xs
xsm
sm
md
lg

อสีติมหาสาวก ตอนที่ ๔๒ กลุ่มพระชาวแคว้นสักกะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มพระชาวแคว้นสักกะ คือ กลุ่มพระที่เป็นชาวแคว้นสักกะโดยกำเนิด นอกจากกลุ่มพระปัญจวัคคีย์และพระนาลกะแล้ว ก็ยังมีพระสาวกที่เป็นชาวแคว้นสักกะอื่นๆ อีก ๑๔ รูป คือ พระนันทะ พระราหุล พระภัททิยะ (กาฬิโคธาบุตร) พระอนุรุทธะ พระอานนท์ พระภคุ พระกิมพิละ พระอุบาลี พระเมฆิยะ พระนาคิตะ พระสีวลี พระปุณณมันตานีบุตร พระมหาอุทายี และพระกาฬุทายี แต่ละรูปมีประวัติที่น่าศึกษาดังนี้

สถานะเดิม

พระนันทะ
เกิดในวรรณะกษัตริย์ ตระกูลศากยะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางมหาปชาบดีโคตมี(พระน้านาง)ว่าโดยศักดิ์แล้ว จึงเป็นพุทธอนุชาและมีพระขนิษฐาร่วมพระมารดา คือ เจ้าหญิงรูปนันทา และเหตุที่มีชื่อว่านันทะ แปลว่า ผู้ทำ ให้พระญาติบันเทิงพระทัย เพราะในวันที่ท่านเกิดพระญาติต่างบันเทิงพระทัย

พระราหุล เกิดในวรรณะกษัตริย์ ตระกูลศากยะ เป็นพระโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะ (พระพุทธเจ้า) กับพระนางยโสธรา เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าสุทโธทนะ

พระภัททิยะ (กาฬิโคธาบุตร) เกิดในวรรณะกษัตริย์ ตระกูลศากยะ เป็นโอรสของพระนางกาฬิโคธา ผู้เป็น ธิดาของเจ้าศากยะพระองค์หนึ่ง

พระอนุรุทธะ เกิดในวรรณะกษัตริย์ ตระกูลศากยะ เป็นโอรสของเจ้าชายสุกโกทนะ พระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะ มีพระเชษฐาร่วมสายโลหิต คือ เจ้าชายมหานามะ ซึ่งต่อมาได้ครองราชสมบัติต่อจากพระเจ้าสุทโธทนะ

พระอานนท์ เกิดในวรรณะกษัตริย์ ตระกูลศากยะ เป็นโอรสของเจ้าชายอมิโตทนะ พระอนุชาอีกพระองค์หนึ่งของพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางกีสาโคตมี

พระภคุ เกิดในวรรณะกษัตริย์

พระกิมพิละ เกิดในวรรณะกษัตริย์ ตระกูลศากยะ

พระอุบาลี เกิดในวรรณะหีนชาติ (วรรณะชั้นต่ำ) ในตระกูลช่างกัลบก เป็นช่างกัลบกประจำพระองค์เจ้าชายศากยะ

พระเมฆิยะ เกิดในวรรณะกษัตริย์

พระนาคิตะ เกิดในวรรณะกษัตริย์ ตระกูลศากยะ

พระสีวลี เกิดในวรรณะกษัตริย์ เป็นโอรสของพระนางสุปปวาสา เป็นชาวเมืองกุณฑโกลิยนคร ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งของกษัตริย์โกลิยวงศ์ อันเป็นพระญาติข้างฝ่ายพุทธมารดา

พระปุณณมันตานีบุตร เกิดในวรรณะพราหมณ์ เป็นบุตรของน้องสาวของพระอัญญาโกณฑัญญะ เกิดที่หมู่บ้านโทณวัตถุ ซึ่งเป็นหมู่บ้านพราหมณ์

