xs
xsm
sm
md
lg

ช่วยกันขยายแนวคิดท่านนายกฯ “ทางสายกลาง” (ทางการเมือง)

เผยแพร่:   โดย: ดร.ป. เพชรอริยะ

ก่อนอื่นต้องขอชื่นชมท่านนายกฯ ท่านพูดไว้ดีมาก มีความสำคัญยิ่งที่จะต้องขยายความ ก็หวังว่าท่านนายกฯ จะได้ดวงตาเห็นธรรม ข่าวจากรายการเชื่อมั่นประเทศไทย กับ นายกฯ อภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในที่ประชุมวัน วิสาขบูชาโลก เนื่องจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เกิดจากความสุดโต่ง ในทางใดทางหนึ่งหากทุกคนได้สำรวจ ตรวจสอบ และทบทวนตัวเอง ก็จะสามารถแก้ปัญหาส่วนรวมได้ โดยท่านนายกฯ ได้พูดถึงการนำหลักธรรม และคำสั่งสอนของพุทธศาสนา โดยเฉพาะการใช้แนวคิด ทางสายกลาง มาปรับใช้ในการแก้ไขเหตุวิกฤตชาติ แก้ไขปัญหาของโลก จึงเป็นแนวคิดที่น่าชื่นชม

เพื่อให้เกิดปัญญาที่ชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับทางสายกลาง ได้ยกคำสอนในพระไตรปิฎก ในกัจจานโคตตสูตร ท่านพระกัจจานโคตต์ มีความสงสัยเรื่องสัมมาทิฐิ จึงได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และได้ถามว่า สัมมาทิฐิ มีเหตุอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่า สัมมาทิฐิ พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า ดูกรกัจจจานะ โลกนี้โดยมากอาศัยส่วน 2 อย่างคือ ความมีกับความไม่มี ถ้าบุคคลเห็นความเกิดของโลกด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงแล้ว จะเห็นว่า ความไม่มีในโลกย่อมไม่มี และเมื่อบุคคลเห็นความดับของโลกด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงแล้ว ความมีในโลกย่อมไม่มี เพราะบุคคลส่วนมากยังพัวพันด้วยอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น และอนุสัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นว่าเป็นตัวตนของเรา จึงมองไม่เห็นไม่สงสัยว่า ทุกข์นั่นแหละเกิดขึ้น ทุกข์นั่นแหละดับไป พระอริยสาวกนั้นมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้โดยไม่ต้องสงสัย ด้วยเหตุนี้จึงได้ชื่อว่า สัมมาทิฐิ

อีกประเด็นหนึ่งชนทั่วไปมักจะเข้าใจว่า สิ่งทั้งปวงมีอยู่ และสิ่งทั้งปวงไม่มี อันเป็นความเห็นความเข้าใจสุดโต่งทั้งสองด้าน พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงสอนทางสายกลาง ไม่เข้าไปสุดโต่งทั้งสองข้าง จึงทรงชี้แจงว่า

“เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสะ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ย่อมเกิดขึ้นด้วยประการอย่างนี้”

ส่วนฝ่ายดับทุกข์ พระองค์ทรงสอนว่า “เพราะอวิชชานั่นแหละดับด้วยการสำรอกไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ…” ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ จึงเกิดขึ้นได้อย่างนี้

จะเห็นว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าจะไม่แสดงว่าสิ่งทั้งปวงมีอยู่ หรือสิ่งทั้งปวงไม่มี แต่ให้มีปัญญารู้ตามความเป็นจริงว่าสิ่งทั้งปวงเกิดขึ้น และดับไปตามเหตุปัจจัย ตามกฎอิทัปปจจยตา และการเกิดขึ้นภายในใจ พระองค์ทรงเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท

ใครเป็นผู้ทำให้เกิดทุกข์ ในอเจลกัสสปสูตร อเจลกัสสปมีความสงสัยที่จะถามพระพุทธเจ้า คือ

1) ความทุกข์เกิดจากตนเป็นผู้ทำ

2) ความทุกข์เกิดจากผู้อื่นเป็นผู้ทำ

3) ความทุกข์เกิดจากตนเองและผู้อื่นเป็นผู้ทำ

4) ความทุกข์เกิดขึ้นเพราะไม่ใช่ทั้งตนเองและผู้อื่นกระทำ ปัญหาทั้ง 4 ข้อนี้ พระพุทธเจ้าทรงคัดค้านว่า “อย่ากล่าวอย่างนั้นเลย”

จากนั้น พระพุทธเจ้า ทรงอธิบายว่า การที่เข้าใจว่าทุกข์เกิดจากตนเองนั้นก็จะสุดโต่งทางไปด้านสัสสตทิฐิ (เห็นว่าอัตตาและโลกเที่ยง) และถ้าเข้าใจว่าทุกข์เกิดจากผู้อื่นกระทำก็จะสุดโต่งไปทางด้านอุจเฉททิฐิ (เห็นว่าอัตตาและโลกขาดสูญ) ทรงอธิบายว่า ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุดโต่งทั้งสองด้าน ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลาง กล่าวคือเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ… ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวล ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ดังกล่าวแล้วข้างต้น

