xs
xsm
sm
md
lg

อสีติมหาสาวก ตอนที่ ๔๕ กลุ่มพระชาวแคว้นสักกะ (ต่อจากฉบับที่แล้ว)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การออกบวช(ต่อ)

พระเมฆิยะ พระนาคิตะ สันนิษฐานว่า จะออกบวชเมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จเมืองกบิลพัสดุ์ครั้งแรก ทั้งนี้ เพราะทั้ง ๒ ท่านเป็นเจ้าชายเชื้อสายศากยะที่อยู่ในกลุ่มเจ้าชายที่พระบิดาพระมารดาเคยถวายตัวคราวที่พระพุทธเจ้าประสูติว่า จักให้เป็นบริวารตามเสด็จเมื่อพระองค์ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พันธสัญญาข้อนี้ได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่งโดยพระเจ้าสุทโธทนะ ซึ่งพระองค์ทรงกล่าวเตือนว่า แม้ลูกชายของเราจะมิได้เป็นพระเจ้าจักพรรดิ แต่ก็ได้เป็นพระพุทธเจ้า จึงสมควรที่เจ้าชายทั้งหลายที่เคยถวายตัวไว้จะได้ออกบวชตามเสด็จเป็นพุทธบริวาร ปรากฏว่าจากพระราชปรารภของพระเจ้าสุทโธทนะในครั้งนั้น พระประยุรญาติต่างอนุญาตให้โอรสออกบวชตามเสด็จพระพุทธเจ้าเป็นจำนวนมาก เจ้าชายเมฆิยะและเจ้าชายนาคิตะก็น่าจะอยู่ในหมู่เจ้าชายที่ออกบวชตามเสด็จครั้งนั้นด้วย

มีหลักฐานปรากฏชัดอยู่ว่า ก่อนออกบวชนั้น เจ้าชายนาคิตะได้ทรงสดับมธุปิณฑิกสูตรที่พระพุทธเจ้าแสดงความว่า

ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ย่อมครอบงำบุรุษเพราะเหตุใด
ถ้าในเหตุนั้นไม่มีสิ่งที่จะพึงเพลิดเพลินชื่นชมสยบไชร้
อันนี้แหละเป็นที่สุดแห่งอนุสัย(กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน)
คือ ราคะ ปฏิฆะ ทิฐิ วิจิกิจฉา ภวราคะ อวิชชา
เป็นที่สุดแห่งการจับท่อนไม้ การจับศัตรา การทะเลาะ การถือผิด
การโต้เถียงกัน การด่าว่ากัน การส่อเสียดยุยง และการ กล่าวเท็จ
อกุศลกรรมอันลามกเหล่านั้น ย่อมดับไปไม่เหลือในเพราะเหตุนั้น


ส่วนเจ้าชายเมฆิยะไม่มีระบุไว้ว่า ท่านได้ฟังธรรมะอะไรหรือไม่

พระสีวลี ออกบวชในวันที่ ๗ หลังจากที่ประสูติจากครรภ์พระมารดา โดยพระบิดาและพระมารดาได้มอบถวายให้พระสารีบุตร

เรื่องมีอยู่ว่า นับแต่วันประสูติจากครรภ์พระมารดา พระบิดาและพระประยุรญาติได้นิมนต์พระพุทธเจ้าและพระสาวกมาฉันภัตตาหารที่พระตำหนัก เจ้าชายสีวลีโดยเหตุที่อยู่ในครรภ์พระมารดานานถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน เมื่อประสูติออกมาจึงทรงทำงานได้เลย ดังนั้นจึงได้ช่วยเลี้ยงพระด้วย พระสารีบุตรจับตาดูเจ้าชายพระองค์น้อยมาแต่วันแรก ครั้นถึงวันที่ ๗ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่รับนิมนต์ไว้ จึงได้สนทนากับเจ้าชายเพื่อสร้างความคุ้นเคย

เมื่อเสร็จภัตกิจ พระพุทธเจ้าตรัสอนุโมทนา จากนั้นพระสารีบุตรได้สนทนากับเจ้าชายน้อย

“เธอทุกข์ทรมานอยู่ในท้องแม่มานานขนาดนี้ ออกบวชไม่ดีกว่าหรือ”

เจ้าชายน้อยตรัสตอบว่า “ถ้าบวชได้ก็จะบวช”

