีราคะ (๓) จิตที่มีโทสะ (๔) จิตที่ไม่มีโทสะ (๕) จิตที่มีโมหะ (๖) จิตที่ไม่มีโมหะ (๗) จิตที่ฟุ้งซ่าน และ (๘) จิตที่หดหู่ ทราบเพียงเท่านี้ก็พอ แล้ว ไม่จำเป็นต้องจำแนกประเภทย่อยๆ ลงไปอีก เช่นจิตที่มีราคะนั้นจะเป็นดวงใด ใน ๘ ดวง หรือจิตที่มีโทสะนั้นจะเป็นดวงใดใน ๒ ดวง ก็ช่างเถิด รู้แค่ว่าจิตมีราคะหรือมีโทสะก็พอแล้ว

ต่อเมื่อปฏิบัติชำนิชำนาญแล้ว ก็จะรู้จักสภาวธรรมได้มากขึ้นเอง เช่นท่านที่ดูจิตชำนาญแล้วจะเห็นวิบากจิตเช่นจักขุวิญญาณจิต เป็นต้น และจะพบว่าจักขุวิญญาณจิตที่เกิดขึ้นมาทำหน้าที่เห็นรูปทางตานั้นไม่เที่ยง คือเกิดขึ้นแล้วชั่วขณะเพียงวับเดียวก็ดับไป เป็นทุกข์คือตั้งอยู่ไม่ได้ และเป็นอนัตตาคือว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน ปราศจากน้ำหนัก เกิดขึ้นเองโดยไม่ได้จงใจจะให้เกิด และเกิดขึ้นแล้วจะรักษาให้อยู่นานๆก็ไม่ได้ ซึ่งจะแตกต่างจากชวนจิตที่เกิดตามมาในภายหลัง เพราะชวนจิตซึ่งทำหน้าที่เสพอารมณ์ นั้น มักจะมีน้ำหนักแห่งความเป็นตัวตน ผู้ใดเห็นจิตเหล่านี้แล้วก็จะเข้าใจในสิ่งที่อรรถกถาพาหิยสูตรกล่าวไว้ว่า คำว่า สักว่า รู้ นั้น หมายถึง “ชวนจิตที่เกิดตามมา ว่างเปล่าจากกิเลสและความเป็นตัวตนเหมือน กับจักขุวิญญาณจิต” เห็นอย่างนี้ก็เป็นทางละสักกายทิฏฐิได้อย่างรวดเร็วทีเดียว เพราะจะเห็นว่าที่จริงแล้วจิตไม่ใช่ตัวเรา แต่เพราะความสำคัญมั่นหมาย และความ คิดของชวนจิตต่างหากที่ทำให้เห็นว่าจิตเป็นตัวตนขึ้นมาได้

จิตแม้จะมีจำนวนมาก แต่เอาเข้าจริงแล้วจิตมีสภาวธรรมเพียงอย่างเดียว คือเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์เท่านั้น ผู้ปฏิบัติจะเห็นว่าจิตมีธรรมดาเกิดดับอยู่ทางทวาร ทั้ง ๖ คือตาหูจมูกลิ้นกายใจ จิตไม่ใช่มีดวงเดียว แต่มีลักษณะที่ดวงหนึ่งดับไปดวงหนึ่งเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และจิตทุกชนิดก็ทำหน้าที่อันเดียวกันคือรู้อารมณ์ ส่วนจิตจะกลายเป็นจิตชนิดนั้นชนิดนี้ได้ตั้งมากมาย เช่นเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต และทำหน้าที่ต่างๆ กันได้ถึง ๑๔ อย่างเช่นทำหน้าที่ดู ฟัง รู้กลิ่น รู้รส ฯลฯ นั้น ล้วนแต่เป็นไปเพราะเจตสิกคือธรรมชาติ ที่เข้ามาประกอบจิตทั้งสิ้น

เมื่อใดมีจิตเมื่อนั้นต้องมีเจตสิก ถ้าปราศจากเจตสิกเสียแล้ว จิตจะทำงานอะไรไม่ได้เลย เช่นถ้าขาดผัสสะจิตจะกระทบอารมณ์ไม่ได้ ถ้าขาดสัญญาจิตก็จำอะไรไม่ได้ ถ้าขาดสติจิตก็ระลึกรู้สภาวธรรมต่างๆ ที่กำลังปรากฏไม่ได้ และถ้าขาดปัญญาจิตก็เข้าใจความเป็นจริงของสภาวธรรมต่างๆ ไม่ได้ เป็นต้น

