xs
xsm
sm
md
lg

200 ปี "ชาร์ลส์ ดาร์วิน" ทั่วโลกร่วมยกย่องผู้สร้างทฤษฎีวิวัฒนาการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักแสดงแต่งกายเลียนแบบชาร์ลส์ ดาร์วิน เป็นแบบให้ช่างภาพถ่ายภาพด้านหน้ามหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 52 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการเฉลิมฉลองครบ 200 ปี วันเกิดดาร์วินในวันที่ 12 ก.พ. 52 โดยมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์แห่งนี้เป็นสถานที่ฝังศพของดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยาผู้ยิ่งใหญ่ชาวอังกฤษ (เอเอฟพี)
เมื่อ 200 ปีก่อน เด็กชายคนหนึ่งถือกำเนิดขึ้นท่ามกลางครอบครัวผู้มีฐานะดี ในแถบชนบทของเกาะอังกฤษ เด็กน้อยผู้นี้ถูกกระบวนการคัดสรรทางธรรมชาติจนกลายเป็นนักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่ บนเส้นทางของนักธรรมชาติวิทยา

เพียงดินสอและแผ่นกระดาษก็สามารถนำพา "ชาร์ลส์ โรเบิร์ต ดาร์วิน" (Charles Robert Darwin) ให้อธิบายถึงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่ถูกกำหนดโดยธรรมชาติ ซึ่งเป็นแนวคิดที่จุดชนวนให้เกิดการโต้เถียงขึ้นในสังคมอย่างกว้างขวางจนถึงปัจจุบัน และสั่นคลอนสถาบันศาสนาอย่างรุนแรง ทว่าทฤษฎีที่ผุดขึ้นในสมองของเขา กลายเป็นมรดกตกทอดมาถึงคนรุ่นหลัง และเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาวิทยาศาสตร์สมัยใหม่

12 ก.พ. 2552 ในปีนี้ นับเป็นวันครบรอบวันคล้ายวันเกิด 200 ปี ของดาร์วิน และเป็นวันที่ทั่วโลก ได้จัดงานเฉลิมฉลองให้กับเขา ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่เช่นเดียวกับไอแซค นิวตัน, อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, กาลิเลโอ กาลิเลอิ และนักวิทยาศาสตร์เอกของโลกอีกหลายคน ที่ไม่เพียงแต่หักล้างความเชื่อเดิมและก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ แต่ยังเปลี่ยนแปลงพื้นฐานทางความรู้สึกนึกคิดในจิตใจของคนเราด้วย

"สำหรับผม ชาร์ลส์ ดาร์วิน คือนักคิดนักปรัชญาคนสำคัญมากที่สุด เท่าที่เคยมีมาในเผ่าพันธุ์มนุษย์" คำกล่าวของริชาร์ด ดอว์กินส์ (Richard Dawkins) นักชีววิวัฒนาการ ผู้เขียน "เดอะ ก็อด ดีลูชัน" (The God Delusion) ซึ่งเป็นหนังสือที่ตีแผ่เกี่ยวกับความเชื่อแบบผิดๆ ในเรื่องของพระเจ้า

ผลงานจากแนวความคิดอันโดดเด่นของดาร์วิน ได้รวบรวมไว้ในหนังสือ 2 เล่มด้วยกัน เล่มแรกคือ "ออน ดิ ออริจิน ออฟ สปีชีส์" (On the Origin of Species) และ "เดอะ เดสเซนต์ ออฟ แมน" (The Descent of Man)

ทั้งนี้ "ออน ดิ ออริจิน ออฟ สปีชีส์" ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2402
และในปีนี้ก็นับเป็นโอกาสครบรอบ 150 ปีแห่งการตีพิมพ์เช่นกัน

เนื้อหาในเล่มนี้ ดาร์วินได้อธิบายถึงแนวคิดของเขา เกี่ยวกับการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต และการคัดสรรโดยธรรมชาติไว้อย่างละเอียดว่า ทำไมสิ่งมีชีวิตบางชนิดถึงอยู่รอดได้ ทำไมบางชนิดจึงสูญพันธุ์ไป และแรงกดดันจากสิ่งแวดล้อม กำหนดรูปร่าง ลักษณะ และพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติได้อย่างไร ซึ่งเวลาผ่านไปอีกเกือบหนึ่งศตวรรษถึงจะมีการค้นพบดีเอ็นเอที่ช่วยอธิบายกลไกดังกล่าวให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น

"ในการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด สิ่งมีชีวิตที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดีที่สุดจะเป็นผู้มีชัยและขยายเผ่าพันธุ์ดำรงอยู่ต่อไปได้" ใจความที่ดาร์วินเขียนไว้ ในหนังสือ ออน ดิ ออริจิน ออฟ สปีชีส์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บางคนในสมัยนั้นเปรียบเปรยคำกล่าวของดาร์วินว่า เหมือนแสงจากหลอดไฟธรรมดาแต่ส่องสว่างเจิดจ้าและโชติช่วง

