xs
xsm
sm
md
lg

อสีติมหาสาวก : ตอนที่ ๔๙ กลุ่มพระชาวแคว้นสักกะ (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

งานสำคัญ
พระปุณณมันตานีบุตร เมื่อศึกษาดูแล้วจะพบว่าในบรรดาพระกลุ่มเมืองแคว้นสักกะ ซึ่งนอกจากพระอัญญาโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิแล้ว ท่านบวชก่อนพระกลุ่มแคว้นสักกะรูปอื่นๆ ต่อจากนั้นก็คือ พระกาฬุทายี พระนันทะ พระราหุล พระเมฆิยะ พระนาคิตะ พระมหาอุทายี ตามลำดับ สุดท้ายก็คือ พระอุบาลี พระภัททิยะ พระอนุรุทธะ พระอานนท์ พระภคุ พระกิมพิละ ส่วนพระสีวลี ยังไม่สามารถระบุให้แน่ชัดลงไปได้ว่าบวชก่อนหรือหลังพระสาวกรูปใด
การกล่าวถึงว่า พระสาวกรูปใดบวชก่อนนั้น ก็เพื่อประโยชน์ในการกล่าวถึงงานเผย แพร่พระพุทธศาสนาของท่านไปตามลำดับอาวุโสที่บวช
พระปุณณมันตานีบุตร หลังจากได้บรรลุอรหัตผลแล้ว ท่านได้เป็นกำลังสำคัญในการช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนามาตลอดเวลา ผลงานชิ้นสำคัญของท่านคือ ท่านได้สอนกถาวัตถุ ๑๐ ประการ ให้พระอานนท์ฟัง คราวที่พระอานนท์บวชใหม่ๆ จนพระอานนท์ได้บรรลุโสดาปัตติผลกถาวัตถุ คือ เรื่องที่ควรพูดมี ๑๐ อย่าง ได้แก่
๑.อัปปิจฉกถาเรื่องความมักน้อย
๒.สันตุฏฐิกถาเรื่องความสันโดษ
๓.ปวิเวกกถาเรื่องความสงัด
๔.อสังสัคคสถาเรื่องความไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ
๕.วิริยารัมภกถาเรื่องการปรารภความเพียร
๖.สีลกถาเรื่องศีล
๗.สมาธิกถาเรื่องสมาธิ
๘.ปัญญากถาเรื่องปัญญา
๙.วิมุตติกถาเรื่องความหลุดพ้น
๑๐.วิมุตติญาณทัสสนกถาเรื่องความรู้ความเห็นว่าหลุดพ้น
พระปุณณมันตานีบุตร ได้สอนเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา นอกจากสอนพระอานนท์ให้ได้บรรลุโสดาปัตติผล ต่อมายังได้สอนกุลบุตรชาวเมืองกบิลพัสดุ์อีก ๕๐๐ คนจนเลื่อมใสแล้วมาขอบวชในสำนักของท่าน
ท่านได้แสดงกถาวัตถุ ๑๐ ประการนี้ให้ปฏิบัติ ไม่นานพระเหล่านั้นก็ได้บรรลุอรหัตผล อยู่มาวันหนึ่งพระสัทธิวิหาริกทั้งหมดนั้นประสงค์จะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เนื่องจากยังไม่เคยเห็นพระองค์จริง ท่านจึงได้ส่งพระเหล่านั้นมาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดเวฬุวัน ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองกบิลพัสดุ์ที่ท่านจำพรรษาอยู่ถึง ๖๐ โยชน์ (ประมาณ ๙๖๐ กิโลเมตร) ครั้นไปถึงวัดเวฬุวันแล้ว พระ ๕๐๐ รูปนั้นก็พร้อมกันเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอมาจากไหน”
พระพุทธเจ้าตรัสปฏิสันถาร
“มาจากเมืองชาติภูมิ (เมืองกบิลพัสดุ์) พระเจ้าข้า” พระ ๕๐๐ รูป กราบทูล
“ในแคว้นแดนนั้น เพื่อนพรหมจรรย์ยกย่องใครว่ากล่าวกถาวัตถุ ๑๐ ประการ”
