xs
xsm
sm
md
lg

องค์ประกอบของจิตที่เป็นกุศล ทาน ศีล ภาวนา ฟังธรรม แผ่เมตตา ให้อภัย มีน้ำใจ ไม่เห็นแก่ตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปุจฉา
ขอวิธีปฏิบัติธรรมให้คุณแม่


กราบเท้าหลวงปู่ที่เคารพ มีเรื่องขอเรียนปรึกษาหลวงปู่ดังนี้ คือคุณแม่ของดิฉันเป็นน้องใหม่ในวงการธรรมะ เพิ่งเริ่ม หัดฟังธรรมได้ไม่นาน และภาษา ไทยก็ยังไม่ค่อยแข็งแรงเพราะเป็นคนจีน จึงขอความเมตตาหลวงปู่ช่วยแนะนำหลักการปฏิบัติธรรม และการดำเนินชีวิตแบบง่ายๆ ด้วยภาษาง่ายๆ ให้คุณแม่ผู้เหลือเวลาในชีวิตอีกไม่มากได้ปฏิบัติ เพราะปัจจุบันคุณแม่อายุประมาณ 70 ปีแล้วค่ะ ดิฉันจะพาไปวัดเพื่อฟังธรรมเท่าที่ดิฉันพอมีเวลาว่างค่ะ กราบขอบพระคุณหลวงปู่มากค่ะ

วิสัชนา

องค์ประกอบของจิตที่ให้เกิดกุศลมันมีขั้นตอน บางครั้ง เราฟังธรรมไม่รู้เรื่อง ก็คิดว่าเมื่อพาแม่มาฟังธรรมก็คงจะไม่รู้เรื่องเหมือนกัน แต่สิ่งที่แม่ทำแล้วรู้เรื่องและสบายก็คือการรักษาศีล เจริญภาวนา แม้จะฟังธรรมไม่รู้เรื่องก็สอนให้แม่แผ่เมตตา มีน้ำใจ รู้จักให้อภัย ไม่เห็นแก่ตัว แนะนำให้แม่มีองค์ประกอบแห่งกุศล

วิธีให้แม่ทำกุศลมี เยอะแยะ เช่น ชวนแม่บริจาคทาน ใส่บาตร ถวายสังฆทาน รู้จักแผ่เมตตาบ่อยๆท่องอะไรไม่ได้ก็แค่พูดสั้นๆ ในใจว่า 'ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นสุข' แค่นี้แม่ก็มีบุญแล้ว
ต้องค่อยๆ บอก ค่อยๆ แนะนำ ค่อยๆ ชี้ ค่อยๆ จูง เหมือนที่แม่อบรมเลี้ยงดูคุณมา ให้แม่ของคุณเข้าใจความหมายของคำว่าบุญ ซึ่งแปลว่าความอิ่มและเต็มความสุขใจ ผ่อนคลาย โปร่งเบาสบาย ไม่จำเป็นต้องฟังธรรมอย่างเดียว เหล่านี้แหละเรียกว่าองค์ประกอบของจิตในส่วนที่เป็นกุศล

สรุปสั้นๆ ก็คือทาน ศีล ภาวนา ฟังธรรม แผ่เมตตา ให้อภัย มีน้ำใจ ไม่เห็นแก่ตัว

ปุจฉา
ทำอย่างไรให้เป็นที่รักของทุกคน

เรียนหลวงปู่ที่เคารพ ดิฉันมีข้อสงสัยขอปุจฉา 2 ข้อ ค่ะ

1. ทำอย่างไรให้เป็นที่รักของ ทุกคน คือที่บ้าน ที่ทำงาน ศัตรูหมู่มาร และเจ้ากรรมนายเวร และเข้ากับคนอื่นๆ ได้

2. อานิสงส์ของความกตัญญู มีอยู่หรือไม่ และบุตรหลานที่ไม่กตัญญูจะได้รับผลอย่างไรคะ

ขอขอบพระคุณที่ช่วยวิสัชนาค่ะ

วิสัชนา

1. ไม่ยากเลย วิธีทำให้เป็นที่รักแก่คนทั้งหลาย เพียงแค่มีน้ำใจ รู้จักให้อภัย และไม่เห็นแก่ตัว สามอย่างนี้คุณจะเป็นที่รักของพรหม มาร และมนุษย์ทั้งหลาย

2. ความกตัญญูกตเวทิตา คือการรู้คุณและตอบแทนบุญคุณนั้น ทุกศาสนาสอนตรงกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของคนดี ความกตัญญูกตเวทิตามีอานิสงส์ ส่งผลให้คนนั้นรุ่งเรือง เจริญ

