xs
xsm
sm
md
lg

แก่นธรรมคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

                   อุบายธรรมสอนศิษย์เป็นการเฉพาะบุคคล
                    ตามจริตนิสัยวาสนาบารมีที่แตกต่างกัน
             หรือเพื่อแก้ข้อขัดข้องทางการปฏิบัติเป็นกรณีๆ ไป

       ครั้งที่ 02
คำสอนของหลวงปู่ดูลย์

1. คำสอนของหลวงปู่ดูลย์

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล อดีตพระราชวุฒาจารย์ อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ และอดีต เจ้าอาวาสวัดบูรพาราม (ต่อไปผู้เขียนจะเรียกนามท่านโดยย่อว่า 'หลวงปู่' เพราะคุ้นเคยที่จะเรียกท่านอย่างนั้น) เป็นพระมหาเถระผู้เปี่ยมด้วยอนุสาสนีปาฏิหาริย์ ท่านมีปกติสอนศิษย์ด้วยถ้อยคำที่ลัดสั้น แต่ครอบคลุมใจความของการปฏิบัติอันลุ่มลึกไว้มากมาย ยากที่ผู้ฟังจะเข้าใจตามได้ด้วยการคิด ต่อเมื่อลงมือปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรมแล้ว จึงจะเข้าใจซาบซึ้งถึงคำสอนของท่านได้

ผู้เขียนมีโอกาสได้รับคำสอนโดยตรงจากท่านหลายประการ และพบว่าเนื้อหาในคำสอนของท่านจำแนกได้ 3 ประเภท คือ

1.1 แก่นธรรมหรือหลักธรรมชั้นสูงในขั้นปรมัตถธรรม ได้แก่เรื่อง 'อริยสัจแห่งจิต' ซึ่งครอบคลุมคำสอนทั้งหมดของท่าน ทั้งฝ่ายวัฏฏะ คือการเกิดภพ (การทำกรรมของจิต) เกิดชาติ (ความเป็นตัวตนหรือการหยิบฉวยได้มาซึ่งรูปนาม) เกิดทุกข์ (รูปนาม ชาติ ชรา มรณะ ฯลฯ) และฝ่ายวิวัฏฏะ (ทางออกจากภพ จากชาติ จากทุกข์)

1.2 หลักการปฏิบัติทั่วไป เป็นคำสอนโดยทั่วไปแก่ผู้ปฏิบัติ ท่านใดจะนำไปใช้ก็ได้ประโยชน์ทั้งสิ้น เช่น (1) ให้ดูจิต (2) อย่าส่งจิตออกนอก และ (3) คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิดจึงรู้ แต่ก็ต้องอาศัยคิด

1.3 อุบายธรรมที่ท่านสอนศิษย์เป็นการเฉพาะบุคคล ตามจริตนิสัยวาสนาบารมีที่แตกต่างกัน หรือเพื่อแก้ข้อขัดข้องทางการปฏิบัติเป็นกรณีๆ ไป เช่น (1) 'ตั้งสติ ดูจิตแบบจ้องไม่กะพริบตา' (สำหรับคนที่จิตฟุ้งซ่านมากๆ) (2) 'ให้ดูผมเส้นเดียว' (สอนหลวงพ่อคืน ปสนฺโน ซึ่งต้องดูผมเส้นเดียวแบบกสิณดิน จิตจึงจะรวมสงบได้) (3) 'ให้บริกรรมพุทโธ แล้วรู้ว่าพุทโธจนหมด คำพูด แล้วดูจิตต่อไป' (สอนเด็กคนหนึ่งให้มี คำบริกรรมเป็นเครื่องอยู่ แล้วคอยสังเกตจิต) (4) 'ให้สลายกายเข้าสู่จิต' (สอนต่อยอดให้พระอาจารย์สุจินต์ สุจิณฺโณ ซึ่งเคยฝึกคิดพิจารณาแยกกายเป็นส่วนๆ มาก่อน) (5) 'ตกกระไดพลอยโจน (การกำหนดจิตในเวลา ที่กำลังจะตาย) โดยประคองจิตให้หยุดอยู่บนความไม่มีอะไรเลย' (สอนพระอาจารย์ สุจินต์ สุจิณฺโณ เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติเวลาใกล้ตาย ตรงจุดนี้ถ้าพลาดจะไปเกิดในพรหมโลก แต่ถ้าจิตวางขันธ์ได้ก็จะเกิดสภาวะว่างตามข้อถัดไป) (6) 'ว่าง สว่าง บริสุทธิ์หยุดความ ปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาของจิต ไม่มีอะไรเลย ไม่เหลืออะไรสักอย่าง' (เล่าถึง เครื่องอยู่ของหลวงปู่ และชี้ว่าจิตที่ทรงอยู่ในสภาวะอย่างนี้ในขณะที่ธาตุขันธ์แตกดับก็จะนิพพาน) (7) 'พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง' (สอนสำหรับผู้เดินในแนวทาง สมถยานิกที่มีจิตผู้รู้ตั้งมั่นเป็นผู้รู้อารมณ์ ซึ่งคำสอนข้อหลังนี้ท่านสอนให้หลวงพ่อ พุธฐานิโย กับผู้เขียน คือสอนผู้เขียนก่อนท่านมรณภาพ 36 วัน และสอนให้หลวงพ่อพุธก่อนสอนผู้เขียนอีก 7 วัน) เป็นต้น

