xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องจากพระไตรปิฎก : ตำนานนโม (๔๑) ผู้กล่าวคำว่า "นโม"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ท้าวสักกะจอมเทพ (ส) ทูลถามปัญหาข้อแรกกะพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พวกเทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ มีอะไรเป็นเครื่องผูกพันใจไว้? อนึ่ง ชนเป็นอันมากเหล่านั้น เป็นผู้ไม่มีเวร (ไม่มีความกระทบกระทั่ง) ไม่มีอาชญา (พ้นจากอาวุธ) ไม่มีศัตรู ไม่มีความพยาบาท (ปราศจากโทมนัส) ย่อมปรารถนาว่า ขอพวกเราจงเป็นผู้ไม่มีเวรอยู่เถิด พวกเขามีความปรารถนาอยู่ดังนี้ ก็ไฉน เขายังเป็นผู้มีเวร มีอาชญา มีศัตรู มีความพยาบาท ยังจองเวรกันอยู่ ? ”
พระผู้มีพระภาค (ภ) ทรงตอบว่า “ดูกรจอมเทพ พวกเทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ มีความริษยาและ ความตระหนี่เป็นเครื่องผูกพันใจไว้ ความริษยาและความ ตระหนี่นี้ จะละได้ก็ด้วยโสดาปัตติมรรค ตลอดเวลาที่ยังละมันไม่ได้ พวกเขาแม้ปรารถนาความเป็นผู้ไม่มีเวรเป็นต้น อยู่ก็ตาม ก็หาได้รอดพ้นเลย ความริษยาและความตระหนี่ มีอารมณ์เป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นเหตุ เมื่ออารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักมีอยู่ ความริษยาและความตระหนี่จึงมี เมื่ออารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักไม่มี ความริษยาและความตระหนี่จึงไม่มี อารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักมีความพอใจเป็นเหตุ เมื่อความพอใจมี อารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักจึงมี เมื่อความพอใจไม่มี อารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักจึงไม่มี ความพอใจมีความตรึกเป็นเหตุ เมื่อความตรึกมี ความพอใจจึงมี เมื่อความตรึกไม่มี ความพอใจจึงไม่มี ความตรึกมีส่วนแห่งสัญญาอันประกอบด้วยปปัญจธรรม (ความจำที่คลุกเคล้าไปด้วยธรรมเครื่องเนิ่นช้า อันได้แก่ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ) เป็นเหตุ เมื่อส่วนแห่งสัญญาอันประกอบด้วยปปัญจธรรมมี ความตรึกจึงมี เมื่อส่วนแห่งสัญญาอันประกอบด้วยปปัญจธรรมไม่มี ความตรึกจึงไม่มี
ส. “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ภิกษุปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าดำเนินปฏิปทาอันสมควรที่จะให้ถึงความดับส่วนแห่งสัญญา อันประกอบด้วยปปัญจธรรม ?”
ภ. “ดูกรจอมเทพ อาตมภาพจักกล่าวถึง เวทนา ๓ ประการ คือโสมนัส (ความสุขใจ) โทมนัส (ความทุกข์ใจ) และ อุเบกขา (ความวางเฉย) โดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี บุคคลพึงทราบว่า เมื่อเราเสพเวทนาเช่นนี้ อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อม เวทนาเห็นปานนี้ ไม่ควรเสพ บุคคลพึงทราบว่า เมื่อเราเสพเวทนา เช่นนี้ อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น เวทนาเห็นปานนั้น ควรเสพ ภิกษุเริ่มตั้งวิปัสสนาในเวทนาที่ยังมีวิตก (ความตรึก) ยังมีวิจาร(ความตรอง) แล้วก็มาวิเคราะห์ว่าเวทนานี้อาศัยอะไร เมื่อทราบชัดว่าอาศัยสิ่งใด แล้วก็ตั้งอยู่ในอรหัตตผลโดยลำดับ ภิกษุผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล จึงจะชื่อว่า ดำเนินปฏิปทาอันสมควรที่จะให้ถึงความดับแห่งส่วน สัญญาอันประกอบด้วยปปัญจธรรม”
ส. “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ภิกษุปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติแล้วเพื่อความสำรวมในปาติโมกข์ ?”
