xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องจากพระไตรปิฎก : ตำนานนโม(๔๐) ผู้กล่าวคำว่า "นโม"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

๔. ท้าวสักกะจอมเทพ ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค สูตรที่ ๘ สักกปัญหสูตร ปัญหาของท้าวสักกะ
เนื่องด้วยพระสูตรนี้เป็นสูตรที่ยาวและมีเนื้อหาที่ ควรแก่การศึกษา จักได้พรรณนาความตามพระไตรปิฎก และแทรกเนื้อความที่พระอรรถกถาจารย์ได้อธิบายเสริมโดยพิสดาร เพื่อเพิ่มพูนศรัทธาปสาทะแก่พุทธบริษัทสืบไป ดังนี้
ข้าพเจ้า(พระอานนท์มหาเถรเจ้า)ได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในถ้ำอินทสาละ ณ เวทิยกบรรพต ด้านทิศเหนือแห่งหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อ อัมพสัณฑ์ อันตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของพระนครราชคฤห์ เมืองหลวงแห่งแคว้นมคธ
สมัยนั้น พระชนมายุของท้าวสักกะจอมเทพหมดแล้ว ท้าวเธอได้ทรงเห็นบุรพนิมิตร ๕ ประการ คือ ดอกไม้ย่อมเหี่ยวแห้ง ๑ ผ้าย่อมเศร้าหมอง ๑ เหงื่อย่อมไหลออกจากรักแร้ ๑ ผิวพรรณเศร้าหมองย่อมปรากฏที่กาย ๑ ความไม่ยินดีในทิพยอาสน์ของตน ๑ ทรงทราบว่า บัดนี้ เราหมดอายุแล้ว
ส่วนท้าวสักกเทวราช เมื่อได้ทรงเห็นบุรพนิมิตร ก็ทรงมองดูสมบัติทั้งหมดแห่งตน แล้วก็ทรงถูกความกลัวครอบงำ ว่า “ท่านเอ๋ย สมบัติของเรานี้จักฉิบหายหนอ” แล้วท้าวเธอก็พิจารณาว่ามีใครบ้างไหม ที่พึงถอนลูกศร คือความโศกที่อาศัยหัวใจ แล้วทำให้สมบัตินี้มั่นคงได้ เมื่อทรงพิจารณาแล้ว ทรงเห็นว่ามีแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ที่ทรงสามารถถอนความโศกศัลย์ที่เกิดแก่เทพ ทั้งหลายได้
ท้าวสักกะทรงดำริว่า “บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ไหนหนอ” ด้วยทิพยอำนาจ ทำให้ทรงเห็นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในถ้ำอินทสาละ ณ เวทิยกบรรพต
เล่ากันสืบมาว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังประทับอยู่ที่สลฬาคาร ในพระนครสาวัตถี ท้าวสักกะจอมเทพได้เสด็จไปเฝ้าโดยลำพัง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระดำริว่า ญาณของท้าวเธอยังไม่แก่กล้าพอ แต่ถ้ารอไปอีกสักหน่อย ขณะที่เราอยู่ถ้ำอินทสาละ ท้าวเธอจักเห็นบุรพนิมิตร ๕ อย่าง ทรงกลัวมรณภัย จักเข้ามาหาเรา พร้อมกับพวก เทวดาชั้นดาวดึงส์ แล้วทรงถามปัญหาเรา ๑๔ ข้อ เมื่อแก้จบปัญหาเกี่ยวกับอุเบกขาแล้ว ท้าวเธอจักทรงตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล พร้อมกับเทวดาแปดหมื่นองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ประทานพระโอกาสแก่ท้าวเธอ
เมื่อท้าวสักกะทรงระลึกเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ว่า“พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ประทานพระโอกาสแก่เรา เพราะเมื่อก่อนเราไปโดยลำพังผู้เดียว เรายังไม่มีอุปนิสัยแห่งมรรคผล ก็เมื่อเราผู้เดียวมีอุปนิสัย พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงแสดงธรรมแก่บริษัท แม้จนสุดจักรวาลแน่ ก็แน่ล่ะในดาวดึงส์เทวโลก ใครผู้ใดผู้หนึ่งคงจะมีอุปนิสัยแท้เทียว พระผู้มีพระภาคเจ้าคงจะทรงหมายเอาผู้นั้น แล้วทรงแสดงธรรม ถึงเราเองเมื่อได้ฟังธรรมนั้นแล้ว ก็คงจะดับความโทมนัสของตนได้”
