xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องจากพระไตรปิฎก : ตำนาน นโม (๓๙) ผู้กล่าวคำว่า ‘นโม’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

๓. พระเจ้าปเสนทิโกศล ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ราชวรรค สูตรที่ ๗ ปิยชาติกสูตร ว่าด้วยสิ่งเป็นที่ รัก มีความโดยพิสดารดังนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน นครสาวัตถี
สมัยนั้นแล บุตรน้อยคนเดียวของคฤหบดีผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นที่รักที่ชอบใจ ได้ตายลง เพราะการตายของบุตรคนนั้น คฤหบดีนั้นก็ห่างจากการงานที่ทำเป็นปกติ และไม่ค่อยทานอาหาร มัวแต่ไปยังป่าช้า แล้วคร่ำครวญถึงบุตรว่าลูกชายฉันอยู่ไหน ลูกชายฉันอยู่ไหน
กาลต่อมา คฤหบดีนั้น ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง ที่ประทับ ถวายบังคมแล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะคฤหบดีว่า “ดูกรคฤหบดี อินทรีย์ (ร่างกาย,จิตใจ,สติปัญญา) ไม่เป็นของท่านผู้ตั้งอยู่ในจิต(ความคิด)ของตน ท่านมีอินทรีย์เป็นอย่างอื่นไป”
คฤหบดีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทำไมข้าพระองค์จะไม่มีอินทรีย์เป็นอย่างอื่นเล่า เพราะว่าบุตรน้อยคนเดียวของข้าพระองค์ ซึ่งเป็นที่รักเป็นที่ชอบใจได้ตายเสียแล้ว เพราะการตายของบุตรคนนั้น ก็ห่างจากการงานที่ทำเป็นปกติ และไม่ค่อยทานอาหาร ข้าพระองค์ไปยังป่าช้า แล้วคร่ำครวญถึงบุตร”
พระผู้มีพระภาค “ดูกรคฤหบดี ข้อนี้เป็นอย่างนั้น เพราะว่าโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ย่อมเกิดแต่ของที่รัก เป็นมาแต่ของที่รัก”
คฤหบดี “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ จักเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร? ความจริง ความยินดีและความโสมนัส ย่อมเกิด แต่ของที่รัก เป็นมาแต่ของที่รัก”
ครั้งนั้นแล คฤหบดีนั้น ไม่ยินดี ไม่คัดค้านพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ลุกจากที่นั่งแล้วหลีกไป
เมื่อเดินออกจากพระวิหารเชตวัน คฤหบดีนั้นเห็นนักเลงสะกากำลังเล่นสะกากันอยู่ จึงเดินเข้าไปกล่าวกะนักเลงสะกาเหล่านั้นว่า “ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้า ขอโอกาส ข้าพเจ้าได้เข้าไปเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมได้ตรัสกะข้าพเจ้าว่า ดูกรคฤหบดี อินทรีย์ไม่เป็นของท่านผู้ตั้งอยู่ในจิตของตน ท่านมีอินทรีย์เป็นอย่างอื่นไป ข้าพเจ้าได้กราบทูลพระสมณโคดมว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทำไมข้าพระองค์จะไม่มีอินทรีย์เป็นอย่างอื่นเล่า เพราะว่าบุตรน้อยคนเดียวของข้าพระองค์ ซึ่งเป็นที่รักเป็นที่ชอบใจได้ตายเสียแล้ว เพราะการตายของบุตรคนนั้น ก็ห่างจากการงานที่ทำเป็นปกติ และไม่ค่อยทานอาหาร ข้าพระองค์ไปยังป่าช้า แล้วคร่ำครวญถึงบุตร เมื่อข้าพเจ้าทูลอย่างนี้แล้ว พระสมณโคดมได้ตรัสว่า ดูกรคฤหบดี ข้อนี้เป็นอย่างนั้น เพราะว่าโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปยาส ย่อมเกิดแต่ของที่รัก เป็นที่มาของที่รัก เมื่อพระสมณโคดมตรัสอย่างนี้แล้ว ข้าพเจ้าได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ จักเป็นอย่างนั้นได้ อย่างไร ความจริงความยินดีและความโสมนัสย่อมเกิดแต่ของที่รัก เป็นมาแต่ของที่รัก ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้ามิได้ยินดี มิได้คัดค้านพระภาษิตของพระสมณโคดม ลุกจากที่นั่ง แล้วออกมา”
นักเลงสะกาเหล่านั้นได้กล่าวว่า “ดูกรคฤหบดี ข้อนี้เป็นอย่างนั้น เพราะว่าความยินดีและความโสมนัส ย่อมเกิดแต่ของที่รัก เป็นมาแต่ของที่รัก”
คฤหบดีเมื่อได้ยินดังนั้นก็คิดว่า ความเห็นของเราสมกันกับนักเลงสะกาทั้งหลาย แล้วเดินหลีกไป
ต่อมาเรื่องนี้ก็มีการนำไปพูดกันต่อ จนได้แพร่เข้าไปถึงในพระราชวังแห่งนครสาวัตถีโดยลำดับ
พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ตรัสเรียกพระนางมัลลิกาเทวี มา แล้วตรัสว่า “ดูกรมัลลิกา คำว่า โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ย่อมเกิดแต่ของที่รัก เป็นมาแต่ของที่รักนี้ พระสมณโคดมของเธอตรัสหรือ?”
พระนางมัลลิกาเทวีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระมหาราช ถ้าคำนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสจริง คำนั้นก็เป็นอย่างนั้นเพคะ”
พระเจ้าปเสนทิโกศล “ดูกรมัลลิกา เธออนุโมทนาตาม พระดำรัสที่พระสมณโคดมตรัสเท่านั้น เปรียบเหมือนศิษย์อนุโมทนาตามคำที่อาจารย์กล่าว ฉะนั้น ดูกรมัลลิกา เธอจงหลบหน้าไปเสีย”
เมื่อออกจากที่ประทับแล้ว พระนางมัลลิกาเทวีตรัสเรียกนาฬิชังฆพราหมณ์มาเฝ้า แล้วรับสั่งตรัสว่า “นี่แน่ะท่านพราหมณ์ ท่านจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ แล้วทูลตามคำของฉันว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนางมัลลิกาเทวีขอถวายบังคมพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ทูลถามถึงความมีพระอาพาธน้อย มีพระโรคเบาบาง ทรงกระปรี้กระเปร่า มีพระกำลัง ทรงพระสำราญ และท่านจงทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระวาจาว่า โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ย่อมเกิดแต่ของที่รัก เป็นมาแต่ของที่รัก พระผู้มีพระภาคตรัสจริงหรือ พระผู้มีพระภาคทรงตรัสแก่ท่านอย่างไร ท่านพึงจำพระดำรัสนั้นให้ดี แล้วมาบอกแก่ฉัน”
นาฬิชังฆพราหมณ์รับพระเสาวนีย์พระนางมัลลิกาแล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัย กับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึง กันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลความที่พระนางมัลลิกาเทวีรับสั่ง
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ดูกรพราหมณ์ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น เพราะว่าโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ย่อมเกิดแต่ของที่รัก เป็นมาแต่ของที่รัก ข้อนี้เป็นอย่างไร? ท่านพึงทราบโดยปริยาย ดังนี้
