xs
xsm
sm
md
lg

อสีติมหาสาวก ตอนที่ ๓๙ กลุ่มพระชาวแคว้นโกศล (ต่อจากฉบับที่แล้ว)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วาจานุสรณ์

พระวักกลิ
คราวหนึ่ง ขณะพักอยู่ในป่าใหญ่ใกล้เขาคิฌชกูฏ เกิดเป็นลมขึ้นเพราะความหิว เนื่องจากไม่ได้ฉันอาหาร พระพุทธเจ้าทรงทราบจึงเสด็จมาเยี่ยมแล้วตรัสถาม

ภิกษุ ป่าใหญ่ที่เธอมาพักอยู่นี้แห้งแล้ง ไม่มีหมู่บ้านอยู่ใกล้ ขณะนี้เธอก็อาพาธด้วยโรคลมแล้ว จักช่วยตัวเองอย่างไร

พระวักกลิกราบทูลว่า

ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์จักแผ่ปีติและสุขให้ซาบซ่านไปทั่วร่างกาย แล้วปีติและสุขนั้นจักข่มความหิวให้ระงับลงได้ ข้าพระองค์ก็จักสามารถอยู่ในป่าใหญ่ที่แห้งแล้งเช่นนี้ได้

พระยโสชะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้วได้สมาทานธุดงค์หมดทั้ง ๑๓ ข้อ ท่านปฏิบัติโดยเคร่งครัดจนร่างกายซูบผอมผิวพรรณไม่ผ่องใส พระพุทธเจ้าทรงยกย่อง ท่านว่าเป็นผู้มักน้อย แม้จะซูบผอมเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเส้นเอ็น แต่ก็ยังรู้จักฉันอาหาร แต่พอดี และไม่ท้อแท้ สมควรที่จะยึดถือเป็นแบบอย่าง พระทั้งหลายที่ยังเป็นปุถุชน ได้รับคำแนะนำจากพระพุทธเจ้าเช่นนี้ จึงพากันมาหาท่าน ท่านจึงสอนพระเหล่านั้นว่า

ภิกษุอยู่ในป่าใหญ่ย่อมถูกเหลือบยุงกัด
ต้องมีสติ อดทน จึงจะอยู่ได้
คล้ายช้างอาชาไนย อดทนอยู่ในสนามรบ
จะอยู่อย่างพรหมก็ต้องอยู่รูปเดียว เพราะสงบสงัด
จะอยู่อย่างเทวดาก็ต้องอยู่ ๒ รูป เพราะจะขัดแย้งกันเป็นครั้งคราว
จะอยู่อย่างชาวบ้านก็ต้องอยู่ ๓ รูป เพราะจะวุ่นวายไม่สิ้นสุด


พระกุณฑธานะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว โดยพระพุทธานุญาต ท่านได้เหาะขึ้นไปกลางอากาศแล้วแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ จากนั้นจึงกล่าวแก่พระที่ยังเป็นปุถุชนว่า

กิเลสที่ผูกสัตว์ไว้ในภพขั้นหยาบ ๕ อย่างคือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ และปฏิฆะ ภิกษุต้องตัดให้ได้

กิเลสที่ผูกสัตว์ไว้ในภพขั้นละเอียด ๕ อย่าง คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา ภิกษุต้องละให้ได้

อินทรีย์ธรรม ๕ อย่าง คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ภิกษุต้องทำให้ เกิดขึ้นให้ได้

เพราะภิกษุที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า ข้ามโอฆะ(ห้วงน้ำคือกิเลส) ได้นั้น ต้องล่วงพ้นกิเลสเครื่องทำให้ข้องติด ๕ อย่างคือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ และทิฏฐิ


พระปิลันทวิจฉะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว วันหนึ่งขณะนั่งอยู่กับพระจำนวนมาก ท่านพิจารณาถึงผลสำเร็จแห่งการฏิบัติที่ได้รับว่า เนื่องมาจากได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า จึงกล่าวขึ้นท่ามกลางที่ประชุมว่า

การที่ได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นการมาดีแล้ว
การที่คิดไว้ว่าจักฟังธรรมในสำนักของพระพุทธเจ้าแล้วบวช
มิใช่ความคิดที่เลว
เพราะเมื่อพระพุทธเจ้าทรงจำแนกธรรมทั้งหลายอยู่นั้น
เราก็ได้บรรลุโลกุตตรธรรมอันประเสริฐ


พระมหาโกฏฐิตะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้วเกิดความสุขใจอย่างที่ไม่เคยเกิด มาก่อน คราวหนึ่งท่านต้องการจะประกาศให้ทราบว่า ความสงบก่อให้เกิดประโยชน์ ต่อการบรรลุธรรม จึงกล่าวว่า

ภิกษุผู้สงบระงับไม่ฟุ้งซ่าน
คิดรอบคอบก่อนแล้วจึงพูดเสมอ
ย่อมปลิดบาปธรรมออกไปจากจิตได้
คล้ายลมปลิดใบไม้แก่หลุดจากขั้ว


พระโสภิตะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว คราวหนึ่งท่านนั่งพิจารณาการระลึกชาติ ได้ของท่าน ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสยกย่องว่าเสมอด้วยพระองค์ และพิจารณาถึงวิธีปฏิบัติจนเกิดการระลึกชาติได้มากมายนั้นแล้วเกิดปีติ จึงกล่าวว่า

เราผู้เป็นภิกษุ มีสติและปัญญา ปรารถนาความเพียรเป็นกำลัง
จึงระลึกชาติก่อนๆ ถึง ๕๐๐ กัป ได้อย่างรวดเร็ว
เหมือนนึกถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในคืนเดียว
เพราะเจริญ สติปัฏฐาน ๔ โพชฌงค์ ๗ และมรรคมีองค์ ๘
เราระลึกชาติก่อนๆ ถึง ๕๐๐ กัป ได้อย่างรวดเร็ว
เหมือนนึกถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในคืนเดียว


พระอุปวาณะ ทำหน้าที่ถวายการอุปัฏฐากแก่พระพุทธเจ้ามาก่อนพระอานนท์ คราวหนึ่งขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ในเมืองสาวัตถี ทรงประชวรด้วยพระโรคลม ท่านได้เข้าไปหาพราหมณ์เทวหิตะสหายเก่า เพื่อขอน้ำร้อนและยาแก้โรคลมตามที่เคยปวารณาไว้ คัมภีร์บันทึกคำขอของท่านไว้ว่า

ท่านพราหมณ์ พระมุนีพระศาสดาของอาตมา
ทรงประชวรด้วยพระโรคลม พระองค์เป็นพระอรหันต์
เสด็จไปดีในที่ทุกแห่งในโลก
ถ้าท่านมีน้ำร้อนก็จงถวายแด่พระองค์เถิด
พระศาสดาของอาตมานั้น
บรรดาทวยเทพที่ควรบูชา พระองค์ได้รับการบูชามากกว่า
บรรดาอิสรชนที่ควรสักการะ พระองค์ได้รับการสักการะมากกว่า
บรรดาพระขีณาสพที่ควรนอบน้อม พระองค์ได้รับการนอบน้อมมากกว่า
อาตมาปรารถนาจะนำน้ำร้อนและยาไปถวายพระองค์


พราหมณ์เทวหิตะ เมื่อทราบความต้องการของท่าน จึงได้จัดยาและน้ำร้อนถวาย ตามที่ขอ พระพุทธเจ้าครั้นได้เสวยยาที่ท่านปรุงถวายแล้วไม่นานก็ทรงหายประชวร

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 87 ก.พ. 51 โดย ผศ.ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ)
กำลังโหลดความคิดเห็น