xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องจากพระไตรปิฏก : ตำนาน นโม (๔๒) ผู้กล่าวคำว่า “นโม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

๕. ธนัญชานีพราหมณี ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พราหมณสังยุตต์ อรหันตวรรคที่ ๑ ธนัญชานีสูตรที่ ๑ และพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พราหมณวรรค ที่ ๕ สูตรที่ ๑๐ สคารวสูตร จักได้พรรณนาเนื้อความจากพระสูตรทั้งสอง พร้อมเพิ่มเติมความในอรรถกถา เพื่อความสมบูรณ์แห่งพระสูตรและอรรถรสแห่งธรรม ดังนี้

ธนัญชานี สูตรที่ ๑
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระวิหารเวฬุวัน เขตพระนครราชคฤห์ นางพราหมณีชื่อธนัญชานีแห่งพราหมณ์ผู้ภารทวาชโคตรคนหนึ่ง ได้ยินว่านางพราหมณีผู้นี้มีสกุลสูง ไม่อาจทำสักการะแก่พราหมณ์ทั้งหลาย เล่ากันว่า พวกพราหมณ์นั้นเกิดแต่ปากของพรหม พราหมณ์เหล่านั้นมีลัทธิว่าสกุลธนัญชานีทำลายกระหม่อมออกมา นางธนัญชานีพราหมณีเป็นผู้เลื่อมใสยิ่งในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นอริยสาวก ผู้โสดาบัน พราหมณ์สามีนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ เมื่อนางธนัญชานีพราหมณีกล่าวว่า “พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ” ก็ปิดหูเสีย เป็นคนกระด้างเสมือนตอไม้ตะเคียน
โดยปกติเมื่อพราหมณ์ภารทวาชโคตรจะให้ทาน ย่อมให้ข้าวปายาสมีน้ำน้อยแก่พราหมณ์ ๕๐๐ คน ส่วนนางธนัญชานีพราหมณีได้ให้โภชนะมีรสต่างๆ แก่หมู่ภิกษุ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ในวันที่พราหมณ์ให้ทานพราหมณีได้อังคาสด้วยมือของตน เพราะอยู่ในอำนาจของพราหมณ์นั้น และเพราะละความตระหนี่เสียได้ แต่ในวันที่พราหมณีให้ทาน พราหมณ์ก็หนีออกไปจากเรือนแต่เช้าตรู่
ต่อมาวันหนึ่ง พราหมณ์จึงปรึกษากับพราหมณี จะเชิญพราหมณ์ ๕๐๐ มาแล้ว กล่าวกะพราหมณีว่า “แน่ะแม่จำเริญ พรุ่งนี้ พราหมณ์ ๕๐๐ คนจักบริโภคในเรือนของเรานะ”
พราหมณีถามว่า“ฉันจะช่วยอะไรได้บ้างล่ะพราหมณ์”
พราหมณ์กล่าวว่า “ไม่มีกิจอะไรอื่นที่เจ้าจะต้องช่วย ดอก คนเหล่าอื่นจักกระทำการหุงต้มและอังคาสทั้งหมด ข้อที่เจ้ายืนก็ดี นั่งก็ดี จามก็ดี ไอก็ดี ทำการนอบน้อมแก่สมณะโล้นนั้นว่า “นโม พุทฺธสฺส” นั้น พรุ่งนี้เจ้าอย่าทำสิ่งนั้นสักวันหนึ่งเถิด ด้วยว่าพราหมณ์ทั้งหลายได้ยินดังนั้นแล้ว จะไม่พอใจเจ้า อย่าทำเราให้แตกจากพราหมณ์ทั้งหลายเลย”
พราหมณีกล่าวว่า “ท่านจะแตกจากพราหมณ์ก็ดี จากเทวดาก็ดี ส่วนฉันระลึกถึงพระศาสดา ไม่นอบน้อม ไม่สามารถที่จะอดกลั้นอยู่ได้”
พราหมณ์กล่าวว่า “ แน่ะแม่มหาจำเริญ ก่อนอื่น เจ้าต้องพยายามปิดประตูบ้านในบ้าน ๑๐๐ ตระกูล เมื่อไม่สามารถจะปิดปากที่จะพึงปิดด้วยนิ้วทั้ง ๒ ชั่วเวลาที่พวกพราหมณ์บริโภค”
