แม้กาลเวลาจะผ่านไปครบ 200 ปีเกิดของชาร์ลส์ ดาร์วิน (วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552) นักชีววิทยาและนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดทฤษฎีวิวัฒนาการ จนเป็นที่ยอมรับของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก และได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘บิดาแห่งทฤษฎีวิวัฒนาการ’
แต่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกก็ยังไม่หยุดนิ่งที่จะหาคำตอบสุดท้ายให้กับทฤษฎีนี้ว่าเป็นจริงหรือไม่
ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “เชื่อในทฤษฎีวิวัฒนาการ เพราะมีหลักฐานหลายอย่างที่สนับสนุนทฤษฎีนี้ ทั้งสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ ซากฟอสซิลต่างๆ และการพิสูจน์ด้วยดีเอ็นเอ รวมทั้งการทดลองทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ ก็พบว่าจุลินทรีย์มีการปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้ ซึ่งเรื่องวิวัฒนาการนี้ก็มีอธิบายอยู่ในพระพุทธศาสนาด้วยเหมือนกัน ก็คือเรื่องของอนิจจังหรือความไม่เที่ยงนั่นเอง ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อย่างโลกของเราก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย สิ่งมีชีวิตบางชนิดสูญพันธุ์ไป ก็มีสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นวิวัฒนาการขึ้นมาแทนที่ เป็นอย่างนี้เรื่อยมา”
อย่างไรก็ตาม นอกจากนักชีววิทยาจะให้ความสนใจกับทฤษฎีของดาร์วินแล้ว ยังมีนักจิตวิทยาที่สนใจแนวคิดในทฤษฎีของเขาด้วย พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า
“ชาร์ลส์ ดาร์วิน เป็นชาวพุทธ?”
หรือว่า “ชาร์ลส์ ดาร์วิน อาจได้รับแรงบันดาลใจจากพุทธศาสนา”
โดยในช่วงครบรอบ 200 ปีเกิดของดาร์วิน สื่อต่างประเทศหลายสำนัก ได้นำเสนอประเด็นนี้เป็นข่าว ซึ่ง‘ธรรมลีลา’ ได้รวบรวมมาถ่ายทอดไว้ดังนี้
........
ในการแสดงออกทางอารมณ์ของมนุษย์และสัตว์นั้น ชาร์ลส์ ดาร์วิน บิดาแห่งทฤษฎีวิวัฒนาการกล่าวไว้ว่า อารมณ์และความเห็นอกเห็นใจเป็นเรื่องสากลและเป็นคุณสมบัติเฉพาะที่ธรรมชาติได้คัดสรรไว้ให้มนุษย์
ขณะที่ชารลส์ ดาร์วิน ร่วมเดินทางไปกับเรือหลวงบีเกิล ในฐานะนักธรรมชาติวิทยา ซึ่งเป็นการเดินทางรอบโลก เขาได้พบความจริงว่าเขาสามารถเข้าใจการแสดงออกทางสีหน้าของผู้คนจากหลากหลายวัฒนธรรม แต่ไม่เข้าใจภาษาพูดและท่าทาง ดาร์วินเชื่อว่าความรู้สึกเรื่องความเห็นอกเห็นใจนั้นมาจากความต้องการทางธรรมชาติที่จะบรรเทาความทุกข์ของผู้อื่น และเขายังเป็นผู้ที่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการเลิกทาส
ดร.พอล เอ็คมัน นักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมืองซานฟราสซิสโก หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญชั้นนำ ของโลกด้านวิวัฒนาการทางอารมณ์ ผู้เขียนเรื่องความรู้เบื้องต้นในการแสดงออกทางอารมณ์ กล่าวในการประชุมประจำปีของสมาคมความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์แห่งอเมริกา(AAAS) ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา เมื่อเร็วๆนี้ ว่าวิธีคิดของดาร์วินสอดคล้องกับวิธีคิดของชาวพุทธทิเบต และเขายังพบหลักฐานว่าดาร์วินเองก็ตระหนักถึงหลักปรัชญาของพุทธศาสนาในทิเบตเช่นกัน