ดูกรพราหมณ์ เรื่องเคยมีมาแล้ว ในพระนครสาวัตถี นี้แล มารดาของหญิงคนหนึ่งได้ตายลง เพราะการตายของมารดา หญิงคนนั้นเป็นบ้า มีจิตฟุ้งซ่าน เข้าไปตามถนนทุกถนน ตามตรอกทุกตรอก แล้วถามทุกคนว่า ท่านทั้งหลายได้พบมารดาของฉันบ้างไหม? ท่านทั้งหลายได้พบมารดาของฉันบ้างไหม? ดูกรพราหมณ์ ข้อว่า โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ย่อมเกิดแต่ของที่รัก เป็นมาแต่ของที่รักอย่างไร ท่านพึงทราบดังนี้
ดูกรพราหมณ์ เรื่องเคยมีมาแล้วในพระนครสาวัตถี นี้แล หญิงคนหนึ่งได้ไปยังสกุลของญาติ พวกญาติของหญิงนั้น ใคร่จะพรากสามีของหญิงนั้น แล้วยกหญิงนั้นให้แก่ชายอื่น แต่หญิงนั้นไม่ปรารถนาชายคนนั้น หญิงนั้นได้บอกกะสามีว่า ข้าแต่ลูกเจ้า พวกญาติของดิฉันใคร่จะพรากท่านเสีย แล้วยกดิฉันให้แก่ชายอื่น แต่ดิฉันไม่ปรารถนาชายคนนั้น บุรุษผู้เป็นสามีได้ฟังดังนั้น จึงตัดหญิงผู้เป็นภรรยาออกเป็นสองท่อน แล้วจึงเอาดาบนั่นแหละแหวะท้องของตนด้วยความรักว่า เราทั้งสองจักตาย ไปด้วยกัน ก็ถ้าหญิงนั้นไม่เป็นที่รักของชายนั้น บัดนี้ชายนั้นไม่พึงฆ่าตนด้วยคิดว่า เราจักหาหญิงอื่น แต่เพราะ หญิงนั้นเป็นที่รักของชายนั้น ฉะนั้น ชายนั้นปรารถนาความพร้อมเพรียงกับหญิงนั้นแม้ในปรโลก จึงได้กระทำอย่างนั้น ดูกรพราหมณ์ ข้อว่า โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ย่อมเกิดแต่ของที่รักอย่างไร ท่านพึงโปรด ทราบโดยปริยายแม้นี้”
นาฬิชังฆพราหมณ์ชื่นชม อนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค แล้วลุกจากที่นั่ง เข้าพระราชวังเพื่อไปเฝ้าพระนางมัลลิกาเทวียังที่ประทับ แล้วกราบทูลถึงการที่ได้เจรจาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคทั้งหมดแก่พระ นางมัลลิกาเทวี
พระนางมัลลิกาเทวีขอบพระทัยนาฬิชังฆพราหมณ์ แล้วมีพระดำริว่า ถ้าเราจะพึงกล่าวถ้อยคำเป็นต้นว่า ข้าแต่มหาราช เรื่องเคยมีมาแล้ว ในพระนครสาวัตถีนี้ ยังมีหญิงอื่นอีก พระองค์จะพึงปฏิเสธเราว่า ใครได้กระทำอย่างนั้นแก่เจ้า แล้วขับเราว่าจงถอยไป เราจักยังหญิงนั้นให้เข้าใจด้วยอาการแห่งบุคคลอันเป็นที่รัก ความดำริอย่างนี้ได้มีแล้วแก่พระนาง พระนางได้ดำริต่อไปว่า ถ้าเราจะพึงถามก่อนคนอื่นทั้งหมดว่า หม่อมฉันเป็นที่รักของพระองค์หรือ พระองค์ก็จะพึงตรัสว่า เจ้ามิได้เป็นที่ รักของเรา จงหลีกไปทางอื่น เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้อยคำก็จักไม่ได้ตั้งขึ้น แล้วพระนางเสด็จไปเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศลถึงที่ประทับ ทูลถามว่า “ข้าแต่มหาราชา ทูลกระหม่อมทรง เข้าพระทัยว่า พระกุมารีพระนามว่าวชิรี เป็นที่โปรดปรานของทูลกระหม่อมหรือ?”
พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสตอบว่า “ใช่ เจ้าหญิงวชิรี เป็นที่รักของฉัน”
พระนางมัลลิกา “ข้าแต่พระมหาราชา ทูลกระหม่อมจะทรงเข้าพระทัยเช่นไร ถ้าเจ้าหญิงวชิรีเกิดความเปลี่ยน แปลงเพราะความตาย หรือเสด็จหนีไปกับใครๆ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส จะพึงเกิดขึ้นแก่ทูลกระหม่อมหรือไม่เพคะ?”
