การบรรลุธรรม
พระนันทะ โดยเหตุที่ออกบวชด้วยความไม่เต็มใจ ใจของท่านยังกังวลอยู่กับคู่อภิเษกสมรส คำร้องวิงวอนให้รีบกลับของนางยังคงดังก้องหูอยู่ แม้ว่าบัดนี้จะจากมาอยู่ห่างไกลถึงวัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถีแล้วก็ตาม ก็หาได้ลดความคิดถึงลงไปได้ไม่ ตรงกันข้ามกลับทวีความคิดถึงมากยิ่งขึ้น จนไม่มีแก่ใจที่จะบำเพ็ญสมณธรรม และวันหนึ่งท่านได้บอกแก่เพื่อนพระว่า “ผมจะสึก”
พระพุทธเจ้าทรงทราบความข้อนั้น จึงรับสั่งให้ท่านเข้าเฝ้าแล้วตรัสถามถึงเหตุผล ท่านได้กราบทูลโดยไม่ปิดบังว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า วันที่พระองค์ทรงพาข้าพระองค์ออกจากพระตำหนักนั้น นางชนบทกัลยาณีคู่อภิเษกของข้าพระองค์เห็น ทั้งๆที่นางกำลังเกล้าผมได้เพียงครึ่งเดียว แต่ด้วยความห่วงใย จึงรีบวิ่งกลับมาร้องบอกข้าพระองค์ให้รีบกลับ ภาพของนางติดตาตรึงใจของข้าพระองค์มาตลอดเวลา จึงทำให้ข้าพระองค์ไม่สงบพอที่จะบำเพ็ญสมณธรรมได้ ด้วยเหตุนี้แหละพระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์จึงอยากสึก”
พระพุทธเจ้าทรงเข้าใจความรู้สึกของท่านได้ดี พระองค์มิได้ตรัสอะไร แต่จับแขนท่านแล้วใช้พลังฤทธิ์นำท่านเหาะไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ระหว่างทางที่เสด็จไปนั้นพระองค์ทรงชี้ให้ท่านดูนางลิงตัวหนึ่ง ซึ่งมีหูแหว่งจมูกวิ่นและหางด้วน กำลังนั่งจับเจ่าอยู่บนตอไม้ที่ถูกไฟไหม้เกรียมอยู่ในนาแห่งหนึ่ง จากนั้นเมื่อเสด็จถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว ก็ทรงชี้ให้ท่านดูนางฟ้า ๕๐๐ นาง ผู้มีเท้าแดงดุจนกพิราบที่กำลัง มาเข้าเฝ้าท้าวสักกะ พระนันทะมองดูนางฟ้าเหล่านั้นด้วยความสนใจ พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูความคิดของท่านตลอดเวลา เมื่อทรงเห็นเป็นโอกาสอันเหมาะจึงตรัสถาม
“นันทะ ระหว่างนางชนบทกัลยาณีกับนางฟ้าทั้ง ๕๐๐ นาง ที่เธอเห็นเมื่อสักครูนี้ ใครสวยกว่ากัน”
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า” ท่านกราบทูล “ระหว่างนางชนบทกัลยาณีกับนางฟ้า ๕๐๐ นางเมื่อเทียบกันแล้ว นางชนบทกัลยาณีของข้าพระองค์ก็ไม่ต่างอะไรจากนางลิงบนตอไม้”
คำตอบนี้แสดงให้เห็นว่า บัดนี้พระนันทะคลายความคิดถึงนางชนบทกัลยาณีไปได้แล้ว โดยขณะนี้ความสนใจมาจับอยู่ที่นางฟ้า ๕๐๐ นางแทน พระพุทธเจ้าทรงทราบดีถึงความรู้สึกของท่าน จึงตรัสแบบให้ความหวังว่า
“นันทะ เชิญสำราญให้เต็มที่เถิด ตถาคตขอรับประกันว่า เธอจะได้นางฟ้าเหล่านั้นแน่ แต่ขอให้ตั้งใจปฏิบัติธรรมให้ได้ก่อน”
ข้อเสนอของพระพุทธเจ้าแม้จะมีเงื่อนไข แต่พระนันทะ ก็เต็มใจรับ ทั้งนี้เป็นด้วยความหวังว่าจะได้นางฟ้ามาเชยชม ดังนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าทรงพาท่านกลับลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท่านจึงขะมักเขม้นบำเพ็ญสมณธรรม
