xs
xsm
sm
md
lg

อสีติมหาสาวก ตอนที่ ๔๔ กลุ่มพระชาวแคว้นสักกะ (ต่อจากฉบับที่แล้ว)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การออกบวช

พระนันทะ
ออกบวชในวันเดียวกับวันที่ท่านอภิเษกสมรส กล่าวคือหลังจากเสวยพระกระยาหารแล้ว พระพุทธเจ้าก็ตรัสอนุโมทนา จากนั้นทรงส่งบาตรให้ท่านถือทำนองจะบอกให้รู้ว่าพระองค์จะเสด็จกลับนิโครธาราม ขณะที่พระองค์เสด็จออกมาจากพระราชวังพร้อมด้วยพระสาวกนั้น เจ้าชายนันทะพระอนุชาก็ทรงถือบาตรตามเสด็จมาด้วย ระหว่างนั้นพระนางชนบทกัลยาณีคู่อภิเษกสมรสในชุดเจ้าสาวก็เสด็จมาร้องบอกให้เจ้าชายรีบเสด็จกลับพระตำหนัก

เจ้าชายนันทะทรงหวังอยู่เสมอว่าถึงที่ตรงนั้นๆ พระพุทธเจ้าก็คงจะทรงรับเอาบาตรคืนไป แต่แล้วก็ผิดหวัง เพราะพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงท่าทีจะรับเอาบาตรไปจากพระองค์เลย เจ้าชายตามเสด็จพระพุทธเจ้าไปจนถึงนิโครธาราม ณ ที่นั้นเอง พระพุทธเจ้าได้ตรัสถาม

“นันทะ เธอจักบวชหรือ”

เจ้าชายนันทะทรงคาดไม่ถึงว่าจะได้ยินพระพุทธดำรัสตรัสถามเช่นนี้ ไม่ทันได้ตั้งสติ ประกอบกับมีความเคารพในพระพุทธเจ้า จึงเกรงพระทัยและทูลตอบรับคำ

“จักบวช พระเจ้าข้า”

พระพุทธเจ้าจึงทรงรับสั่งให้พระสาวกช่วยกันจัดการบวชให้เจ้าชายนันทะ ตามหลักฐานปรากฏว่าเจ้าชายบวชหลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จไปเมืองกบิลพัสดุ์ได้ ๔ วัน โดยที่เพียงแต่ได้อภิเษกสมรสเท่านั้น แต่มิทันได้อยู่ร่วมหอกับคู่อภิเษกก็ออกบวชเสียก่อน

พระราหุล ออกบวชเป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา โดยออกบวชหลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จไปถึงเมืองกบิลพัสดุ์ได้ ๗ วัน เหตุการณ์ที่นำท่านให้ได้บวชนั้นสรุปได้ว่าท่านเข้าไปทูลขอราชสมบัติจากพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระบิดาตามคำชี้แนะของพระนางยโสธราพระมารดา พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าท่านขอทรัพย์สมบัติที่เป็นโลกิยะ ซึ่งจะทำให้ต้องประสบกับความคับแค้นไม่สิ้นสุด จึงทรงจะให้ท่านได้ทรัพย์สมบัติที่เป็นโลกุตตระ ซึ่งเที่ยงแท้ยั่งยืนและทำให้ประสบกับความสุข ดังนั้น จึงทรงมอบหมายให้พระสารีบุตรบวชให้ท่านด้วยวิธีบวชแบบติสรณคมนูปสัมปทา

พระภัททิยะ พระอนุรุทธะ พระอานนท์ พระภคุ พระกิมพิละ และพระอุบาลี ออกบวชในคราวเดียวกัน กล่าวคือ หลังจากเสด็จโปรดพระประยุรญาติแล้ว พระพุทธเจ้าทรงพาพระสาวกเสด็จไปประทับที่อนุปิยอัมพวัน ซึ่งเป็นนิคมของพวกมัลละ ครั้งนั้นเจ้าชายศากยะซึ่งนำโดยภัททิยะ ได้ชวนกันเดินทางไปเฝ้าเพื่อทูลขอบวชโดยมีช่างกัลบกประจำพระองค์ติดตามไปด้วย คือ อุบาลี

มูลเหตุที่ทำให้ท่านออกบวชนั้น สืบเนื่องมาจากคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระประยุรญาติ ได้มีพระประยุรญาติ ออกบวชตามเสด็จกันเป็นจำนวนมาก พระประยุรญาติผู้ใหญ่ครั้นเห็นเจ้าชายที่กล่าวพระนามมานี้ไม่ได้ออกบวชเหมือนเจ้าชายพระองค์อื่นๆ จึงสงสัยและตรัสถามถึงสาเหตุซึ่งเจ้าชายเหล่านั้นไม่สามารถให้คำตอบได้ จึงรู้สึกละอายพระทัยและปรึกษากัน

