xs
xsm
sm
md
lg

อสีติมหาสาวก : ตอนที่ ๕๒ กลุ่มพระชาวแคว้นสักกะ (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

งานสำคัญ (ต่อ)
พระอุบาลี มีกล่าวไว้แน่ชัดว่าท่านได้มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาและรักษาพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ ดังได้กล่าวไว้แล้วว่า ท่านศึกษาพระพุทธพจน์ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้าตลอดเวลา จนกระทั่งบรรลุอรหัตผล ท่านมีความชำนาญเป็นพิเศษในพระวินัย และมีผลงานที่เกี่ยวกับความชำนาญของท่านที่ควรนำมากล่าวถึง 3 ประการคือ
๑. การวินิจฉัยอธิกรณ์ พระพุทธเจ้าทรงมอบหมายให้ท่านวินิจฉัยอธิกรณ์ (ตัดสินคดี) ๓ เรื่อง คือ เรื่องของพระภารุกัจฉกะ ๑ เรื่องของพระอัชชุกะ ๑ เรื่องของภิกษุณีมารดาของพระกุมารกัสสปะ ๑
๒. การวิสัชนาพระวินัยในคราวทำปฐมสังคายนา คราวที่พระมหากัสสปะได้เสนอให้มีการทำปฐมสังคายนาขึ้น หลังพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ ๓ เดือนนั้น ที่ประชุมสงฆ์ได้มีมติคัดเลือกพระอุบาลีให้ทำหน้าที่วิสัชนาพระวินัย ซึ่งท่านเองก็รับหน้าที่นั้นโดยรวบรวมพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ในที่ต่างๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ มาจัดไว้เป็นหมวดหมู่จนปรากฏเป็น “พระวินัยปิฎก” ให้เราได้ศึกษามาจนถึงทุกวันนี้
๓. การสร้างผู้สืบต่อ ในครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้า ทรงมอบหมายให้พระสาวกผู้ใหญ่อย่างเช่น พระมหากัสสปะ พระมหากัจจายนะ พระมหาโกฏฐิตะ พระมหากัปปินะ พระมหาจุนทะ พระเรวตะ พระอานนท์ และพระมหาสาวกรูปอื่นๆ เป็นหัวหน้าของหมู่คณะอบรมสั่งสอนสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิก ซึ่งปรากฏว่าพระสาวกผู้ใหญ่แต่ละท่านต่างก็มีพระเป็นศิษย์ท่านละหลายสิบ หรือหลายร้อยรูป
พระอุบาลีก็เช่นกัน ท่านได้สอนพระวินัยให้บรรดา สัทธิวิหาริกของท่านทรงจำสืบต่อมาจนเป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ที่เห็นได้ชัด คือ ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ สำเร็จลงได้โดยการนำของพระโมคคลีบุตรติสสเถระ พระเถระรูปนี้เมื่อศึกษาดูแล้วพบว่า ท่านเป็นสัทธิวิหาริกของพระสิคควะ พระสิคควะเป็นสัทธิวิหาริกของพระโสณกะ พระโสณกะเป็นสัทธิวิหาริกของพระทาสกะ และพระทาสกะเป็นสัทธิวิหาริกของพระอุบาลี ได้รับการถ่ายทอดพระวินัยมาโดยตรงจากพระอุปัชฌาย์
การที่พระพุทธศาสนาคงอยู่ได้จนตราบเท่าทุกวันนี้ นับได้ว่า พระอุบาลีมีบทบาทสำคัญอย่างมาก ทั้งท่านได้ทำเองและอบรมสั่งสอนศิษย์ให้รับภาระสืบทอดสายพระวินัย จนได้มาทำหน้าที่สำคัญอันเป็นการรักษาพระพุทธศาสนา คือ การสังคายนา
พระอนุรุทธะ มีกล่าว ไว้แน่ชัดว่าท่านได้มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยพระพุทธเจ้าเผยแผ่พระพุทธศาสนา ท่านเป็นพระที่เทวดาเคารพ เนื่องจากได้ทิพจักขุ (ตาทิพย์) มีการติดต่อเทวดาอยู่เนืองๆ ท่านได้เป็นอาจารย์ของหมู่คณะ มีสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกับพระมหาสาวกรูปอื่นๆ ท่านมีบทบาทสำคัญในการช่วยรักษาพระพุทธศาสนาให้คงอยู่เช่นเดียวกับพระอุบาลี โดยได้ร่วมกันทำสังคายนาครั้งที่ ๑ และในการทำสังคายนาครั้งที่ ๒ ซึ่งเกิดขึ้นหลังทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ประมาณ ๑๐๐ ปีเศษ ก็มีศิษย์ที่สืบ สายมากจากท่านเข้าร่วมด้วย ดังที่ปรากฏชื่อมีอยู่ ๒ รูป คือ พระวาสภคามี กับพระสุมนะ ท่านมีวัตรปฏิบัติที่นักเผยแผ่ธรรมะรุ่นหลังน่าศึกษา คือ ความมักน้อย