พราหมณ์นั้นแม้พูดซ้ำซากอย่างนี้ ก็ไม่อาจห้ามได้ด้วยความรัก จึงถือเอาพระขรรค์ที่วางไว้บนหัวนอนกล่าวว่า “แม่มหาจำเริญ เมื่อพราหมณ์นั่งประชุมกันพรุ่งนี้ ถ้าเจ้านมัสการสมณโล้นนั้นไซร้ เราจะเอาพระขรรค์เล่มนี้สับเจ้า ตั้งแต่พื้นเท้าจนถึงปลายผม ทำให้เป็นกองเหมือนหน่อไม้”
พราหมณีผู้เป็นอริยสาวิกา ไม่มีความหวั่นไหวเหมือนแผ่นดิน ไม่มีความสะทกสะท้านเหมือนภูเขาสิเนรุ นางจึงกล่าวกะพราหมณ์ว่า “ท่านพราหมณ์ ถ้าท่านจะตัดอวัยวะน้อยใหญ่ของเราก็ตาม เราจะไม่เว้นจากศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐเลย ท่านไม่อาจห้ามเราจากพระชินเจ้าผู้ทรงคุณอันประเสริฐ เป็นที่พึ่งอาศัยของเราได้ดอก ท่านจะตัดหรือจะต้มเราก็ตามทีเถิด เราก็ชื่อว่าเป็นธิดาของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐแล้ว”
พราหมณ์ไม่อาจจับต้องหรือตีพราหมณี กล่าวว่า “แม่มหาจำเริญ เจ้าจงทำตามที่เจ้าชอบใจเถิด แล้วก็โยนพระขรรค์ไปบนที่นอน”
ในวันรุ่งขึ้น พราหมณ์จึงให้สร้างเรือนฉาบด้วยของเขียวสด ให้ประดับด้วยข้าวตอกหม้อเต็มด้วยน้ำดอกไม้และของหอมเป็นต้นในที่นั้นๆ แล้วให้จัดข้าวปายาสมีน้ำน้อย ปรุงด้วยเนยข้น เนยใส น้ำตาลกรวด และน้ำผึ้ง แล้วให้บอกเวลาแก่พราหมณ์ ๕๐๐ คน
ฝ่ายธนัญชานีพราหมณีอาบน้ำหอมแต่เช้าตรู่ นุ่งผ้าใหม่มีราคา ๑,๐๐๐ เอาผ้ามีราคา ๕๐๐ เฉวียงบ่า ประดับด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง ถือทัพพีทอง อังคาสเลี้ยงดูพวกพราหมณ์ในโรงอาหาร น้อมนำอาหารไปให้พราหมณ์ ภารทวาชโคตร ผู้นั่งในแถวเดียวกับพราหมณ์เหล่านั้น นางก้าวเท้าพลาด ลื่นลงที่กองไม้ที่เขาเก็บไว้ไม่เรียบร้อย ทุกขเวทนาเกิดขึ้นแก่นาง เพราะกระแทกในการลื่นล้มลง ขณะนั้น นางระลึกถึงพระทศพล แต่เพราะนางสมบูรณ์ด้วยสติ นางก็ไม่ทิ้งถาดข้าวปายาส ค่อยๆ วางลงที่พื้น ประคองอัญชลีเหนือเศียร ในท่ามกลางพราหมณ์ ๕๐๐ คน แล้วน้อมอัญชลีไปทางพระวิหารเชตวัน จึงได้เปล่งอุทาน ๓ ครั้ง ว่า “นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส” (ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น)
ก็เวลานั้น บรรดาพราหมณ์เหล่านั้น บางพวกบริโภคเสร็จแล้ว บางพวกกำลังบริโภค บางพวกพอลงมือ บางพวกเพียงวางโภชนะไว้ข้างหน้า พราหมณ์เหล่านั้นพอได้ยินเสียงนั้น เป็นเสมือนถูกค้อนเท่าภูเขาสิเนรุฟาดลงบนศีรษะ และเหมือนถูกหลาวแทงที่หู เสวยทุกข์โทมนัสโกรธว่า พวกเราถูกคนนอกลัทธินี้ลวงเราให้เข้าไปสู่เรือน จึงทิ้งก้อนข้าว คายสิ่งที่อมไว้ เป็นเหมือนกาเห็นธนู พลางด่าพราหมณ์ แล้วพากันหลีกไปคนละทิศละทาง
พราหมณ์ภารทวาชโคตร เห็นพวกพราหมณ์ต่างพากันแยกไปอย่างนั้น มองดูธนัญชานีพราหมณีตั้งแต่ศีรษะ คิดว่า พวกเราเห็นภัยนี้แล จึงขอร้องนางตั้งแต่วันวาน ก็ไม่ได้ จึงด่าธนัญชานีพราหมณีว่า “ก็หญิงถ่อยนี้ กล่าวคุณ ของสมณะโล้นอย่างนี้ๆ ไม่ว่าที่ไหนๆ แน่ะหญิงถ่อย บัดนี้ เราจักยกวาทะต่อพระศาสดานั้นของเจ้า”