ดร.เอ็คมันกล่าวว่า หลักปรัชญาเรื่องศีลธรรมของชารลส์ ดาร์วิน อาจจะได้รับแรงบันดาลใจจากงานเขียนของพระสงฆ์ในทิเบต
“ช่วงหลายปีที่ผ่านมา สิ่งที่ผมสนใจก็คือบทความของดาร์วินในเรื่องความเห็นอกเห็นใจและศีลธรรม ซึ่งคนทั่ว ไปรู้จักน้อยกว่าบทความเรื่องการแสดงออกทางอารมณ์และมันช่างเป็นความบังเอิญตรงกันที่น่าประหลาดใจ ขอย้ำว่าถ้าเป็นความบังเอิญที่ตรงกัน ก็คือวิธีคิดของดาร์ วินในเรื่องความเห็นอกเห็นใจและศีลธรรม ช่างเหมือนกันกับมุมมองของพุทธศาสนาในทิเบต
และเมื่อผมอ่านบทความบางตอนของดาร์วินให้ ‘องค์ทะไล ลามะ’ ฟัง ท่านกล่าวว่า “ตอนนี้ข้าพเจ้ายอม รับทฤษฎีของดาร์วิน”
วิธีคิดของชาวพุทธซึ่งเหมือนกับของดาร์วินบอกว่า เมล็ดพันธุ์ของความเห็นอกเห็นใจถูกบ่มเพาะในการเลี้ยงดูจากแม่สู่ลูก และขยายวงกว้างเป็นความเห็นอกเห็นใจที่มีต่อส่วนรวม คือมองผู้อื่นเสมือนเราเป็นแม่ เมื่อผมเห็นคุณทุกข์ ผมก็ทุกข์ด้วย และเกิดแรงจูงใจที่ จะบรรเทาทุกข์ของคุณ เพื่อความทุกข์ของผมจะได้ลดลงด้วย องค์ทะไล ลามะ กล่าวว่าการแสดงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น จะช่วยให้ผมมีความทุกข์น้อยลงกว่าคนที่ผมได้ช่วยเสียอีก ซึ่งนั่นก็เป็นความเหมือนกันอย่างชัดเจนในงานเขียนของพุทธศาสนาและของดาร์วิน”
ดร.เอ็คมันกล่าวว่าเขาใช้เวลาสองวันเต็มๆในการนั่งคุยแบบเจาะลึกกับองค์ทะไล ลามะ ซึ่งเป็นที่มาของหนังสือเรื่อง “Emotional Awareness: Overcoming the Obstacles to Psychological Balance and Compassion”ซึ่งเขาเขียนร่วมกับองค์ทะไล ลามะ
เขาบอกว่ามีหลักฐานหลายอย่างชี้ให้เห็นว่า ความคิดเห็นของดาร์วินในเรื่องอารมณ์และความเห็นอกเห็นใจนั้น ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากพุทธศาสนาแบบทิเบต
“หรือถ้าไม่ใช่ ..ก็มีความป็นไปได้ที่คนฉลาด 2 คนเฝ้ามองสิ่งๆหนึ่งเป็นเวลานานพอที่จะหาข้อสรุปได้ตรงกัน” เขากล่าว
แต่ดร.เอ็คมันก็ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “ผมไม่ได้พูดว่าดาร์วินเป็นชาวพุทธ” ถ้าจะพูดให้ถูกก็คือ เขาได้รับแรงบันดาลใจทางความคิดจากวีธีคิดของศาสนาพุทธนั่นเอง”
ดร.เอ็คมันยังได้เปิดเผยถึงสิ่งที่ทำให้เขาตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ว่า ดาร์วินรู้จักพุทธศาสนาแบบทิเบตจากหลาย ทาง อาทิ เพื่อนสนิทของเขาที่ชื่อเซอร์โจเซฟ ดัลตัน ฮุคเกอร์ ซึ่งเป็นนักพฤกษศาสตร์ เคยเดินทางไปทิเบตในปี 1847 และที่นี่เองที่ทำให้เขาคุ้นเคยกับแนวคิดทางพุทธศาสนา และเขียนจดหมายโต้ตอบกับดาร์วินเป็นประจำ นอกจากนี้ ‘เอ็มม่า เวดจ์วูด’ ภรรยาคู่ชีวิตของดาร์วินก็สนใจพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่ว่าครั้งหนึ่งเธอพูดถึงหลานชายคนหนึ่งซึ่งมีบุคลิกเคร่งขรึม และสงบเงียบ ว่าเป็น “ลามะที่ยิ่งใหญ่”
‘ชาร์ลส์ ดาร์วิน’ กับ ‘ทฤษฎีวิวัฒนาการ’
ชาร์ลส์ ดาร์วิน มีชื่อเต็มว่า ‘ชาร์ลส์ โรเบิร์ต ดาร์วิน’ เกิดเมื่อวันที่ 12 ก.พ.1809 ที่เมืองชูรว์สเบอรี ของอังกฤษ พ่อได้ส่งเขาไปเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระ แต่เรียนได้เพียง 2 ปี ก็ออก เพราะเขารับไม่ได้กับการเรียนวิชาผ่าตัด จึงย้ายไปเรียนด้านศาสนาและเทววิทยา ในเมืองเคมบริดจ์ เพื่อเตรียมตัวที่จะไปเป็นนักบวชในคริสตศาสนา ซึ่งเขาก็ไม่ได้ชอบเท่าใดนัก
