xs
xsm
sm
md
lg

แก่นธรรมคำสอน ของหลวงปู่ตูลย์ อตุโล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สัมมาสมาธิเป็นแกนกลางที่ประชุมขององค์มรรคทั้ง 7 ที่เหลือ
ถ้าปราศจากสัมมาสมาธิแล้วอริยมรรคจะเกิดขึ้นไม่ได้
เพราะองค์ธรรมฝ่ายกุศลไม่สามารถรวมตัวเข้าช่วยล้างกิเลสได้

ครั้งที่ 06 อธิบายศัพท์ มรรค

3.7 มรรค

มรรคแปลว่าหนทาง มีหลายชนิด เช่นถนนหนทางก็ชื่อว่ามรรคเพราะเป็นทางไปสู่ที่หมาย สมถกรรมฐานก็ชื่อว่ามรรคเพราะเป็นทางไปสู่พรหมโลก วิปัสสนากรรมฐานก็ชื่อว่ามรรค (เรียกว่าบุพพภาคมรรค) เพราะเป็นทางดำเนินไปสู่อริยมรรค และอริยมรรค ก็ชื่อว่ามรรคเพราะเป็นทางไปสู่ความพ้นทุกข์สิ้นเชิงคือนิพพาน

อริยมรรคมีเพียงหนึ่ง แต่มีองค์ธรรมจำนวนมาก เพราะมรรคมีองค์ประกอบถึง 8 ประการ ได้แก่ (1) สัมมาทิฏฐิ (ความ เห็นชอบ คือปัญญารู้แจ้งอริยสัจ) (2) สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ คือดำริออกจากกาม ดำริออกจากพยาบาท ดำริออกจากความเบียดเบียนมุ่งร้าย) (3) สัมมาวาจา (วาจาชอบ คือวจีสุจริต 4 ประการ ได้แก่การไม่พูดเท็จ การไม่พูดส่อเสียดให้เขาแตกแยกกัน การไม่พูดคำหยาบ และการไม่พูดเพ้อเจ้อ) (4) สัมมากัมมันตะ (การกระทำชอบ คือกายสุจริต 3 ประการ ได้แก่การไม่ฆ่าหรือทำร้ายสัตว์ การไม่ลักทรัพย์ และการไม่ประพฤติผิดในกาม) (5) สัมมาอาชีวะ (การเลี้ยงชีพชอบ คือเว้นมิจฉาชีพ ประกอบสัมมาชีพ) (6) สัมมาวายามะ (ความเพียรชอบ คือเพียรละอกุศลที่มีอยู่ เพียรปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด และเพียรทำกุศลที่เกิดแล้ว ให้งอกงามไพบูลย์) (7) สัมมาสติ (ความระลึกชอบ คือการเจริญสติปัฏฐาน) และ (8) สัมมาสมาธิ (สมาธิชอบ คือความตั้งมั่นของจิตในระดับฌาน)

ทั้งนี้ สัมมาสมาธิจะทำหน้าที่เป็นแกนกลาง หรือเป็นที่ประชุมขององค์มรรคทั้ง 7 ที่เหลือ ถ้าปราศจากสัมมาสมาธิแล้ว อริยมรรคจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะองค์ธรรมฝ่ายกุศลทั้งหลายไม่สามารถรวมตัวเข้าช่วยกันล้างกิเลสได้ (เรื่องสัมมาสมาธิเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาให้ดี เพราะสมาธิที่ผู้ปฏิบัติจำนวน มากทำกันอยู่นั้นเป็นมิจฉาสมาธิ เรื่องนี้สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ 'วิมุตติมรรค' ที่ผู้เขียนได้เขียนแจกไว้แล้ว)

มีข้อน่าสังเกตว่าอริยมรรคประกอบด้วยองค์ธรรมจำนวนมาก ซึ่งล้วนแต่เป็นเจตสิกคือธรรมที่ประกอบกับจิต ดังนั้นในขณะที่เกิดอริยมรรคซึ่งมีเจตสิกธรรมจำนวน มากเกิดขึ้น (มากกว่า 30 ดวง) นั้น จะต้องมีจิตเกิดร่วมด้วยอย่างแน่นอน เพราะเจตสิก เกิดไม่ได้ถ้าไม่มีจิต และจิตก็เกิดไม่ได้ถ้าไม่มีเจตสิก เป็นที่น่าสลดใจที่มีการเผยแพร่ธรรมะกันในลักษณะที่ว่า ขณะที่เกิดอริยมรรค นั้นจิตดับหมด คือผู้ปฏิบัติวูบหมด ความรู้สึกตัวเหลือแต่ร่างกายนั่งแข็งทื่ออยู่เท่านั้น นั่นไม่ใช่อริยมรรคเลย แต่เป็นภพภูมิ ชนิดหนึ่งชื่อว่า 'อสัญญสัตตาภูมิ' หรือ พรหมลูกฟัก ความจริงในขณะที่เกิดอริยมรรค ต้องมีจิต ชื่อว่า 'มรรคจิต' ซึ่งจำแนก โดยย่อได้ 4 ดวง คือ โสดาปัตติมรรคจิต สกิทาคามิมรรคจิต อนาคามิมรรคจิต และอรหัตตมรรคจิต และอริยมรรคทั้งหลายเหล่านี้ย่อมเกิดเพียงครั้งละ 1 ขณะจิตเท่านั้น รวมแล้วบุคคลใดบุคคลหนึ่งสามารถเกิดอริยมรรคได้เพียง 4 ครั้ง และครั้งละ 1 ขณะจิต ตลอดการเดินทางในสังสารวัฏ ไม่มีการเกิดอริยมรรคเป็นครั้ง 5 อย่างเด็ดขาด