พระในวัดเชตวัน ทราบถึงการบำเพ็ญสมณธรรมอย่างเอาจริงเอาจังของท่านว่ามีเงื่อนไขที่จะได้นางฟ้าเป็นข้อผูกพัน จึงพากันเรียกท่านเชิงสัพยอกว่า “คนรับจ้าง” บ้าง “คนมีค่าไถ่” บ้าง เมื่อถูกเรียกบ่อยๆเข้า ท่านรู้สึกละอายใจ จึงหลีกออกจากหมู่คณะไปอยู่ตามลำพัง
ท่านคิดอยู่เสมอที่จะเปลื้องตนไปจากคำเรียกเป็นเชิงสัพยอกนั้น จึงเร่งบำเพ็ญเพียร และไม่ช้านักก็ได้บรรลุอรหัตผล และทันทีที่ได้บรรลุอรหัตผลนั้นท่านก็รู้แจ้งว่า ท่านได้เปลื้องตนให้พ้นไปจากวาทะว่า “คนรับจ้าง” และ “คนมีค่าไถ่” ได้แล้วโดยสิ้นเชิง
พระราหุล เป็นผู้ที่ใคร่ต่อการศึกษาอย่างมากนับตั้งแต่วันที่บวช ท่านจะลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ กอบทรายมาเต็มกำมือแล้วตั้งจิตปรารถนา ขอให้ได้รับคำแนะนำพร่ำสอนมากเท่าเมล็ดทรายจากพระพุทธเจ้าและจากพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ตามหลักฐานระบุว่า ก่อนบรรลุอรหัตผล ท่านยังเป็นเด็กชอบพูดเล่น พระพุทธองค์จึงทรงสอนท่านให้สำรวมในการพูด ความว่า
บุคคลผู้ไม่มีความละอายในการพูดเท็จทั้งที่รู้ตัวอยู่
ย่อมทำบาปกรรมได้ทุกอย่าง
ฉะนั้น ต้องสำเหนียกเสมอว่า
จักไม่กล่าวเท็จ แม้เพียงประสงค์จะให้หัวเราะเล่น
ครั้งที่ ๒ เมื่อท่านอายุได้ ๑๘ ปี พระพุทธเจ้าทรงมีพระประสงค์จะบ่มปัญญาพิจารณาไตรลักษณ์ของท่านให้แก่กล้า จึงตรัสสอน ความว่า
รูปทุกชนิดทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน
ทั้งที่มีอยู่ภายในหรือภายนอก ทั้งที่หยาบหรือละเอียด
ทั้งที่ทรามหรือประณีต ทั้งที่อยู่ใกล้หรือไกล
เธอพึงพิจารณารูปทั้งหมดนั้น ด้วยปัญญาชอบ
ตามความเป็นจริงว่า นั่นไม่ใช่ของเรา
เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา
ครั้งที่ ๓ เมื่อท่านมีอายุ ๒๐ ปี พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า ปัญญาของท่านแก่กล้าแล้ว จึงตรัสเตือนให้ท่านทำทุกข์ให้หมดสิ้นให้ได้ ความว่า
เธอละกามคุณ ๕ ที่น่ารักใคร่ชอบใจ
ออกจากเรือนมาด้วยศรัทธา จงทำทุกข์ให้สิ้นไปให้ได้
จงคบกัลยาณมิตร จงอยู่ในเสนาสนะที่สงบสงัด
ปราศจากเสียงอึกทึกครึกโครม
จงรู้จักฉันอาหารแต่พอประมาณ
อย่าติดใจในจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
จงอย่ากลับมาสู่โลกนี้อีก
จงสำรวมในพระปาฏิโมกข์และในอินทรีย์ ๕
จงมีสติอยู่กับตัว จงมากด้วยความเบื่อหน่าย
จงเว้นนิมิตรอันสวยงามที่ประกอบด้วยราคะ
จงอบรมจิตให้มั่นคง
แน่วแน่ในความสำคัญว่าไม่สวยไม่งาม
จงอบรมจิตให้ไม่มีนิมิตร
จงถอนความถือตัว อันเป็นกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานให้ได้
เพราะเมื่อละความถือตัวได้แล้ว เธอจักจาริกไปอย่างสงบ
พระราหุลฟังพระพุทธเจ้าสอนพลางพิจารณาตามพลาง เมื่อจบพระธรรมเทศนา ท่านก็ได้บรรลุอรหัตผล
(อ่านต่อฉบับหน้า)
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 94 ก.ย. 51 โดย ผศ.ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ)
