xs
xsm
sm
md
lg

ปกิณกธรรม : 10 สุดยอดสตรีในพุทธศาสนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วันที่ ๘ มีนาคมนี้ เป็นวันสตรีสากลของโลก สิ่งหนึ่งอันเป็นวันสำคัญนี้ ก็คือ ทำให้คนเรานึกถึงบทบาทของสตรีที่มีต่อสังคมโลก ไม่ว่าสตรีเหล่านั้นจะอยู่ในส่วนไหนของโลก คอลัมน์นี้จึงถือโอกาสนำชีวประวัติของสตรีที่มีบทบาทสำคัญในพระพุทธศาสนา และในสังคมครั้งพุทธกาล ๑๐ คน ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงยกย่องให้เป็นเลิศในด้านต่างๆ มานำเสนอท่านผู้อ่าน โดยสังเขป ดังนี้

๑. นางสุชาดา เป็นธิดาของเสนิยกฎมพี ในหมู่บ้านเสนานิคม ตำบลอุรุเวลา เมื่อย่างเข้าสู่วัยสาว นางได้ทำพิธีบวงสรวงต่อเทพยดาที่สิงสถิตอยู่ ณ ต้นไทรใหญ่ใกล้บ้าน โดยตั้งความปรารถนาไว้สองประการ คือ ขอให้นางได้แต่งงานกับชายที่มีบุญ และมีทรัพย์สินเสมอกัน และขอให้นางมีบุตรคนแรกเป็นชาย
ความปรารถนาของนางสำเร็จดังที่ตั้งใจไว้ และนางได้ทำพิธีบวงสรวงเทพยดา เมื่อบุตรชายของนางแต่งงานแล้ว โดยนำข้าวมธุปายาสใส่ถาดทองคำ ไปบวงสรวง เทพยดา ณ ต้นไทรที่นางเคยบนบานไว้ ซึ่งนางได้พบพระสิทธัตถะ โพธิสัตว์ประทับนั่งอยู่ที่นั่น มีรัศมีเปล่งปลั่ง น่าเลื่อมใส นางเข้าใจว่าเป็นเทพยดา จึงน้อมถาดทองคำที่ใส่ข้าวมธุปายาสเข้าไปถวาย พระโพธิสัตว์รับถาดทองคำนั้นไว้ เมื่อนางถวายถาดทองคำแล้วก็เลี่ยงออกไป โดยไม่เสียดายถาดทองคำอันมีค่าเลย พระโพธิสัตว์เสวยข้าวมธุปายาสแล้ว ก็ลอยถาดทองคำลงในแม่น้ำเนรัญชรา วันนั้น เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เป็นวันแห่งการตรัสรู้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ในกาลต่อมา “ยสะ” ซึ่งเป็นบุตรชายของนางสุชาดา ได้พบพระพุทธเจ้าที่ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ได้ฟังธรรมจากพระศาสดาและได้บรรลุเป็นโสดาบันและได้บรรลุอรหัตผล เมื่อได้ฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่บิดาของตน แล้วทูลขออุปสมบทเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา บิดาของท่านได้เป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยคนแรก ส่วนมารดา คือนางสุชาดา พร้อมทั้งภรรยาเก่าของท่านยสะ เมื่อได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ก็ได้ถึงพระรัตนตรัย เป็นอุบาสิกาคู่แรกในพระพุทธศาสนา
นางสุชาดาได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า เป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลาย ในฝ่ายผู้ถึงพระรัตนตรัยก่อนอุบาสิกาทั้งปวง

๒. นางวิสาขา มหาอุบาสิกา เกิดในตระกูลเศรษฐี ในเมืองภัททิยะ แคว้นอังคะ เป็นธิดาของธนญชัย และนางสุมนาเทวี ขณะอายุได้ ๗ ขวบ ได้ฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่เมณฑกเศรษฐี ผู้เป็นปู่ ก็ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน ต่อมาได้ย้ายครอบครัวไปอยู่เมืองสาวัตถี ตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าปเสนทิโกศล ที่ประสงค์จะมีตระกูลมหาเศรษฐีอยู่ในเมืองของพระองค์
นางวิสาขาได้มีบทบาทสำคัญในพระพุทธศาสนา ได้สร้างวัดบุพพารามในนครสาวัตถี เป็นโลหประสาท ๒ ชั้น มีห้องพักสำหรับพระภิกษุ ๕๐๐ รูป นางวิสาขาถวายความอุปถัมภ์แก่พระพุทธเจ้าและพระสาวกมิได้ว่างเว้น และเมื่อเกิดการไต่สวนเกี่ยวกับนางภิกษุณีในความไม่สมควรที่เกิดขึ้น ก็จะมีนางวิสาขาเป็นกรรมการด้วยผู้หนึ่งเสมอมา และนางได้ทำให้ตระกูลของพ่อผัวเป็นสัมมามิฐิ จนนางได้รับการยกย่องจากพ่อผัวให้เป็นมารดาทางธรรม มีชื่อว่า “วิสาขามิคารมาตา” เป็นต้น
นางวิสาขาได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า เป็นเลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในฝ่ายผู้เป็นทายิกา (ผู้ถวายทาน)