ธนัญชานีพราหมณีกล่าวว่า “พราหมณ์ ฉันยังไม่เห็นบุคคลผู้จะพึงยกถ้อยคำต่อพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้นในโลก พร้อมด้วยเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมด้วย สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ข้าแต่พราหมณ์ เอาเถิด ท่านจงไป แม้ไปแล้วก็จักรู้ ”
พราหมณ์ภารทวาชโคตรโกรธขัดใจ จึงเดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ขณะที่เดินทางอยู่นั้น พราหมณ์คิดว่า “พระสมณโคดม ผู้อันชาวบ้านชาวนิคมและชาวแว่นแคว้นบูชาแล้ว ใครๆ ไม่อาจจะไปว่ากล่าวคุกคามอย่างใดๆ ได้ จำเราจักถามปัญหาสักข้อหนึ่งว่า “บุคคลฆ่าอะไรได้ ย่อมนอนเป็นสุข” แล้วคิดต่อไปว่า ถ้าพระสมณโคดมจักกล่าวว่า เราชอบใจการฆ่าบุคคลชื่อโน้น เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจักข่มท่านว่า ท่านปรารถนาจะฆ่าเหล่าชนที่ท่านไม่ชอบใจ ท่านเกิดมาเพื่อจะฆ่าโลก ความเป็นสมณะของท่านจะมีประโยชน์อะไร ถ้าพระสมณโคดมจักกล่าวว่า เราไม่ชอบใจการฆ่าใครๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะข่มท่านว่า ท่านไม่ปรารถนาจะฆ่ากิเลสมีราคะเป็นต้น เพราะเหตุไร ท่านจึงเป็นสมณะเที่ยวไป ดังนั้น ปัญหา ๒ เงื่อนนี้ พระสมณโคดมก็จะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก” คิดได้ดังนี้แล้วก็เร่งเดินทางไปสู่ที่ประทับของพระผู้มีพระภาค
เมื่อพราหมณ์ภารทวาชโคตร ถึงที่ประทับแล้ว ก็ไม่ แสดงความโกรธ เพราะตนเป็นบัณฑิต จึงกล่าวถ้อยคำไพเราะชื่นชมกัน สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วจึงถามปัญหาว่า “บุคคลฆ่าอะไรได้ ย่อมนอนเป็นสุข ฆ่าอะไรได้ ย่อมไม่เศร้าโศก ข้าแต่พระโคดม พระองค์ย่อมชอบใจการฆ่า ธรรมอะไรเป็นธรรมอันเอก”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ บุคคลฆ่าความโกรธได้ย่อมนอนเป็นสุข ฆ่าความโกรธได้ย่อมไม่เศร้าโศก ดูกรพราหมณ์ พระอริยะเจ้าทั้งหลายย่อมสรรเสริญการฆ่าความโกรธ อันมีมูลเป็นพิษ มีที่สุดอันคืนคลาย เพราะว่า บุคคลฆ่าความโกรธนั้นได้แล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศพระธรรมโดยปริยายเป็นอันมาก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำเปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า คนมีจักษุย่อมเห็นรูปได้ ฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระโคดม ผู้เจริญกับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักของพระโคดมผู้เจริญ”
พราหมณ์ภารทวาชโคตรได้บรรพชาได้อุปสมบทแล้วในสำนักของพระผู้มีพระภาค พระภารทวาชะอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปอยู่ ไม่นานเท่าไรนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษอันยอดเยี่ยม เป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ มีความต้องการ ด้วยปัญญาเป็นเครื่องรู้ยิ่งเองในปัจจุบันนี้เข้าถึงอยู่ ได้ทราบว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ท่านพระภารทวาชได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย

สคารวสูตร
มาณพชื่อสคารวะอาศัยอยู่ในบ้านปัจจลกัปปะ เป็นผู้รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งคัมภีร์นิคัณฑุและคัมภีร์เกตุภะ พร้อมทั้งประเภทอักษร มีคัมภีร์อิติหาสะเป็นที่ ๕ เป็นผู้เข้าใจตัวบท เข้าใจไวยากรณ์ ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะ และตำราทำนายมหาปุริสลักษณะ มาณพนี้เป็นผู้อ่อนกว่าพราหมณ์ทั้งหมดของบรรดาพราหมณ์ ที่พราหมณ์ภารทวาชโคตรได้เชิญมาทานอาหารที่บ้านในวันนั้น เขาได้ฟังวาจาที่ธนัญชานีพราหมณีอุทาน จึงได้กล่าวกะพราหมณีว่า
“พราหมณีไม่เป็นมงคลเลย เธอเป็นคนฉิบหาย เมื่อพราหมณ์ทั้งหลายผู้ทรงไตรวิชามีอยู่ เธอไปกล่าวสรรเสริญคุณของสมณะหัวโล้นนั้นทำไม?”
ธนัญชานี กล่าวตอบว่า “ดูกรพ่อผู้มีพักตร์อันเจริญ ก็พ่อยังไม่รู้ซึ่งศีลและปัญญาของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ถ้าพ่อพึงรู้ศีลและพระปัญญาของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พ่อจะไม่พึงสำคัญพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นว่า เป็นผู้ควรด่า ควรบริภาษเลย ”
สคารวมาณพกล่าวว่า “ดูกรนางผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้น พระสมณะมาถึงบ้านปัจจลกัปปะเมื่อใด พึงบอกแก่ฉันเมื่อนั้น” นางธนัญชานีพราหมณีรับคำสคารวมาณพแล้ว
เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล ได้เสด็จไปประทับในสวนมะม่วงของพวกพราหมณ์ชาวบ้านตุทิคาม ใกล้บ้านปัจจลกัปปะ ธนัญชานีพราหมณีได้สดับข่าวว่าการเสด็จของพระผู้มีพระภาคเสด็จ นางจึงเข้าไปหาสคารวมาณพถึงที่อยู่แล้ว ได้กล่าว่า “ดูกรพ่อผู้มี พักตร์อันเจริญ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เสด็จมา ประทับอยู่ในสวนมะม่วงของพวกพราหมณ์ชาวบ้านตุทิคาม พ่อจงสำคัญกาลอันควร ณ บัดนี้ ”
สคารวมาณพรับคำนางธนัญชานีพราหมณีแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยพอให้ระลึกถึงกัน แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง จึงทูลถามว่า “ท่านพระโคดม มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งเป็นผู้ถึงบารมีชั้นสุดเพราะรู้ยิ่งในปัจจุบัน ย่อมปฏิญาณอาทิพรหมจรรย์ในสมณพราหมณ์เหล่านั้น ว่าพราหมณ์ทั้งหลาย เราทั้งหลายเป็นผู้ถึงแล้วซึ่งที่สุด บรรลุพระนิพพานอันเป็นคุณสมบัติยิ่งใหญ่แห่งธรรมทั้งปวง กล่าวคือบารมีเพราะรู้ยิ่งในอัตตภาพนี้ ท่านพระโคดมเป็นคนไหน ของจำนวนสมณพราหมณ์เหล่านั้น?”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรภารทวาชะ เรากล่าวความต่างกันแห่งสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ถึงบารมีชั้นที่สุดเพราะยิ่งในปัจจุบัน แม้จะปฏิญาณอาทิพรหมจรรย์ได้
