xs
xsm
sm
md
lg

ปุจฉา - วิสัชนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชอบโยนความผิดให้ผู้อื่น
ปุจฉา : กราบเรียนหลวงปู่ที่คารพ ผมมีเรื่องอยากเรียนถามหลวงปู่เกี่ยวกับเพื่อนในที่ทำงานคนหนึ่ง เป็นผู้ชายครับ เขาเป็นคนที่ทำความผิดพลาดแล้ว ไม่ค่อยยอมรับผิดและมักจะชอบโยนความผิดให้คนอื่นๆ เสมอ ผมเองก็เคยโดนมากับตัว พอผมต่อว่าเขา เขาก็จะแสดงอาการโมโหพาลมาโกรธผม ผมอยากจะถามหลวงปู่ว่าคนประเภทนี้เป็นอย่างไร และผมควรจะปฏิบัติกับเขาอย่างไร
นนท์

วิสัชนา : สถานภาพของคนที่ทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด แต่กลับโยนความผิดของตนให้คนอื่นนั้น เป็นคนที่น่าละอาย เป็นคนไม่มีเกียรติ เป็นคนที่ไร้ศักดิ์ศรี และขาดความกล้า เป็นคนที่ไม่สมควรจะได้รับการยอมรับทางสังคม
คนประเภทนี้ไม่ควรเข้าใกล้ เพราะอยู่ใกล้ไม่ปลอดภัย ต้องอยู่ให้ห่างเข้าไว้ และไม่ควรอภัยถ้าทำบ่อยๆถี่ๆ แต่ถ้านานๆทำที เพราะมีความจำเป็น หรือมีเหตุปัจจัยนำพาให้ไป หรือที่เรียกว่าตกบันไดพลอยโจน แล้วเรามองว่าเขาไม่มีเจตนาที่จะทำอย่างนั้นก็ควรที่จะให้อภัย

มีจิตอกุศลตอนกรวดน้ำ
ปุจฉา : นมัสการหลวงปู่พุทธะอิสระที่เคารพ ปกติเวลาทำบุญแล้ว ก็ต้องกรวดน้ำ เพื่ออุทิศส่วนกุศล ดิฉันก็ทำอย่างนี้มา ตลอด แต่ก็มีบ่อยครั้งที่เวลาขณะกรวดน้ำ จิตที่เคยคิดอกุศลหรือเรื่องไม่ดีต่างๆ มันจะผ่านแวบๆเข้ามา ทำให้ดิฉันรู้สึกรำคาญ ตัวเองมาก ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร อยากให้หลวงปู่ช่วยแนะนำด้วยค่ะ ว่ามีวิธีใดที่จะหลุดจากตรงนี้ได้ กราบขอบคุณค่ะ
วรพร

วิสัชนา : อกุศลจิตมันเกิดได้ทุกขณะจิต จำไว้ว่า คราใดที่คุณมีกุศลจิตเกิดขึ้น และกุศลจิตกำลังจะเสวยหรือให้ผลอยู่ อกุศลจิตจะไม่ปรากฏ เพราะขณะที่เรามีกุศลอยู่ อกุศลมันก็มีแต่มันไม่โตพอที่จะมีอำนาจครอบ งำเรา แต่ขณะที่จิตไม่มีกุศล แน่นอนอกุศลมันได้ช่อง ก็ย่องเข้ามาปรากฏ
ในขณะที่คุณกรวดน้ำนั้น ถ้าไม่ได้กรวดด้วยหัวใจที่เป็นกุศล แต่กรวดด้วยความเสียไม่ได้ กรวดเพราะประเพณี กรวดเพราะหน้าที่ ไม่ได้นึกอยากทำ การกรวดเพราะประเพณี กรวดเพราะหน้าที่ แต่ไม่ได้ต้องการทำนี่ มันก็ไม่ใช่แหล่งแห่งการเกิดกุศล เขาเรียกว่าทำด้วยซาก แต่ใจไม่ประกอบ ก็ถือว่าการทำนั้นไม่ใช่ส่วนแห่งกุศล เป็นธรรมดาที่อกุศลมันย่อมเข้ามาครอบงำ
การแก้ปัญหาขณะอกุศลจิตเข้าครอบงำคือ ทำให้จิตเป็นกุศลในขณะที่หยิบขันน้ำขึ้นมากรวด แล้วกรวดด้วยหัวใจที่จะให้ ด้วยหัวใจบริสุทธิ์ และปรารถนาที่จะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขจริงๆ และคุณก็ให้ได้แม้แต่มิตร และศัตรูที่จ้องจะทำร้ายทำลายคุณ

มีสติมากๆแล้วเครียด?
ปุจฉา : นมัสการพระคุณเจ้าหลวงปู่พุทธะอิสระ ดิฉันเคยคุยกับเพื่อนๆเรื่องการปฏิบัติธรรม ซึ่งเพื่อนเองก็ยังไม่เข้าใจมากนัก เพราะเราเพิ่งไปปฏิบัติแค่ไม่กี่ครั้ง ตอนนี้ดิฉันสงสัยเรื่องเกี่ยวกับสติค่ะ เพราะเพื่อนบอกว่าถ้าสติมีมากเกินไปจะทำให้เราขมึงทึงตึงเครียด ควรจะผ่อนคลายให้เบาลงบ้าง ไม่จำเป็นต้องมีตลอดเวลา คือต้องทำให้เหมาะสมแก่สภาวะของเราจะดีกว่า ดิฉันก็ไม่ค่อยแน่ใจนัก เลยต้องเขียนมาถามหลวงปู่ ไม่ทราบว่าหลวงปู่มีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้เจ้าคะ มันถูกหรือไม่ถูก
พนิดา

วิสัชนา : ที่เพื่อนคุณบอกว่ามีสติมากๆแล้วจะทำให้ตึงเครียด นั่นไม่น่าจะใช่สติ น่าจะเป็นประสาทมากกว่า เพราะสติอยู่กับใครจะทำให้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เพราะสติก็คือสภาวะที่เฝ้ามองทุกอย่างตามความเป็นจริง เราไม่อยากมองก็ไม่ต้องไปมอง แค่นั้นจบ
สตินี่อยู่กับใครจะทำให้คนนั้นทำ พูด คิด ไม่ผิด และนอกจากสติจะไม่ทำให้ชีวิตนี้ตึงเครียดแล้ว ยังทำหน้าที่ช่วยผ่อนคลายความโง่ ความหลง และความตึงเครียดได้ ถ้าเป็นสัมมาสติของพระพุทธเจ้า
สติของวิถีพุทธเมื่อมีอยู่กับเรา จะทำให้เรารู้เท่าทันตามความเป็นจริง และจะมีชีวิต อย่างผ่อนคลาย โปร่งเบาสบาย เพราะฉะนั้นคุณต้องเข้าใจคำว่าสติใหม่ แล้วทำให้สติของพระพุทธะเกิดขึ้นในตัวคุณ แล้วคุณจะรู้ว่าคุณไม่ได้ตึงเครียดอย่างที่เข้าใจ

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 107 ตุลาคม 2552 โดยหลวงปู่พุทธะอิสระ วัดอ้อน้อย จ.นครปฐม)
กำลังโหลดความคิดเห็น