๓. นางขุชชุตตรา เป็นสาวพิการหลังค่อม เป็นลูกสาวของหญิงแม่นมในเรือนของโฆสกเศรษฐีในกรุงโกสัมพี ต่อมาโฆสกเศรษฐีได้รับนางสามาวดีไว้ในฐานะธิดาของตนแล้ว ได้มอบหญิง ๕๐๐ คน ซึ่งมีนางขุชชุตตราอยู่ในจำนวนนี้ด้วย เป็นบริวารของนางสามาวดี ต่อมานางสามาวดี ได้รับการอภิเษกเป็นพระมเหสีของพระเจ้าอุเทนแห่งนครโกสัมพี หญิงบริวารเหล่านี้ก็ได้ติดตามไปรับใช้พระนางสามาวดีในพระราชนิเวศน์ด้วย ต่อมานางขุชชุตตราได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วบรรลุโสดาปัตติผล และนางได้แสดงธรรมแก่พระนางสามาวดี และหญิงบริวารทั้งหมด จนได้บรรลุโสดาบันพร้อมกัน นางจึงเป็นทั้งมารดาและอาจารย์ของพระนางสามาวดีและหญิงบริวาร โดยมีหน้าที่ ไปฟังธรรมจากพระบรมศาสดา แล้วมาแสดงแก่คนเหล่านั้น จนนางเป็นผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก
นางขุชชุตตราได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในฝ่ายผู้แสดงธรรม

๔. พระนางสามาวดี เป็นธิดาของเศรษฐีนามว่า ภัททวคีย์ แห่งเมือง ภัททวคีย์ เดิมชื่อสามา บิดาของนางเป็นสหายกับโฆสกเศรษฐีแห่งนครโกสัมพี ต่อมาเกิดโรคระบาดในเมืองภัททวคีย์ เศรษฐีต้องพา ภรรยาและลูกสาวหนีภัยไปนครโกสัมพี แต่เมื่อเดินทางไปถึงนครโกสัมพี ไม่ทันได้พบกับโฆสกเศรษฐีผู้เป็นสหาย ก็ได้เสียชีวิตพร้อมกับภรรยา ทิ้งให้นางสามาวดี อยู่แต่ลำพัง ต่อมาโฆสกเศรษฐีทราบเรื่องจึงรับนางสามาวดีเป็นลูกบุญธรรม ตั้งไว้ตำแหน่งแห่งธิดา และต่อมาได้อภิเษกกับพระเจ้าอุเทนแห่งนครโกสัมพี
พระนางสามาวดีได้ฟังธรรมจากนางขุชชุตตราจนบรรลุเป็นพระโสดาบัน ภายหลังพระเจ้าอุเทนเชื่อคำยุยงของพระนางมาคันทิยา ซึ่งไม่พอใจที่พระนางสามาวดี ฝักใฝ่ในพระพุทธศาสนา พระเจ้าอุเทนจึงให้นางสามาวดีและหญิงบริวารยืนเรียงแถวกันแล้วยิงด้วยธนู แต่พระนางสามาวดีและหญิงบริวารทั้งหมด แผ่เมตตาแก่พระเจ้าอุเทน ธนูที่ยิงไปจึงมิได้ทำอันตราย แต่ได้หวนกลับมาตกลงตรงเบื้องพระพักตร์ พระเจ้าอุเทนรูสึกสำนึกผิดจึงขอโทษพระนางสามาวดี ซึ่งนางไม่ได้โกรธเคืองแต่อย่างใด โดยบอกเพียงว่าให้มีพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งเถิด อย่ายึดถือเอาพระนางเป็นที่พึ่งเลย
ในเวลาต่อมา พระนางสามาวดีก็ถูกพระนางมาคันทิยา ใช้ให้คนลอบไปเผาปราสาท พระนางสามาวดีและหญิงบริวารถูกไฟคลอกเสียชีวิตทั้งหมด พระเจ้า อุเทนทรงทราบเรื่องจึงสั่งให้ประหารพระนางมาคันทิยาและเหล่าญาติจนหมดสิ้น
พระนางสามาวดีได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในฝ่ายผู้อยู่ด้วยเมตตา

