xs
xsm
sm
md
lg

แก่นธรรมคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"อย่าใช้จิตแสวงหาจิต อีกกัปป์หนึ่งก็ไม่เจอ"
ความจงใจส่งจิตไปดูสิ่งต่างๆ ทั้งภายนอกและภายในนั้น
หลวงปู่ท่านเรียกว่า "จิตส่งออกนอก" ทั้งสิ้น

          ครั้งที่ 13
ลักษณะการดูจิตที่ผิดพลาด

5.2 ลักษณะของการดูจิตที่ผิดพลาด เมื่อได้ปรารภถึงพฤติกรรมของผู้ดูจิตอย่างผิดพลาดแล้ว (ความจริงผู้ปฏิบัติกรรมฐาน อื่นที่ผิดพลาดก็มีมากไม่แพ้กัน) คราวนี้ จะกล่าวถึงการดูจิตที่ผิดพลาดในแง่มุมต่างๆ ซึ่งล้วนแต่ผิดพลาดจากแก่นธรรมคำสอนของหลวงปู่ทั้งสิ้น กล่าวคือ

5.2.1 การหลงคิดเรื่องจิต การคิดเรื่องจิตไม่ใช่การดูจิต สมดังคำของหลวงปู่ที่ว่า 'คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงรู้ แต่ก็ต้องอาศัยคิด' หมายความว่าผู้ปฏิบัติพึงปล่อยให้จิตคิดนึกปรุงแต่งไปตามธรรมดาของจิต เพียงแค่มีสติตามรู้เจตสิกธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับจิต เช่นความรู้สึกสุขทุกข์ และอารมณ์ อันเป็นกุศลและอกุศลต่างๆ ตลอดจนตามรู้กระบวนการทำงานของจิต ด้วยจิตที่ มีสัมมาสมาธิคือความตั้งมั่น จนเกิดปัญญาเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของจิตและเจตสิกธรรมต่างๆ ไม่ใช่เอาแต่คิดนึกปรุงแต่ง ว่าจิตไม่เที่ยงบ้าง จิตเป็นทุกข์บ้าง จิตเป็นอนัตตาบ้าง คิดถึงความว่างบ้าง คิดถึงนิพพานบ้าง ซึ่งนั่นไม่ใช่การเจริญวิปัสสนากรรมฐานแต่อย่างใด

5.2.2 การหลงดูสิ่งอื่นที่ไม่ใช่จิต ผู้ดูจิต ที่ไม่รอบคอบอาจหลงไปดูสิ่งอื่นที่ไม่ใช่จิต ซึ่งได้แก่อารมณ์ภายนอก กับอารมณ์อันเป็น ความปรุงแต่งภายใน ทั้งด้วย (ก) ความจงใจ (ข) ความเผลอเพลิน และ (ค) ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เนื่องจากคิดว่าการดูนั้นเป็นการ ดูจิตที่ถูกต้อง เป็นทางบรรลุมรรคผลนิพพาน หรือดูแล้วมีความสุขหรือสนุกหรือน่าสนใจที่จะดู ตัวอย่างเช่น

5.2.2.1 อารมณ์ภายนอก เป็นการหลงกับปรากฏการณ์ภายนอกกายหรือจิตของตน ซึ่งมีทั้งสิ่งที่เป็นจริง และสิ่งที่ไม่เป็นจริงอันเป็นนิมิตที่จิตสร้างขึ้นเอง เช่นเมื่อดูจิตอยู่แล้วจิตเกิดส่งกระแสออกไปรู้เห็นสิ่งภายนอก เช่นเห็นผีและเทวดา เห็นรัศมีกายและรัศมีจิตของผู้อื่น ได้ยินเสียงความคิดของผู้อื่น รู้วารจิตของผู้อื่น การรู้เหตุการณ์ในอดีตและอนาคต ฯลฯ ส่วนมากการหลงอารมณ์ภายนอกมักเกิดจากความสนุก ความอยากรู้อยากเห็น หรือความอยากเด่นอยากดัง เป็นการออกไปรู้ ทั้งทราบว่าไม่ใช่ทางของการบรรลุมรรคผลนิพพาน

5.2.2.2 อารมณ์ภายใน เป็นการหลงกับปรากฏการณ์หรือความปรุงแต่งภายในกายหรือจิตของตน ซึ่งมีทั้งสิ่งที่เป็นจริง และสิ่งที่ไม่เป็นจริงอันเป็นนิมิตที่จิตสร้างขึ้นเอง ตัวอย่างเช่น

(1) เมื่อเห็นวิบากของการจงใจปฏิบัติด้วยอำนาจของโลภะและโทสะที่มีลักษณะเป็นก้อนแน่นๆ อยู่กลางอก ก็สำคัญว่านั่นคือจิต แล้วหลงไปจ้องดูโดยคิดว่านั่นคือจิต

(2) เมื่อสติระลึกรู้สภาวะบางอย่างเช่นกิเลสที่ผุดขึ้นกลางอก ก็หลงไปดูสภาวะนั้น แล้วสภาวะนั้นก็จะหลบตัวลึกลงไปอีก ผู้ปฏิบัติก็หลงส่งจิตตามไปดูสภาวะนั้น โดยคิดว่าจะดูเข้าไปให้ถึงต้นตอของสภาวะ ในขณะนั้นผู้ปฏิบัติเห็นแต่สภาวะ แต่ลืมรู้ทันว่าจิตกำลังหลงไปดูสภาวะเสียแล้ว และเมื่อตามลึกลงไปอีก สภาวะนั้นก็จะหายไปอย่างไร้ร่องรอย กลายเป็นความว่างอยู่ภายใน ผู้ปฏิบัติก็หลงอยู่กับอารมณ์ว่างๆ ในส่วนลึกของจิตนั้น เพื่อรอดูว่าเมื่อไรสภาวะใดจะผุดออกมาอีก จะได้เห็นต้นตอว่ามันผุดออกมาจากที่ใด แล้วคิดว่ากำลังดูจิตอยู่

