xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องจากพระไตรปิฎก : ตำนาน นโม (43) ผู้กล่าวคำว่า “นโม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ความเดิมจากตอนที่แล้ว
เรื่องของธนัญชานีพราหมณี ซึ่งเป็นผู้กล่าวคำว่า “นโม” เป็นลำดับที่ ๕ ปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ ธนัญชาลีสูตรที่ ๑ และในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ สคารวสูตร โดยนางธนัญชานีพราหมณี เป็นผู้นับถือพระพุทธเจ้าเป็นอย่างมาก ทำให้สคารวมาณพ ซึ่งเป็นผู้รู้จบไตรเพทพร้อมคัมภีร์ทั้งปวง ไม่พอใจที่นางนางธนัญชานีพราหมณี กล่าวสรรเสริญนอบน้อมพระพุทธเจ้า จึงอยากพบพระพุทธเจ้า ครั้นเมื่อได้พบแล้วสคารวมาณพจึงได้สนทนาธรรมกัน พระพุทธเจ้าเล่าให้ฟังถึงตอนที่พระองค์เสด็จออกผนวช และแสวงหาครูบาอาจารย์ โดยเริ่มไปที่สำนักของอาฬารดาบสกาลามโคตร

พระพุทธองค์ตรัสกับสคารวมาณพว่า “ครั้งนั้นเราจึงเข้าไปหาอาฬารดาบสกาลามโคตร ได้ถามว่า ท่านกาลามะ ท่านทำธรรมนี้ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเองบรรลุแล้ว ประกาศให้ทราบด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ?เมื่อเราถามอย่างนี้ อาฬารดาบสกาลามโคตรได้ประกาศ อากิญจัญญา ยตนะ เราได้มีความคิดเห็นว่า มิใช่อาฬารดาบสกาลามโคตรเท่านั้นมีศรัทธา มีความเพียร มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา แม้เราก็มีเช่นนั้น ถ้าเราพึงตั้งความเพียร เพื่อจะทำให้แจ้งชัดซึ่งธรรมนั้นเถิด
เราได้ทำธรรมนั้นให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วเข้าถึงอยู่โดยฉับพลันไม่นานเลย เราได้เข้าไปหาอาฬารดาบสกาลามโคตร แล้วถามว่า ท่านกาลามะ ท่านทำธรรมนี้ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุแล้วประกาศให้ทราบด้วยเหตุเพียงเท่านี้หรือหนอ? อาฬารดาบสกาลามโคตรตอบว่า
“อาวุโส เราทำธรรมนี้ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเองบรรลุแล้ว ประกาศให้ทราบด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เราได้กล่าวว่า แม้เราก็ทำธรรมนี้ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว เข้าถึงอยู่ด้วยเหตุเพียงเท่านี้”
อาฬารดาบสกาลามโคตรกล่าวว่า “อาวุโส เป็นลาภของพวกเรา พวกเราได้ดีแล้ว ที่พวกเราพบเพื่อนพรหมจรรย์ ผู้มีอายุเช่นท่าน เรารู้ธรรมใด ท่านก็รู้ธรรมนั้น ท่านรู้ธรรมใด เราก็รู้ธรรมนั้น ดูกรอาวุโส บัดนี้เราทั้งสองจงมาอยู่ช่วยกันบริหารหมู่คณะนี้เถิด อาฬารดาบสกาลามโคตรเป็นอาจารย์ของเรา ได้ตั้งเราผู้เป็นศิษย์ไว้เสมอกับตน และบูชาเราด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เรามีความคิดเห็นว่า ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิท เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อนิพพาน ย่อมเป็นไปเพียงเพื่ออุบัติในอากิญจัญญายตนพรหมเท่านั้น เราไม่พอใจธรรมนั้น เบื่อจากธรรมนั้นหลีกไป
