“ธีระ” เอาจริง ตั้งปลัด วธ.เป็นประธานศึกษาการผลิตตะกรุดต้นแบบสินค้าวัฒนธรรม “อ.อ๊อด” เกจิตะกรุดหนุนเป็นเครื่องราง แต่ต้องปลุกเสก แนะสร้างความเข้าใจนักท่องเที่ยว หวั่นต่างชาตินำไปห้อยข้อเท้า ฝ่ายองค์กรชาวพุทธรุมต้าน จวกทำประชาชนงมงายไสยศาสตร์ ชี้ของดีหลายอย่างที่น่าจะทำเป็นสินค้าที่ระลึกได้
วันนี้ (12 มี.ค.) นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า จากที่ตนได้มอบหมายให้กรมศิลปากรไปศึกษาข้อดี ข้อเสีย เรื่องการผลิตลูกปัด ตะกรุดลงลายไทยเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมเพื่อขายให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินั้น เป็นแนวคิดที่เกิดตั้งแต่ตนเป็น ครม.วัฒนธรรมเงา ซึ่งมีโอกาสไปดูงานในประเทศตุรกี และกรีซ และพบดวงตาสีฟ้า (บลูอายส์) ซึ่งเป็นสินค้าที่ระลึกยอดนิยม จึงมีแนวคิดว่าประเทศไทยน่าจะมีสินค้าวัฒนธรรมที่เป็นสากลขายให้กับนักท่องเที่ยวบ้าง ดังนั้น เมื่อเข้ามารับตำแหน่ง รมว.วัฒนธรรม จึงมอบหมายให้ นาย เกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร ไปศึกษาแนวทางการออกแบบลายไทยลูกปัด และตะกรุด
นายธีระกล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าขณะนี้คือจะทำการตั้งคณะกรรมการเพื่อให้ศึกษาการพัฒนาสินค้าวัฒนธรรม โดยมี นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน โดยคณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่พิจารณาแนวทางการผลิตสินค้าวัฒนธรรมในเชิงการค้าพาณิชย์ เพื่อเสริมสร้างรายได้ให้แต่ละชุมชนโดยในเบื้องต้นจะมีลูกปัด และตะกรุดเป็นเครื่องประดับต้นแบบ ซึ่งแนวทางต่อไปจะให้วัฒนธรรมจังหวัด 75 จังหวัดทั่วประเทศเสนอสินค้าวัฒนธรรมเด่นๆ ในแต่ละท้องถิ่นเพื่อให้คณะกรรมการชุดดังกล่าวคัดเลือกและพัฒนาเป็นสินค้าวัฒนธรรมต่อไป
“ตะกรุดที่คิดขึ้นจะทำเป็นเครื่องประดับไม่ได้อิงกับการปลุกเสกแต่อย่างใด อาจจะต้องลงลายไทยเพื่อความสวยงาม ผมจะทำจริงๆ จะเริ่มจริงจังหลังจากคณะกรรมการฯ ได้ข้อสรุปและคัดเลือกสินค้าแล้ว” นายธีระ กล่าว
ด้านพระปลัดอิทธิพล ปธานิโก หรือ พระอาจารย์อ๊อด วัดสายไหม อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี เกจิชื่อดังด้านตะกรุด กล่าวว่า ขอสนับสนุนแนวคิดที่จะมีการผลักดันให้ ตะกรุด เป็นสินค้าทางวัฒนธรรม ของนายธีระ สลักเพชร รมว.วัฒนธรรม เพราะตะกรุดมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยคนไทยเชื่อว่าตะกรุดเป็นเครื่องราง เกิดจากการปลุกเสกของผู้มีอาคม ผู้ทรงศีล อาทิ พระสงฆ์ จึงเชื่อในเรื่องของพุทธคุณ จะสามารถคุ้มครองผู้ที่ครอบครอง สร้างเมตตามหานิยม แคล้วคลาด ใช้ในการค้าขาย ซึ่งตะกรุดมีไว้ใช้แขวนที่เอว หรือแขวนที่คอ ส่วนวัสดุที่นำมาจัดสร้างมีตั้งแต่กระดูก หนังกลอง โลหะ
พระปลัดอิทธิพลกล่าวต่อไปว่า สำหรับการนำตะกรุดไปเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม อยากจะฝากว่า ตะกรุดเป็นเครื่องรางของขลัง การทำเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมและไม่มีการปลุกเสก เห็นว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากเกรงว่าเมื่อต่างชาติใช้เป็นเครื่องประดับ จะนำไปห้อยข้อเท้ามากกว่านำไปแขวนคอ ดังนั้น หากจะมีการจัดทำขึ้นมาจริง ควรที่จะมีการปลุกเสก และอธิบายให้ชาวต่างชาติเข้าใจว่า ตะกรุด คือเครื่องรางของขลังของคนไทย ที่จะนำความโชคดีมาสู่ผู้สวมใส่ และควรสวมใส่อย่างเหมาะสมด้วย โดยผู้ชายใช้แขวนคอ หรือแขวนเอว ส่วนผู้หญิงใช้พกไว้ในกระเป๋า เพื่อเป็นการป้องกันการลบหลู่ วัตถุมงคลที่ชาวพุทธนับถือ
