xs
xsm
sm
md
lg

แก่นธรรมคำสอน ของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จุดผิดพลาดในการดูจิต เช่น การหลงอยู่ในโลกของความคิด
การหลงนิมิตภายในที่จิตปรุงขึ้น การหลงนิมิตภายนอกที่จิตออกไปรู้ไปเห็น

การหลงกับอาการของปีติ การหลบเข้าไปอยู่ในภพละเอียด
การปล่อยให้กิเลสผลักดันจิตอย่างอิสระ โดยไม่ยอมรับรู้ถึงกิเลสนั้น

ครั้งที่ 12
จุดผิดพลาดในการดูจิต

5. จุดผิดพลาดในการดูจิต

5.1 การทำกรรมฐานผิดพลาดส่งผลร้ายต่อตนเองและพระศาสนา


การดูจิตก็ไม่ต่างจากการทำกรรมฐานอย่างอื่น คือหาก (1) ไม่มีกัลยาณมิตร อันได้แก่ครูบาอาจารย์ที่รู้จริงและประกอบด้วยเมตตา หรือ (2) ไม่มีโยนิโสมนสิการ อันได้แก่ความแยบคายในการพิจารณาตรวจสอบการปฏิบัติที่ดำเนินอยู่ ให้ถูกตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ผู้ปฏิบัติก็มีโอกาสที่จะถูกอาจารย์สอน หรือถูกกิเลสหลอกให้ทำอย่างอื่นที่นอกลู่นอกทาง แล้วคิดว่ากำลังปฏิบัติธรรมเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพานอยู่ ความเสียหายจะเกิดแก่ตนเองนับภพนับชาติไม่ถ้วน เพราะจิตจะซึมซับมิจฉาทิฏฐิแน่นหนามากขึ้น และยิ่งเป็นผู้ที่ชอบเผยแพร่ความรู้ความเห็นที่ผิดเพราะการปฏิบัติที่ผิดของตนออกไปด้วยแล้ว ก็จะยิ่งทำให้พระศาสนาและผู้ปรารถนาความพ้นทุกข์อื่นๆ พลอยเสียหายไปด้วย

ทุกวันนี้ไปที่ใดก็พบคนดูจิต และมีการ สอนดูจิตกันอยู่ทั่วไป แต่การดูจิต (รวมทั้งการ ทำวิปัสสนากรรมฐานด้วยอารมณ์กรรมฐานอื่นๆ) เป็นงานที่ละเอียดประณีตมาก จึงเกิดการสอนและการดูจิตที่ผิดพลาดให้เห็นได้เนืองๆ ส่งผลให้บางคนถึงกับสำคัญตนผิด ว่าบรรลุคุณธรรมชั้นสูงถึงขั้นหมดความยึดถือจิตแล้ว ทั้งที่ยังละกิเลสใดๆ ไม่ได้เลย ทำได้เพียง (1) การหลงอยู่ในโลกของความคิด เช่นคิดเรื่องจิตว่าง ความว่าง ความไม่มี อะไรเลย การไม่ยึดถืออะไรเลย ฯลฯ (2) การหลงนิมิตภายในที่จิตปรุงขึ้นเอง เช่นโอภาสคือ แสงสว่าง การระลึกชาติ การรู้อดีตและอนาคต การเห็นภาพหรือเสียงหลอกลวงต่างๆ ที่จิตหลอนขึ้นเอง (3) การหลงนิมิตภายนอกที่จิตออกไปรู้ไปเห็น เช่นการเห็นผีสางเทวดา นรกสวรรค์ การรู้จิตคนอื่น และการได้ยินความคิดของผู้อื่น (4) การหลงกับอาการของปีติ เช่นอาการตัวลอย ตัวเบา ตัวโคลง ขนลุก และความรู้สึกวูบวาบ (5) การหลบเข้าไปอยู่ในภพละเอียด อันเป็นสภาวะที่ผู้ปฏิบัติหลงสร้างขึ้นมาเอง เช่นความว่างภายใน ความว่างภายนอก และการดับความรู้สึกนึกคิดชั่วคราวระหว่างการเข้าสมาบัติ ซึ่งเมื่อหลงอยู่แล้วจะรู้สึกสุขสบาย ไร้ทุกข์ ปราศจากกิเลส เกิดสำคัญผิดว่านี่เป็นทางบรรลุมรรคผลนิพพาน หรือนี่คือ 'นิพพาน' ซึ่งจิตสามารถเอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยได้จริง หรือ (6) การปล่อยให้กิเลสผลักดันจิตอย่างอิสระโดยไม่ยอมรับรู้ถึงกิเลสนั้น จนขาดอาจารสมบัติคือระเบียบ แบบแผนความประพฤติอันดีงาม เพราะคิดว่า นั่นคือความไม่ยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง เช่นนึกจะกล่าวธรรมก็กล่าวเอาเองแบบอัตโนมัตินอกเหนือคำสอนของพระพุทธเจ้า นึกจะด่าใครก็ด่า นึกจะปัสสาวะในที่สาธารณะก็ทำ นึกจะแสดงการเหยียบย่ำพระพุทธรูปหรือรูปพระภิกษุครูบาอาจารย์ก็ทำ เป็นต้น และเมื่อคิดว่าตนเองบรรลุมรรคผลหรือหมดกิเลสแล้ว ก็มักฟุ้งซ่านอยากสอนผู้อื่น บางคนถึงกับเที่ยวไปตามวัดหรือสำนักปฏิบัติต่างๆ ทั้งที่ไม่มีใครเชิญ แล้วประกาศลัทธิของตนด้วยความฟุ้งซ่านในธรรม หรือด้วยความอยากใหญ่ ก็มีให้เห็นอยู่เนืองๆ

การกระทำเช่นนั้น พาคนที่ขาดเหตุผล และไม่ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้หลงผิดตามไปด้วย เข้าทำนอง 'คนบ้าจูงคนโง่ แล้วคนโง่ก็นับถือคนบ้า' เพราะคนโง่เห็นผิดว่า 'คนที่ทำอะไรตามใจชอบ คือคนที่ไม่ยึดถืออะไรแล้ว' ที่น่าสลดสังเวชใจก็คือฆราวาสบางคนที่สำคัญตนว่าเป็นพระอริยบุคคล ถึงกับคุยอวดด้วยความภูมิใจว่า ตนไปที่วัดโน้นวัดนี้ก็มีพระภิกษุมากราบไหว้ตน นับว่าเหลวไหล ตามกันไปหมดทั้งพระทั้งโยม เพราะไม่ศึกษา พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ดี จึงไม่ทราบว่าเพศของคฤหัสถ์นั้นรองรับคุณของ อรหัตตมรรคอรหัตตผลไม่ได้ และคฤหัสถ์ที่เป็นพระอริยบุคคลก็จะเคารพพระธรรมวินัยและเพศบรรพชิต ย่อมไม่ยอมให้พระเณรมากราบไหว้ตนอย่างเด็ดขาด เพราะเป็นอริยประเพณีสืบเนื่องกันมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล เช่นไม่เคยปรากฏเลยว่า พระเจ้าพิมพิสาร จิตตคฤหบดี อนาถปิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขามิคารมาตา หรือหมอชีวกโกมารภัจจ์ ฯลฯ ซึ่งเป็นพระอริยบุคคล จะยินยอมหรือยินดีให้พระภิกษุที่เป็นปุถุชนกราบไหว้ตน สำหรับภิกษุที่เคารพพระธรรมวินัยก็จะไม่กราบไหว้คฤหัสถ์ เพราะแม้แต่จะกราบไหว้ภิกษุผู้ทรงคุณธรรมสูงแต่อ่อนพรรษากว่า ก็ทำไม่ได้แล้ว เนื่องจากพระพุทธเจ้า ทรงกำหนดให้ภิกษุเคารพกันตามหลักอาวุโสภันเต คือผู้บวชทีหลังต้องแสดงความเคารพผู้บวชก่อน จึงเป็นไปไม่ได้ที่ภิกษุจะกราบไหว้ผู้ที่ยังไม่ได้บวชซึ่งไม่มีอายุพรรษาเลย

ไม่ว่ายุคใดสมัยใด คนก็เห่อพระอริยะกันเสมอมา ในครั้งพุทธกาลแค่คนไม่นุ่งผ้าแล้วประกาศว่าฉันไม่ยึดถืออะไรแล้ว ผู้คนก็ยังแตกตื่นนับถือว่านี่คือพระอรหันต์ พวกที่ตื่นพระอริยะนั้นหากมีใครมาประกาศตนว่าเป็นพระอริยะ พึงใช้ความสังเกตให้ดีว่า ผู้นั้นประพฤติตนเรียบร้อยไม่ทำในสิ่งที่คนปกติเขาละอายที่จะกระทำหรือไม่ มีศีลสมบูรณ์หรือไม่ มีจิตปลอดโปร่งไม่กวัดแกว่งหวือหวาไปตามแรงขับของกิเลสหรือไม่ แสดงธรรมถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งในระดับศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติหรือไม่ ซึ่งถ้าสังเกตกันนานๆ ก็พอจะสังเกตได้ไม่ยากนัก

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า/
ลักษณะการดูจิตที่ผิดพลาด)
กำลังโหลดความคิดเห็น