xs
xsm
sm
md
lg

ปุจฉา - วิสัชนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อธิษฐานอยากเกิดร่วมกันอีก
ปุจฉา : นมัสการหลวงปู่พุทธะอิสระที่เคารพ ดิฉันขอนมัสการเรียนถามปุจฉาหลวงปู่ดังนี้ค่ะ คือดิฉันอยากจะทราบว่าการอธิษฐานจิต เพื่อให้ไปเกิดในภพหน้าร่วมกับบิดามารดา และญาติพี่น้อง เหมือนในชาตินี้ เป็นการอธิษฐานที่จะสัมฤทธิ์ผล ได้หรือไม่ เพราะบิดามารดาและญาติพี่น้องของดิฉันเป็นคนดี เราเป็นครอบครัวที่มีความสุขมาก ดิฉันก็เลยอยากจะมาเกิดร่วมกับพวกเขาอีกทุกภพทุกชาติ มาเป็น พ่อแม่พี่น้องกันเหมือนในชาติปัจจุบันนี้ ขอขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะที่ท่านกรุณาวิสัชนาให้
ณัฐพร

วิสัชนา : มันต้องทำเหตุให้สมบูรณ์ ด้วยการสร้างสัมพันธภาพที่ดีให้เกิดขึ้นกับตัวเองและครอบครัว กับบิดามารดา ญาติมิตร จนกระทั่งเขาผูกพันรักใคร่แนบแน่นกับเรา ถ้ารู้จักสร้างเหตุอันสมบูรณ์เช่นนี้ ผลย่อมเกิดมาดีเอง

ปกติหรือเปล่า?
ปุจฉา : เรียนถามหลวงปู่ที่เคารพอย่างสูง ดิฉันรู้ว่าการปฏิบัติศีล แปลว่า การทำความดีเป็นปกติ เหมือนที่หลวงปู่ได้บอกบ่อยๆ แต่ทำไมเวลาที่เราปฏิบัติหรือเคร่งครัดในศีล กลับมีบางคนบอกว่าเราไม่ปกติเหมือนคนส่วนมาก ทำอะไรที่คนอื่นเขาไม่ทำกัน ดูแปลกๆ
อ้อ..นอกจากศีล 5 ที่พระท่านสอนให้ประพฤติปฏิบัติกันเป็นประจำแล้ว ยังมีหลักธรรมข้อใดอีกบ้างคะที่ควรนำมาประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ชีวิต ของเรามีความสุขมากขึ้นค่ะ ขอขอบพระคุณค่ะสำหรับความเมตตาของหลวงปู่
จารุพัชร์

วิสัชนา : 1. แสดงว่าคนนั้นผิดปกติ เขาก็เลยเห็นคนปฏิบัติศีลเป็นเรื่องไม่ปกติ คุณเคยฟังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือเปล่าว่า คนไทยยุคปัจจุบันเห็นความผิดปกติ จนเป็นเรื่องปกติ แต่ใครมาทำสิ่งปกติให้เกิดขึ้น ดูว่าผิดปกติทันที ที่เป็นเช่นนี้เพราะเราเห็นการทำผิดศีลเป็นประจำเป็นอาจิณ ก็เลยเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ ดังนั้น พอมีใครเคร่งครัดในศีลขึ้นมาบ้าง ก็เลยดูว่าคน คนนั้นมันผิดปกติ แสดงว่าคนมองน่ะไม่ปกติ
2. มีมากมาย ธรรมะ 84,000 พระธรรมขันธ์ เราไม่จำเป็นต้องรู้หมดทุกขันธ์ ขอสักข้อหนึ่ง อะไรก็ได้ที่เราพอใจ ทำแล้วสบายใจ แล้วมันรักษาใจ คุ้มกันใจ และคุ้มภัยให้กับเราได้ ไม่ว่าจะเป็นสติ-ความระลึกได้, สัมปชัญญะ-ความรู้ตัว, หิริ-ความละอายชั่ว, โอตตัปปะ-ความเกรงกลัวบาป, ขันติโสรัจจะ-ความอดทน อดกลั้น หรือกตัญญูกตเวทิตา ฯลฯ ข้อไหนก็ได้ที่คุณคิดว่าเป็นที่พึ่งของจิตวิญญาณและสันดานคุณได้ ข้อไหนก็ได้ที่ทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลาย โปร่งเบาสบาย จากความทุกข์เดือดร้อน เศร้าโศกเสียใจ ทั้งกายวาจาใจ


ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร
ปุจฉา : กราบหลวงปู่ที่เคารพ ตอนนี้กระผมได้เกษียณจากการงานแล้ว ได้มีโอกาสศึกษาธรรมะ จากการอ่านหนังสือ แล้วก็อยากปฏิบัติธรรม แต่ว่าไม่สามารถ ไปปฏิบัติธรรมที่วัดได้ เพราะสุขภาพไม่อำนวยและมีภาระต้องดูแลบ้าน กระผมจึงขอเรียนถามหลวงปู่ว่ามีหลักข้อใดบ้างครับสำหรับปฏิบัติตน เพื่อที่จะปฏิบัติธรรมทำสมาธิภาวนาในขณะที่อยู่บ้าน
อเนก

วิสัชนา : ข้อแรกคือมีศรัทธาคือความเชื่อความเลื่อมใส ที่ประกอบไปด้วยปัญญา ในวิถีทางแห่งการปฏิบัติธรรมของคุณว่าเป็นสิ่งดีงาม เป็นการสั่งสมอบรมบารมีธรรม การปฏิบัติธรรมนั้น ผลแห่งธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว ข้อต่อมา เมื่อมีศรัทธาแล้วต้องมีความเพียรพยายามที่จะทำบ่อยๆ ทำอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีความเพียรแล้วต้องมีสติตั้งมั่น คือสติต้องรอบรู้ เข้าใจ วิเคราะห์ใคร่ครวญพิจารณา และต้องมีปัญญามองให้เห็นข้อเท็จจริงในสิ่งที่เราทำ คำที่เราพูด และสูตรที่เราคิด อย่าหลงใหลได้ปลื้ม หรือตกเป็นทาสของการฉุดกระชากลากถูหรือการครอบงำของใครๆ ไม่ว่าจะเป็นคำพูดคำสอนของผู้ใด ต้องใช้ปัญญาใคร่ครวญพิจารณาทุกครั้งทุกขั้นตอน จะได้ไม่งมงาย ไม่หลง ไม่เชื่อง่าย และไม่มีชีวิตที่ไร้สาระ
เหล่านี้แหละคือคุณสมบัติของบุคคลที่จะปฏิบัติธรรม


(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 103 มิ.ย. 52 โดยหลวงปู่พุทธะอิสระ วัดอ้อน้อย จ.นครปฐม)
กำลังโหลดความคิดเห็น