“ตอนนี้ชาวต่างชาติรู้จักตะกรุดมากขึ้น ซึ่งแต่ละวันมีชาวต่างชาติ อาทิ ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ เข้ามาบูชาตะกรุดกับอาตมาเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะมีภรรยาเป็นคนไทย จึงได้อธิบายถึง พุทธคุณของตะกรุดให้ชาวต่างชาติเข้าใจ ซึ่งขณะนี้ อาตมาได้จัดสร้างตะกรุด และมีผู้นำไปบูชาแล้วถึง 2 ล้านดอก”พระปลัดอิทธิพล กล่าว
ขณะที่ ครูปลัดสุวัฒนจริยคุณ เลขาธิการองค์กรชาวพุทธแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่จะมีการทำตะกรุดในนามรัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรม จำหน่ายเป็นของที่ระลึก เกรงว่าจะเป็นการสร้างความงมงายให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เพราะถ้าหากต้องการให้ชาวต่างชาติมาสนใจพระพุทธศาสนาควรใช้หลักการชักจูง บวกกับปัญญา การทำตะกรุดถือเป็นแนวทางในการชักจูงแนวทางหนึ่ง แต่ก็ควรนำเรื่องปัญญาแฝงเข้าไปด้วย ทั้งนี้โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าควรหาทางชักจูงทางอื่นจะดีกว่า อีกทั้งการทำตะกรุดในนามรัฐบาลก็เป็นสิ่งที่ดูไม่เหมาะสม
นายเสถียร วิพรมหา เลขาธิการเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนพิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ กล่าวว่า เป็นความคิดที่ผิด เพราะหากต้องการให้คนสนใจพระพุทธศาสนา มีสิ่งอื่นอีกมากที่สามารถสร้างขึ้นมาเป็นของที่ระลึกได้ เช่น พระพุทธรูป พระกริ่ง มากกว่าที่จะทำของที่มีความเชื่อส่วนใหญ่ไปในทางไสยศาสตร์อย่างตะกรุด ดังนั้น กระทรวงวัฒนธรรมควรทบทวนความคิดดังกล่าว เพราะจะเป็นการสร้างความเข้าใจผิด และมอมเมาประชาชน ทั้งนี้การสร้างตะกรุดเป็นความเชื่อของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ แต่ไม่ควรที่จะมีการนนำเสนอในระดับรัฐบาล และมีงบประมาณรองรับแบบนี้ เพราะถือว่าไม่มีความเหมาะสม
วันเดียวกัน นายธีระ สลักเพชร รมว.วธ.กล่าวถึงกรณีที่มีการโจรกรรมลูกปัดสุริยเทพ อายุกว่า 2,000 ปี และได้รับคืนนั้นถือว่าเป็นสิ่งเรื่องที่ดี อย่างไรก็ตามโบราณวัตถุเช่นนี้ถือเป็นสมบัติของชาติ ไม่สมควรเป็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องให้คนที่ครอบครองลูกปัดและโบราณวัตถุอื่นๆ ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป นำมาขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุกับกรมศิลปากร เพราะตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โบราณสถานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 (ปรับปรุง พ.ศ.2535) กำหนดไว้ว่าใครที่ครอบครองโบราณวัตถุสามารถขอขึ้นเป็นโบราณวัตถุและยังมีสิทธิในการครอบครองอยู่ ทั้งนี้เพื่อไว้เป็นหลักฐานเมื่อโบราณวัตถุเกิดสูญหายหรือถูกลักขโมย สามารถใช้หลักฐานในการขึ้นทะเบียนในการอ้างอิงและติดตามคืนได้ ไม่ว่าจะนำไปขายภายในประเทศหรือต่างประเทศก็ตาม และยังดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.โบราณสถานโบราณวัตถุฯ ด้วย
ทั้งนี้ ใครที่ครอบครองโบราณวัตถุหากต้องการ ขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ สามารถแจ้งขอขึ้นทะเบียนได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 44 แห่งทั่วประเทศ โดยจะมีคณะกรรมการคอยพิจารณาการขึ้นทะเบียนว่าเข้าข่ายที่จะเป็นโบราณวัตถุหรือไม่ รวมทั้งจะมีการจัดทำรายละเอียด และถ่ายรูปของโบราณวัตถุชั้นนั้นไว้เป็นหลักฐาน อย่างไรก็ตาม เมื่อขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุ เมื่อจะเปลี่ยนเจ้าของหรือขายก็จะต้องแจ้งมายังกรมศิลปากรก่อน