พระมหาอุทายี เกิดในวรรณะพราหมณ์ รับราชการในตำแหน่งปุโรหิตของพระเจ้าสุทโธทนะ

พระกาฬุทายี เกิดในวรรณะกษัตริย์ รับราชการในตำแหน่งมหาอำมาตย์ของพระเจ้าสุทโธทนะ

ชีวิตฆราวาส

พระนันทะ
โดยเหตุที่เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ จึงได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดีเช่นเดียว กับเจ้าชายสิทธัตถะผู้เป็นพระเชษฐา พระราชบิดาทรงหวังอย่างยิ่งที่จะให้สืบราชสมบัติ จึงทรงจัดให้อภิเษกสมรสกับนางชนบทกัลยาณี (หญิงงามประจำแคว้น) ขึ้นในคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับไปเยี่ยมเมืองกบิลพัสดุ์เป็นครั้งแรก

งานอภิเษกสมรสของท่านจัดพร้อมกับงานขึ้นปราสาทใหม่ ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ ๓ นับจากวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงเมืองกบิลพัสดุ์ และพระราชบิดาได้ทูลอาราธนาพระองค์ให้เสด็จไปในงานนั้นด้วย พร้อมกับพระสาวกที่ตามเสด็จมาทั้งหมด เพื่อเสวยพระกระยาหาร

พระราหุล หากจะว่าตามภาษาสามัญแล้วท่านเป็นลูกกำพร้ามาตั้งแต่เกิด เนื่องจากพระบิดาได้เสด็จออกผนวชตั้งแต่วันที่ท่านเกิด ท่านจึงรู้จักและคุ้นเคยอยู่กับแต่พระมารดาเท่านั้น หาได้รู้จักพระบิดาไม่

วันที่ ๗ นับจากวันที่เสด็จถึงเมืองกบิลพัสดุ์ พระพุทธเจ้าได้พบกับท่าน กล่าวคือ พระนางยโสธราพระมารดาได้ส่งท่านเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าขณะเสวยพระกระยาหารอยู่ในพระราชวัง โดยก่อนส่งไปนั้น พระมารดาทรงชี้ให้ท่านดูพระบิดาแล้วตรัสบอกว่า

“ลูกรัก ลูกเห็นพระสมณะรูปนั้นไหมซึ่งมีพระ ๒๐,๐๐๐ รูปแวดล้อม มีพระฉวีวรรณงดงามดังทอง มีพระรูปงามดังรูปพรหม พระสมณะรูปนั้นแหละคือพระบิดาของลูกที่จากไปตั้งแต่วันที่ลูกเกิด”

วันนั้นจึงเป็นวันแรกที่ท่านได้เห็นพระบิดา จากนั้นพระมารดาตรัสบอกให้ทูลขอทรัพย์สมบัติจากพระบิดา ท่านทำตามที่พระมารดาตรัสบอกเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และอาศัยความสัมพันธ์ทางสายเลือด ท่านรู้สึกอบอุ่นใจเป็นที่สุด แสดงท่าร่าเริงเบิกบานอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

“ข้าแต่พระบิดา ร่มเงาของพระองค์ดูช่างร่มรื่น” ท่านกราบทูลขณะเข้าไปถวายบังคม พระพุทธเจ้าทรงมองดูพระปิโยรสด้วยพระเนตรอ่อนโยน แต่มิได้ตรัสอะไร พอเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว หลังจากตรัสอนุโมทนาก็เสด็จกลับนิโครธาราม ฝ่ายพระปิโยรสก็ ตามเสด็จมาด้วยติดๆพลางทูลฉอเลาะ

“ข้าแต่พระบิดา โปรดประทานสมบัติให้แก่ลูกเถิด” ท่านตามเสด็จพระพุทธเจ้าไปจนกระทั่งถึงนิโครธาราม และวันนั้นเป็นวันที่ชีวิตฆราวาสของท่านสิ้นสุดลง ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุประมาณ ๗ ขวบ

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 90 พ.ค. 51 โดย ผศ.ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ)
กำลังโหลดความคิดเห็น