xs
xsm
sm
md
lg

ปกิณกธรรม : ธรรม ๗ ประการ สำหรับผู้ปกครองบ้านเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ เมืองเวสาลี ราชธานีของชนชาววัชชี ได้ตรัสแสดงอปริหานิยธรรม ๗ แก่ กษัตริย์วัชชี หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วัชชีปริหานิยธรรม” คือ ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม เป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียว สำหรับหมู่ชนผู้บริหารบ้านเมือง ได้แก่
๑. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ หมายความว่า คนเราย่อมต้องอยู่รวมกันเป็นหมู่คณะ จากคนกลุ่มเล็กๆ รวมไปถึงกลุ่มใหญ่ คือ ประเทศชาติ ไม่มีใครสามารถอยู่โดด เดี่ยวโดยลำพังตนเองได้ การอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ เป็นประเทศชาติได้นั้น ย่อมต้องมีการติดต่อไปมาหาสู่กัน มีข่าวสารที่ต้องรู้ร่วมกัน และต้องมีการประชุมปรึกษาหารือ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของหมู่ชนนั้น หรือเมื่อมีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งที่ต้องแก้ไขร่วมกัน ก็ต้องอาศัยการประชุมเป็นสำคัญ เพื่อระดมความคิดเห็น เพื่อแก้ไขสถานการณ์และปัญหานั้นๆ ให้ลุล่วงไป
อนึ่ง การประชุมนั้น ผู้เข้าร่วมประชุมต้องแสดงความคิดเห็นอย่างสุจริตและตรงไปตรงมา ตามสถานการณ์ความเป็นจริง ไม่ควรพูดจาเสียดสีผู้อื่น หรือพูดจากระทบกระทั่งผู้อื่น เป็นเหตุให้แตกความสามัคคี หรือทำลายมิตรภาพ และบรรยากาศของการประชุม จนทำให้การประชุมนั้นไม่บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ คือความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริงเพราะฉะนั้น การหมั่นประชุมกันเป็นเนืองนิตย์จึงเป็นที่ตั้งของความเจริญของหมู่ชน และประเทศชาติโดยรวม
๒. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พึงทำ ในข้อนี้พึงเห็นว่า การประชุมนั้นย่อมมีกำหนดเวลาและวาระการประชุมที่แน่นอน ทุกคนควรเข้าประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน ต้องตรงต่อเวลา ไม่ใช่ต่างคนต่างเข้า หรือต่างคนต่างออก ตามใจชอบ จนเกิดการไม่เรียบร้อย ทำให้การประชุมดำเนินไปไม่ได้ตามกำหนดเวลาที่ตั้งไว้ ทำให้เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ เป็นการเสียมรรยาทของผู้เข้าประชุม ฉะนั้นผู้เข้าประชุมต้องรักษามรรยาท และประโยชน์ของส่วนรวมด้วย ไม่ทำอะไรให้เป็นอุปสรรคต่อการประชุม
เมื่อเลิกประชุมก็พร้อมเพรียงกันเลิกนั้น หมายความว่า เมื่อเวลาการประชุมยังดำเนินอยู่ ผู้เข้าประชุมไม่ควรออกจากที่ประชุมตามความพึงพอใจของตน คือพอใจที่จะเข้าประชุมก็จะประชุม ถ้าไม่พอใจจะประชุมก็ออกมาเสียกลางคัน เมื่อเป็นอย่างนี้กันหลายคน การประชุมนั้นก็ดำเนินไปไม่ได้ และถ้าหากการประชุมนั้นต้องการมติของที่ประชุม ว่าต้องมีสมาชิกที่เข้าประชุมเกินกึ่งหนึ่ง จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม มติใดๆ ที่ออกมาจึงต้องปฏิบัติตามมติที่ประชุมนั้น แต่เมื่อนับสมาชิกผู้เข้าประชุมแล้ว ไม่ครบองค์ประชุม การประชุมที่เริ่มต้นมาอย่างดีตั้งแต่ต้นก็เป็นโมฆะ ใช้ไม่ได้ ต้องนัดประชุมกันใหม่ ถ้าเป็นอยู่อย่างนี้ สังคมประเทศก็คงเจริญไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น การพร้อมเพรียงกันเลิกประชุมจึงเป็นเรื่องจำเป็น และนำความซึ่งความเจริญของหมู่คณะ และประเทศชาติอย่างแท้จริง
ประการสุดท้ายของหลักธรรมในข้อนี้ ก็คือ พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พึงกระทำ คือ ที่ประชุมมีมติอย่างไร แล้ว ก็ให้นำไปปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างพร้อมเพรียงกัน และพร้อมเพรียงกันปกป้องเหล่าชนประเทศชาติให้รอดพ้นจากภาววิกฤตต่างๆ อย่าทำตนซ้ำ เติมวิกฤตชาติให้มากไปกว่าที่ได้เป็นอยู่ ก็จะนำประเทศ ชาติก้าวหน้าไปด้วยดี