แต่ด้วยความที่เป็นคนสนใจใฝ่รู้เกี่ยวกับพืช สัตว์ และธรรมชาติรอบตัว ทำให้มีผู้เห็นแววความเป็นนักธรรมชาติวิทยาในตัวดาร์วิน และชักชวนให้เขาร่วมเดินทางไปกับเรือหลวงบีเกิล ในฐานะนักธรรมชาติวิทยา ซึ่งเป็นการเดินทางรอบโลก โดยใช้เวลาทั้งสิ้นเกือบ 5 ปี (ประมาณ 57 เดือน)ในระหว่างนั้นเขาได้พบเห็นความหลากหลายในธรรมชาติ และบันทึกสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ทั้งหมด
ดาร์วินวิเคราะห์ข้อมูลจากสิ่งที่เขาพบเห็น และบันทึกไว้ จนได้ข้อสันนิษฐานว่าสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด มีลักษณะแตกต่างกันไปตามถิ่นที่อยู่อาศัย ซึ่งธรรมชาติมีอิทธิพลต่อการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น สิ่งมีชีวิตชนิดไหนที่ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ก็มีโอกาสอยู่รอดต่อไป ส่วนสิ่งมีชีวิตไหนที่ปรับตัวไม่ได้ก็ค่อยๆ ตายไป จนกลายมาเป็น “ทฤษฎีวิวัฒนาการ” (theory of evolution) เป็นทฤษฎีที่ศึกษาเรื่องวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตว่า มีความเป็นมาอย่างไร มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายในปัจจุบันมีพัฒนาการมาจากอดีตอย่างไร
ต่อมาเขาพิมพ์หนังสือเรื่อง On the Origin of Species(กำเนิดสิ่งมีชีวิต) เพื่ออธิบายถึงการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต โดยมีธรรมชาติเป็นตัวกำหนด ทำให้เขาถูกต่อต้านจากองค์กรคริสต์ศาสนาและผู้นับถือคริสต์ศาสนาเป็นอันมาก เพราะแนวคิดเรื่องวิวัฒนาการของดาร์วินขัดแย้งกับคัมภีร์ไบเบิลที่กล่าวว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างโลกและสรรพสิ่งทั้งปวง ทั้งยังทรงสร้างมนุษย์ด้วย
ในปี 1871 เขาได้พิมพ์หนังสืออีกเรื่องคือ The Descent of Man ซึ่งมีเนื้อ หาเกี่ยวกับวัฒนาการของมนุษย์ เขาได้สรุปไว้ว่า บรรพบุรุษของมนุษย์มีเชื้อสายแยกมาจากสายพันธุ์ของลิงApe(ลิงไม่มีหาง) และมนุษย์ก็เป็นวิวัฒนาการอันสมบูรณ์ขั้นสุดท้ายในวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต
และในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ เขาได้อธิบายเรื่องวิวัฒนาการของมนุษย์และให้ความสำคัญกับเรื่องการคัดเลือกทางเพศ กล่าวคือมนุษย์จะสร้างทายาททางเพศเพื่อจับคู่กับเพศอื่น และผสมพันธุ์เพื่อสืบลูกหลาน เขาอธิบายว่าความฉลาดของมนุษย์เป็นการคัดเลือกตามธรรมชาติ ความฉลาดทำให้มนุษย์มีศีลธรรม หัวใจของ ศีลธรรมคือเรื่องการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หมายถึงการอุทิศตนทำความดีเพื่อผู้อื่น ดาร์วินอธิบายว่าการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นจะเริ่มจากคนภายในกลุ่ม เมื่อมนุษย์พัฒนาขึ้นมนุษย์ก็จะเห็นใจคนที่อยู่นอกกลุ่ม
จากนั้น ผลงานของดาร์วิน ได้รับการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องออกมาอีกหลายเรื่องด้วยกัน เช่น การแสดงออกทางอารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์และสัตว์, การสืบ พันธุ์ของพืช, พฤติกรรมของหนอน เป็นต้น
ดาร์วินแต่งงานกับ เอมมา เวดจ์วูด เมื่อปี 1839 มีบุตรด้วยกัน 10 คน ซึ่งมี 3 คน ที่เสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก ในปี1882 ดาร์วินก็เสียชีวิตลงจากอาการป่วยด้วยวัย 73 ปี