๕. นางอุตตรานันทมารดา เป็นลูกสาวจของนายปุณณะ ซึ่งเป็นคนรับใช้ในเรือนของสุมนเศรษฐี ในกรุงราชคฤห์ เป็นคนขยันทำงาน ได้ถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระสารีบุตร ผู้ออกจากนิโรธสมบัติ เขาจึงได้กลายเป็นเศรษฐีในวันนั้น ต่อมานางอุตตรานันทมารดาได้สมรสกับลูกชายของราชคฤห์เศรษฐี แต่เพราะนางเป็นโสดาบัน ต้องอธิษฐานอุโบสถเดือนละ ๘ วัน จึงว่าจ้างนางสิริมา หญิงงามเมืองมาบำรุงบำเรอสามีแทนตน ส่วนตนและหญิง บริวารก็จัดหาของเคี้ยวของฉัน เพื่อถวายพระพุทธเจ้าและพระสาวก ฝ่ายนางสิริมา และสามีของนางยืนดูอยู่ที่หน้าต่างด้วยความไม่พอใจ จึงใช้น้ำมันร้อนๆ เทราดไปบนศีรษะของนางอุตตรา ซึ่งนางอุตตราเองก็ระวังตัวจึงเข้าฌานอยู่ น้ำมันร้อนๆ จึงไม่ทำอันตรายใดๆ ได้เลย นางสิริมาได้ระลึกถึงความผิดของตน จึงกราบแทบเท้านางอุตตราเพื่อขอโทษ ต่อมานางสิริมาได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า และได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล
ด้วยเหตุที่นางอุตตราเป็นผู้เชี่ยวชาญในการเข้าฌาน พระบรมศาสดาจึงยกย่องว่า เป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในการเพ่งฌาน หรือผู้เข้าฌาน

๖. พระนางสุปปวาสา เป็นธิดาของกษัตริย์นครโกสิยะ ทรงเจริญวัยแล้วได้อภิเษกสมรสกับศากยกุมารองค์หนึ่ง จากนั้นพระนางก็ตั้งครรภ์นาน ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน จึงประสูติโอรส นามว่าสีวลี พระนางได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดา ครั้งแรกได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์จบแล้วก็บรรลุเป็นพระอริยบุคคลชั้นพระโสดาบัน ต่อมาพระนางได้ถวายภัตตาหารแก่พระพุทธเจ้า และพระอริยสาวกอย่างสม่ำเสมอ
พระนางได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในฝ่ายผู้ถวายของอันมีรสอันประณีต

๗. นางสุปปิยา เกิดในตระกูลหนึ่งในกรุงพาราณสี เมื่อเจริญวัยแล้วได้แต่งงานกับชายผู้มีฐานะเสมอกัน นางมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้วบรรลุเป็นพระโสดาบัน วันหนึ่งไปฟังธรรมที่วัด ก่อนกลับบ้านพบพระสงฆ์อาพาธรูปหนึ่ง จึงถามว่าพระคุณเจ้าต้องการสิ่งใด พระรูปนั้นก็ตอบว่า อาตมาต้องการอาหารที่มีเนื้อ
วันรุ่งขึ้น นางใช้ให้ทาสีไปหาซื้อเนื้อในตลาด แต่ก็หาซื้อไม่ได้ จึงเฉือนเนื้อที่ขาของตน แล้วให้นำไปปรุงเป็นอาหารถวายพระรูปนั้น พระพุทธเจ้าทรงทราบว่า นางสุปปิยาป่วย จึงเสด็จมาพร้อมกับพระสงฆ์เพื่อเยี่ยมไข้นาง เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถามถึงนาง นางจึงลุกขึ้นจากที่นอน อาการเจ็บปวดก็หายไปเป็นปลิดทิ้ง บาดแผลหายสนิทเป็นปกติทุกประการ นางได้กราบทูลถึงเรื่องราวที่ตนกระทำไปทั้ง หมดให้พระพุทธองค์ได้ทรงทราบ พระองค์จึงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุฉันเนื้อมนุษย์
พระพุทธองค์ทรงยกย่องนางสุปปิยาว่า เป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในฝ่ายผู้อุปัฏฐากภิกษุอาพาธ