พระนันทะ โดยเหตุที่ออกบวชด้วยความไม่เต็มใจ ใจของท่านยังกังวลอยู่กับคู่อภิเษกสมรส คำร้องวิงวอนให้รีบกลับของนางยังคงดังก้องหูอยู่ แม้ว่าบัดนี้จะจากมาอยู่ห่างไกลถึงวัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถีแล้วก็ตาม ก็หาได้ลดความคิดถึงลงไปได้ไม่ ตรงกันข้ามกลับทวีความคิดถึงมากยิ่งขึ้น จนไม่มีแก่ใจที่จะบำเพ็ญสมณธรรม และวันหนึ่งท่านได้บอกแก่เพื่อนพระว่า “ผมจะสึก”
พระพุทธเจ้าทรงทราบความข้อนั้น จึงรับสั่งให้ท่านเข้าเฝ้าแล้วตรัสถามถึงเหตุผล ท่านได้กราบทูลโดยไม่ปิดบังว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า วันที่พระองค์ทรงพาข้าพระองค์ออกจากพระตำหนักนั้น นางชนบทกัลยาณีคู่อภิเษกของข้าพระองค์เห็น ทั้งๆที่นางกำลังเกล้าผมได้เพียงครึ่งเดียว แต่ด้วยความห่วงใย จึงรีบวิ่งกลับมาร้องบอกข้าพระองค์ให้รีบกลับ ภาพของนางติดตาตรึงใจของข้าพระองค์มาตลอดเวลา จึงทำให้ข้าพระองค์ไม่สงบพอที่จะบำเพ็ญสมณธรรมได้ ด้วยเหตุนี้แหละพระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์จึงอยากสึก”
พระพุทธเจ้าทรงเข้าใจความรู้สึกของท่านได้ดี พระองค์มิได้ตรัสอะไร แต่จับแขนท่านแล้วใช้พลังฤทธิ์นำท่านเหาะไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ระหว่างทางที่เสด็จไปนั้นพระองค์ทรงชี้ให้ท่านดูนางลิงตัวหนึ่ง ซึ่งมีหูแหว่งจมูกวิ่นและหางด้วน กำลังนั่งจับเจ่าอยู่บนตอไม้ที่ถูกไฟไหม้เกรียมอยู่ในนาแห่งหนึ่ง จากนั้นเมื่อเสด็จถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว ก็ทรงชี้ให้ท่านดูนางฟ้า ๕๐๐ นาง ผู้มีเท้าแดงดุจนกพิราบที่กำลัง มาเข้าเฝ้าท้าวสักกะ พระนันทะมองดูนางฟ้าเหล่านั้นด้วยความสนใจ พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูความคิดของท่านตลอดเวลา เมื่อทรงเห็นเป็นโอกาสอันเหมาะจึงตรัสถาม
“นันทะ ระหว่างนางชนบทกัลยาณีกับนางฟ้าทั้ง ๕๐๐ นาง ที่เธอเห็นเมื่อสักครูนี้ ใครสวยกว่ากัน”
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า” ท่านกราบทูล “ระหว่างนางชนบทกัลยาณีกับนางฟ้า ๕๐๐ นางเมื่อเทียบกันแล้ว นางชนบทกัลยาณีของข้าพระองค์ก็ไม่ต่างอะไรจากนางลิงบนตอไม้”
คำตอบนี้แสดงให้เห็นว่า บัดนี้พระนันทะคลายความคิดถึงนางชนบทกัลยาณีไปได้แล้ว โดยขณะนี้ความสนใจมาจับอยู่ที่นางฟ้า ๕๐๐ นางแทน พระพุทธเจ้าทรงทราบดีถึงความรู้สึกของท่าน จึงตรัสแบบให้ความหวังว่า
“นันทะ เชิญสำราญให้เต็มที่เถิด ตถาคตขอรับประกันว่า เธอจะได้นางฟ้าเหล่านั้นแน่ แต่ขอให้ตั้งใจปฏิบัติธรรมให้ได้ก่อน”
ข้อเสนอของพระพุทธเจ้าแม้จะมีเงื่อนไข แต่พระนันทะ ก็เต็มใจรับ ทั้งนี้เป็นด้วยความหวังว่าจะได้นางฟ้ามาเชยชม ดังนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าทรงพาท่านกลับลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท่านจึงขะมักเขม้นบำเพ็ญสมณธรรม