คำว่า “ความพร้อมเพรียง” ในหลักธรรมที่ได้กล่าวมานี้ ก็คือความสามัคคีนั่นเอง ซึ่งคนเราคุ้นและเข้าใจกันดีอยู่แล้ว ถ้าคนเราสามัคคีกันได้ ก็จะสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่หมู่ชนประเทศชาติได้อย่างไม่ต้องสงสัย ดังพุทธภาษิตที่ว่า
สพฺเพสํ สงฺฆภูตานํ สามคฺคี วุฑฒิสาธิกา>/b>
ความพร้อมเพรียงของหมู่ชนทั้งปวง ย่อมยังความเจริญให้สำเร็จ
๓. ไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้ ถือปฏิบัติมั่นในวัชชีธรรม ตามที่ได้วางไว้แต่เดิม
ข้อนี้หมายความว่า ไม่บัญญัติสิ่งที่ขัดต่อหลักการเดิม ของวัชชีธรรม และไม่ล้มล้างหลักการเดิมที่ได้บัญญัติไว้ ถือปฏิบัติตามหลักการของวัชชีธรรม เพราะการบัญญัติสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมาขัดแย้งต่อหลักการเดิมซึ่งดีอยู่แล้วนั้น ย่อมทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมได้ และถ้าหลักการที่ดีต้องล้มเลิกไป ซึ่งเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง เมื่อหลักการเดิมดีอยู่แล้วก็ถือปฏิบัติสืบไป ซึ่งบางครั้งการปฏิบัติเช่นนั้นดูจะเป็นการล้าสมัย คร่ำครึ โบราณ งุ่มง่าม อะไรทำนองนั้น แต่ทว่าในความล้าสมัย เป็นต้น ก็เป็นการรักษาวัฒนธรรม จริยธรรมของสังคมไว้ได้ อย่ามองเห็นความทันสมัยเป็นเรื่องเจริญโดยฝ่ายเดียว
๔. ท่านเหล่าใดที่เป็นผู้ใหญ่ในชนชาววัชชี เคารพนับถือท่านเหล่านั้น เห็นถ้อยคำของท่านเป็นสิ่งควร รับฟัง
ข้อนี้หมายถึง การให้ความเคารพนับถือผู้หลักผู้ใหญ่ในหมู่ชนหรือประเทศ ซึ่งท่านเหล่านี้เป็นคนดี มีคุณวุฒิ วัยวุฒิ มีประสบการณ์ในชีวิตมากมาย คำพูดของท่านจึงเป็นเรื่องที่ต้องรับฟัง และนำมาประยุกต์ใช้ใน การดำเนินชีวิต หรือการบริหารกิจการต่างๆ อย่ามองว่า ท่านเหล่านั้นแก่แล้วแก่เลย หาประโยชน์อะไรไม่ได้
๕. บรรดากุลสตรีกุมารีทั้งหลาย ให้อยู่ดีโดยมิถูกข่มขืนใจ ถูกข่มเหง
ในข้อนี้จะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้า ทรงบัญญัติไว้ในศีลข้อ ๓ ที่ห้ามล่วงละเมิดสตรีแล้วก็ตาม ในหลักแห่ง อปริหานิยธรรมของวัชชี พระองค์ทรงบัญญัติซ้ำเตือนให้คนเคารพสิทธิของสตรีอันใครๆไม่ควรกระทำย่ำยี ข่มขืนใจ หรือข่มเหงรังแก สังคมใดที่สตรีถูกล่วงละเมิด ย่อมแสดงให้เห็นถึงความเสื่อมของสังคมนั้นอย่างชัดเจน
๖. เคารพสักการบูชาเจดีย์ (ปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุ และอนุสาวรีย์ต่างๆ)ของวัชชีทั้งหลาย ทั้งภายในภาย นอก ไม่ควรทำให้พลีกรรมที่เคยทำแก่เจดีย์เหล่านั้น เสื่อมทรามไป
๗. จัดให้อารักขาคุ้มครองป้องกัน อันชอบธรรมแก่ พระอรหันต์ทั้งหลาย ตั้งใจว่า ขอพระอรหันต์ทั้งหลายที่มิได้มา พึงมาสู่แว่นแคว้น พึงมาแล้วพึงอยู่ในแว่นแคว้นโดยผาสุก
ในข้อนี้ผู้บริหารบ้านเมืองควรจะปฏิบัติไม่เฉพาะแต่พระอรหันต์ทั้งหลายเท่านั้น แม้แต่ผู้เผยแผ่ศาสนาต่างๆ ก็ควรได้รับการคุ้มครองป้องกัน และสนับสนุนให้มีการขยายศาสนธรรมคำสอน ตามสมควรแก่สถานะของศาสนานั้นๆ
อปริหานิยธรรมตามที่กล่าวมาแล้ว ย่อมยังความเจริญให้แก่หมู่ชน และประเทศชาติอย่างแท้จริง ถ้าคนในสังคมนั้นยังยึดมั่นปฏิบัติตามหลักธรรมเหล่านี้อย่างจริงจัง
เพราะเคยมีตัวอย่างมาแล้วว่า แม้กษัตริย์วัชชีเอง ที่เคยประพฤติปฏิบัติตามหลักอปริหานิยธรรมอย่างเคร่งครัด แต่ภายหลังก็ถูกวัสสการพราหมณ์ ใช้อุบายเข้าไปยุยง จนกษัตริย์วัชชีเกิดความแตกแยกกัน การประชุมเป็นต้น ไม่มีความพร้อมเพรียงกัน ไม่มีใครเอาใจใส่ในกิจการของรัฐ กระทั่งพระเจ้าอชาตศัตรูยกกองทัพมายึดพระนครเวสาลี ก็ไม่มีใครออกมาต่อต้าน เพราะถือว่าไม่ใช่ธุระของตน
ในที่สุดแคว้นวัชชีก็ตกเป็นเมืองขึ้นของพระเจ้าอชาตศัตรู ราชาแห่งแว้นมคธอย่างง่ายดาย!!

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 102 พ.ค. 52 โดยธมฺมจรถ)
กำลังโหลดความคิดเห็น