พระเจ้าปเสนทิโกศล “ดูกรมัลลิกา แม้ชีวิตของฉันก็พึงแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป ทำไมโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส จักไม่เกิดแก่ฉันเล่า”
พระนางมัลลิกา “ข้าแต่พระมหาราชา ข้อนี้แล ที่พระผู้ มีพระภาคผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดย ชอบ ทรงมุ่งหมายจึงตรัสไว้ว่า โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสย่อมเกิดแต่ของที่รัก เป็นมาแต่ของที่รัก เพคะ” แล้วทูลถามต่อไปว่า “ข้าแต่พระมหาราชา ทูลกระหม่อมจะทรงเข้าพระทัยว่า พระนางวาสภขัตติยาเป็นที่รักของทูลกระหม่อมหรือเพคะ?”
พระเจ้าปเสนทิโกศล “ใช่ พระนางวาสภขัตติยา เป็นที่รักของฉัน”
พระนางมัลลิกา “ข้าแต่พระมหาราช ทูลกระหม่อมจะทรงเข้าพระทัยเช่นไร ถ้าพระนางวาสภขัตติยาแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส พึงเกิดขึ้นแก่ทูลกระหม่อมหรือหาไม่เพคะ?”
พระเจ้าปเสนทิโกศล “ดูกรมัลลิกา แม้ชีวิตของฉันก็พึงเป็นอย่างอื่นไป ทำไมโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส จักไม่เกิดแก่ฉันเล่า”
พระนางมัลลิกา “ข้าแต่พระมหาราชา ข้อนี้แล ที่พระผู้มีพระภาค ตรัสไว้ว่า โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ย่อมเกิดแต่ของที่รัก เป็นมาแต่ของที่รัก เพคะ ข้าแต่มหาราชา ทูลกระหม่อมจะทรงเข้าพระทัยว่า วิฑูฑภ เสนาบดีเป็นที่รักของทูลกระหม่อมหรือเพคะ?”
พระเจ้าปเสนทิโกศล “ใช่ วิฑูฑภเสนาบดีเป็นที่รักของฉัน”
พระนางมัลลิกา “ข้าแต่พระมหาราชา ทูลกระหม่อมจะทรงเข้าพระทัยเช่นไร ถ้าท่านวิฑูฑภเสนาบดีแปรปรวน เป็นอย่างอื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส จะพึงเกิดแก่ทูลกระหม่อมหรือหาไม่เพคะ?”
พระเจ้าปเสนทิโกศล “ดูกรมัลลิกา แม้ชีวิตของฉันก็พึงเป็นอย่างอื่นไป ทำไมโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส จักไม่เกิดแต่ฉันเล่า”
พระนางมัลลิกา “ข้าแต่พระมหาราชา ข้อนี้แล ที่พระผู้มีพระภาค ตรัสไว้ว่า โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสย่อมเกิดแต่ของที่รัก เป็นมาแต่ของที่รัก เพคะ ข้าแต่พระมหาราชา ทูลกระหม่อมจะทรงเข้าพระทัยว่า หม่อมฉันเป็นที่รักของทูลกระหม่อมหรือเพคะ? ”
พระเจ้าปเสนทิโกศล “ใช่ มัลลิกา เธอเป็นที่รักของฉัน”
พระนางมัลลิกา “ข้าแต่พระมหาราชา ทูลกระหม่อมจะทรงเข้าพระทัยเช่นไร ถ้าหม่อมฉันแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส จะพึงเกิดแก่ทูลกระหม่อมหรือหาไม่เพคะ?”
พระเจ้าปเสนทิโกศล “ดูกรมัลลิกา แม้ชีวิตของฉันก็พึงเป็นอย่างอื่นไป ทำไม โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส จักไม่เกิดแก่ฉันเล่า”
พระนางมัลลิกา“ ข้าแต่พระมหาราชา ข้อนี้แล ที่พระผู้มีพระภาค ตรัสไว้ว่า โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสย่อมเกิดแต่ของที่รัก เป็นมาแต่ของที่รัก เพคะ? ข้าแต่พระมหาราชา ทูลกระหม่อมจะทรงเข้าพระทัยว่า แคว้นกาสีและแคว้นโกศล เป็นที่รักของทูลกระหม่อมหรือเพคะ?”
