xs
xsm
sm
md
lg

อสีติ มหาสาวก ; ตอนที่ ๔๗ กลุ่มพระชาวแคว้นสักกะ (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การบรรลุธรรม(ต่อ)
พระภัททิยะ ได้บรรลุอรหัตผลในปีที่บวชนั้นเอง โดยเมื่อบวชและได้ฟังพระพุทธเจ้าสั่งสอนแล้ว ท่านก็ปลีกตนจากหมู่คณะ เข้าอยู่ป่าตามลำพังตั้งมั่นอยู่ในศีล อบรมจิตและปัญญาจนเกิดความรู้แจ้ง ได้บรรลุอรหัตผลสมตามที่ปรารถนา
พระอนุรุทธะ ในพรรษาที่บวชนั้นเองก็ได้ทิพจักขุญาณ (ความรู้ที่ทำให้เกิดตาทิพย์) จากนั้นท่านก็ได้เรียนกรรมฐาน จากพระสารีบุตร แล้วลาไปบำเพ็ญสมณธรรมที่ป่าปาจีนวังสทายวัน ในแคว้นเจตี(หรือเจติยะ) ขณะที่บำเพ็ญเพียร อยู่ในป่า ท่านตรึกมหาปุริสวิตก (ความตรึกของบุคคลผู้ยิ่งใหญ่) ได้ ๗ ข้อ ดังนี้
๑. ธรรมนี้ (ศาสนานี้) เป็นของผู้มักน้อยไม่ใช่ของผู้มักมาก
๒. ธรรมนี้เป็นของผู้สันโดษ ไม่ใช่ของผู้ไม่สันโดษ
๓. ธรรมนี้เป็นของผู้สงัด ไม่ใช่ของผู้คลุกคลีด้วยหมู่คณะ
๔. ธรรมนี้เป็นของผู้ปรารภความเพียร ไม่ใช่ของผู้เกียจคร้าน
๕. ธรรมนี้เป็นของผู้มีสติมั่นคง ไม่ใช่ของผู้หลงลืมสติ
๖. ธรรมนี้เป็นของผู้มีจิตมั่นคง ไม่ใช่ของผู้มีจิตไม่มั่นคง
๗. ธรรมนี้เป็นของผู้มีปัญญา ไม่ใช่ของผู้ทรามปัญญา

ขณะที่ท่านกำลังตรึกมหาปุริสวิตก ๗ ข้ออยู่นั้น พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูวาระจิตของท่าน เห็นว่ามีคุณธรรมแก่กล้า สามารถจะบรรลุอรหัตผลได้หากได้ฟังข้อแนะนำเพิ่มเติม จึงเสด็จมาตรัสบอกให้ท่านตรึกมหาปุริสวิตกต่อไปเป็นข้อที่ ๘ ว่า
๘. ธรรมนี้เป็นของผู้ยินดีในธรรมไม่เนิ่นช้า ไม่ใช่ของผู้ยินดีในธรรมที่เนิ่นช้า
พระอนุรุทธะพิจารณาตามแนวเทศนาที่พระพุทธเจ้าตรัสแนะนำจนเกิดความรู้แจ้ง และได้บรรลุอรหัตผล
พระอานนท์ บรรลุโสดาปัตติผลหลังจากบวชไม่นาน แต่มาบรรลุอรหัตผลภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ ๓ เดือน รวมเวลาที่ท่านเป็นพระอริยบุคคล ชั้นโสดาบันอยู่นานถึง ๔๒ ปี และได้บรรลุอรหัตผลเมื่ออายุได้ ๘๐ ปี
การที่ท่านได้บรรลุอรหัตผลช้ากว่าพระชาวกบิลพัสดุ์รูปอื่นๆ โดยเฉพาะพระอดีตเจ้าชายศากยะที่ออกบวชพร้อมกันนั้น เป็นเพราะว่าท่านไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม เนื่องจากต้องขวนขวายอยู่กับการอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า ท่านได้บรรลุอรหัตผลก่อนมีการทำปฐมสังคายนา (สังคายนาครั้งที่ ๑) เพียงไม่กี่ชั่วโมง มีเรื่องเล่าว่า คราวทำปฐม สังคายนานั้นพระมหากัสสปะและพระมหาเถระรูปอื่นๆ อาทิ พระอนุรุทธะ ได้ร่วมกันคัดเลือกพระเข้าร่วมทำปฐมสังคายนาได้ครบจำนวน ๕๐๐ รูป ซึ่งทั้ง ๔๙๙ รูปต่างล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้วิชชา ๓ บรรลุอภิญญา ๖ แตกฉานในปฏิสัมภิทา ๔ และเชี่ยวชาญด้านพระปริยัติธรรม มีพระอานนท์อยู่เพียงรูปเดียวที่เป็นพระอริยะชั้นโสดาบัน ซึ่งยังจะเข้าร่วม ประชุมด้วยไม่ได้ เพราะคุณสมบัติยังไม่ครบถ้วน แต่ในการทำปฐมสังคายนานั้นจะขาดท่านก็ไม่ได้ เพราะท่านเป็นผู้เดียวที่ได้ฟังพระธรรมเทศนาทุกกัณฑ์จากพระ พุทธเจ้า ดังนั้นคณะ สงฆ์ซึ่งมีพระมหากัสสปะเป็นประธาน จึงมีมติเลือกให้ ท่านเป็น ๑ ในพระจำนวน ๕๐๐ รูป ที่จะเข้าร่วมทำปฐมสังคายนา แต่มีเงื่อนไขว่า ท่านต้องเร่งบำเพ็ญเพียรให้ได้บรรลุอรหัตผลเสียก่อน