“ยกย่องพระปุณณมันตานีบุตร พระอุปัชฌาย์ของเหล่าข้าพระองค์ พระเจ้าข้า”
ขณะนั้น พระสารีบุตรเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่ด้วย ได้ยินพระพุทธเจ้าตรัสสนทนากับพระสัทธิวิหาริกของพระปุณณมันตานีบุตรแล้ว ประสงค์จะรู้จักกับพระปุณณมันตานีบุตร จึงตั้งความหวังว่าท่านคงได้พบและสนทนากับพระปุณณมันตานีบุตรสักวันหนึ่งเป็นแน่
พระสารีบุตรหวังอยู่เช่นนั้น จนต่อมาพระพุทธเจ้าพาพระสาวกเสด็จมาประทับที่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองกบิลพัสดุ์กว่าวัดเวฬุวัน พระปุณณมันตานีบุตรทราบข่าว จึงเดินทางมาเฝ้า พระพุทธเจ้าตรัสธรรมปฏิสันถารต้อนรับท่าน ครั้นแล้วทรงอนุญาตให้ท่าน เลือกพักได้ตามอัธยาศัย ท่านถวายบังคมพระพุทธเจ้าแล้วไปพักกลางวันอยู่ในป่าอันธวัน
พระสารีบุตร ได้ทราบจากพระรูปหนึ่งว่าพระปุณณมันตานีบุตรมาเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้ว ขณะนี้กำลังไปพักผ่อนอยู่ ณ โคนต้นไม้ใหญ่แห่งหนึ่งในป่าอันธวัน จึงเดินทางไปหาท่าน โดยเหตุที่พระเถระทั้ง ๒ ไม่เคยเห็นกันมาก่อน พระสารีบุตรจึงทักท่านว่า
“ผู้มีอายุ ท่านเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าหรือ”
“ใช่ ท่านผู้เจริญ”
พระปุณณมันตานีบุตรตอบ
“ผู้มีอายุ ท่านประพฤติพรหมจรรย์เพื่อให้ศีลบริสุทธิ์หรือ”
“ไม่ใช่ ท่านผู้เจริญ”
“ผู้มีอายุ ถ้าอย่างนั้นท่านประพฤติพรหมจรรย์เพื่อให้ปัญญาบริสุทธิ์หรือ เพื่อให้ข้ามความสงสัยได้อย่างบริสุทธิ์หรือ เพื่อให้เกิดความรู้ความเห็นว่าอย่างใดเป็นทางไม่เป็นทางอย่างบริสุทธิ์หรือ เพื่อให้เกิดความรู้ความเห็นในข้อปฏิบัติอย่างบริสุทธิ์หรือ และเพื่อให้เกิดความรู้ความเห็นธรรมอย่างบริสุทธิ์หรือ”
“ไม่ใช่ ท่านผู้เจริญ แต่ข้าพเจ้าประพฤติพรหมจรรย์เพื่อต้องการอนุปาทาปรินิพพาน”
เมื่อได้ทราบความประสงค์ในการออกบวชของพระปุณณมันตานีบุตรแล้ว พระสารี บุตรก็สนทนาธรรมต่อไปถึงเรื่องว่า อะไรคือ อนุปาทาปรินิพพาน ซึ่งพระปุณณมันตานีบุตรก็ได้ตอบให้ทราบอย่างแจ่มชัดว่า
“อนุปาทาปรินิพพานไม่ใช่ความบริสุทธิ์ ๗ อย่าง คือ ไม่ใช่การรักษาศีลให้บริสุทธิ์ไม่ใช่การรักษาจิตให้บริสุทธิ์ ไม่ใช่การอบรมปัญญาให้บริสุทธิ์ ไม่ใช่การข้ามความสงสัยได้อย่างบริสุทธิ์ ไม่ใช่ความรู้ความเห็นว่าอันใดเป็นทางหรือไม่ใช่ทางบริสุทธิ์ ไม่ใช่ความรู้ความเห็นถึงข้อปฏิบัติอย่างบริสุทธิ์ และไม่ใช่ความรู้ความเห็นธรรมที่บริสุทธิ์ เพราะธรรมที่ว่ามานี้ทั้งหมดถึงอย่างไรก็ยังมีอุปาทานคือความยึดมั่นเกาะเกี่ยวอยู่ แต่ธรรมทั้งหมดนี้เป็นธรรมช่วยส่งไปถึงอนุปาทาปรินิพพานตามลำดับ เปรียบเหมือนรถ ๗ ผลัด”
จากนั้นพระปุณณมันตานีบุตรได้ยกอุปมาให้พระสารีบุตรฟังว่า
