หากยังมีชีวิตหยัดยืนอยู่บนโลกนี้ คงไม่มีใครเคยได้สัมผัสว่า สวรรค์แท้จริงเป็นเช่นใด แต่จากตำราและคำบอกเล่าที่ได้ยินต่อๆกันมา ทำให้เราต่างเคยรับรู้มาว่ามันคือภพภูมิที่ดี ซึ่งคนผู้ก่อกรรมดีเท่านั้นจึงจะได้ไป ส่งผลให้คนจำนวนไม่น้อยเกรงกลัวต่อการทำบาป มุ่งกระทำแต่กรรมดี เพื่อในวันที่ลาจากโลกนี้ไป สวรรค์จะยินดีเปิดประตูต้อนรับ
คนที่มีความเชื่อเช่นนี้น่าจะรวมถึง “สุวัฒน์ แสนขัติยรัตน์” ศิลปินวัย 37 ปี ผู้เป็นเจ้าของ “เรือนศิลป์แสนขัติยรัตน์” เรือนแห่งการสืบสานงานสุนทรียศิลป์ บนถนน เลียบคลองรังสิต 11 ที่จะเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมอย่างเป็นทางการภายในต้นปี พ.ศ.2553
และเป็นเจ้าของภาพเขียนสีอะคริลิกบนผ้าใบ ชุด “จินตนาการแห่งสรวงสวรรค์” ที่ทำให้ผู้ชมได้สัมผัสกับภาพของเหล่าเทวดาและนางฟ้าบนสวรรค์ ตลอดจนความงดงามและวิจิตรอลังการของสวรรค์ชั้นฟ้า อันเป็นผลงานที่ต้องการเชิญชวนให้ผู้ชมได้เห็นถึงผลของการประพฤติชอบ ประกอบแต่กรรมดี รักษาศีล มีหิริโอตตัปปะ เพื่อก้าวสู่สรวงสวรรค์อันรื่นรมย์และเป็นทิพย์
โดยสุวัฒน์ได้อาศัยข้อมูลจากหนังสือเรื่องไตรภูมิ และตำราที่กล่าวถึงภพภูมิสวรรค์ตามแบบศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ มาใช้ในการเขียนภาพ
ภาพเขียนในแนวจิตรกรรมไทยแบบประเพณีชุดนี้ของเขา จึงเป็นการหยิบเอาสิ่งที่เป็นนามธรรมมานำเสนอให้เป็นรูปธรรม เพื่อทำให้ภาพสวรรค์ในจินตนาการของแต่ละคนมีความชัดเจนขึ้น แต่นั่นก็ไม่ใช่แก่นแท้ที่ศิลปินตั้งใจนำเสนอ
“เจตคติคือมุ่งเน้นให้บุคคลมุ่งสร้างผลกรรมดีและปฏิบัติตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจะนำพาจิตไปสู่สุคติในสัมปรายภพ และสามารถเข้าถึงพระนิพพานอันเป็นบรมสุขในที่สุด”
ดังนั้น สุวัฒน์จึงไม่ใช่เป็นเพียงศิลปินผู้สนใจเขียนภาพสวรรค์ แต่ยังเป็นคนหนึ่งที่มีความเชื่อว่าสวรรค์มีอยู่จริง และเวลานี้เขากำลังค่อยๆสร้างสะพานบุญของตัวเอง เพื่อเป็นหนทางที่จะนำพาชีวิตไปสู่สวรรค์ในอนาคต
“ถ้าไม่มีจริง เราจะมีหลักคำสอนที่เป็นประโยชน์อย่างทุกวันนี้หรือไม่ มันเป็นเรื่องที่พิสูจน์ยากก็จริง แต่ ผู้ที่เรียนรู้และฝึกปฏิบัติเท่านั้นจะรู้ได้ด้วยตัวเอง ผมรู้ว่านิพพานและสวรรค์มีอยู่จริง แต่ผมยังติดสุขอยู่กับการเขียนภาพ ผมค่อยๆปูสะพานบุญของผมทีละเล็กทีละน้อย จนให้มันถึงสวรรค์ และเมื่อไปถึงสวรรค์ก็ข้ามไปสู่พระนิพพาน ซึ่งไม่รู้ว่าต้องใช้เวลากี่ภพกี่ชาติ”
ความเชื่อเช่นนี้สุวัฒน์บอกว่าได้ปลูกฝังอยู่จิตใจเขามานานแล้ว เพราะเขามีปู่ที่มีอาชีพเป็นคนสร้างโบสถ์สร้างวิหาร มีโอกาสได้ฟังธรรมะทุกวันพระ เรียนในโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ และทุกวันนี้ก็ยังหมั่นปฏิบัติธรรมและนิมนต์พระไปฉันเพลที่บ้านทุกวันพระ
“แต่ที่ทำให้รู้สึกว่าต้องทำงานพุทธศิลป์ เพราะผมรัก ไม่รู้เพราะอะไร ตอนเด็กๆจะเขียนแต่ภาพของพระพุทธเจ้า โตขึ้นก็ยังเขียน และอนาคตก็คงต้องเขียน มันเป็นสิ่ง ที่ช่วยฝึกสมาธิของเรา ทำให้จิตได้ระลึกถึงพระพุทธองค์”
หนังสือเรื่องไตรภูมิและตำราที่กล่าวถึงภพภูมิสวรรค์ซึ่งเคยได้อ่าน อาจเป็นแรงกระตุ้นสำคัญทำให้สุวัฒน์จับพู่กันเขียนภาพสวรรค์ เพื่อโน้มน้าวจิตใจทุกคนให้เลิกคิดทำความชั่ว และคิดอยากทำแต่ความดี เพื่อจะได้ไปสวรรค์กันเยอะๆ แต่สภาพของสังคมในยุคปัจจุบันที่มีแต่เรื่องให้เศร้าสลดใจก็มีส่วนอยู่ไม่น้อย
ในวันที่เคลื่อนย้ายภาพเขียนจากเรือนศิลป์ฯไปเปิดแสดง ณ หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา นอกจากคำกล่าวเชื้อเชิญให้ทุกคนไปชมผลงานเขียน ที่ทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจสร้างสรรค์ สุวัฒน์ยังได้พรั่งพรูออกมาว่า
“ผมคิดว่าคนปัจจุบันทำบุญกันน้อย แล้วก็มีแต่เรื่องของการแข่งขันชิงดีชิงเด่น ทุกวันนี้ข่าวที่เกิดขึ้น พ่อข่มขืน ลูก พี่ชายข่มขืนน้องสาว ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสลด ใจในสังคม
เพราะฉะนั้นเราลองมาหายใจเข้าลึกๆแล้วปล่อยลมหายใจออกมายาวๆ ลองดูซิว่ามันจะทำให้จิตของเรานิ่งขึ้นไหม แล้วมาดูงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาและเป็นเรื่องเกี่ยวกับสรวงสวรรค์”
ชมภาพเขียนสวรรค์แล้ว ฝันอยากไปให้ถึง ปฏิบัติตามคำแนะนำของสุวัฒน์ ความฝันที่วาดหวังอาจจะกลาย เป็นจริง
“ผมเชื่อว่าคนที่จะไปสวรรค์ได้ก็ต้องทำบุญ ประพฤติชอบ ประกอบกรรมดี อยู่ในหิริโอตตัปปะ รักษาศีล 5 อย่างเคร่งครัด แค่นี้ก็ถือเป็นการสร้างสะพานบุญที่จะพาชีวิตไปสู่สวรรค์แล้ว”
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 108 พฤศจิกายน 2552 โดยฮักก้า)