แล้วทรงดำริต่อไปว่า “การจะพาเอาพวกเทวดาในดาวดึงส์เทวโลก เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมกันไม่เหมาะ ควรให้ปัญจสิขคันธรรพบุตร ผู้อุปัฏฐากรับใช้ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงโปรดปราน สามารถทูลถามปัญหาแล้วฟังธรรมได้ทุกขณะที่ต้องการ เราควรส่งปัญจ-สิขะนี้ล่วงหน้าไปก่อน ให้ขอประทานพระโอกาสแล้วจึงเข้าเฝ้าทูลถามปัญหา” เมื่อทรงดำริเช่นนี้แล้ว ท้าวเธอจึงตรัสชวนปัญจสิขคันธรรพบุตร ผู้ถือพิณมีสีเหลืองดังผลมะตูม และพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ลำดับนั้น ท้าวสักกะรับสั่งกะปัญจสิขคันธรรพบุตรว่า “ดูกรพ่อปัญจสิขะ พระตถาคตทั้งหลาย เป็นผู้เพ่งฌาน ทรงยินดีในฌาน ในระหว่างทรงหลีกเร้นอยู่ อันผู้เช่นเรายากที่จะเข้าเฝ้า ถ้ากระไร พ่อควรจะให้พระผู้มีพระภาคทรงพอพระหฤทัยก่อน แล้วพวกเราจึงควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค”
ปัญจสิขคันธรรพบุตรจึงได้ถือเอาพิณเข้าไปยังถ้ำอินทสาละ กะประมาณดูว่า ระยะเพียงนี้ พระผู้มีพระภาคจะประทับอยู่ไม่ไกลไม่ใกล้เรานัก และจักทรงได้ยินเสียงเรา แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บรรเลงพิณและกล่าวคาถาว่า
“ดูกร แม่ภัททาสุริยวัจฉสา ฉันขอไหว้ท้าวติมพรุบิดาเธอ โดยเหตุที่เธอเกิดเป็นนางงาม ปลูกความปลื้มให้แก่ ฉัน เหมือนลมเป็นที่ปรารถนาของผู้มีเหงื่อ หรือน้ำดื่มเป็นที่ปรารถนาของผู้กระหาย เธอผู้จำรัสโฉมเป็นที่รักของฉัน คล้ายกันกับธรรมเป็นที่รักของเหล่าพระอรหันต์ฉะนั้น
ขอเธอช่วยดับความเร่าร้อน เหมือนช่วยวางยาคนไข้ ผู้กระสับกระส่าย หรือให้โภชนะแก่ผู้หิว หรือดับไฟที่ลุกอยู่ด้วยน้ำ ขอให้ฉันซบลงจด ณ ถันและอุทรของเธอเหมือนช้างผู้ร้อนจัดในหน้าร้อน หยั่งลงสระโบกขรณี มีน้ำเย็นประกอบด้วยละอองแห่งเกสรดอกปทุมฉะนั้น
ฉันมึนเมาแล้ว เพราะช่วงขาอันสมบูรณ์ด้วยลักษณะไม่รู้สึกถึงเหตุการณ์ เหมือนช้างเหลือขอ ไม่ยอมรับรู้แหลนและหอกซัด ด้วยถือว่าตนชนะแล้ว ฉะนั้น ฉันมีใจจดจ่อในเธอ ฉันไม่อาจกลับดวงจิตที่แปรปรวนไปแล้ว เหมือนปลาที่กลืนเบ็ดเสียแล้ว ฉะนั้น
นางผู้เจริญ ขอเธอเอาขาซ้ายกระหวัดฉันไว้ ขอเธอ ผู้มีดวงตาอันอ่อนหวาน จงกระหวัดฉันไว้ ขอเธอผู้งดงามจงสวมกอดฉัน นั่นเป็นข้อที่ฉันปรารถนายิ่งนัก ความใคร่ของฉันในเธอ ผู้มีผมเป็นลูกคลื่น ถึงจะมีน้อยก็เกิดผล มาก เหมือนทักษิณาที่ถวายในพระอรหันต์ ฉะนั้น บุญอันใดที่ฉันได้ทำไว้แล้วในพระอรหันต์ผู้คงที่มีอยู่ ดูกรนางผู้งามทั่วสรรพางค์ ขอบุญอันนั้นของฉัน จงอำนวยผลแก่ฉัน พร้อมกับด้วยเธอ บุญอันใดที่ฉันได้ทำไว้ในปฐพีมณฑลนี้ มีอยู่ ดูกรนางผู้งามพร้อม ขอบุญอันนั้นของฉันจงอำนวย ผลแก่ฉัน พร้อมกับด้วยเธอ
ดูกรแม่สุริยวัจฉสา ฉันปรารถนาเธอ เหมือนพระศากยบุตรพุทธเจ้าทรงเข้าฌานอยู่พระองค์เดียว มีพระปัญญารักษาพระองค์ ทรงมีพระสติ เป็นมุนี ทรงแสวงหาอมตะ พระผู้จอมปราชญ์ได้บรรลุพระสัมโพธิญาณ อันสูงสุดแล้ว พึงชื่นชม ฉันใด เธอผู้งดงาม ถ้าฉันได้อยู่ร่วมกับเธอ ก็จะพึงชื่นชม ฉันนั้น ถ้าท้าวสักกะผู้เป็นอิสระของพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ จะประทานพรแก่ฉันไซร้ ฉันจะพึงเลือกเอาเธอเป็นแน่แท้ ความอยากได้ของฉันมั่นคงถึง เพียงนี้ ดูกรแม่ผู้เฉลียวฉลาด ท่านผู้ใดมีธิดาเช่นนี้ ฉัน ขอน้อมไหว้ท่านผู้นั้น ซึ่งเป็นบิดาของเธอซึ่งเป็นประดุจสาลพฤกษ์เผล็ดดอกไม่นาน ฉะนั้น”
พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงสดับคาถาของปัญจสิขคันธรรพบุตรจบแล้ว ทรงมีพุทธดำริว่า “หากเราไม่กล่าว ชม ปัญจสิขะก็ทราบไม่ได้ว่าเราได้ให้โอกาสแล้ว ทีนั้น ท้าวสักกะก็จะทรงพาพวกเทวดากลับไป เพราะทรงเข้าพระทัยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ประทานพระโอกาสแก่ปัญจสิขะ แต่นั้นก็จะพึงฉิบหายใหญ่ เมื่อเรากล่าวชมแล้ว ท้าวสักกะก็จะทรงเข้าพระทัยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประทานพระโอกาสแก่ปัญจสิขะแล้ว ก็จะทรงเข้ามาเฝ้าพร้อมกับพวกเทวดา แล้วจักทรงถามปัญหา เมื่อเราแก้ปัญหาเสร็จแล้ว ท้าวเธอพร้อมกับพวกเทพแปดหมื่นก็จักทรงดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล”
พระผู้มีพระภาคจึงทรงตรัสว่า “ดูกรปัญจสิขะ เสียงสายพิณของท่านเทียบได้กับเสียงเพลงขับ ไม่เกินเสียงเพลงขับ ก็คาถานี้ท่านประพันธ์ขึ้นเมื่อไร”
ปัญจสิขคันธรรพบุตรทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ประพันธ์ขึ้นในสัปดาห์ที่แปด แต่พระองค์บรรลุสัมโพธิญาณนั้น ขณะทรงประทับอยู่ใต้ต้นไม้อชปาลนิโครธ แถบฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในอุรุเวลาประเทศ ก็สมัยนั้น ข้าพระองค์ได้รักใคร่ธิดาของท้าวติมพรุคัน-ธรรพราช ผู้มีนามว่าภัททาสุริยวัจฉสา แต่นางรักใคร่กับ ผู้อื่นเสีย คือรักใคร่อยู่กับบุตรของมาตลีสังคาหกเทวบุตร นามว่า สิขัณฑ”
เมื่อข้าพระองค์ไม่ได้นางนั้น จึงถือเอาพิณนี้เข้าไปยังนิเวศน์ของท้าวติมพรุคันธรรพราช แล้วบรรเลงพิณและได้กล่าวคาถาเหล่านี้ อันเกี่ยวด้วยพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พระอรหันต์ และกาม เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว นางภัททาสุริยวัจฉสา ได้กล่าวกะข้าพระองค์ว่า “ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ ฉันมิได้เห็นพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นในที่เฉพาะพระพักตร์เลย เป็นแต่ฉันเคยได้ยินท้าวสักกะจอมเทพทรงกล่าวสรรเสริญพระคุณตามที่เป็นจริง ๘ ประการของพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อครั้งเข้าไปฟ้อนในสุธรรมาสภาของเทวดาชั้นดาวดึงส์เท่านั้น เมื่อท่านแสดงพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นได้แล้ว วันนี้จงมาร่วมสมาคม กับพวกเราเถิด ข้าพระองค์ก็ได้ร่วมสมาคมกับนางนั้น หลังจากนั้น ข้าพระองค์มิได้กล่าวคาถานี้อีกเลย”
ขณะนั้น ท้าวสักกะทรงสดับคำทูลแห่งปัญจสิขคัน-ธรรพบุตรแล้ว ทรงพระดำริว่า “เราส่งปัญจสิขะนี้ไปด้วยงานของเรา เขาก็ไปทำงานของตัวเองเสีย เขาอยู่ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า กล่าวถ้อยคำที่ประกอบด้วยกามคุณ ซึ่งเป็นคำที่หาสมควรไม่ ก็ขึ้นชื่อว่าพวกนักฟ้อนเป็นพวกไร้ยางอาย ปัญจสิขะเมื่อกำลังกล่าวอยู่ พึงแสดงอาการที่ปลาดก็ได้ เอาล่ะ เราจะเตือนให้เขารู้งานของเรา” แล้วตรัสเรียกปัญจสิขคันธรรพบุตรว่า “พ่อปัญจสิขะ พ่อจงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคตามคำของเราว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ท้าวสักกะจอมเทพ พร้อมด้วยพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ ขอถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า”
ปัญจสิขคันธรรพบุตรจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ดูกรปัญจสิขะ ท้าวสักกะจอมเทพ พร้อมด้วยอำมาตย์และบริษัท จงมีความสุขอย่างนั้นเถิด เพราะว่าพวกเทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ และชนเป็นอันมากเหล่าอื่นใด ซึ่งปรารถนาสุขมีอยู่”
ท้าวสักกะ อันพระผู้มีพระภาคตรัสประทานพรแล้ว เสด็จนำปัญจสิขคันธรรพบุตรและพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ เข้าไปยังถ้ำอินทสาละ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วประทับอยู่ ณ ที่ควรแห่งตน พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท้าวสักกะว่า “นี้เป็นของน่าอัศจรรย์ของท่านท้าวสักกะจอมเทพ นี้เป็นเหตุไม่เคยมี คือการที่พระองค์ผู้มีกิจมาก มีกรณียะมาก เสด็จมาในที่นี้”
ท้าวสักกะทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ประสงค์จะมาเฝ้าเยี่ยมพระองค์ตั้งแต่นานมาแล้ว แต่มัวสาละวนด้วยกิจกรณียะบางอย่างของพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ จึงมิสามารถมาเฝ้าเยี่ยมพระองค์ได้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยหนึ่ง พระองค์ประทับอยู่ ณ สลฬาคาร ในพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ข้าพระองค์ได้ไปยังพระนครสาวัตถี เพื่อจะเฝ้าพระองค์ แต่พระองค์ประทับนั่งอยู่ด้วยสมาธิบางอย่าง ข้าพระองค์ได้สั่งภุชคีเทพธิกา ผู้ยืนยกกระพุ่มมือวางไว้บนเศียรไหว้พระองค์อยู่ว่า
“ดูกรน้องหญิง ขอเธอจงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ว่า ท้าวสักกะจอมเทพ พร้อมด้วยอำมาตย์และบริษัท ขอ ถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า” แล้วข้าพระองค์ทำประทักษิณพระคันธกุฎี ให้มาตุลีกลับรถบ่ายพระพักตร์สู่เทวโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น้องหญิงนั้นถวายบังคมพระองค์ ตามคำของข้าพระองค์แล้วหรือ พระองค์ยังทรงระลึกถึงคำของน้องหญิงนั้นได้อยู่หรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ดูกรจอมเทพ อาตมภาพระลึกได้ถึงคำของภุชคีเทพธิดานั้น และอาตมภาพออกจากสมาธิเพราะเสียงกงรถของพระองค์ ”
ท้าวสักกะทูลต่อไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หมู่ เทวดาชั้นดาวดึงส์ที่อุบัติก่อนพวกข้าพระองค์ ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อใดพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเสด็จ อุบัติในโลก เมื่อนั้น ทิพยกายย่อมบริบูรณ์ อสุรกายย่อมเสื่อมไป ข้าพระองค์ได้เห็นประจักษ์ตามคำกล่าวนั้นแล้ว