เราเข้าไปหาอุทกดาบสรามบุตรถึงสำนัก ศึกษาธรรมที่อุทกดาบสรามบุตร ได้ประกาศแนวสัญญานาสัญญา ยตนะ ทำธรรมนั้นให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วเข้าถึงอยู่ อุทกดาบสรามบุตรได้ตั้งเราไว้ในฐานะอาจารย์ และบูชาเราด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เรามีความคิดเห็นว่าธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ย่อมเป็นไปเพียง เพื่ออุบัติในเนวสัญญานาสัญญายตนพรหมเท่านั้น เรา จึงไม่พอใจธรรมนั้น เบื่อจากธรรมนั้นหลีกไป
ดูกรภารทวาชะ เราเที่ยวจาริกไปในมคธชนบท จนบรรลุถึงอุรุเวลาเสนานิคม ได้เห็นภูมิภาคน่ารื่นรมย์ มี ไพรสณฑ์น่าเลื่อมใส มีแม่น้ำไหลอยู่ น้ำเย็นจืดสนิท มีท่าน้ำราบเรียบน่ารื่นรมย์ มีโคจรคามโดยรอบ เราจึงนั่งอยู่ ณ ที่นั้นเอง ด้วยคิดว่า สถานที่นี้สมควรเป็นที่ทำความเพียร
ดูกรภารทวาชะ อุปมา ๓ ข้ออันน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ไม่เคยฟังมาในกาลก่อน มาปรากฏกะเราว่า อุปมาข้อที่ ๑ เปรียบเหมือนไม้สด ชุ่มด้วยยาง ทั้งแช่อยู่ในน้ำ ถ้าบุรุษพึงมาด้วยหวังว่า จักเอาไม้นั้นมาสีให้เกิดไฟ จักทำไฟให้ปรากฏ ภารทวาชะท่านจะเข้าใจความเป็นไฉน บุรุษนั้นพึงทำไฟให้ปรากฏได้บ้างหรือ?”
สคารวมาณพกราบทูลว่า“ข้อนี้หามิได้ ท่านพระโคดม เพราะไม้นั้นยังสดชุ่มด้วยยาง ทั้งแช่อยู่ในน้ำ บุรุษนั้นพึงมีส่วนแห่งความเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่าเท่านั้น”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า“ดูกรภารทวาชะ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีกายยังไม่หลีกออกจากกาม ยังมีความพอใจในกาม อันตนยังละไม่ได้ด้วยดี สมณะพราหมณ์เหล่านั้น ถึงหากจะเสวยทุกขเวทนาอันกล้าเผ็ดร้อนเกิดเพราะความเพียรก็ดี หากจะไม่ได้เสวยก็ดี ก็ไม่ควรเพื่อจะรู้ เพื่อจะเห็น ซึ่งปัญญาเครื่องตรัสรู้อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า อุปมาข้อที่ ๑ นี้แลอันน่าอัศจรรย์ยิ่งนักไม่เคยได้ฟังมาในกาลก่อน มาปรากฏกะเรา
อุปมาข้อที่ ๒ เปรียบเหมือนไม้สด ชุ่มด้วยยาง ตั้งอยู่บนบก ไกลน้ำ ถ้าบุรุษพึงมาด้วยหวังว่า จักเอาไม้นั้นมาสีให้เกิดไฟ จักทำไฟให้ปรากฏ ภารทวาชะ บุรุษนั้นจะพึงทำไฟให้ปรากฏได้หรือ?”
สคารวมาณพกราบทูลว่า “ข้อนี้หามิได้ ท่านพระโคดม เพราะไม้นั้นยังสด ชุ่มด้วยยาง ถึงแม้จะตั้งอยู่บนบก ไกลน้ำ บุรุษนั้นก็จะพึงมีส่วนแห่งความเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่าเท่านั้น”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรภารทวาชะ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง แม้มีกายหลีกออกจากกามแล้ว แต่ยังมีความพอใจในกาม อันตนยังละไม่ได้ด้วยดี สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถึงแม้จะได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้าเผ็ดร้อนที่เกิดเพราะความเพียรก็ดี จะไม่ได้เสวยก็ดี ก็ยังไม่ควรเพื่อจะรู้ เพื่อจะเห็น ซึ่งปัญญาเครื่องตรัสรู้อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า อุปมาข้อที่ ๒ นี้แลอันน่าอัศจรรย์ ยิ่งนักไม่เคยได้ฟังมาในกาลก่อน มาปรากฏแก่เรา
ดูกรภารทวาชะ อุปมาข้อที่ ๓ เปรียบเหมือนไม้แห้งเกราะ ทั้งตั้งอยู่บนบก ไกลน้ำ ถ้าบุรุษพึงมาด้วยหวังว่า จะเอาไม้นั้นมาสีไฟ จักให้ไฟเกิด จักทำไฟให้ปรากฏ ภารทวาชะ บุรุษนั้นจะพึงทำไฟให้ปรากฏได้บ้างหรือหนอ?”