หลังจากได้รับทราบมติของคณะสงฆ์แล้ว พระอานนท์ก็เร่งบำเพ็ญเพียรอย่างหนัก ด้วยการเจริญกายคตาสติ คือ ตั้งสติกำหนดอาการ ๓๒ ในร่างกาย รวมทั้งการเคลื่อนไหวอิริยาบถขณะเดินจงกรม แต่แล้วก็ไม่ได้บรรลุอรหัตผลหรือแม้แต่มรรคผลขั้นต่อไปใดๆเลย ทั้งนี้เป็นเพราะท่านปฏิบัติเคร่งเครียดเกินไปจนจิตฟุ้งซ่าน คืนจะบรรลุอรหัตผลนั้น ท่านมาคิดได้ว่าปฏิบัติไม่ถูก จึงคิดบำเพ็ญเพียรแต่พอเหมาะ จากนั้นจึงลงจากที่จงกรมเข้าที่พัก
ท่านนั่งอยู่บนเตียงสักครู่หนึ่ง ครั้นแล้วจึงเอนกายลงด้วยตั้งใจว่า จักนอนพักผ่อนสักครู่หนึ่ง พอยกเท้าพ้นจากพื้นแต่ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอน ระหว่างนี้เองจิตของท่านก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะคลายความยึดมั่นลงได้
ท่านเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าเพียงรูปเดียวที่บรรลุอรหัตผลโดยไม่อยู่ในอิริยาบถ ๔ คือ ยืน นั่ง เดิน นอน และหลังจากบรรลุอรหัตผลได้ไม่นานก็รุ่งเช้า เมื่อฉันภัตตาหารเช้าแล้ว ขณะที่พระสงฆ์ ๔๙๙ รูป เข้าไปนั่งคอยท่านอยู่ในมณฑปที่ถ้ำสัตตบรรณ ข้างภูเขาเวภาระ เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธนั้น ท่านก็ได้แสดงฤทธิ์ให้ปรากฏ เพื่อประกาศให้คณะสงฆ์ได้ทราบว่า ท่านได้บรรลุอรหัตผล แล้ว ด้วยการดำดินแล้วไปโผล่ขึ้นตรงอาสนะที่จัดเตรียมไว้ให้ท่านนั่ง จากนั้นการปฐมสังคายนาจึงได้เริ่มขึ้น
พระภคุ กับ พระกิมพิละ ได้บรรลุอรหัตผลในเวลาใกล้เคียงกัน โดยวันที่จะบรรลุอรหัตผลนั้น พระภคุปฏิบัติธรรมอยู่ตามลำพัง ขณะนั่งปฏิบัติธรรมอยู่นั้นท่านถูกความง่วงครอบงำ จึงลุกออกจากเสนาสนะเดินไปยังที่จงกรม เกิดพลาดหกล้มลงคลุกฝุ่นบนพื้นดินใกล้กับบันไดขึ้นที่จงกรม ท่านไม่ท้อถอย ลุกขึ้นปัดฝุ่นแล้วเดินไปขึ้นที่จงกรม ก่อนเดินจงกรมท่านได้ยืนข่มความง่วงจนจิตเป็นสมาธิแล้วจึงออกเดิน ขณะเดินอยู่นั้นท่านเจริญวิปัสสนาไปด้วย โดยกำหนดเอาการเคลื่อนไหวอิริยาบถเป็นอารมณ์จนเกิดวิปัสสนาญาณ ท่านเห็นโทษของสังขารอย่างแจ้งชัด จึงเกิดความเบื่อหน่ายคลายความยึดถือแล้วได้บรรลุอรหัตผล ส่วนพระกิมพิละมีกล่าวไว้แต่เพียงว่าท่านได้บรรลุอรหัตผล แต่ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมของท่าน
(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 95 ต.ค. 51 โดย ผศ.ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ)
กำลังโหลดความคิดเห็น