เดิมทีเดียวในกลุ่มพระสหายที่จะออกบวชด้วยกันนั้นไม่มีเจ้าชายอนุรุทธะ แต่มีเจ้าชายมหานามะรวมอยู่ด้วย เจ้าชายมหานามะเป็นพระเชษฐาของเจ้าชายอนุรุทธะ เมื่อทรงปรึกษากับเจ้าชายที่เอ่ยพระนามมาแล้วนั้น เจ้าชายมหานามะจึงทรงปรึกษากับเจ้าชายอนุรุทธะเป็นการส่วนพระองค์ว่าใครจะออกบวช

เจ้าชายอนุรุทธะไม่สามารถตัดสินพระทัยได้ ด้วยไม่ทราบว่าการออกบวชคืออะไร เจ้าชายมหานามะจึงตรัสอธิบายให้ทราบว่า การออกบวช คือ การสละบ้านเรือน สละยศ ตำแหน่งและโลกิยสุขทั้งมวล ผู้ออกบวชจะต้องอยู่คนเดียว กินอาหารมื้อเดียวและนอนคนเดียว ต้องโกนผมและหนวดให้เกลี้ยง นุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาด เลี้ยงชีวิตด้วย อาหารที่ตามแต่จะได้ คำอธิบายของเจ้าชาย มหานามะชัดเจนจนทำให้เจ้าชายอนุรุทธะตัดสินพระทัยได้ทันที

“เสด็จพี่ หม่อมฉันเป็นคนอ่อนแอ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็บวชไม่ได้หรอก”

เจ้าชายมหานามะ จึงรับสั่งต่อไป

“ถ้าอย่างนั้นก็ต้องเรียนรู้การงานซึ่งคนอยู่ครองเรือนจำต้องทำ”

จากนั้นเจ้าชายมหานามะก็ตรัสอธิบายถึงวิธีทำนา ซึ่งเป็นอาชีพหลักที่กษัตริย์ศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ยึดประกอบมาแต่บรรพบุรุษ โดยทรงอธิบายว่าคนครองเรือน ต้องทำนาทุกปี เพื่อจะได้มีข้าวไว้บริโภค การทำนาต้องเริ่มต้นด้วยการไถ ไถแล้วจึงคราด คราดแล้วจึงหว่านหรือปลูกข้าวกล้า ครั้นข้าวสุกแล้วก็ต้องเก็บเกี่ยวและหอบเข้าลานเพื่อนวด

วิธีการทำนาทั้งหมดที่เจ้าชายมหานามะตรัสบอกมานี้ เจ้าชายอนุรุทธะไม่เคยได้ทราบมาก่อน เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาพระองค์ไม่เคยทอดพระเนตรเห็นคนตำข้าว ไม่เคยทอดพระเนตรเห็นคนหุงข้าว และไม่เคยทอดพระเนตรเห็นแม้แต่คนคดข้าว เคยเห็นก็แต่ข้าวที่คนคดใส่จานไว้แล้ว ฉะนั้น จึงรู้จักข้าวว่าเกิดในถาดทองคำเท่า นั้น หารู้จักว่าข้าวเกิดในนาไม่ เช่นเดียวกับเจ้าชายอีก ๒ พระองค์ คือ เจ้าชายกิมพิละ และเจ้าชายภัททิยะ ที่ไม่ทรงทราบว่าข้าวเกิดในนา เจ้าชายกิมพิละทรงทราบแต่ว่าข้าวเกิดในฉาง เพราะทรงเห็นคนขนข้าวเข้า ฉาง ส่วนเจ้าชายภัททิยะทรงทราบแต่ว่าข้าวเกิดในหม้อ เพราะทรงเคยเห็นคนหุงข้าว

เจ้าชายอนุรุทธะทรงพิจารณาตามที่พระเชษฐาตรัสบอก ทรงเห็นว่าถ้าอยู่ครองเรือนจะต้องทำมาหากินเพื่อเลี้ยงชีวิตไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งดูแล้วจำเจและซ้ำซาก จึงตัดสินพระทัยใหม่

“เสด็จพี่ ถ้าเป็นฆราวาสต้องทำงานหนักอย่างเสด็จพี่ว่ามา หม่อมฉันก็ขอลาบวชดีกว่า เนื่องจากหม่อมฉันเบื่อหน่ายกับความซ้ำซากจำเจ”

