xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมปฏิบัติ : ปฏิบัติธรรมนำมาซึ่งความสุข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระพุทธเจ้าทรงสอนหลายเรื่องหลายอย่างหลายปริยาย เช่นเรื่องคิหิปฏิบัติ คือคำสอนฆราวาส เริ่มต้นตั้งแต่เด็กขึ้นไป คือหน้าที่ของลูก ของบิดามารดา ของผู้ครองเรือนภรรยาสามี รู้จักให้สิทธิให้อำนาจแก่กันและกัน เห็นอกเห็นใจกัน รู้จักบุญคุณของกันและกัน สนองบุญคุณซึ่งกันและกัน ท่านสอนเบื้องต้นตั้งแต่ฆราวาสเรื่อยขึ้นไป มิใช่ท่านจะสอนให้เราออกบวชให้เราไปมรรค ผลนิพพานด้วยกันทั้งหมด ไม่ใช่ ไม่ได้ทรงสอนอย่างนั้น

หลักใหญ่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ชาวโลกมีธรรมะ ให้พวกเราปฏิบัติถูกต้องเท่านั้น เพราะเป็นการนำมาซึ่งความสุขความสบายแก่ตน การอยู่ด้วยกันนับตั้งแต่คนสองคนขึ้นไปต้องปฏิบัติถูกต้องตามหลักธรรมจึงจะอยู่อย่างมีความสุขความสบายตามกำลังความสามารถของตน ถ้าพิจารณาต่อไปจะเห็นว่าดีขึ้นมากกว่านั้นอีกคือ คนเราถ้าหากว่าเกิดขึ้นมาเพื่อประกอบอาชีพหาใส่ปากใส่ท้องเพียงอย่างเดียว ด้านจิตใจไม่เจริญมันก็ไม่ผิดอะไรกับสัตว์เดรัจฉานโดยทั่วไป ถึงแม้จะเจริญก้าวหน้ามากทางวัตถุด้วยประการต่างๆ ก็ตามเถิด ถ้าหากด้านจิตใจเสื่อมเสียแล้ว เรื่องวัตถุที่เจริญนั้นไม่มีประโยชน์เลย มีแต่จะให้โทษทำลายซึ่งกันและกัน

การทำมาหากินที่แย่งกันแข่งขันกัน มีแค่นี้แล้วไม่พอทะเยอทะยานหาให้มากขึ้นอีก รวยไม่มีวันพอ จะมีความสุขจากเงินทองที่หามาไหม อีกพวกหนึ่งเขาทำมาหาเลี้ยงปากท้องพอกินพอใช้อยู่ไปวันหนึ่งๆ ไม่ต้องหาความร่ำรวย ขอให้มีอันอยู่อันกิน ต่างก็จงรักภักดีปรองดองซึ่งกันและกัน ลองคิดดูอะไรจะเป็นสุขกว่ากัน

ทางพุทธศาสนาท่านสอนการพัฒนาทางด้านจิตใจไปพร้อมๆกันกับทางด้านวัตถุนั้นถูกไหม ดีหรือไม่ เอาล่ะถึงแม้สมัยนี้จะเจริญทางด้านวัตถุไปแล้วก็ตาม ถ้าหากว่าด้านจิตใจจะเจริญไปด้วยพร้อมๆกัน พวกเราจะยิ่งได้ความสุขยิ่งกว่าปัจจุบันนี้อย่างนับไม่ถ้วนทีเดียว ถ้าหากพวกเราเข้าใจหลักของพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้องแท้จริงแล้ว จะเห็นประโยชน์และคุณค่าของพระศาสนาว่ามากมายหาที่เปรียบมิได้ ความสุขอะไรจะมาเท่าความสุขที่เกิดจากความสงสารเมตตาปรานีและโอบอ้อมอารีซึ่งกันและกันไม่มี การมีเงินมีทองถ้าหากปราศจากคุณธรรมทั้งหลายนี้แล้วก็ไม่คุ้มค่า มีแต่จะนำมาซึ่งความเดือดร้อนถ่ายเดียว...

(จากส่วนหนึ่งของการแสดงธรรม ณ วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๑๙)

ภาวนาสู่ความสุขสงบ
ทำไมจึงต้องภาวนากัน ภาวนาทำไมจึงต้องหลับตา ทำไมจึงต้องนั่งขัดสมาธิ นี่แหละมันมีหลายเรื่อง คำว่า ภาวนา นั้นไม่ใช่แต่ว่าจะนั่งสมาธิหลับตาเท่านั้น จะอยู่ในท่าใดอิริยาบถใดได้ทั้งนั้น ภาวนาไม่ใช่การได้ แต่เป็นการทิ้ง ทิ้งของไม่ดี ชำระของไม่ดีที่มันติดอยู่ที่ใจของเราแต่เราไม่ทราบ ถ้าไม่ค้นหาก็ไม่ทราบและไม่ทราบจะเอาไปทิ้งที่ไหนด้วย เพราะเหตุนั้นจึงมาหัดภาวนาให้มันเห็นของไม่ดีที่อยู่ในใจของเรา แล้วทิ้งของอันไม่ดีนั้นเสีย นี่คือการภาวนา