3.8 นิโรธ

นิโรธแปลว่าความดับทุกข์ มี 5 อย่างคือ

3.8.1 วิกขัมภนนิโรธ เป็นการดับชั่วคราวด้วยการข่มไว้ คือการดับกิเลสชั่วคราวของผู้ทำฌาน สามารถดับนิวรณ์ได้ชั่วคราวด้วยสมถกรรมฐาน

3.8.2 ตทังคนิโรธ เป็นการดับชั่วคราวด้วยธรรมที่เป็นคู่ปรับ เช่นดับ วิปัลลาส 4 (ความหลงผิดเห็นสิ่งไม่งามว่างาม เห็นสิ่งไม่เที่ยงว่าเที่ยง เห็นสิ่งเป็นทุกข์ว่าเป็นสุข และเห็นสิ่งเป็นอนัตตาว่าเป็นอัตตา) ด้วยธรรมตรงข้ามอันเกิดจากการเจริญ สติปัฏฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ได้แก่การเห็นรูปนามเป็นอสุภะ (ความไม่งาม) อนิจจัง (ความไม่เที่ยง) ทุกขัง (ความทนอยู่ไม่ได้) และอนัตตา (ความไม่ใช่ตัวตน)

3.8.3 สมุจเฉทนิโรธ เป็นการดับด้วยตัดขาด คือดับสังโยชน์ได้เด็ดขาดด้วย โลกุตตรมรรคหรืออริยมรรค ในขณะแห่งมรรคนั้นชื่อว่าสมุจเฉทนิโรธ

3.8.4 ปฏิปัสสัทธินิโรธ เป็นการดับด้วยสงบระงับ คืออาศัยโลกุตตรมรรค ดับกิเลส เด็ดขาดไปแล้ว บรรลุโลกุตตรผล กิเลสที่สงบ ระงับไปแล้วจะไม่เกิดมีอีก ไม่ต้องขวนขวาย เพื่อดับอีก ในขณะแห่งโลกุตตรผลนั่นแหละชื่อว่าปฏิปัสสัทธินิโรธ เพราะมีความสงบระงับเด็ดขาดจากกิเลส

3.8.5 นิสสรณนิโรธ เป็นการดับด้วยการสลัดออกได้ เป็นสภาวะที่จิตพรากออกจากขันธ์ ดำรงอยู่ในภาวะที่กิเลสดับแล้วนั้นยั่งยืนตลอดไป นิสสรณนิโรธคืออมตธาตุ คือนิพพาน

องค์ธรรมของนิโรธในอริยสัจคือ นิสสรณนิโรธ หรือนิพพาน ในเบื้องต้นที่ผู้ปฏิบัติบรรลุพระอรหันต์นั้น นิโรธคือความพ้นทุกข์ เพราะจิตของพระอรหันต์สลัดออกหรือพรากออกจากขันธ์อันเป็นกองทุกข์ หรือจะกล่าวว่าเป็น 'กิเลสนิพพาน' ก็ได้ เพราะขันธ์ยังมีอยู่แต่ไม่มีกิเลสย้อมจิตใจของพระอรหันต์ได้ เมื่อร่างกายของพระอรหันต์แตกดับลง นิโรธก็คือความดับทุกข์หรือความดับสนิทของขันธ์ หรือจะกล่าวว่าเป็น 'ขันธนิพพาน' ก็ได้ และหลังจากนั้นนิโรธก็คือความไม่เกิดมีอีกของทุกข์ คือไม่เกิดมีขันธ์ขึ้นมาอีก

3.9 พระอริยเจ้า

คำว่าพระอริยเจ้าตามความหมายของหลวงปู่ ไม่ได้หมายถึงพระอริยบุคคล 8 จำพวก แต่หมายเฉพาะท่านผู้บรรลุอรหัตตผล เท่านั้น เพราะท่านระบุว่าพระอริยเจ้านั้น มีจิตไม่ส่งออกนอก จิตไม่หวั่นไหว จิตไม่กระเพื่อม ซึ่งพระเสขบุคคลนับแต่พระโสดาบัน พระสกิทาคามี จนถึงพระอนาคามี ยังมีจิตที่ส่งออก ยังมีจิตที่หวั่นไหว และยังมีจิตที่กระเพื่อม

3.10 วิหารธรรม

วิหารธรรมคือเครื่องอยู่สบายของจิต ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ใช้กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม เป็นวิหารธรรม (อ่านเพิ่มเติมได้ในเรื่องเกี่ยวกับการเจริญสติปัฏฐาน ในหนังสือประทีปส่องธรรม หรือทางเอก ก็ได้)

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า/
อธิบายธรรม)
กำลังโหลดความคิดเห็น