ภ. “ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าวรูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยนัยน์ตา เสียงที่จะพึงรู้แจ้งด้วยหู กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้ง ด้วยจมูก รสที่จะพึงรู้แจ้งด้วยลิ้น โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งด้วยกาย และธรรมที่จะพึงรู้แจ้งด้วยใจ โดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ภิกษุผู้ละมารยาททางกายและวาจาและการแสวงหาที่ไม่พึงเสพ ปฏิบัติเพื่อความเต็มที่แห่งมารยาททางกายและวาจาและการแสวงหาที่พึงเสพ ย่อมชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อต้องการสำรวมในปาติโมกข์”
ส. “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมทราบเนื้อความแห่งภาษิตที่ตรัสโดยย่อนี้ ได้โดยพิสดารอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลเสพรูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยนัยน์ตา เสียงที่จะพึงรู้แจ้งด้วยหู กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจมูก รสที่จะพึงรู้แจ้งด้วยลิ้น โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งด้วยกาย และธรรมที่จะพึงรู้แจ้งด้วยใจ เห็นปานใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อม สิ่งนั้นไม่ควรเสพ แต่เมื่อเสพรูปฯแล้ว อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น ควรเสพ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทราบเนื้อความแห่งภาษิตในข้อนี้ ข้าพระองค์ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากถ้อยคำที่จะพูดว่าอย่างไรแล้ว เพราะได้ฟังการพยากรณ์ปัญหาของพระผู้มีพระภาค”
ส. “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ สมณพราหมณ์ทั้งหมด มีวาทะเป็นอย่างเดียวกัน มีศีลเป็นอย่างเดียวกัน มีฉันทะเป็นอย่างเดียวกัน มีความปรารถนาเป็นอย่างเดียวกัน หรือหนอ ?”
ภ. “ดูกรจอมเทพ มิได้เป็นเช่นนั้น ในโลกที่มีธาตุเป็นอันมาก มีธาตุต่างกันนั้น สัตว์ทั้งหลายยึดธาตุใดๆ อยู่ ย่อมยึดมั่นธาตุนั้นๆ ด้วยเรี่ยวแรงและความยึดถือ กล่าวว่า สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า เพราะเหตุนั้นสมณพราหมณ์ทั้ง หมด จึงไม่มีวาทะเป็นอย่างเดียวกัน ไม่มีศีลเป็นอย่างเดียวกัน ไม่มีฉันทะเป็นอย่างเดียวกันไม่มีความปรารถนาเป็นอย่างเดียวกัน”
ส. “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ สมณพราหมณ์ทั้งหมดมีความสำเร็จเนืองๆ มีความเกษมจากโยคะเนืองๆ มีพรหมจรรย์เนืองๆ มีที่สุดเนืองๆ หรือหนอ ?”