เรื่องมีอยู่ว่าขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดเวฬุวัน ท่านได้แสวงหาผ้าบังสุกุล(ผ้าเปื้อนฝุ่น) ตามกองขยะมาทำจีวร เนื่องจากจีวรที่ใช้อยู่ประจำนั้นขาดแล้ว เทพธิดาแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นางหนึ่งชื่อ “ชาลีนี” เห็นท่านแล้วเกิดความเลื่อมใส จึงนำผ้าทิพย์มาทอดเป็นผ้าบังสุกุลไว้ที่กองขยะที่พระเถระกำลังมุ่งหน้าไปแสวงหา ครั้นได้ผ้าครบตามต้องการแล้ว พระเถระได้เริ่มทำพิธีเย็บจีวร ซึ่งปรากฏว่าการเย็บจีวรของท่านครั้งนั้นเป็นงานใหญ่มาก พระพุทธเจ้าทรงพาพระมหาสาวกรูปอื่นๆ อาทิ พระ มหากัสสปะ พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ และพระอานนท์มาช่วย พร้อมด้วยพระตามเสด็จอีก ๕๐๐ รูป
ในการเย็บจีวรนั้น พระมหากัสสปะนั่งอยู่ช่วงต้นพระสารีบุตรนั่งอยู่ช่วงกลาง และพระอานนท์นั่งอยู่ช่วงปลาย พระสาวกที่เหลือช่วยกันกรอด้าย ฝ่ายพระพุทธเจ้า ทรงช่วยสนเข็ม สำหรับพระมหาโมคคัลลานะทำหน้าที่บอกบุญนำภัตตาหารมาถวายพระพุทธเจ้าและพระสาวกจากตระกูลอุปัฏฐาก การเย็บจีวรให้ท่านเสร็จเรียบร้อยในวันนั้นเอง
เทพธิดาชาลินีนางนี้แหละคราวที่พระเถระจำพรรษาอยู่ในป่าแห่งหนึ่งในแคว้นโกศล ได้มาหาท่านและนิมนต์ให้ท่านตั้งจิตปรารถนาไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยนางได้อ้างถึงความสวยงามของสวนนันทวัน ให้พระเถระฟัง ท่านได้ตอบไปว่าท่านไม่มีโอกาสได้เกิดในหมู่เทวดาอีกแล้ว เนื่องจากทำลายการเวียนว่ายตายเกิดได้หมดสิ้น
การที่นางเทพธิดากล้ากล่าวเช่นนั้นแก่ท่านก็เพราะว่า ใน ๓ ชาติที่แล้ว นางได้เกิดเป็นภรรยาของท่านในสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์นั้นเอง นางจำท่านได้และความรักอาลัยยังมีอยู่ จึงกล่าวไปตามความรู้สึก โดยหารู้ไม่ว่า บัดนี้ท่านได้บรรลุอรหัตผลแล้ว ธรรมกถาเรื่อง “เจโตวิมุติ” (เจโตวิมุตติ) ของท่านนับว่าเป็นธรรมถาที่สำคัญมากเรื่องหนึ่ง ที่ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับความหลุดพ้นจากกิเลสด้วยอำนาจสมาธิ พระไตรปิฎกบันทึกเรื่องนี้ไว้ว่า
ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ เชตวนาราม เมืองสาวัตถีนั้น พระอนุรุทธะได้ตามเสด็จไปด้วย วันหนึ่งหัวหน้าช่างไม้คนหนึ่งชื่อ “ปัญจังคะ” ส่งคนให้มานิมนต์พระเถระไปฉันภัตตาหารที่บ้านพร้อมด้วยพระรูปอื่นอีก ๓ รูป หลังจากฉันภัตตาหารแล้ว ช่างไม้ได้สนทนากับท่านดังนี้
ช่างไม้ : เจโตวิมุติอันไม่มีประมาณ กับเจโตวิมุติอันมีอารมณ์ใหญ่ ต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร
พระเถระ : แล้วท่านเข้าใจว่าอย่างไร
ช่างไม้ : โยมเข้าใจว่า วิมุติทั้ง ๒ นี้ มีความหมายเหมือนกัน ต่างกันเฉพาะตัวหนังสือเท่านั้น
พระเถระ : เจโตวิมุติทั้ง ๒ นี้ต่างกันทั้งความหมายและตัวหนังสือ เจโตวิมุติอันไม่มีประมาณ คือ ภิกษุแผ่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ไปตลอดทั้งโลก แล้วมีจิตเพียบพร้อมด้วยพรหมวิหารธรรมอยู่อย่างไม่มีประมาณ คือ ไม่มีขอบเขตจำกัดในผู้ใดผู้หนึ่งในที่ใดที่หนึ่ง แผ่ไปอย่างไพบูลย์กว้างขวาง ทั้งในสัตว์ทุกประเภทและในโลกทั้งปวง เจโตวิมุติอันมีอารมณ์ใหญ่ คือ ภิกษุแผ่นิมิตกสิณไปครอบโคนต้นไม้ ๑ ต้นบ้าง ๒ ต้นบ้าง ๓ ต้นบ้าง จากนั้นแผ่ขยายไปครอบเขต ๑ เขตบ้าง ๒ เขตบ้าง ๓ เขตบ้าง จากนั้นก็แผ่ขยายออกไปครอบคลุมประเทศ ๑ บ้าง ๒ ประเทศบ้าง ๓ ประเทศบ้าง จนกระทั่งแผ่ขยายไปครอบคลุมถึงแผ่นดิน คือโลกที่มีมหาสมุทรเป็นที่สุด แล้วนึกอยู่ในใจว่าใหญ่ๆ

ช่างไม้ได้ฟังพระเถระตอบแล้วก็เข้าใจความหมายของเจโตวิมุติทั้ง ๒ ได้ดี ซึ่งนับได้ว่างานเผยแผ่พระพุทธศาสนาของท่านประสบผลสำเร็จ

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 100 มี.ค. 52 โดย ผศ.ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ)
กำลังโหลดความคิดเห็น