ทีนี้เรายังไม่เคยเห็นใจ เราจึงมาฝึกหัดทำใจให้มันสงบให้มันนิ่งจึงจะเห็น คนเราวุ่นวายเดือดร้อนเพราะใจไม่สงบ ถ้าสงบแล้วไม่วุ่นวายไม่เป็นทุกข์ คนเป็นทุกข์กลุ้มใจเพราะคิดมาก ยึดโน่น ยึดนี่ ถือโน่น ถือนี่ นั่นเป็นของไม่ดี เรามาสำรวมใจ จับเอาตัวใจให้มันได้ ใจเป็นของไม่มีตัว เป็นนามธรรม เราจะเอาสติ คือผู้ระลึกได้เป็นตัวระลึก เมื่อระลึกอยู่ตรงไหนใจก็อยู่ตรงนั้น เช่น ระลึกพุทโธไว้ที่กลางทรวงอกของเราก็ตาม หรือจะระลึกพุทโธเอาไว้ตามลมหายใจเข้า-ออกก็ตาม ทำความรู้สึกไว้ตรงนั้นแหละอย่าให้ไปรู้สึกที่ตรงอื่น ทำความรู้สึกเอาไว้เฉพาะตรงจุดที่เราตั้งเอาไว้ตรงนั้น คอยระวังรักษาให้อยู่ในที่เดียว นี่เรียกว่าการฝึกอบรมใจให้มาอยู่ในที่เดียวเสียก่อนเป็นเบื้องต้น

การจะให้ใจอยู่มันยากเหมือนกัน ใจมันวิ่งว่อน วุ่นวายสารพัด เลยขี้เกียจรำคาญว่ามันยุ่งมากเหลือเกิน แท้ที่จริงมันไม่มาก เราไม่เคยรวมเข้ามาเลยไม่เห็น ปล่อยให้ของกระจายทั่วบ้านทั่วเมืองจะไปเห็นอะไร คราวนี้ดึงมารวมเข้าอยู่ที่เดียวเลยเห็นเป็นของมาก ความจริงมันมากยิ่งกว่าที่เห็นขณะนั่งภาวนานั้นอีก แต่เราไม่ได้อบรมใจเลยไม่ทราบ นี่แหละประโยชน์ของการอบรมใจ หรือการนั่งภาวนา

หัดรวมใจให้เห็นของไม่ดี คือ ใจมันวุ่นวาย จิตส่งสายไปแล้วไม่ได้รับความสุข เราวุ่นมานานแสนนานแล้ว มันก็ไม่เป็นความสุขอะไรเลย พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ทำใจให้สงบจะเกิดความสุข คราวนี้เราจะมาลองหัดสำรวมดูมันจะได้รับความสุขอย่างที่ท่านว่าไหม มันจะเป็นความสุขอย่างไร จะสุขขนาดไหน เอามาเทียบกันดูทีหลัง

ตอนนี้ขอให้ทำให้มันจริงลงไปเสียก่อน ทำใจให้อยู่ในจุดเดียวอย่างที่อธิบายนี้ อย่าไปคิดนึกอะไรให้มันมากมาย การคิดจะให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้หรือคิดว่ามันเป็นอย่างนั้นแล้วจะเป็นอย่างนี้ ปรุงแต่งต่างๆ ใจก็ไม่อยู่นิ่งอีกแล้ว มันมีอาการไปอีกแล้ว เพ่งมองในอารมณ์อันเดียวนั่นแหละ อะไรเป็นใจ อะไรเป็นสติ สติคือผู้ระลึกได้อยู่เสมอ ว่าตรงนี้ๆ ทำความรู้สึกตรงนี้ให้จดจ่ออยู่ตรงนั้นให้ได้ ผู้ที่รู้สึกว่าอยู่ตรงนี้ๆ ความรู้สึกนั้นแหละเป็นใจ รู้สึกอยู่ตรงไหนใจก็อยู่ตรงนั้น จับสติกับตัวใจให้มันได้เสียก่อน ให้รู้จักใจเสียก่อน เมื่อแรกหัดมันก็ดิ้นรนแส่สาย ถ้าเราไม่เอากันจริงๆ จังๆ ให้ชนะมันก็ไม่นิ่งเหมือนกัน ปราบมันให้อยู่สักทีหนึ่งจึงจะเป็นวีรบุรุษได้ การภาวนาเป็น การผจญต่อสู้ ชนะตนได้สักทีนั่นแหละเป็นของดียิ่งกว่าการชนะผู้อื่น พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาไว้อย่างนี้

นั่งขัดสมาธิหรือจะนั่งแบบใดที่สบายก็ตามใจ เบื้องต้นมันจะต้องเมื่อย ปวดนั่นปวดนี่ ต่อไปก็จิตใจไม่สงบไม่อยู่มันส่งส่าย นี่แหละคือสิ่งที่เราจะต้องต่อสู้กัน ใจเป็นใหญ่กว่าอะไรทั้งปวงหมด ถ้าเราคุมใจให้สงบไม่วุ่นวายส่งส่ายได้แล้ว ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าปวดนั่นปวดนี่จะหายไปโดยไม่รู้ตัว ถ้าใจไม่ไปยึดไม่ไปคำนึงถึงสิ่งใด เราจะเห็นประโยชน์ว่าความสุขเกิดขึ้นจากความสงบเห็นชัดขึ้นมาทันทีทีเดียว

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 110 มกราคม 2553 โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย)
กำลังโหลดความคิดเห็น