ภ. “ดูกรจอมเทพ มิได้เป็นเช่นนั้น ภิกษุเหล่าใดน้อมไปแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา ภิกษุเหล่านั้นมีความสำเร็จ เนืองๆ มีความเกษมจากโยคะเนืองๆ มีพรหมจรรย์เนืองๆ มีที่สุดเนืองๆ เพราะเหตุนั้นสมณพราหมณ์ทั้งหมด จึงไม่มีความสำเร็จเนืองๆ ไม่มีความเกษมจากโยคะเนืองๆ ไม่มีพรหมจรรย์เนืองๆ ไม่มีที่สุดเนืองๆ”
ส. “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ตัณหาเป็นดังโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร ย่อมฉุดคร่าบุรุษนี้ไปเพื่อบังเกิดในภพนั้นๆ เพราะฉะนั้น บุรุษนี้ย่อมถึงอาการขึ้นๆ ลงๆ ปัญหาเหล่าใด ที่ข้าพระองค์ไม่ได้แม้ซึ่งการกระทำโอกาสในสมณพราหมณ์ เหล่าอื่นนอกพระธรรมวินัยนี้ ปัญหาเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเห็นกาลไกลโปรดพยากรณ์แก่ข้าพระองค์แล้ว และลูกศรคือความสงสัยเคลือบแคลงของข้าพระองค์ พระผู้มีพระภาคทรงถอนขึ้นแล้ว”
ภ. “ดูกรจอมเทพ พระองค์ยังทรงจำได้หรือว่า เคยตรัสถามปัญหาเหล่านี้กะสมณพราหมณ์เหล่าอื่น”
ส. “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังจำได้ว่า เคยถามปัญหาเหล่านี้กะสมณพราหมณ์เหล่าอื่น”
ภ. “ก็สมณพราหมณ์เหล่านั้นพยากรณ์อย่างไร ถ้าพระองค์ไม่หนักพระทัยขอให้ตรัสบอกเถิด”
ส. “ข้าพระองค์ไม่มีความหนักใจ ในสถานที่พระองค์ และท่านที่เป็นอย่างพระองค์ประทับนั่งอยู่แล้ว”
ภ. “ถ้าเช่นนั้น จงตรัสบอกเถิด”
ส. “ข้าพระองค์เข้าใจสมณพราหมณ์เหล่าใด ว่าเป็นสมณพราหมณ์ผู้อยู่ป่า มีเสนาสนะอันสงัดแล้ว ข้าพระองค์ เข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้น ถามปัญหาเหล่านี้ ท่านเหล่านั้นถูกข้าพระองค์ถามปัญหาแล้ว ย่อมไม่สบายใจ เมื่อไม่สบายใจ กลับย้อนถามข้าพระองค์ว่า ท่านชื่อไร ข้าพระองค์ถูกท่านเหล่านั้นถามแล้ว จึงตอบว่า ข้าพเจ้าคือท้าวสักกะจอมเทพ ท่านเหล่านั้นยังสอบถามข้าพระองค์ต่อไปว่า ท่านกระทำกรรมอะไรจึงลุถึงฐานะอันนี้ ข้าพระองค์จึงได้แสดงธรรมตามที่ได้ฟังมา ตามที่ได้เรียนมา แก่ท่านเหล่านั้น ท่านเหล่านั้นดีใจด้วยเหตุเพียงเท่านี้ว่า พวกเราได้เห็นท้าวสักกะจอมเทพ และท้าวเธอได้ตอบปัญหาที่พวกเราได้ถามแล้วเป็นของแน่นอน ท่านเหล่านั้นกลับเป็นผู้รับฟังข้าพระองค์ แต่ข้าพระองค์หาได้เป็นผู้รับฟังท่านเหล่านั้นไม่ ก็ข้าพระองค์เป็นสาวกของพระองค์ชั้นโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้ในเบื้องหน้า”
ภ. “พระองค์ยังทรงจำได้หรือ ถึงการได้รับความยินดี การได้รับความโสมนัสเห็นปานนี้ ก่อนแต่นี้”
ส. “ข้าพระองค์ยังจำได้”
ภ. “พระองค์ยังทรงจำได้ อย่างไรเล่า? ”