สคารวมาณพกราบทูลว่า “อย่างนั้นท่านพระโคดม ข้อนั้น เพราะไม้นั้นแห้งเกราะ ทั้งตั้งอยู่บนบก ไกลน้ำ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรภารทวาชะ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีกายหลีกออกจากกาม ทั้งละความพอใจในกามด้วยดีแล้ว สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถึงแม้จะได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้าเผ็ดร้อนที่เกิดเพราะความเพียรก็ดี ถึงแม้จะไม่ได้เสวยก็ดี ก็สมควรเพื่อจะรู้ เพื่อจะเห็นซึ่งปัญญาเครื่องตรัสรู้อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า อุปมาข้อที่ ๓ นี้แลอันน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ไม่เคยได้ฟังมาในกาลก่อน มาปรากฏกะเรา
ดูกรภารทวาชะ เราได้มีความคิดว่า เราพึงกดฟันด้วย ฟัน กดเพดานด้วยลิ้น ข่มจิตด้วยจิต บีบไว้ให้แน่น เราได้ปฏิบัติอย่างนี้ จนเหงื่อย่อมไหลออกจากรักแร้ทั้งสอง เราก็ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ตั้งสติมั่นไว้ ไม่ฟั่นเฟือน แต่ว่ากายที่ปรารภความเพียรของเรา อันความเพียรที่ทนได้ยากนั้นแล เสียดแทง จึงกระสับกระส่าย ไม่สงบระงับ
ต่อมาเรามีความคิดว่า ถ้ากระไร เราพึงเพ่งฌานอันไม่มีลมปราณเป็นอารมณ์เถิด เราจึงกลั้นลมอัสสาสะ ปัสสาสะ ทั้งทางปากและทางจมูก จนที่สุดก็มีเสียงออกทางช่องหูทั้งสองดังเหลือประมาณ ต่อมาเรากลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู จนลมก็เสียดแทงศีรษะเหลือทน แล้วก็ให้ปวดศีรษะเหลือทน ต่อมาลมก็เสียดแทงพื้นท้องเหลือประมาณ ที่สุดก็มีความร้อนในกายเหลือทน เราก็ปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อน ตั้งสติไว้มั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่กายที่ปรารภความเพียรของเรา อันความเพียรที่ทนได้ยากนั้นแลเสียดแทงจึงกระสับกระส่าย ไม่สงบระงับ
ดูกรภารทวาชะ โอ..เทวดาทั้งหลายเห็นเราแล้วพากันกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมทำกาละแล้ว เทวดาบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมยังไม่ทำกาละ แต่กำลังทำกาละ เทวดาบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณ-โคดม แม้กำลังทำกาละก็หามิได้ พระสมณโคดมเป็นพระอรหันต์ ความอยู่เห็นปานนี้นั้น เป็นวิหารธรรมของพระอรหันต์
ดูกรภารทวาชะ เรานั้นมีความคิดว่า เราพึงปฏิบัติเพื่ออดอาหารโดยประการทั้งปวงเถิด ทันใดนั้น เทวดาเหล่านั้นได้เข้ามาหาเรา แล้วกล่าวว่า ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ ท่านอย่าปฏิบัติเพื่ออดอาหารเลย ถ้าท่านจักปฏิบัติเพื่ออดอาหาร ข้าพเจ้าทั้งหลายจะแทรกทิพโอชาลงตามขุมขนของท่าน ท่านจักได้เยียวยาชีวิตไว้ด้วยทิพโอชานั้นเรานั้นมีความคิดว่า ข้อนั้นพึงเป็นมุสาแก่เรา เราจึงกล่าวว่า อย่าเลย