เจ้าชายมหานามะไม่ทรงขัดข้อง เจ้าชายอนุรุทธะจึงเข้าเฝ้าพระมารดาเพื่อทูลขอพระราชานุญาต พระมารดาไม่ทรงประสงค์ให้พระโอรสออกบวช จึงทรงบ่ายเบี่ยงให้เจ้าชายอนุรุทธะไปชวนเจ้าชายภัททิยะ ซึ่งหมายความว่าหากเจ้าชายภัททิยะยินดีออกบวช เจ้าชายอนุรุทธะก็ออกบวชได้ด้วย แต่แรกนั้นเจ้าชายภัททิยะไม่ประสงค์จะออกบวช ด้วยได้รับราชาภิเษกให้เป็นกษัตริย์ของเจ้าชายศากยะอีกกลุ่มหนึ่งแล้ว แต่เป็นด้วยบุญบารมีที่จะได้บรรลุมรรคผล จึงทำให้ทนการชักชวนของเจ้าชายอนุรุทธะไม่ได้ จึงตรัสตอบตกลง และหลังจากนั้นอีก ๗ วัน เจ้าชายที่กล่าวพระนามมาทั้งหมดก็ได้เสด็จออกบวช โดยมีเจ้าชายภัททิยะเป็นผู้นำ ณ อนุปิยอัมพวันดังกล่าวมาแล้ว พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ทุกพระองค์ด้วยวิธีบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา

ส่วนพระอุบาลี ในฐานะเป็นช่างกัลบกประจำพระองค์ของเจ้าชายทั้ง ๕ คราวที่เจ้าชายศากยะเหล่านั้นออกบวชก็ตามเสด็จออกบวชด้วย ตามหลักฐานระบุว่าแรกทีเดียวนั้น เจ้าชายศากยะทรงคิดไม่ถึงว่าท่านจะออกบวชด้วย ทุกพระองค์ครั้นเสด็จเลยเขตแดนแคว้นสักกะแล้วก็ทรงเปลื้องเครื่องประดับออกแล้วห่อมอบให้พร้อมทั้งรับสั่งว่า

“กลับได้แล้วอุบาลี เครื่องประดับที่มอบให้นี้พอเลี้ยงตัวไปได้ตลอดชีวิตเทียวนะ”

แต่แล้วเจ้าชายทุกพระองค์ก็ต้องตกตะลึง เพราะอุบาลีไม่ยอมรับของที่ทรงมอบให้ ตรงกันข้ามกลับทิ้งตัวลงเกลือกกลิ้งร้องไห้อยู่แทบพระบาท ส่วนเจ้าชายศากยะเหล่านั้นก็หาได้ยินยอมไม่ อุบาลีเมื่อเห็นว่าไม่สามารถขัดขืนคำสั่งได้ จึงลุกขึ้นถือห่อของกลับเมืองกบิลพัสดุ์อย่างไม่สู้เต็มใจนัก ขณะที่เดินกลับนั้นอุบาลีก็ครุ่นคิดถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา เขาคิดว่าจะทูลอย่างไรเมื่อไปเผชิญหน้ากับเจ้าศากยะทั้งหลาย ในที่สุดก็สรุปได้ว่า

“พวกเจ้าศากยะถึงคราวดุร้ายก็ร้ายนักเหลือ เห็นเราถือเครื่องประดับของเจ้าชายศากยะกลับไป จะมีใครเชื่อว่าเจ้าชายศากยะได้ออกบวชหมดแล้ว ดีไม่ดีจะเข้าใจว่าเราฆ่าเจ้าชายศากยะทิ้งแล้วชิงเอาเครื่องประดับมา แล้วอาจจะฆ่าเราเสียก็ได้ เมื่อเจ้าชายศากยะเหล่านี้ยังทิ้งสมบัติทิ้งเครื่องประดับเหมือนบ้วนน้ำลายทิ้ง ออกบวชได้ แล้วไฉน เราจะทิ้งบ้างไม่ได้เล่า”

ครั้นคิดได้อย่างนี้ อุบาลีก็แก้ห่อเครื่องประดับออกแล้วเอาแขวนไว้ที่ต้นไม้ โดยตั้งใจให้เป็นทานแก่ผู้พบเห็น จากนั้นจึงรีบเดินย้อนกลับไปหาเจ้าชายศากยะเหล่านั้น แล้วบอกความประสงค์ของตนเองให้ทราบ ฝ่ายเจ้าชายศากยะเหล่านั้นเมื่อทรงเห็นว่าไม่สามารถทัดทานได้ จึงให้อุบาลีตามเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วย เจ้าชายศากยะเหล่านั้นพร้อมใจกันกราบทูลพระพุทธเจ้าให้บวชให้อุบาลีก่อน โดยให้เหตุผลว่า

“พวกข้าพระองค์เป็นเจ้าชายเชื้อสายศากยะถือตัวจัด อุบาลีนี้ก็รับใช้พวกข้าพระองค์มานาน ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าได้โปรดบวชให้เขาก่อนเถิด พวกข้าพระองค์จักได้ไหว้เขาได้ ด้วยวิธีการอย่างนี้จะช่วยให้พวกข้าพระองค์ลดความถือตัวลง พระเจ้าข้า”

พระพุทธเจ้าทรงทำตามที่เจ้าชายศากยะเหล่านั้นทูลขอ พระองค์ทรงบวชให้อุบาลีก่อนด้วยวิธีบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา จากนั้นจึงทรงบวชให้เจ้าชายศากยะทีหลัง

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 92 ก.ค. 51 โดย ผศ.ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ)
กำลังโหลดความคิดเห็น