xs
xsm
sm
md
lg

พุทธลีลา : ปางโปรดองคุลิมาลโจร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พระพุทธรูปปางโปรดองคุลิมาลโจรอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงข้างพระวรกาย ส่วนพระหัตถ์ ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) นิ้วพระหัตถ์ตั้งตรง หันฝ่าพระหัตถ์ไปทางซ้ายและตั้งไว้ตรงพระอุระ
ที่มาของพระพุทธรูปปางนี้ มีกล่าวไว้ในพุทธประวัติว่า โจรองคุลิมาล เดิมชื่อ อหิงสกะ เป็นบุตรของพราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าปัสเสนทิโกศล มารดาชื่อนางมันตานีพราหมณี เกิดขึ้นมาในฤกษ์ดาวโจร เมื่อโตขึ้นจึงถูกส่งไปเรียนวิชาที่เมืองตักสิลา ความที่อหิงสกะซึ่งมีชาติตระกูลดี และมีความเฉลียวฉลาด สามารถเรียนรู้วิชาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว เป็นที่รักใคร่ของอาจารย์ ทำให้ศิษย์อื่นในสำนักเดียวกันเกิดอิจฉาริษยา จึงไปยุยงอาจารย์ให้ฆ่าอหิงสกะ อาจารย์จึงออกอุบายว่าจะสอนมนต์วิเศษคือ “วิษณุมนต์” ให้ แต่อหิงสกะต้องไปฆ่าคนให้ได้ครบ ๑,๐๐๐ คนก่อน เพื่อบูชาครู
อหิงสกะอยากได้วิชานั้น จึงทำตาม เมื่อฆ่าคนแล้วก็จะตัดนิ้วร้อยเป็นพวง ห้อยคอไว้ จึงเป็นที่มาของชื่อ “องคุลิมาล” แปลว่า “ผู้มีนิ้วเป็นพวงมาลัย” ชาวเมืองต่างพากันหวาดกลัวโจรองคุลิมาลเป็นอย่างมาก เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบเรื่อง จึงทรงสั่งให้ทหารไปจับตัวองคุลิมาลมาฆ่า เมื่อพราหมณ์ปุโรหิตทราบเรื่อง จึงได้บอกกับนางพราหมณ์ผู้เป็นภรรยา เพื่อให้ล่วงหน้าออกไปเตือนองคุมาลผู้เป็นบุตร ยามนั้นองคุมาลฆ่าคนได้ ๙๙๙ คนแล้ว เหลืออีก ๑ คนก็จะครบจำนวน จึงขณะนั้น พระบรมศาสดาทรงประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร ทรงทราบด้วยอนาคตังสญาณว่า นางพราหมณี จะมีอันตราย ถ้าพระองค์ไม่เสด็จไปโปรด ทำให้องคุลิมาลต้องกระทำมาตุฆาต(ฆ่ามารดา) เป็นอนันตริยกรรม ก็จักเป็นเหตุให้เสื่อมเสียจากมรรคผล
พระพุทธองค์จึงได้เสด็จไปขวางองคุลิมาลไว้ องคุลิมาลจึงวิ่งเข้ามาหมายฆ่าพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธองค์ทรงแสดงปาฏิหาริย์ให้โจรองคุลิมาลวิ่งไล่ไม่ทันจนเหนื่อยล้า พร้อมกับร้องบอกพระพุทธเจ้าให้หยุด แต่พระพุทธองค์ตรัสว่า “เราหยุดจากการทำกรรมชั่ว อันให้ผลเป็นทุกข์มานานแล้ว ส่วนท่านสิยังไม่หยุด”
เมื่อองคุลิมาลได้ฟังพระวาจา ที่เปี่ยมด้วยพระเมตตา ก็สำนึกได้ จึงทิ้งดาบแล้วก้มลงกราบแทบพระบาท พระองค์จึงทรงแสดงธรรมโปรด จนองคุลิมาลเกิดปีติโสมนัสอย่างแรงกล้า ทูลขอบวช พระองค์ก็ทรงอุปสมบทให้ สุดท้ายพระองคุลิมาลก็บรรลุพระอรหัตผล
ปางโปรดองคุลิมาลโจร เป็นพระพุทธรูปประจำผู้เกิดปีมะโรง

จาก ธรรมลีลา ฉบับที่ 103 มิถุนายน 2552
โดย กานต์ธีรา
กำลังโหลดความคิดเห็น