พระเจ้าปเสนทิโกศล “ใช่ มัลลิกา แคว้นกาสีและแคว้น โกศลเป็นที่รักของฉัน เพราะอานุภาพแห่งแคว้นกาสีและแคว้นโกศล เราจึงได้ใช้สอยแก่นจันทน์อันเกิดแต่แคว้น กาสี ได้ทัดทรงดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้”
พระนางมัลลิกา “ข้าแต่พระมหาราชา ทูลกระหม่อมจะทรงเข้าพระทัยอย่างไร ถ้าแคว้นกาสีและแคว้นโกศลแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป เช่นอยู่ในเงื้อมมือพระราชาผู้เป็นปฏิปักษ์ทั้งหลาย(ราชศัตรู) โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจะพึงเกิดแก่ทูลกระหม่อมหรือหาไม่ เพคะ?”
พระเจ้าปเสนทิโกศล “ดูกรมัลลิกา แม้ชีวิตของฉันก็พึงเป็นอย่างอื่นไป ทำไม โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส จักไม่เกิดแก่ฉันเล่า”
พระนางมัลลิกา “ข้าแต่พระมหาราชา ข้อนี้แล ที่พระผู้มีพระภาค ตรัสไว้ว่า โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสย่อมเกิดแต่ของที่รัก เป็นมาแต่ของที่รัก เพคะ”
พระเจ้าปเสนทิโกศล “ดูกรมัลลิกา น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา เท่าที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น คงจะทรงเห็นชัด แทงตลอดด้วยพระปัญญา มานี้เถิด มัลลิกา เอาน้ำบ้วนปากมา แล้วช่วยล้างมือให้ทีเถิด”
พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงล้างพระหัตถ์และพระบาท แล้ว ทรงกลั้วพระโอษฐ์แล้วเสด็จลุกขึ้นจากอาสน์ ทรงพระภูษาเฉวียงพระอังสาข้างหนึ่ง ทรงประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ แล้วทรงเปล่งพระอุทาน ขึ้น ๓ ครั้งว่า “นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส” (ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น)
พรรณนาเรื่อง พระเจ้าปเสนทิโกศล ใน ปิยชาติกสูตร โดยพิสดาร เช่นนี้ ด้วยประสงค์ ๓ ประการคือ
๑. เมื่อมีข่าวลือเกิดขึ้น พึงแสวงความจริงแห่งข่าวนั้น และแสดงความจริงนั้นให้ปรากฏแก่สาธารณชน ดังที่พระนางมัลลิกาเทวีได้ทรงปฏิบัติ
๒. การแสดงเหตุผลเพื่อแก้ไขเรื่องข่าวลือ พึงแสดงดังที่พระนางมัลลิกาเทวีทรงแสดงเถิด คือคิดให้รอบคอบ ตรองด้วยเหตุและผลในการนำเสนอ ที่จะทำให้ผู้ฟังได้คิดตามและยอมรับในเหตุผลด้วยตนเอง
๓. พุทธศาสนิกชนควรจะมีความเชื่อและเลื่อมใสในพระพุทธดำรัส อันเป็นพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน ด้วยความมั่นคง เหมือนดังที่พระนางมัลลิกาเทวีทูลพระเจ้า ปเสนทิโกศลว่า “ข้าแต่พระมหาราช ถ้าคำนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสจริง คำนั้นก็เป็นอย่างนั้นเพคะ”
ดังนั้นพุทธศาสนิกชนผู้ได้สดับข่าวลือหรือเรื่องราวใดที่เกี่ยวเนื่องกับบุคคลผู้เป็นที่เคารพของสังคม ควรจะตริตรองหาเหตุผลที่ตรงตามธรรม หรือความจริงจาก บุคคลที่เป็นต้นตอของข่าวลือนั้น จักทำให้เกิดประโยชน์แก่สังคมที่ตนอาศัยอยู่ และสร้างความสามัคคีสมานฉันท์ ให้เกิดในสังคมสืบไป
(โปรดติดตามตอนต่อไปในฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 100 มี.ค. 52 โดยพระพจนารถ ปภาโส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม)
กำลังโหลดความคิดเห็น