ดูกรภารทวาชะ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งเป็นผู้พึงฟังตามกันมา เพราะการฟังตามกันมานั้น จึงเป็นผู้ถึงบารมีชั้นที่สุดเพราะยิ่งในปัจจุบัน ย่อมปฏิญาณอาทิพรหมจรรย์ เหมือนพวกพราหมณ์ผู้ทรงไตรวิชาฉะนั้น
อนึ่ง มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง เป็นผู้ถึงบารมีชั้นที่สุดเพราะผู้ยิ่งในปัจจุบัน ปฏิญาณอาทิพรหมจรรย์ เพราะเพียงแต่ความเชื่ออย่างเดียว เหมือนพวกพราหมณ์นักตรึกนักตรอง เป็นผู้มีปรกติถือเอาด้วยการคาดคะเนฉะนั้น
มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งรู้ธรรมด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่ได้ฟังตามกันมาก่อน ถึงบารมี ชั้นที่สุดเพราะรู้ยิ่งในปัจจุบัน????? ย่อมปฏิญาณอาทิพรหมจรรย์
ดูกรภารทวาชะ ในสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์เหล่าใด รู้ธรรมด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่ได้ฟังตามกันมาในก่อนถึงบารมีชั้นที่สุดเพราะรู้ยิ่งในปัจจุบัน ย่อมปฏิญาณอาทิพรหมจรรย์ เราเป็นผู้หนึ่งของจำนวนสมณพราหมณ์เหล่านั้น
ดูกรภารทวาชะ ในโลกนี้ ก่อนแต่การตรัสรู้ เรายังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ได้มีความคิดเห็นว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัตร์ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตเถิด สมัยต่อมา เรานั้นยังเป็นหนุ่ม ผมดำสนิท ประกอบด้วยวัยกำลังเจริญเป็นปฐมวัย เมื่อพระมารดาและพระบิดาไม่ปรารถนา (จะให้บวช) ทรงกันแสงพระเนตรนองด้วยอัสสุชล เราปลงผมและหนวด นุ่งผ้ากาสาวพัตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
เมื่อเราบวชแล้วอย่างนี้ แสวงหาสิ่งไรจะเป็นกุศล ค้นหาสันติวรบทอันไม่มีสิ่งอื่นยิ่งกว่าอยู่ จึงเข้าไปหาอาฬารดาบสกาลามโคตรถึงสำนัก แล้วได้กล่าวว่า ดูกรท่านกาลามะ ข้าพเจ้าปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรม วินัยนี้ อาฬารดาบสกาลามโคตรได้กล่าวว่า อยู่เถิดท่าน วิญญูบุรุษทำลัทธิของอาจารย์ตน ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งโดยไม่ช้าในธรรมใดแล้วเข้าถึงอยู่ ธรรมนี้ก็เช่นนั้น
เรานั้นเล่าเรียนธรรมนั้นได้โดยฉับพลันไม่นานเลย เรากล่าวญาณวาทและเถรวาทได้ด้วยอาการเพียงหุบปากเจรจา เพียงชั่วกาลที่พูดตอบเท่านั้น อนึ่ง ทั้งเราและผู้อื่น ปฏิญาณได้ว่า เรารู้ เราเห็น เรามีความคิดเห็นว่า อาฬารดาบสกาลามโคตร จะประกาศว่า เราทำธรรมนี้ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเองด้วย เข้าถึงธรรมนี้ด้วยเหตุเพียงศรัทธาอย่างเดียวดังนี้หามิได้ ที่แท้อาฬารดาบสกาลามโคตรรู้เห็นธรรมนี้อยู่”

(โปรดติดตามตอนต่อไปในฉบับหน้า)

จาก ธรรมลีลา ฉบับที่ 103 มิถุนายน 2552
โดยพระพจนารถ ปภาโส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
กำลังโหลดความคิดเห็น