ส. “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว ในสงคราม สงครามระหว่างเทวดาและอสูร พวกเทวดาชนะ พวกอสูรแพ้ เมื่อข้าพระองค์ชนะสงครามนั้นแล้ว ได้มีความดำริอย่างนี้ว่า บัดนี้ พวกเทวดาในเทวโลกนี้จักบริโภคโอชาทั้งสอง คือ ทิพย์โอชา และอสุรโอชา การได้รับความยินดี การได้รับความโสมนัสของข้าพระองค์นั้น ประกอบไปด้วยทางมาแห่งอาชญา ประกอบไปด้วยทางมาแห่งศาตรา ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อพระนิพพาน ส่วนการได้รับความยินดี การได้รับความ โสมนัสของข้าพระองค์ เพราะได้ฟังธรรมของพระผู้มีพระ-ภาคนั้น ไม่เป็นทางมาแห่งอาชญา ไม่เป็นทางมาแห่งศาตรา ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อพระนิพพาน”
ภ. “ดูกรจอมเทพ ก็พระองค์ทรงเห็นอำนาจประโยชน์อย่างไรเล่า จึงทรงประกาศการได้รับความยินดี การได้รับความโสมนัส เห็นปานนี้”
ส. “ข้าพระองค์เห็นอำนาจประโยชน์ ๖ ประการ ดังนี้ ประการที่หนึ่ง คือเมื่อเราเกิดเป็นเทวดาดำรงอยู่ในภพ ดาวดึงส์นี้ เรากลับได้อายุเพิ่มขึ้นอีก ประการที่สอง คือเราจุติจากทิพยกายแล้ว ละอายุอันมิใช่ของมนุษย์แล้ว เป็นผู้ไม่หลง จักเข้าสู่ครรภ์ในตระกูลอันเป็นที่พอใจของเรา ประการที่สาม คือเรานั้นยินดีแล้ว ในศาสนาของท่านที่มิได้หลงปัญหา เรามีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคง จักอยู่โดยธรรม ประการที่สี่ คือถ้าความตรัสรู้จักมีแก่เราในภาย หน้าโดยธรรมไซร้ เราจักเป็นผู้รู้ทั่วถึงอยู่ นั่นแหละจักเป็น ที่สุดของเรา ประการที่ห้า คือหากเราจุติจากกายมนุษย์แล้ว ละอายุอันเป็นของมนุษย์แล้ว จักกลับเป็นเทวดาอีก จักเป็นผู้สูงสุดในเทวโลก ประการที่หก คือพวก เทวดาชั้นอกนิฏฐาเหล่านั้นเป็นผู้ประณีตกว่า มียศ เมื่อภพที่สุดเป็นไปอยู่ นิวาสนั้นจักเป็นของเรา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นอำนาจประโยชน์หกประการนี้แล จึงประกาศ การได้รับความยินดี การได้รับความโสมนัส เห็นปานนี้”
ส. “ข้าพระองค์มีความดำริยังไม่ถึงที่สุด ยังมีความสงสัยเคลือบแคลง เที่ยวเสาะแสวงหาพระตถาคตอยู่ตลอด กาลนาน ข้าพระองค์สำคัญสมณะเหล่าใด ซึ่งเป็นผู้มีปรกติอยู่เงียบสงัด เข้าใจว่าเป็นพระสัมพุทธเจ้า ได้เข้าไปหาสมณะเหล่านั้น ท่านเหล่านั้นถูกข้าพระองค์ถามว่า ความพอใจเป็นอย่างไร ความไม่พอใจเป็นอย่างไร ก็หาชี้แจงในมรรคและข้อปฏิบัติไม่ ในเวลาที่ท่านเหล่านั้นรู้ข้าพระองค์ว่าเป็นสักกะมาจากเทวโลก จึงถามข้าพระองค์ทีเดียวว่าท่านทำอะไรจึงได้ลุถึงฐานะนี้ ข้าพระองค์จึงแสดงธรรมตามที่ฟังมาแก่ท่านเหล่านั้นให้ปรากฏในหมู่ชน ท่านเหล่านั้นมีความพอใจด้วยเหตุเพียงเท่านี้ว่าพวกเราได้เห็นท้าววาสวะแล้ว ในเวลาใดข้าพระองค์ได้เห็นพระสัมพุทธเจ้า ผู้ข้ามความสงสัยได้แล้ว ในเวลานั้นข้าพระองค์เป็นผู้ปราศจากความกลัว วันนี้ได้เข้ามานั่งใกล้พระสัมพุทธเจ้าแล้ว ข้าพระองค์ขอถวายบังคมพระพุทธเจ้า ผู้ทรงกำจัดเสียได้ซึ่งลูกศรคือตัณหา ซึ่งหาบุคคลเปรียบมิได้ เป็นมหาวีระ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์กับพวกเทวดากระทำความนอบน้อมอันใดแก่พรหม ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพระองค์ขอถวายความนอบน้อมนั้นแด่พระองค์ ข้าพระองค์ขอทำความนอบน้อมแด่พระองค์ด้วยตนเอง พระองค์ผู้เดียวเป็นผู้ตรัสรู้พระนิพพาน พระองค์เป็นศาสดาอย่างยอดเยี่ยมในโลกกับทั้งเทวโลก จะหาบุคคลเปรียบพระองค์มิได้”