ท่านอเจลกัสสปะเข้าใจแจ่มแจ้งตามที่พระองค์ทรงอธิบายแล้วเข้าปริวาสอยู่ 4 ปี แล้วได้อุปสมบทโดยพระพุทธเจ้า ท่านกัสสปะอุปสมบทได้ไม่นาน มีจิตแน่วแน่ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลายฯ

จากพระสูตรดังกล่าวแสดงให้เรารู้ว่า ทางสายกลาง คืออะไร ทางสายกลางคือความไม่ยึดมั่นถือมั่นสุดโต่งไปในทางใดทางหนึ่ง ความทุกข์เกิดเพราะเหตุปัจจัยที่เป็นมิจฉาทิฐิ จะพ้นความทุกข์ได้ก็ด้วยเหตุปัจจัยที่เป็นสัมมาทิฐิ สิ่งทั้งปวงย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยตามกฎอิทัปปจจยตา

กฎอิทัปปจจยตา คือกฎธรรมชาติ อันเป็นกฎทั่วไป (General Law) พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ กล่าวคือ (1) เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ก็มี (2) เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้ก็เกิดขึ้น อีกนัยหนึ่ง เมื่อสิ่งนี้เป็นปัจจัยเหตุ สิ่งนี้ก็เป็นปัจจัยผล หรือเพราะปัจจัยเหตุเกิดขึ้น ปัจจัยผลก็เกิดขึ้น (3) เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี (4) เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ (ด้วย) อีกนัยหนึ่ง เมื่อปัจจัยเหตุไม่มี ปัจจัยผลก็ไม่มี หรือเพราะปัจจัยเหตุดับ ปัจจัยผลก็ดับด้วย

พระพุทธเจ้า สอนให้ชาวพุทธรู้ว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดพระธรรมคำสั่งสอน พระธรรมเป็นปัจจัยให้เกิดพระสงฆ์ อีกนัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า เป็นปัจจัยให้เกิดพระอรหันต์ พระอนาคามี พระสกิทาคามี พระโสดาบัน อุบาสก อุบาสิกา หรือพุทธบริษัท 4 เป็นต้น

พระพุทธเจ้า ทรงสอนให้รู้ว่า อริยสัจ 4 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เหตุปัจจัยของอริยสัจ 4 เราจะเห็นได้ว่าฝ่ายเกิดทุกข์ หรือฝ่ายหลงผิด ทุกข์ เป็นฝ่ายผล สมุทัย เป็นฝ่ายเหตุ ส่วนฝ่ายดับทุกข์ นิโรธ เป็นฝ่ายผล มรรค (มรรคมีองค์ 8) เป็นฝ่ายเหตุ

พระพุทธเจ้า ทรงสอนให้เรารู้ว่า (1) สัมมาทิฐิ (เห็นชอบหรือเห็นถูก) ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้เกิด (2) สัมมาสังกัปปะ (คิดชอบหรือคิดถูก) ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้เกิด (3) สัมมาวาจา (วาจาชอบหรือพูดถูก) ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้เกิด (4) สัมมากัมมันตะ (การทำชอบ หรือทำถูก) ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้เกิด (5) สัมมาอาชีวะ (อาชีพชอบ หรืออาชีพถูก) ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้เกิด (6) สัมมาวายามะ (เพียรชอบ หรือเพียรถูก) ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้เกิด (7) สัมมาสติ (ระลึกชอบหรือความตั้งใจมั่นถูก) ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้เกิด (8) สัมมาสมาธิ (สมาธิชอบหรือความตั้งใจมั่นถูก) เป็นต้น

จึงเห็นได้ชัดว่า แท้จริงคำสอนของ พระพุทธเจ้า ทั้งหมดล้วนเป็นไปตามกฎอิทัปปจจยตาทั้งสิ้น เมื่อสิ่งนี้ มีสิ่งนี้จึงมี หรือเมื่อมีเหตุดีเกิด ผลดีย่อมเกิดขึ้น เมื่อมีเหตุเลวเกิดขึ้น ผลเลวย่อมเกิดขึ้น เราจึงนำกฎนี้ไปพิจารณาเหตุปัจจัยทางการเมือง อันเป็นเหตุปัจจัยฝ่ายหายนะของประเทศไทย ดังนี้

“เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย เพราะอวิชชา ความไม่รู้ เป็นปัจจัย จึงมีรัฐธรรมนูญมิจฉาทิฐิ เพราะมีรัฐธรรมนูญมิจฉาทิฐิเป็นปัจจัย จึงมีการปกครองมิจฉาทิฐิ เพราะการปกครองมิจฉาทิฐิเป็นปัจจัย จึงมีรัฐบาลมิจฉาทิฐิ เพราะรัฐบาลมิจฉาทิฐิเป็นปัจจัย การบริหารบ้านเมืองใดๆ ย่อมมิจฉาทิฐิ เศรษฐกิจมิจฉาทิฐิ สังคมมิจฉาทิฐิ ส่วนที่สัมพันธ์เกี่ยวพันกันทั้งหมด ล้วนตกอยู่ภายใต้มิจฉาทิฐิ คือความเลวร้าย โดยที่ผู้ปกครอง ผู้มีอำนาจ ต่างก็มองไม่เห็นและคาดไม่ถึง ประเทศไทยจึงได้ทรุดลงๆๆ แม้จะทำเต็มที่แล้ว ก็จะเห็นได้ว่ามีแต่ทรุดลงๆ กระทั่งเกียรติศักดิ์ศรีของชาติได้หายไปจนหมดสิ้น

ในทางกลับกันอันเป็นเหตุปัจจัยนำไปสู่ความถูกต้องยิ่งใหญ่ สู่ความเจริญยิ่งใหญ่ ดังนี้

เพราะดวงตาเห็นธรรมเป็นปัจจัย จึงเสนอหลักการปกครอง (ระบอบ) โดยธรรม เพราะการสถาปนาหลักการปกครองโดยธรรมเป็นปัจจัย จึงมีรัฐธรรมนูญโดยธรรม เพราะรัฐธรรมนูญโดยธรรมเป็นปัจจัย จึงมีการปกครองโดยธรรม เพราะการปกครองโดยธรรมเป็นปัจจัย จึงมีรัฐบาลโดยธรรม เพราะรัฐบาลโดยธรรมเป็นปัจจัย การบริหารโดยธรรม เศรษฐกิจโดยธรรม สังคมโดยธรรม ส่วนที่สัมพันธ์เกี่ยวพันกันทั้งหมด ล้วนขับเคลื่อนไปตามเหตุตามผลโดยธรรม โดยมีธรรมเป็นใหญ่ มีธรรมเป็นเหตุ ย่อมทำประเทศไทย และปวงชนในชาติ เจริญรุ่งเรืองยิ่งใหญ่ ยิ่งกว่าประเทศใดๆ ในโลก

กฎอิทัปปจจยตา เป็นทางสายกลาง เป็นธรรมชาติที่คลอบคลุมเหตุปัจจัยในทุกมิติ ในสังขารทั้งปวง ทั้งฝ่ายรูปธรรมและนามธรรม ทั้งฝ่ายกุศลและอกุศลบนความสัมพันธ์ระหว่างเหตุปัจจัยของเหตุและผล สัมพันธ์กันเป็นห่วงโซ่ หรือสัมพันธ์กันแบบฟันเฟืองของเครื่องจักรกล หมุนสัมพันธ์กันไปอย่างเป็นระบบ ผู้เข้าใจ กฎอิทัปปจจยตา ย่อมรู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรมโดยที่ไม่ต้องเชื่อใคร พ้นจากความงมงาย และรู้อย่างแจ่มแจ้งว่าสภาพธรรมทั้งปวงย่อมเกิดจากเหตุปัจจัย

“เมื่อสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงมี” มีแต่ความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยระหว่างเหตุและผล ดำเนินไปครอบงำสิ่งที่สัมพันธ์เกี่ยวพันกันทั้งหมด สิ่งใดๆ จะเกิดขึ้นเองอย่างลอยๆ ไม่ได้ จึงไม่มีพระผู้เป็นเจ้าหรือพระผู้สร้าง (Creator) ที่เป็นตัวตน และจะบันดาลให้เป็นไปอย่างนั้น ให้เป็นไปอย่างนี้แต่อย่างใดเลย ผู้รู้แจ้งตามความเป็นจริงแห่งสภาวธรรมแล้วย่อมพ้นจากความเชื่อที่งมงาย เพราะเป็นผู้มีปัญญา รู้ตรง รู้แจ้ง รู้จริง ตามความเป็นจริง โดยที่ไม่มีความเห็นหรือความคิดของตนเข้าไปเกี่ยวข้องหรือปรุงแต่งกับสภาวะแห่งความจริงนั้น มันจริงของมันอย่างนั้น

ก็หวังว่า ท่านนายกฯ จะได้ดวงตาเห็นธรรม หากท่านนายกฯ ได้ดวงตาเห็นธรรมอย่างแท้จริงแล้วไซร้ เชื่อเถิดว่า ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รัฐบาลจะเป็นผู้นำผลักดัน ยกย่อง เชิดชู การสถาปนาหลักการปกครองโดยธรรม เป็นธรรมาธิปไตย โดยพระประมุขแห่งรัฐ ก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แท้จริงความถูกต้องยิ่งใหญ่ เป็นความริเริ่มขององค์พระมหากษัตริย์ เป็นการจัดความสัมพันธ์ที่ถูกต้องยิ่งใหญ่ระหว่างหลักการปกครองกับรัฐธรรมนูญ (วิธีการปกครอง) เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาติ และยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก ดังกล่าวนี้ ท่านนายกฯ ท่านใด ทำได้เช่นนี้ สมควรได้รับการยกย่องเป็นรัฐบุรุษ
กำลังโหลดความคิดเห็น