ดูกรภารทวาชะ เราเริ่มกินอาหารผ่อนลงทีละน้อยๆ คือ วันละฟายมือบ้าง เท่าเยื่อถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ด บัวบ้าง กายเราก็ถึงความซูบผอมลงเหลือเกิน อวัยวะน้อย ใหญ่ของเราเป็นเหมือนเถาวัลย์มีข้อมาก ตะโพกของเราเป็นเหมือนดังเท้าอูฐ กระดูกสันหลังของเราผุดระกะซี่โครงของเราขึ้นนูนเป็นร่อง ดวงตาของเราถล่มลึกเข้าไปในเบ้าตา ผิวศีรษะของเราที่รับสัมผัสอยู่ก็เหี่ยวแห้ง เมื่อเราคิดว่าจักลูบผิวหนังท้อง ก็จับถูกกระดูกสันหลังด้วย ผิวหนังท้องของเรากับกระดูกสันหลังติดถึงกัน เราคิดว่าจักถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ ก็เซซวนล้มลง ณ ที่นั้นเอง เราเมื่อจะให้กายนี้แลสบาย จึงเอาฝ่ามือลูบตัว ขนอันมีรากเน่าก็ร่วงตกจากกาย มนุษย์ทั้งหลายเห็นเราแล้วพากันกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมดำไป บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมไม่ดำเป็นแต่คล้ำไป บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า จะว่าพระสมณโคดมดำไปก็ไม่ใช่ จะว่าคล้ำไปก็ไม่ใช่ เป็นแต่พร้อยไป ผิวพรรณอันบริสุทธิ์ผุดผ่องของเราถูกกำจัดเสียแล้วเพราะความเป็นผู้มีอาหารน้อยนั่นเอง
ดูกรภารทวาชะ เรามีความคิดว่า สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีต ในบัดนี้ และในอนาคต จักได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้า เผ็ดร้อนที่เกิดเพราะความเพียร อย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ ไม่ยิ่งไปกว่านี้ เราก็ไม่ได้บรรลุญาณ ทัศนะอันวิเศษของพระอริยะ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ด้วย ทุกรกิริยาอันเผ็ดร้อนนี้ จะพึงมีทางอื่นเพื่อความตรัสรู้กระมังหนอ เราจำได้ว่า ในงานของท้าวศากยะผู้พระบิดา เรานั่งอยู่ที่ร่มไม้หว้ามีเงาอันเย็น สงัดจากกาม บรรลุปฐมฌานอันมีวิตกวิจาร มีปีติ และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ทางนี้กระมังหนอ จะพึงเป็นทางเพื่อความตรัสรู้ เราได้มีวิญญาณอันแล่นไปตามสติว่า ทางนี้แหละเป็นทางเพื่อความตรัสรู้ เรามีความคิดเห็นว่า เรากลัวต่อสุข อันเว้น จากกาม เว้นจากอกุศลธรรมนั้นหรือ? จึงมีความคิดเห็นว่า เราไม่กลัวต่อสุขอันเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม
ดูกรภารทวาชะ เรานั้นมีความคิดว่า อันบุคคลผู้มีกาย อันถึงความซูบผอมเหลือทนอย่างนี้ จะบรรลุถึงความสุขนั้นไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงกินอาหารหยาบ คือ ข้าวสุก ขนมกุมมาสเถิด เราจึงกินอาหารหยาบ คือ ข้าว สุก ขนมกุมมาส สมัยนั้นภิกษุ (ปัญจวัคคีย์) ๕ รูป บำรุงเราอยู่ด้วยหวังใจว่า พระสมณโคดมจักบรรลุธรรมใด จักบอกธรรมนั้นแก่เราทั้งหลาย แต่เมื่อเรากินอาหารหยาบคือ ข้าวสุกและขนมกุมมาส พวกภิกษุ ๕ รูปนั้น เบื่อหน่ายเราหลีกไปด้วยความเข้าใจว่า พระสมณโคดมเป็นผู้ มักมาก คลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก
ดูกรภารทวาชะ ครั้นเรากินอาหารหยาบมีกำลังดีแล้ว จึงสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌานอันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เรามีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกายเพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข เราบรรลุจตุตถฌานอันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่
เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ เราได้โน้มจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เราย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการพร้อมทั้งอุเทศ นี้เป็นวิชชาข้อที่ ๑ เราได้บรรลุแล้วในปฐมยามแห่งราตรี