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในกรุงกบิลพัสดุ์ มีศากยธิดานามว่า โคปิกา เป็นคนเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ บำเพ็ญศีลบริบูรณ์ นางคลายจิตในความเป็นสตรี อบรมจิตในความเป็นบุรุษ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถึงความอยู่ร่วมกับเทวดา ชั้นดาวดึงส์ ถึงความเป็นบุตรของข้าพระองค์ พวกเทวดาในดาวดึงส์นั้น รู้จักเธออย่างนี้ว่า โคปกเทวบุตร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนธรรพ์ผู้เพียบพร้อมไปด้วยกามคุณทั้งห้า ๓ ตน มาสู่ที่อยู่ของข้าพระองค์ โคปกเทว-บุตรได้ตักเตือนคนธรรพ์พวกนั้นว่า “ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ เราเป็นอุบาสิกาของพระพุทธเจ้าผู้มีจักษุ นามของเรา ได้ปรากฏว่า โคปิกา เราเลื่อมใสยิ่งแล้วในพระพุทธเจ้า พระธรรม และมีจิตเลื่อมใสบำรุงพระสงฆ์ เพราะความที่พระธรรมของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นแหละ เป็นธรรมดี เราได้เป็นบุตรท้าวสักกะ มีอานุภาพมาก มีความรุ่งเรืองใหญ่หลวง เข้าถึงชั้นไตรทิพย์ แม้ในที่นี้ พวกเทวดารู้จักเราว่า โคปกเทวบุตร
เราได้มาเห็นพวกภิกษุที่เป็นสาวกของพระโคดม ซึ่งเคยเห็นมาแล้ว ครั้งที่เรายังเป็นมนุษย์ และบำรุงด้วยข้าวน้ำ สงเคราะห์ด้วยการล้างเท้าและทาเท้าให้ในเรือนของตน มาอยู่ในหมู่คนธรรพ์ ท่านพวกนี้เอาหน้าไปไว้ไหน จึงไม่รับธรรมของพระพุทธเจ้า ก็ธรรมที่วิญญูชนพึงรู้เฉพาะตัว อันพระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงดีแล้ว แม้เราก็เข้าไปหาพวกท่าน ได้ฟังสุภาษิตของพระอริยะ ทั้งหลาย
ส่วนพวกท่านเข้าไปนั่งใกล้พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ประพฤติพรหมจรรย์ในพระพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยม ยังมาเข้าถึงกายอันต่ำ การอุปบัติของพวกท่านไม่สมควร เราได้มาเห็นสหธรรมิกเข้าถึงกายอันต่ำ นับว่าได้เห็นรูปที่ไม่น่าดู แล้วพวกท่านผู้เข้าถึงหมู่คนธรรพ์ ต้องมาสู่ที่บำเรอของพวกเทวดา ขอให้ท่านดูความวิเศษอันนี้ของเราผู้อยู่ในเรือนเถิด เราเป็นสตรี วันนี้เป็นเทวบุตร ผู้พร้อมพรั่งไปด้วยกามอันเป็นทิพย์”
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนธรรพ์พวกนั้นเมื่อฟังคำตักเตือนแล้ว ถึงความสลดใจ คิดว่าเอาเถิด พวกเราจะพากเพียรพยายาม พวกเราจะไม่เป็นคนใช้ของผู้อื่น คน ธรรพ์ ๒ คน ระลึกถึงคำสอนพระผู้มีพระภาคแล้ว ปรารภความเพียร คลายจิตในภพนี้ ได้เห็นโทษในกามแล้ว รู้ธรรมของพระองค์แล้ว ถึงความเป็นผู้วิเศษ เข้าถึงกายอันเป็นชั้นพรหมปุโรหิต ส่วนคนธรรพ์อีกองค์หนึ่งคงตกอยู่ในกามภพ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส พวกข้าพระองค์ก็มาเพื่อบรรลุธรรมนั้น หากพระองค์ทรงกระทำโอกาสแล้ว จะขอทูลถามปัญหา”
พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า “ท้าวสักกะนี้เป็นผู้ บริสุทธิ์สิ้นเวลานาน จักตรัสถามปัญหาข้อใดข้อหนึ่งกะเรา ท้าวเธอจักถามปัญหานั้นทุกข้อ ซึ่งประกอบด้วยประโยชน์ จักไม่ถามปัญหาที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ อนึ่ง เราอันท้าวเธอตรัสถามแล้ว จักพยากรณ์ข้อความใด ท้าวเธอ จักทรงทราบข้อความนั้นได้พลันทีเดียว” แล้วตรัสกะ ท้าวสักกะว่า
“ดูกรท้าวสักกะ พระองค์ปรารถนาไว้ในพระทัย เพื่อจะตรัสถามปัญหาข้อไร ก็จงตรัสถามปัญหาข้อนั้นกะอาตมภาพเถิด อาตมภาพจะกระทำที่สุดแห่งปัญหานั้นๆ แก่พระองค์”
(โปรดติดตามตอนต่อไปในฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 101 เม.ย. 52 โดยพระพจนารถ ปภาโส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม)
กำลังโหลดความคิดเห็น