เรื่องนี้ผู้เขียนเองเคยผิดพลาดมาแล้ว ครั้งนั้นหลวงปู่มรณภาพไปแล้วและผู้เขียนได้พบหลวงปู่สิม พุทธาจาโร แห่งวัดถ้ำ ผาปล่อง ท่านได้กรุณาเตือนผู้เขียนว่า 'ผู้รู้ (ท่านเรียกผู้เขียนว่า 'ผู้รู้') รู้ออกมาอยู่นอกๆ นี่ กิเลสมันไม่อยู่ในนั้นหรอก' ผู้เขียนจึงเกิด รู้ขึ้นมาว่า กิเลสนั้นอาศัยการกระทบอารมณ์ ทางตาหูจมูกลิ้นกายและใจ จึงเกิดขึ้นได้ หากมัวหลงอยู่กับอารมณ์อันละเอียดลึกใน ภพละเอียดอย่างนั้น ก็ไม่มีการกระทบอารมณ์หยาบ ย่อมไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งให้กิเลสหยาบเกิดขึ้นมาได้ ไปรอดูก็ไม่เห็น เพราะมันไม่มีเหตุให้เกิด ส่วนกิเลสที่กำลังเกิดอยู่คืออวิชชาและโลภะที่ละเอียดนั้น สติปัญญายังไม่แก่กล้าพอที่จะเห็นได้ จึงมองหากิเลสอย่างไรก็ไม่เห็นกิเลส

(3) เมื่อสติระลึกรู้ความไหวยิบยับที่ผุดขึ้นกลางอก ก็หลงไปดูความไหวนั้น ดูเป็น เดือนๆ ทั้งวันทั้งคืน ความไหวนั้นก็ไม่หายไปสักที ผู้ปฏิบัติจึงเกิดความฟุ้งซ่านรำคาญใจว่าอะไรหนอมันไหวอยู่ได้ทั้งวันทั้งคืน แท้จริงมันคือความปรุงแต่งอย่างหนึ่งของจิตเท่านั้น หน้าที่ของผู้ปฏิบัติก็คือ 'สักว่ารู้ แล้วรู้ทันจิต' ไม่ใช่หาทางไปดับมัน และหาก ไปหลงจ้องมันจนลืมตัว จิตจะถลำเข้าไปแช่อยู่กับความไหวๆ นั้น แล้วคิดว่ากำลังดูจิตอยู่ ต่อเมื่อจิตมีกำลังตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู จิตจึงจะแยกออกจากสิ่งไหวๆ นั้น แล้วเจริญปัญญาต่อไปได้

(4) เมื่อตามดูจิตอยู่นั้น บางคราวผู้ปฏิบัติก็หลงไปเพ่งจิตและเกิดนิมิตขึ้นได้ เช่นเห็นจิตเป็นดวงสว่างผุดขึ้นกลางอก เห็นเป็นพระพุทธรูปนั่งสมาธิอยู่กลางอก เห็นพระพุทธเจ้าหรือครูบาอาจารย์มาแสดงธรรมให้ฟัง หรือได้ยินเสียงจิตแสดงธรรมขึ้น มาเอง หรือเห็นความไหวๆ สองสามขณะแล้ว เห็นจิตเป็นดวงสว่างโผล่แหวกสิ่งห่อหุ้ม ออกมาบางส่วน ฯลฯ ถ้าผู้ปฏิบัติไปหลงสำคัญ มั่นหมายยินดีในสิ่งเหล่านี้ ก็จะลืมดูจิต

การจะป้องกันการหลงไปดูสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ จิตนั้นกระทำได้ โดย (1) ผู้ปฏิบัติพึงระลึกอยู่เสมอว่า ตนมีหน้าที่ศึกษารูปนาม/กายใจ ของตนเองเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น ไม่ควร สนใจนิมิตหมายภายนอกใดๆ ทั้งสิ้น และ (2) ผู้ปฏิบัติพึงมีโยนิโสมนสิการ คือหมั่นสังเกตจิตใจของตนให้รอบคอบ ว่าดำเนินอยู่ ในลู่ทางของการเจริญวิปัสสนากรรมฐานจริง หรือไม่ เพราะจิตมีธรรมชาติปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลา จำเป็นต้องระมัดระวัง เพราะหาก ผู้ปฏิบัติรู้ไม่เท่าทันความปรุงแต่งของจิต ก็จะหลงไปดูความปรุงแต่งหรือนิมิตหมายภายในแทนการดูจิต และไม่เห็นกิเลสที่กำลังซ่อนเร้นบงการพฤติกรรมของจิตอยู่ ซึ่งโดยส่วนมากผู้ดูจิตมักจะมีพฤติกรรม 'ส่งจิตไปดูจิต' หรือ 'ส่งจิตไปเที่ยวแสวงหาจิต' ด้วยอำนาจบงการของโลภะคือความอยากรู้อยากเห็นอยากเป็นอยากได้ ทั้งที่หลวงปู่สอนว่า 'อย่าใช้จิตแสวงหาจิต อีกกัปป์หนึ่งก็ไม่เจอ' อนึ่ง ความจงใจส่งจิตไปดูสิ่งต่างๆ ทั้งภายนอกและภายในนั้น หลวงปู่ท่านเรียกว่า 'จิตส่งออกนอก' ทั้งสิ้น

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า/
การจงใจดูจิตอย่างเดียว )
กำลังโหลดความคิดเห็น