ขณะนั้นเองพระนางสุปปวาสาทอดพระเนตรเห็นเจ้าชายน้อยสนทนาอยู่กับพระสารีบุตร จึงเสด็จเข้าไปใกล้ พระสารีบุตรได้ถวายพระพรให้ทราบว่ากำลังชวนเจ้าชายออกบวช และเจ้าชายน้อยก็สนพระทัย พระนางสุปปวาสาทรงดีพระทัยเป็นอย่างมาก จึงตรัสอนุญาตให้พระเถระช่วยจัดการบวชให้ตามที่เจ้าชายประสงค์

เมื่อพระนางสุปปวาสาและพระประยุรญาติรวมทั้งพระบิดาอนุญาตแล้ว พระสารีบุตรก็นำเจ้าชายน้อยไปวัด แล้วจัดการบวชให้เป็นสามเณร และนับแต่วันที่ท่านบวช ลาภสักการะก็เกิดขึ้นเป็นอย่างมากแก่ภิกษุสงฆ์ที่รวมในวัดนั้น

พระปุณณมันตานีบุตร ออกบวชเมื่อคราวที่พระอัญญาโกณฑัญญะเดินทางกลับมาบ้านเกิด กล่าวคือหลังจากจำพรรษาแรก ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวันแล้ว พระพุทธเจ้าทรงส่งพระสาวก ๖๐ รูปออกไปประกาศพระพุทธศาสนา หนึ่งในจำนวนนั้นมีพระอัญญาโกณฑัญญะรวมอยู่ด้วย ท่านได้เดินทางกลับไปบ้านเกิดและได้แสดงธรรมโปรดบรรดาญาติ ปุณณมันตานีบุตรสังเกตดูกิริยาอาการของหลวงลุงอยู่ตลอดเวลา รู้สึกเลื่อมใสจึงได้ขอบวช พระอัญญาโกณฑัญญะได้บวชให้ท่านตามประสงค์

พระมหาอุทายี ออกบวชเมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับไปเมืองกบิลพัสดุ์เป็นครั้งแรก เพื่อโปรดพระประยุรญาติ กล่าวคือ ท่านได้เห็นพระพุทธเจ้าทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ด้วยการทำให้ฝนโบกขรพรรษตกลงมา และทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ เพื่อให้พระประยุรญาติเหล่านั้นคลายทิฐิมานะ แล้วก็เลื่อมใสในพุทธานุภาพ ดังนั้น เมื่อได้โอกาสที่เหมาะสมจึงเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วทูลขอบวช พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ท่านตามที่ทูลขอ

พระกาฬุทายี ออกบวชเมื่อคราวที่พระเจ้าสุทโธทนะทรงแต่งตั้งให้ท่านเป็นทูต แล้วส่งไปนิมนต์พระพุทธเจ้าให้เสด็จมาเมืองกบิลพัสดุ์ กล่าวคือ ก่อนพาบริวาร ๑,๐๐๐ คนเดินทางมายังเมืองราชคฤห์ตามที่พระเจ้าสุทโธทนะทรงส่งมานั้น ท่านได้ขอพระราชานุญาตเพื่อออกบวชไว้ด้วย ซึ่งพระเจ้าสุทโธทนะก็ทรงอนุญาต ทั้งนี้เป็นด้วยพระเจ้าสุทโธทนะทรงเพียรพยายามส่งทูตไปทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าให้ เสด็จมาเมืองกบิลพัสดุ์ถึง ๙ คณะแล้ว คณะทูตเหล่านั้นครั้นไปถึงได้ฟังพระพุทธเจ้าแสดงธรรมแล้วเกิดศรัทธาทูลขอบวช โดยที่มิได้ทูลให้พระพุทธเจ้าทรงทราบถึงพระประสงค์ของพระเจ้าสุทโธทนะ คณะของพระกาฬุทายีเป็นคณะที่ ๑๐ ขณะที่ท่านพาบริวารเดินทางไปถึงวัดเวฬุวันนั้น พระพุทธเจ้ากำลังแสดงธรรมอยู่ หลังจากพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจบ ท่านได้พาบริวารเข้าเฝ้าแล้วทูลขอบวช ต่อมาได้กราบทูลให้ทรงทราบถึงพระประสงค์ของพระเจ้าสุทโธทนะ และพระพุทธเจ้าก็ทรงรับนิมนต์เสด็จมาเมืองกบิลพัสดุ์

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 93 ส.ค. 51 โดย ผศ.ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ)
กำลังโหลดความคิดเห็น