๘. นางกาติยานี เกิดในกุกรรฆรนคร มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาตั้งแต่เยาว์วัย มีหญิงสหายคนหนึ่งชื่อนางกาฬี ในราตรีหนึ่งขณะที่พระโกฆิกัณณโสณเถระ กำลังแสดงธรรมโปรดมารดา จนได้บรรลุธรรมโสดาปัตติผลถึงพระอรหัตมรรค โดยนางกาติยานี และนางกาฬีผู้สหายก็ได้ร่วมฟังธรรมอยู่ด้วย
คืนนั้นโจรประมาณ ๙๐๐ คน ขุดอุโมงค์จากมุมหนึ่งของเมืองไปโผล่ที่บ้านของนางกาติยานี ส่วนหัวหน้าโจรทำทีเข้าไปฟังธรรม เพื่อต้องการทราบว่าคนเหล่านั้นประชุมกันด้วยเรื่องอะไร ได้ยินนางทาสีบอกนางกาติยานีว่า มีโจรเข้าบ้าน มาขโมยของ แต่นางกลับบอกว่าอย่าไปสนใจ โจรอยากได้อะไรก็ให้เขาขนไป เราจะฟังธรรม หัวหน้าโจรได้ยินดังนั้นเกิดอาการเลื่อมใส จึงสั่งให้ลูกน้องคืนสิ่งของที่ขโมยไปคืนแก่นางกาติยานีทั้งหมด และขอให้นางช่วยให้ตนได้บวชในสำนักของ พระโกฆิกัณณโสณเถระด้วย ซึ่งนางก็จัดการให้ตามประสงค์ และทั้งหมดก็ได้บวชจนบรรลุพระอรหัตผล ส่วนนางฟังธรรมแล้วบรรลุพระโสดาบัน
พระบรมศาสดาทรงยกย่องนางกาติยานีว่า เป็นเลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในฝ่ายผู้เลื่อมใสมั่นคง

๙. นางนกุลมารดาคหปตนี เกิดในตระกูลเศรษฐีในเมืองสุงสุมารคีรี แคว้นภัคคะ เมื่อเจริญวัยได้แต่งงานอยู่ครองเรือนตามฆราวาสวิิสัย เมื่อบิดามารดาเสียชีวิตแล้วก็ครอบครองสมบัติสืบไป ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปสู่นครสุงสุมารคีรี ประทับในเภสกลาวัน นกุลเศรษฐีและภริยาพร้อมชาวเมืองสุงสุมารคีรีเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และได้เรียกพระพุทธเจ้าว่าเป็นบุตรของตน พระพุทธเจ้าทรงยกเรื่องในอดีตชาติมาตรัสแก่พุทธบริษัทว่า ทั้งสองสามีภริยานี้เคยเป็นบิดามารดาของพระองค์มา ๕๐๐ ชาติ เป็นต้น จึงทำให้ชาวเมืองคลายความสนเท่ห์จนหมดสิ้น
พระบรมศาสดาทรงยกย่องนางนกุลมารดาคหปตนี ให้เป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในฝ่ายผู้มีความคุ้นเคยในพระศาสดา

๑๐. นางกาฬีกุกรรฆริกา เกิดในเมืองราชคฤห์ มีสามีอยู่ในกรุงกุรรฆรนคร ต่อมานางได้ตั้งครรภ์ และกลับยังเรือนของบิดามารดาใน กรุงราชคฤห์ คืนหนึ่งได้ยินพวกยักษ์ที่ยืนอยู่ในอากาศเหนือปราสาทของตน สรรเสริญคุณพระรัตนตรัยแล้วเกิดศรัทธาเลื่อมใส ได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล โดยยังมิได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดา และนางได้คลอดบุตรโดยสวัสดิภาพ
พระบรมศาสดาจึงยกย่องนางกาฬีกุกรรฆริกาว่า เป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในฝ่ายผู้ได้ความเลื่อมใสตามเขา คือ เลื่อมใสโดยฟังตามคนอื่น

สตรีทั้ง ๑๐ คนนี้ นับว่ามีบทบาทสำคัญในพระพุทธศาสนาที่ไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะเป็นรากเหง้าแห่งความเจริญของพระพุทธศาสนาสืบๆต่อกันมาจนทุกวันนี้

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 100 มี.ค. 52 โดยธมฺมจรถ)
กำลังโหลดความคิดเห็น