เปรียบเทียบก็คล้ายกับว่าจิตเป็นองค์กรอันหนึ่ง มีเจตสิกเป็นผู้ปฏิบัติงานทำหน้าที่ต่างๆกัน เพื่อให้งานของจิตหรือขององค์กรสำเร็จประโยชน์ตามหน้าที่ของตน องค์กรนั้นถ้าขาดผู้ปฏิบัติงานก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ แต่ผู้ปฏิบัติงานถ้าขาดองค์กรก็ไม่สามารถอยู่ได้เช่นกัน องค์กรเป็นใหญ่เหนือผู้ปฏิบัติงานก็จริง แต่ก็ขาดผู้ปฏิบัติงานไม่ได้ ทำนองเดียวกับที่จิตเป็นใหญ่เหนือเจตสิกทั้งปวง แต่ก็ทำงานไม่ได้ถ้าขาดเจตสิกมาทำหน้าที่ต่างๆให้

อนึ่ง องค์กรจะก้าวหน้าหรือเสื่อมถอยก็อยู่ที่คุณภาพของผู้ปฏิบัติงาน องค์ กรที่ดีจึงต้องพยายามพัฒนาคุณภาพของผู้ปฏิบัติงาน ส่งเสริมคนดีให้มีกำลังและลิดรอนคนชั่วให้อ่อนกำลัง องค์กรจึงจะเข้มแข็งและทำงานบรรลุเป้าหมายสูงสุดได้ จิตก็เช่นเดียวกันกับองค์กร คือผู้ปฏิบัติจะต้องเพียรเจริญสติเพื่อพัฒนาเจตสิกฝ่ายดีเช่นศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิและปัญญา ให้มีกำลังแก่กล้าขึ้น และเพื่อลดทอนอนุสัยกิเลสอันเป็นเจตสิกฝ่ายชั่วไปตามลำดับ จิตจึงจะพัฒนาคุณ- ภาพ จนบรรลุถึงมรรคผลนิพพานได้ในที่สุด

- เจตสิก ได้แก่ธรรมชาติที่ประกอบจิต แบ่งออกได้เป็น ๓ กลุ่ม คือ (๑) เวทนา คือความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ รู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ (๒) สัญญา คือความจำได้และความหมายรู้ เช่นจำรูปได้ จำเสียงได้ จำกลิ่นได้ เป็น ต้น และ (๓) สังขาร คือความคิดนึกปรุง แต่งอีก ๕๐ ชนิด เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความฟุ้งซ่าน ความหดหู่ ความจงใจของจิต ความตั้งมั่นของจิต ความเป็นกลางของจิตและปัญญา เป็นต้น รวมความแล้วบรรดาความรู้สึกทางใจทั้งหลายที่นอกเหนือจากเวทนาและสัญญาแล้ว ล้วนจัดเป็นสังขารทั้งสิ้น

สรุปแล้วสิ่งที่เรียกว่าอารมณ์ปรมัตถ์ มี ๔ ชนิด ได้แก่จิต เจตสิก รูป และนิพพาน ในการทำวิปัสสนานั้นเราใช้รูปนามเท่าที่มีอยู่จริงนั่นแหละมาเป็นอารมณ์กรรมฐาน ดังนั้นจึงไม่ต้องตกใจว่ารูปนามมีมากมายเสียจนจดจำได้ไม่ทั่วถึง เอาแค่ว่ารูปนามใดปรากฏเฉพาะหน้า ก็รู้รูปนามนั้นเท่าที่รู้ได้ ก็ใช้ได้แล้ว เช่นกายยืนอยู่ก็รู้ว่ารูป มีอาการยืน ไม่ใช่เรายืน จิตมีโทสะก็รู้ว่า จิตมีโทสะ ไม่ใช่เรามีโทสะ เป็นต้น รายละเอียดเหล่านี้จะกล่าวถึงในหัวข้อถัดๆ ไป

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 110 มกราคม 2553 โดย พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช)
กำลังโหลดความคิดเห็น