พระในวัดเชตวัน ทราบถึงการบำเพ็ญสมณธรรมอย่างเอาจริงเอาจังของท่านว่ามีเงื่อนไขที่จะได้นางฟ้าเป็นข้อผูกพัน จึงพากันเรียกท่านเชิงสัพยอกว่า “คนรับจ้าง” บ้าง “คนมีค่าไถ่” บ้าง เมื่อถูกเรียกบ่อยๆเข้า ท่านรู้สึกละอายใจ จึงหลีกออกจากหมู่คณะไปอยู่ตามลำพัง
ท่านคิดอยู่เสมอที่จะเปลื้องตนไปจากคำเรียกเป็นเชิงสัพยอกนั้น จึงเร่งบำเพ็ญเพียร และไม่ช้านักก็ได้บรรลุอรหัตผล และทันทีที่ได้บรรลุอรหัตผลนั้นท่านก็รู้แจ้งว่า ท่านได้เปลื้องตนให้พ้นไปจากวาทะว่า “คนรับจ้าง” และ “คนมีค่าไถ่” ได้แล้วโดยสิ้นเชิง
พระราหุล เป็นผู้ที่ใคร่ต่อการศึกษาอย่างมากนับตั้งแต่วันที่บวช ท่านจะลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ กอบทรายมาเต็มกำมือแล้วตั้งจิตปรารถนา ขอให้ได้รับคำแนะนำพร่ำสอนมากเท่าเมล็ดทรายจากพระพุทธเจ้าและจากพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ตามหลักฐานระบุว่า ก่อนบรรลุอรหัตผล ท่านยังเป็นเด็กชอบพูดเล่น พระพุทธองค์จึงทรงสอนท่านให้สำรวมในการพูด ความว่า
บุคคลผู้ไม่มีความละอายในการพูดเท็จทั้งที่รู้ตัวอยู่
ย่อมทำบาปกรรมได้ทุกอย่าง
ฉะนั้น ต้องสำเหนียกเสมอว่า
จักไม่กล่าวเท็จ แม้เพียงประสงค์จะให้หัวเราะเล่น
ครั้งที่ ๒ เมื่อท่านอายุได้ ๑๘ ปี พระพุทธเจ้าทรงมีพระประสงค์จะบ่มปัญญาพิจารณาไตรลักษณ์ของท่านให้แก่กล้า จึงตรัสสอน ความว่า
รูปทุกชนิดทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน
ทั้งที่มีอยู่ภายในหรือภายนอก ทั้งที่หยาบหรือละเอียด
ทั้งที่ทรามหรือประณีต ทั้งที่อยู่ใกล้หรือไกล
เธอพึงพิจารณารูปทั้งหมดนั้น ด้วยปัญญาชอบ
ตามความเป็นจริงว่า นั่นไม่ใช่ของเรา
เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา
ครั้งที่ ๓ เมื่อท่านมีอายุ ๒๐ ปี พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า ปัญญาของท่านแก่กล้าแล้ว จึงตรัสเตือนให้ท่านทำทุกข์ให้หมดสิ้นให้ได้ ความว่า
เธอละกามคุณ ๕ ที่น่ารักใคร่ชอบใจ
ออกจากเรือนมาด้วยศรัทธา จงทำทุกข์ให้สิ้นไปให้ได้
จงคบกัลยาณมิตร จงอยู่ในเสนาสนะที่สงบสงัด
ปราศจากเสียงอึกทึกครึกโครม
จงรู้จักฉันอาหารแต่พอประมาณ
อย่าติดใจในจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
จงอย่ากลับมาสู่โลกนี้อีก
จงสำรวมในพระปาฏิโมกข์และในอินทรีย์ ๕
จงมีสติอยู่กับตัว จงมากด้วยความเบื่อหน่าย
จงเว้นนิมิตรอันสวยงามที่ประกอบด้วยราคะ
จงอบรมจิตให้มั่นคง
แน่วแน่ในความสำคัญว่าไม่สวยไม่งาม
จงอบรมจิตให้ไม่มีนิมิตร
จงถอนความถือตัว อันเป็นกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานให้ได้
เพราะเมื่อละความถือตัวได้แล้ว เธอจักจาริกไปอย่างสงบ
พระราหุลฟังพระพุทธเจ้าสอนพลางพิจารณาตามพลาง เมื่อจบพระธรรมเทศนา ท่านก็ได้บรรลุอรหัตผล
(อ่านต่อฉบับหน้า)
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 94 ก.ย. 51 โดย ผศ.ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ)