xs
xsm
sm
md
lg

ทางเอก : จากต้นสายถึงปลายทาง (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในพระไตรปิฎกท่านใช้ถ้อคำเกี่ยวกับการถึงที่สุดแห่งทุกข์ หรือการ บรรลุพระอรหันต์ ไว้อย่างห้าวหาญน่าฟังมาก คือมักจะใช้ถ้อยคำในลักษณะที่ว่า
“ครั้งนั้น ท่าน ..หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่นานนักก็กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิต โดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่ง เองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี”
ถ้อยคำสำคัญในพระไตรปิฎกที่ยกมากล่าวถึงนั้นมีหลายประการ ได้แก่
(๑) “หลีกออกจากหมู่” หมายความว่าเมื่อผู้ใดศึกษาคำสอนของพระพุทธ เจ้าเข้าใจแล้ว คือรู้หนทางเจริญสติเจริญปัญญาแล้ว ก็ให้ไปหาสถานที่ปฏิบัติเอาเอง อย่าคลุกคลีอยู่กับหมู่คณะ เรื่องนี้พวกเรานักปฏิบัติรุ่นหลังเริ่มจะละเลยกัน คือชอบปฏิบัติกันแบบรวมหมู่ เพราะเคยชินกับการเรียน ในห้องเรียน ไม่เคยชินกับการเรียนด้วยตนเอง ซึ่งการรวมกลุ่มกันปฏิบัติแม้จะมีข้อดี คือมีครูบาอาจารย์ดูแลอย่างใกล้ชิด และเกิดความกระตือรือ- ร้นที่จะปฏิบัติเพราะมีคนร่วมปฏิบัติเป็นจำนวนมาก จะเกียจคร้านอยู่ไม่ได้ แต่การรวมกลุ่มกันปฏิบัติก็มีผลเสียหลายอย่าง เช่นก่อความกังวลใจในกิจกรรมของกลุ่ม คือบางคราวจิตต้อง การทำความสงบ แต่หมู่คณะเขาจะเจริญวิปัสสนากัน บางคราวจิตต้อง การนั่ง แต่หมู่คณะจะเดิน บางคราวจิต มีกำลังที่จะเจริญปัญญา แต่ถึงเวลากิน เวลานอน หรือเวลาไหว้พระสวดมนต์ เป็นต้น
นอกจากนี้การรวมกลุ่มปฏิบัติยังทำให้เกิดความประมาทคือขาดสติได้ง่าย เพราะมัวสนใจคนอื่นแล้วลืมตน เอง ทำให้เกิดความเพียรที่ผิด คือแทน ที่จะมีความเพียรด้วยการมีสติเกิดขึ้นเนืองๆ กลับจะเพียรละอกุศลและเจริญ กุศลโดยมองจากพฤติกรรมทางกาย ที่ทำตามๆกัน เช่น การเดินทนหรือการนั่งทน เพราะคนอื่นเขายังเดินและนั่งอยู่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมักทำให้จิตใจอ่อนแอ ไม่เกิดความตื่นตัวที่จะใช้ศักยภาพ ทั้งสติ สมาธิ และปัญญาของตนแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ มีแต่จะคิดพึ่งพาครูบาอาจารย์หรือหมู่คณะเรื่อยไป นี้คือเหตุผลที่ผู้เขียนไม่นิยมการปฏิบัติแบบรวมกลุ่ม แต่นิยมให้เพื่อนนักปฏิบัติศึกษาหลักการปฏิบัติให้เข้าใจ แล้วไปลงมือปฏิบัติด้วยตนเองต่อไป
(๒) “ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว” คำว่า “ไม่ประมาท” หมายความว่าให้มีสติเกิดขึ้นเนืองๆ เพราะสติมีความไม่หลงลืมในอารมณ์หรือมีความไม่ประมาทเป็นลักษณะ ดังนั้นจะยืนเดินนั่งนอน ก็จะต้องมีสติระลึกรู้กายรู้ใจอย่างเป็นปัจจุบันอยู่เนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน เว้นแต่เมื่อหลับเสียเท่านั้น
สำหรับคำว่า “มีความเพียร” หมาย ความว่า ให้เพียรมีสติตามระลึกรู้กายใจอยู่เนืองๆ เพราะทันทีที่ เกิดสติ ก็จะเกิดความเพียรชอบ คือ (๑) อกุศล ที่มีอยู่เป็นอัน ถูกละไปแล้ว (๒) อกุศลใหม่ก็มีไม่ได้ (๓) กุศลเป็นอันเกิดขึ้นแล้ว และ (๔) กุศลย่อมเจริญงอกงามต่อไป
ความเพียรชอบไม่ได้แปลว่านั่งนานๆ หรือเดินนานๆ แต่หมายถึงการนั่งอย่างมีสติ และการเดินอย่างมีสติ เพราะถ้าขาดสติแม้จะนั่งนานหรือเดินนาน ก็ไม่เกิดประโยชน์ในทางละอกุศล และเจริญกุศลอันจัดเป็นความเพียรชอบแต่อย่างใด