แต่ถ้าไม่รู้คุณคนที่มีบุญคุณ และไม่คิดจะตอบแทนบุญคุณแก่ผู้นั้น เราก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะยืนอยู่บนโลกแบบที่มีคนใดไว้วางใจเลย เพราะขนาดคนที่มีบุญคุณกับเรา เรายังไม่สำนึกบุญคุณ ไม่คิดตอบแทนคุณ ถ้าเราไปเข้าสังคมใด สังคมนั้นรู้เข้าก็จะว่าเราเป็นบุคคลที่ไม่ปลอดภัยกับเขา ไม่มีใครอยากอยู่ใกล้ เพราะขนาดคนที่มีบุญคุณ เรายังไม่สำนึกไม่ตอบแทน แล้วคนอื่นที่ไม่ได้ให้อะไรเรา มีหรือเราจะไปรู้จักบุญคุณเขา เขาก็ย่อมไม่วางใจเรา มีความรู้สึกว่าอยู่ใกล้เราแล้วไม่ปลอดภัย สุดท้ายเราก็คือคนที่สังคมปฏิเสธ แค่เขารู้ว่าเราอกตัญญูต่อพ่อแม่ เขาก็จะตราหน้าว่าขนาดพ่อแม่ของตัวเองยังไม่รัก แล้วเรื่องอะไรจะไปรักคนอื่น คนที่ อกตัญญู ไม่รู้บุญคุณคน เป็นไป ไม่ได้ที่สังคมจะยกย่อง เป็นไปไม่ได้ที่คนทั้งหลายจะยอมรับ

ปุจฉา
ขอวิธีเจริญสติเบื้องต้น

นมัสการเรียนถามหลวงปู่พุทธะอิสระ ดิฉันสนใจการปฏิบัติธรรม แต่ไม่ค่อยมีเวลาไปวัดหรือไปเข้าคอร์สอบรมที่ไหน เพราะต้องทำงานนอกบ้านด้วย และต้องทำงานบ้านเป็นแม่บ้านด้วย เพราะมีลูก 2 คนยังเล็กอยู่ เผอิญดิฉันแต่งงานช้า เลยมีลูกช้า แต่ว่าดิฉันก็ชอบอ่านหนังสือธรรมะ เพราะรู้สึกว่าช่วยให้สบายใจ เพราะบางทีก็เครียดมากทั้งจากที่ทำงานและที่บ้าน พอจะมีเวลาหายใจได้สงบๆ ก็ช่วงดึกๆ ที่ลูกๆ นอนกันแล้ว ดิฉันก็ใช้เวลา มานั่งสมาธิบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำทุกวัน ดิฉันอยากถามว่าถ้าหากเราไม่ได้ไปปฏิบัติธรรมที่วัด แต่ปฏิบัติธรรมที่บ้านแทน จะได้หรือไม่ แล้วต้องปฏิบัติอย่างไร แล้วการเจริญสติเบื้องต้นทำอย่างไรคะ ขอวิธีง่ายๆ นะคะ เพราะยากไปกลัวทำไม่ได้ค่ะ

สุดท้ายนี้ขอขอบพระคุณที่ท่านกรุณาตอบข้อปุจฉาให้ค่ะ

วิสัชนา

การปฏิบัติธรรมที่บ้านก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้คุณผ่อนคลายสบายใจ และกายเป็นสุข

คำว่าผ่อนคลาย คือ ผ่อนคลายจากตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายถูกต้องสัมผัส และใจรู้อารมณ์ เพราะอารมณ์ในตัวเราก็ต้องผ่อนคลายด้วย จิตใจโปร่งเบาสบายแล้วกายเป็นสุขก็คือเมื่อใจผ่อนคลายแล้ว เราก็พยายามทำกายให้เป็นสุข อย่าบังคับกายให้เป็นทุกข์ บางคนคิดว่า การเจริญสติ ทำสมาธิภาวนาอยู่กับบ้าน คือต้องนั่งอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วพระพุทธเจ้าทรงสอนในหลักมหาสติปัฏฐาน 4 มีทั้งยืน เดิน นั่ง นอน คือการเจริญสติ

วิธีเจริญสติง่ายๆ ในชีวิตประจำวันสำหรับฆราวาสก็คือ สนใจและใส่ใจในสิ่งที่ตัวเองกำลังทำ คำที่กำลังพูด และสูตรที่กำลังคิด อย่างตั้งมั่น จดจ่อ และจริงจัง
กำลังโหลดความคิดเห็น