ต่อจากนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ ได้ตรัสเรียกปัญจสิขคันธรรพบุตรมาแล้วตรัสว่า “พ่อปัญจสิขะ พ่อเป็นผู้มีอุปการะแก่เรามาก ด้วยเหตุที่พ่อให้พระผู้มีพระภาคทรงพอพระหฤทัยก่อน แล้วภายหลังพวกเราจึงได้ไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เราจักตั้งพ่อไว้ในตำแหน่งแทนบิดา พ่อจักเป็นราชาแห่งคนธรรพ์ และเราจะให้นางภัททาสุริยวัจฉสาแก่พ่อ เพราะว่า นางนั้น พ่อปรารถนายิ่งนัก”
รับสั่งแล้ว ท้าวสักกะจอมเทพเอาพระหัตถ์ตบปฐพี แล้วทรงเปล่งอุทาน ๓ ครั้งว่า “นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส” (ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น)
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้อยู่ ดวงตาเห็นธรรม อันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน บังเกิดขึ้นแก่ท้าวสักกะจอมเทพว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับเป็นธรรมดา และบังเกิดขึ้นแก่เทวดาแปดหมื่นพวกอื่น ฯ
พรรณนาเรื่อง ท้าวสักกจอมเทพ ใน สักกปัญหสูตร โดยพิสดาร เช่นนี้ ด้วยประสงค์ ๓ ประการ คือ
๑. ไม่ว่ามนุษย์ เทวดา พรหม มาร ล้วนตกอยู่ในอำนาจแห่งความตายทั้งสิ้น ทุกชีวิตล้วนมีความกลัวต่อความตาย ความอาลัยในสมบัติแห่งตน จึงเป็นปกติวิสัย ของผู้ไม่รู้ความจริงแห่งธรรมชาติ ดังตัวอย่างที่ท้าวสักกจอมเทพได้เห็นบุรพนิมิตร อันเป็นเครื่องหมายความตาย
๒. เมื่อความตายใกล้จะมาถึง บุคคลมักมีความโศกอาลัยในสมบัติของตน ปรารถนาให้ตนยังมีอายุสืบไป ดังที่ ท้าวสักกจอมเทพ พิจารณาว่า “มีใครบ้างไหมหนอ ไม่ว่าเป็นสมณะ เป็นพราหมณ์ หรือมหาพรหม ผู้เป็นพระบิดาของโลก ที่พึงถอนลูกศร คือความโศกที่อาศัยหัวใจเรา แล้วทำให้สมบัตินี้มั่นคงได้”
๓. มารยาทในการเข้าหาบัณฑิต และการสอบถามปัญหาที่ตนอยากได้รับคำตอบ เป็นคุณสมบัติของผู้เจริญ และมีวัฒนธรรม
พุทธศาสนิกชนผู้ที่ได้สัมผัสถึงมรณกาลก็ดี ผู้มีความประมาทในชีวิตก็ดี ควรจะได้น้อมนำสักกปัญหาสูตรนี้มาเป็นแนวทางแห่งการดำเนินชีวิต ทำตนให้มีความรู้ในพุทธธรรม อันเป็นสัจธรรมของชีวิต รู้จักกระทำในสิ่งที่ควรค่าเป็น ประโยชน์ต่อชีวิต ทำให้ตนมีความอาจหาญร่าเริงในพุทธธรรม จนเกิดความรู้สึกถึงพระคุณในสมเด็จพระบรมศาสดา แล้วอยากเปล่งอุทานอย่างท้าวสักกจอมเทพ เช่นนี้ย่อมยังชีวิตของตนให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้แล
(โปรดติดตามตอนต่อไปในฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 102 พ.ค. 52 โดย พระพจนารถ ปภาโส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม)
กำลังโหลดความคิดเห็น