กำเนิดพุทธศาสนาในทิเบต
พุทธศาสนาได้เข้าสู่ทิเบตในสมัยกษัตริย์สองซันกัมโปเรืองอำนาจ ด้วยความสนพระทัยอันเป็นทุนเดิมอยู่แล้วพร้อมทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากพระมเหสี ชาวจีนและเนปาลซึ่งเป็นชาวพุทธที่เคร่งครัด ถึงแม้ว่าพุทธศาสนาจะถูกขัดขวางจากลัทธิบอนอันเป็นลัทธิดั้งเดิม พุทธศาสนาเข้าสู่ทิเบตทั้งจากอินเดียและจีน ได้มี บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของทิเบตว่าได้เกิดการสังคายนาพุทธศาสนา ณ กรุงลาซา เป็นการสังคายนาระหว่างนิกายเซ็นของจีนและวัชรยานจากอินเดีย ในรัชสมัย พระเจ้าทิซองเด็ตเชน ชาวทิเบตเลื่อมใสในวัชรยานมากกว่า ดังนั้นพุทธศาสนาวัชรยานจึงลงรากฐานมั่นคงในทิเบตสืบมา
พระเจ้าทิซองเด็ตเชนได้ทรงนิมนต์พระศานตรักษิต ภิกษุชาวอินเดีย และคุรุปัทมสมภพเข้ามาเพื่อเผยแผ่ธรรม โดยเฉพาะคุรุปัทมสมภพได้เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวทิเบตอย่างมากจนได้ยกย่องท่านว่าเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 2 และขนานนามท่านว่ากูรูรินโปเช่ หรือแปลว่าพระอาจารย์ผู้ประเสริฐ
กูรูรินโปเช่ ได้ร่วมกับพระศานตรักษิตสร้างวัดชัมเย่ขึ้นในปีค.ศ.787 และได้เริ่มมีการอุปสมบทพระภิกษุชาวทิเบตขึ้นเป็นครั้งแรก ในความอุปถัมภ์ของพระเจ้าทิซองเด็ตเชน ทั้งนี้ยังได้จัดนักปราชญ์ชาวทิเบตเข้าร่วมในการแปลพระพุทธธรรมเป็นภาษาทิเบตด้วยอย่างมากมาย
วัชรยาน (Vajrayana) เป็นชื่อหนึ่งของลัทธิพุทธตันตระ ซึ่งถือว่ามีหลักปรัชญา สูงเหนือธรรมชาติ มีความแข็งเหมือนเพชร ใสเหมือนอากาศ ไม่มีใครต้านได้เหมือน สายฟ้า จึงเรียกปรัชญานั้นว่า ‘วัชระ’ และเรียกลัทธิว่า ‘วัชรยาน’ พุทธศาสนาแบบวัชรยาน มีนิกายย่อยสำคัญ 4 นิกาย ซึ่งแต่ละนิกายล้วนมีสังฆราช หรือผู้ปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ในแต่ละนิกายนั้นๆ ได้แก่
นิกายณยิงมาปะ เป็นนิกายแรกและเก่าแก่ดั้งเดิมและยังคงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยถือว่ากำเนิดจากท่านคุรุปัทมสมภพ ณยิงมาปะ
นิกายคากิว เป็นนิกายสำคัญนิกายหนึ่งในต้นศตวรรษที่11 ผู้ก่อตั้งคือมาร์ปะ ผู้สืบสายคำสอนมาจากนาโรปะ นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งมหาวิทยาลัยนาลันทา
นิกายสักกยะ ตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 11 ผู้ก่อตั้งนิกายคือผู้สืบเชื้อสายขุนนางเก่าตระกูล คอน คอนโซก เกียวโป
นิกายกาดัมและเกลูปะ จุดเริ่มของทั้ง 2 นิกายมาจากอติษะและศิษย์ของท่านชื่อดอมทอนปะ อติษะได้เน้นมากในเรื่องคำสอนดั้งเดิมของพุทธศาสนาและเน้นใน การปฏิบัติพระธรรมวินัยที่เคร่งครัดโดยไม่เน้นในคำสอนตันตระ ศิษย์ของอติษะได้ก่อตั้งนิกายกาดัมปะขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปกาดัมปะได้สูญเอกลักษณ์ของตนเองไปบ้างด้วยแรงดึงดูดใจจากตันตระ ต่อมาในศตวรรษที่14 ซองคาปาพระภิกษุที่มีชื่อเสียงได้ปฏิวัตินิกายกาดัมปะขึ้นมาใหม่ให้คงเอกลักษณ์เดิม และได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นนิกายเกลูปะ เอกลักษณ์ของนิกายคือสวมหมวกสีเหลือง หรือนิกายหมวกเหลือง ซึ่งเป็นนิกายในสังกัดขององค์ทะไล ลามะ
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 100 มี.ค. 52 โดยบุญสิตา)