การที่คำสอนของท่านมีหลายระดับและมีความหลากหลายไปตามบุคคลนี้เอง ทำให้ศิษย์แต่ละคนเข้าใจคำสอนของท่านแตกต่างกันบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เป็นอุบายการปฏิบัติเฉพาะตัว ซึ่งบางกรณี อุบายของคนหนึ่งก็ไปขัดแย้งกับอุบายของอีกคนหนึ่ง คือคนนี้ใช้วิธีนี้ได้ แต่อีกคนหนึ่งนำวิธีนี้ไปใช้ไม่ได้ ปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นในทุกยุคทุกสมัย เพราะครูบาอาจารย์ที่สอนกรรมฐานด้วยความรอบรู้ นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมา ย่อมสอนธรรมหลายระดับและจำแนกแจกธรรมให้เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคน ไม่ใช่สอนทุกคนแบบเหมารวมเหมือนๆ กัน ดังนั้นพอถึงชั้นลูกศิษย์หลานศิษย์ คำสอนจึงเริ่มแตกกระจัดกระจาย จนถึงขั้นแตกนิกายหรือแตกกลุ่มก็มี และแต่ละฝ่ายสามารถอ้างคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือของอาจารย์ มาเป็นเครื่องสนับสนุนความเชื่อของตนได้ด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นหากได้ยินว่าหลวงปู่หรือครูบาอาจารย์ ท่านใดสอนอย่างใด ควรพิจารณาให้ถ่องแท้ เสียก่อนว่า ธรรมนั้นเป็นแก่นคือเป็นหลักธรรมล้วนๆ ในขั้นปรมัตถ์ หรือเป็นหลักการ ปฏิบัติทั่วไป หรือเป็นอุบายธรรมอันเป็นแนวทางดำเนินเฉพาะตัวของบุคคลนั้น หรือเพื่อแก้ปัญหาข้อขัดข้องทางการปฏิบัติเฉพาะกรณีของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ถ้าจำแนกได้ก็จะไม่เกิดความขัดแย้งในบรรดาลูกศิษย์ หลานศิษย์ เหลนศิษย์ร่วมอาจารย์ขึ้นในภายหลัง

คำสอนทั้งหลายของหลวงปู่ล้วนแต่ลึกซึ้งและเป็นประโยชน์ แต่ที่จัดได้ว่าเป็นแก่นธรรมคำสอนอันเป็นหลักธรรมชั้นสูงในขั้นปรมัตถธรรม และครอบคลุมคำสอนทั้งหมดของท่านอย่างแท้จริง ได้แก่เรื่อง อริยสัจแห่งจิต ซึ่งมีถ้อยคำดังนี้

"จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นนิโรธ"

'อนึ่ง ตามสภาพที่แท้จริงของจิต ย่อมส่งออกนอกเพื่อรับอารมณ์นั้นๆ โดยธรรมชาติของมันเอง ก็แต่ว่าถ้าจิตส่งออกนอกได้รับอารมณ์แล้ว จิตเกิดหวั่นไหวหรือเกิดกระเพื่อมไปตามอารมณ์นั้น เป็นสมุทัย ผลอันเกิดจากจิตหวั่นไหวหรือกระเพื่อมไปตามอารมณ์นั้นๆ เป็นทุกข์ ถ้าจิตที่ส่งออกนอกได้รับอารมณ์แล้ว แต่ไม่หวั่นไหว หรือไม่กระเพื่อมไปตามอารมณ์นั้นๆ มีสติอยู่อย่างสมบูรณ์ เป็นมรรค ผลอันเกิดจากจิตไม่หวั่นไหว หรือไม่กระเพื่อม เพราะมีสติอยู่อย่างสมบูรณ์ เป็นนิโรธ พระอริยเจ้าทั้งหลายมีจิตไม่ส่งออกนอก จิตไม่หวั่นไหว จิตไม่กระเพื่อม เป็นวิหารธรรม จบอริยสัจ 4'

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า/ความจำเป็นในการอธิบายแก่นคำสอนของหลวงปู่)
กำลังโหลดความคิดเห็น