“ระยะทางระหว่างเมืองสาวัตถีกับเมืองสาเกตจะไปถึงด้วยรถ ๗ ผลัด พระเจ้าปเสนทิโกศล เมื่อจะเสด็จจากเมืองสาวัตถีไปเมืองสาเกตก็ต้องเสด็จไปด้วยรถ ๗ ผลัดนั้น โดยขึ้น ประทับราชรถผลัดแรกที่ประตูราชวัง จนกระทั่งเสด็จถึงราชรถผลัดที่ ๒ จึงทรงสละราชรถ ผลัดแรกแล้วขึ้นประทับราชรถผลัดที่ ๒ นั้นไป เวลาเสด็จถึงราชรถผลัดที่ ๓ ก็ทรงสละราชรถผลัดที่ ๒ ขึ้นประทับราชรถผลัดที่ ๓ เวลาเสด็จถึงราชรถผลัดที่ ๔ ก็ทรงสละราชรถผลัดที่ ๓ ขึ้นประทับราชรถผลัดที่ ๔ เวลาเสด็จถึงราชรถผลัดที่ ๕ ก็ทรงสละราชรถผลัดที่ ๔ ขึ้นประทับราชรถผลัดที่ ๕ เวลาเสด็จถึงราชรถผลัดที่ ๖ ก็ทรงสละราชรถผลัดที่ ๕ ขึ้นประทับราชรถผลัดที่ ๖ เวลาเสด็จถึงราชรถผลัดที่ ๗ ก็ทรงสละราชรถผลัดที่ ๖ ขึ้นประทับ ราชรถผลัดที่ ๗ ไปจนถึงประตูพระราชวังเมืองสาเกต เมื่อเสด็จถึงเมืองสาเกตแล้วเมื่อหมู่อำมาตย์หรือพระประยูรญาติทูลถามว่าเสด็จมาด้วยราชรถคันนี้หรือ พระเจ้าปเสนทิโกศล หากจะตรัสตอบให้ถูกต้องตามเป็นจริงก็จะต้องตรัสตอบว่า พระองค์เสด็จมาด้วยราชรถ ตามลำดับดังที่เสด็จมานั้น อุปมานี้เป็นฉันใด ความบริสุทธิ์ ๗ อย่างที่ว่ามานั้นก็เป็นฉันนั้น ทุกข้อไม่ใช่อนุปาทาปรินิพพาน แต่เป็นธรรมส่งไปถึงอนุปาทาปรินิพพาน คือ ความดับสนิท แห่งขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่กิเลสตัณหาเข้าไปเจือจับไม่ได้อีก”
เมื่อพระเถระทั้ง ๒ สนทนากันแล้ว ต่างก็ได้ถามชื่อของกันและกัน
“ผมชื่อปุณณะ แต่เพื่อนพรหมจารีมักเรียกผมว่า มันตานีบุตร”
“ผมชื่ออุปติสสะ แต่เพื่อนพรหมจารีมักเรียกผมว่า สารีบุตร”
ก่อนจากกันพระเถระทั้ง ๒ ยังได้กล่าวชื่นชมกันและกันอีก โดยพระสารีบุตรกล่าวชื่นชม พระปุณณมันตานีบุตรว่า
“น่าอัศจรรย์ พระปุณณมันตานีบุตรเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ดี ปัญหาอันลึกซึ้งที่เกี่ยวข้องอยู่ในกถาวัตถุ ๑๐ ประการท่านกล่าวแก้ได้แล้ว นับเป็นลาภที่เพื่อนพรหมจารีได้เห็นได้ใกล้ชิดท่าน แม้พวกผมก็ต้องถือว่าเป็นลาภที่ได้เห็นและได้ใกล้ชิดท่าน”
พระปุณณมันตานีบุตรก็ได้กล่าวชื่นชมพระสารีบุตรว่า
“ท่านสารีบุตร เมื่อผมได้สนทนากับพระสาวกผู้คล้ายกับพระบรมศาสดาเช่นนี้ก็ยังไม่รู้จักเลยว่าท่านคือพระสารีบุตร ถ้าผมรู้คงจะตอบโต้กับท่านได้ไม่ถึงเพียงนี้หรืออาจจะพูดไม่ออกก็ได้”
บทสนทนาของพระเถระทั้ง ๒ แม้จะถือเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่งานเผยแผ่ธรรมะ แต่ก็ถือเป็นแบบอย่างได้ว่า ผู้ที่จะเผยแพร่ธรรมะนั้นต้องขวนขวายเข้าหาบัณฑิตและเปิดใจกว้าง ยอมรับความรู้จากคู่สนทนาเสมอ
(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 97 ธ.ค. 51 โดย ผศ.ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ)
กำลังโหลดความคิดเห็น