สำหรับคำว่า “มีใจเด็ดเดี่ยว” หมายถึงการมีความตั้งใจมั่น ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ทนได้ต่อปัญหาและความกระทบกระทั่งต่างๆ เพราะมีใจมุ่งต่อธรรมเป็นสำคัญ รวมทั้งต้องใจเด็ด คือไม่กลัวโง่ และไม่กลัวจะไม่บรรลุธรรม เพราะถ้ากลัวโง่หรือกลัวจะไม่บรรลุธรรม ก็จะไม่กล้าหาญเด็ดเดี่ยวพอที่จะตามรู้กายตามรู้ใจไปอย่าง ธรรมดาๆ แต่จะพยายามกำหนดจดจ้อง หรือพยายามคิดค้นคว้าพิจารณา แล้วการกระทำทั้งหลายเหล่านี้เอง จะเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุธรรม ซึ่งต้องอาศัยการมีสติปัญญาไปรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริง คือรู้อย่างที่รูปนามเขาเป็น โดยไม่เข้าไปแทรกแซงการรู้ นั้น
(๓) “กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม” หมายความว่าที่สุดแห่งพรหมจรรย์ของแต่ละศาสนามีต่างๆกัน แต่สิ่งที่เรียกว่าที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยมจริงๆ ในทางพระพุทธศาสนาคือนิพพาน ไม่ใช่กามสุข ไม่ใช่สวรรค์และพรหมโลก และการกระทำให้ถึงที่สุดแห่งพรหม-จรรย์ก็กระทำด้วยการรู้แจ้งนิพพาน ไม่ใช่ด้วยการสร้างนิพพานขึ้นมา เพราะนิพพานเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว เป็นสภาว-ธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ และไม่มีสิ่งใดปรุงแต่งได้ ผู้ปฏิบัติมีหน้าที่ทำให้รู้แจ้ง เท่านั้น ตรงกับกิจต่อนิโรธคือ “การทำ ให้แจ้ง” ได้แก่การเข้าไปประจักษ์และเข้าใจถึงสภาวะของนิพพาน
แม้นิพพานจะมีอยู่แล้ว แต่ก็หาผู้ ที่รู้แจ้งนิพพานได้ยากยิ่งนัก เพราะจิตของสัตว์ทั้งหลายมีแต่ความอยากในอารมณ์อยู่เสมอๆ คืออยากได้อารมณ์ที่เป็นสุข และอยากพ้นจากอารมณ์ที่เป็นทุกข์ เมื่อมีความอยาก จิตก็เกิดความดิ้นรนหรือเกิดความปรุงแต่ง นานาประการ ความอยากและความดิ้นรนปรุงแต่งนี้แหละ ที่ทำให้จิตน้อมไปหาอารมณ์อื่นๆ จึงละเลยและมองไม่เห็นอารมณ์นิพพาน ซึ่งเป็นสภาวะ ที่สิ้นความอยาก และสิ้นความปรุงแต่ง ทั้งปวง
ดังนั้น ถ้าผู้ใดสามารถตามรู้รูปนาม จนเกิดปัญญาเข้าใจความจริงของ รูปนามว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ หรือเป็น อนัตตาแล้ว จิตจะเข้าถึงวิราคะหรือความสิ้นตัณหา และเข้าถึงวิสังขารหรือ ความสิ้นความปรุงแต่ง มีความสงบ สันติ และสามารถเห็นสภาวธรรมที่พรากจากขันธ์และสงบสันติ คือนิพพานได้
(๔) “ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุ บัน” หมายความว่าการจะถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์หรือบรรลุพระอรหันต์ได้ นั้น ต้องมีปัญญาอันยิ่ง ไม่ใช่บรรลุเพราะสิ่งอื่น มีการทำทาน การรักษา ศีล และการทำสมาธิ เป็นต้น ซึ่งคุณงามความดีทั้งหลายเหล่านั้นเป็นเพียงเครื่องสนับสนุนให้เกิดปัญญาเท่านั้น และปัญญานั้นต้องเป็นปัญญาที่เกิดจากการรู้ลักษณะของรูปนาม ซึ่งรูปนามของแท้ย่อมปรากฏอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น เพราะรูปนามในอดีตก็ดับไป แล้ว ส่วนรูปนามในอนาคตก็ยังไม่เกิดมีขึ้น

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 101 เม.ย. 52 โดยพระปราโมทย์ ปาโมชฺโช)
กำลังโหลดความคิดเห็น