เราได้โน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ ทั้งหลาย เราเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทรามได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม นี้เป็นวิชชาข้อที่ ๒ เราบรรลุแล้วในมัชฌิมยามแห่งราตรี
เราได้โน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ได้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุให้เกิดอาสวะ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ เมื่อเรารู้เห็น อย่างนี้ จิตหลุดพ้นแล้วแม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้วกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี นี้เป็นวิชชาข้อที่ ๓ เราบรรลุแล้วในปัจฉิมยามแห่ง ราตรี อวิชชาเรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืดเรากำจัดแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจแน่วแน่อยู่”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สคารวมาณพได้กราบทูลว่า “ความเพียรอันไม่หยุดหย่อนได้มีแล้วแก่ท่านพระโคดมหนอ ความเพียรของสัตบุรุษได้มีแล้วแก่ท่านพระโคดมหนอ สมควรเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ข้าแต่ท่านพระโคดม เทวดามีหรือ?”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ดูกรภารทวาชะ ก็ข้อที่ว่าเทวดามีนั้น รู้ได้โดยฐานะ”
สคารวมาณพ “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า เทวดามีหรือหนอ ดังนี้ ตรัสตอบว่า ดูกรภารทวาชะ ก็ข้อที่ว่าเทวดามีนั้น รู้ได้โดยฐานะ ดังนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้อยคำของพระองค์เป็นถ้อยคำเปล่า เป็นมุสามิใช่หรือ?”
พระพุทธเจ้า “ดูกรภารทวาชะ ผู้ใดเมื่อถูกถามว่า เทวดามีอยู่หรือ พึงกล่าวว่าข้อที่ว่า เทวดามีอยู่เป็นอันรู้กันได้โดยฐานะ ก็เท่ากับกล่าวว่า เรารู้จักเทวดา เมื่อเป็นเช่นนั้น วิญญูชนพึงถึงความตกลงในเรื่องนี้ว่า เทวดามีอยู่ดังนี้ ได้โดยส่วนเดียวแท้”
สคารวมาณพ “ก็ทำไม ท่านพระโคดมจึงไม่ทรงพยากรณ์แก่ข้าพเจ้าเสียด้วยคำแรกเล่า?”
พระพุทธเจ้า “ดูกรภารทวาชะ ข้อที่ว่าเทวดามีอยู่ดังนี้นั้น เขาสมมติกันในโลกด้วยศัพท์อันสูง”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ว่า สคารวมาณพได้กราบทูลว่า“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ข้าพระองค์นี้ ขอถึงท่านพระโคดมกับทั้งพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป”
พรรณนาเรื่อง ธนัญชานีพราหมณี ใน ธนัญชานีสูตร และ สคารวสูตร โดยพิสดารเช่นนี้ ด้วยประสงค์จะให้พุทธศาสนิกชนได้ทราบว่าคำอุทาน ที่ว่า “คุณพระช่วย” น่าจะมีต้นเค้ามาจากธนัญชานีพราหมณี ผู้มีจิตระลึกถึงพระทศพล เป็นพุทธานุสสติอยู่เสมอ เพียงกิริยาเท่านี้ สามารถยังพระอรหันต์ให้เกิดได้ ๑ องค์ และได้อุบาสกผู้มีความรู้เพิ่มอีก ๑ ท่าน ท่านล่ะสามารถทำได้เช่นนางไหมหนอ?

(โปรดติดตามตอนต่อไปในฉบับหน้า)
(จาก ธรรมลีลา ฉบับ 104 กรกฎาคม 52 โดย พระพจนารถ ปภาโส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม)
กำลังโหลดความคิดเห็น