ส่วนหนังสืออีกเล่มของเขาที่ได้รับการกล่าวขานมากไม่แพ้กันคือ "เดอะ เดสเซนต์ ออฟ แมน" ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2414 ซึ่งในเล่มนี้ดาร์วินได้นำทฤษฎีวิวัฒนาการมาใช้อธิบายเกี่ยวกับมนุษย์ว่า เผ่าพันธุ์มนุษย์และลิงไม่มีหาง (ape) มีวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษร่วมกัน

"มนุษย์ยังคงมีโครงสร้างพื้นฐานของร่างกาย ที่เป็นเหมือนตราประทับถาวรที่ได้มาจากบรรพบุรุษ" คำกล่าวอย่างตรงไปตรงมาของดาร์วิน

ดาร์วินมองว่ามนุษย์ก็คือสัตว์สปีชีส์หนึ่ง มากกว่าที่จะคิดว่าเป็นสิ่งมีชีวิตสุดประเสริฐ ที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของพระเจ้า อย่างที่ผู้คนส่วนใหญ่ในสมัยนั้นเชื่อถือกัน


แนวคิดดังกล่าวนี้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการรับรู้ของผู้คนในสังคม และทำให้กลุ่มคนที่เคร่งศาสนา กล่าวหาว่าแนวคิดเขาท้าทายกับคำสอนของศาสนาอย่างมากมาจนถึงทุกวันนี้

"คล้ายกับกรณีที่โคเปอร์นิคัส (Copernicus) เคยบอกว่า โลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล ซึ่งดาร์วินก็ดึงมนุษย์ออกมาจากการเป็นศูนย์กลางของธรรมชาติเช่นกัน" ข้อความที่ระบุอยู่ในวารสารไซเอนติฟิกอเมริกัน (Scientific American) และด้วยความที่เป็นสุภาพชน อ่อนน้อมถ่อมตน ดาร์วินก็ยอมรับว่า เขาไม่ใช่คนแรกที่นำเสนอเรื่องของวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิต

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 จอร์จส์ กูวิเยร์ (Georges Cuvier) นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศส เคยอธิบายไว้ก่อนแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมส่งผลให้สิ่งมีชีวิตบางชนิดสูญพันธุ์ไป และต่อมา ฌอง-แบพติสต์ ลามาร์ค (Jean-Baptiste Lamarck) นักสัตววิทยาชาติเดียวกัน ก็เสนอแนวคิดว่า สิ่งมีชีวิตบางชนิด มีการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย

ทว่าพวกเขายังมองว่า วิวัฒนาการเกิดขึ้นเป็นเส้นตรง สำหรับการพัฒนาของสิ่งมีชีวิตที่ยังไม่ซับซ้อนมากนัก แต่สำหรับมนุษย์นั้นถือว่าอยู่เหนือสุดและสมบูรณ์แบบมากที่สุดแล้ว

ดาร์วินไม่ได้ยอมรับแนวคิดของพวกเขาทั้งหมด โดยแสดงให้เห็นว่า สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดแตกสายวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษร่วมกัน หรือที่เรียกว่า "ทรี ออฟ ไลฟ์" (tree of life) ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของศาสตร์ด้านชีววิทยา และก่อให้เกิดการศึกษาค้นคว้า และการค้นพบสิ่งใหม่ในทางวิทยาศาสตร์มากมายตามมาในภายหลัง ตั้งแต่เรื่องของพันธุกรรม วิวัฒนาการทางจิตวิทยา เรื่อยไปจนถึงหุ่นยนต์ที่เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง

ทว่าก็ยังเกิดเรื่องน่าสลดใจอย่างยิ่ง เมื่อแนวคิดของดาร์วินที่ว่า "การอยู่รอดของผู้ที่เหมาะสมมากที่สุด" (survival of the fittest) ได้ถูกตีความผิดเพี้ยน หรืออาจเรียกได้ว่าถูกบิดเบือนไปอย่างร้ายกาจ

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 กลุ่มคนที่คิดว่าตนฉลาดและเหนือกว่าผู้อื่น (eugenicist) นำแนวคิดของดาร์วิน ไปใช้เป็นเหตุผลข้ออ้างเพื่อกำจัดกลุ่มคนที่เห็นว่าอยู่ชนชั้นต่ำกว่าให้หมดสิ้นไป ซึ่งเป็นการกระทำที่โหดร้ายอย่างยิ่งต่อดาร์วิน อารยชนผู้รังเกียจการกดขี่ข่มเหง แต่มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้ยากไร้เสมอ

"ผมยกให้ดาร์วินเป็นหนึ่งใน 5 นักคิดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์แห่งมวลมนุษยชาติ" คำกล่าวของนักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมันนามว่า วิลฟรีด โรกาสช์ (Wilfried Rogasch)

โรกาสช์ กล่าวอีกว่า มีผู้คนมากมาย ที่พยายามอย่างถึงที่สุด เพื่อจะค้นหาสิ่งเล็กๆ หรือช่องโหว่ ที่ชี้ว่าทฤษฎีของดาร์วินผิดพลาด ทว่าพวกเขาก็ยังทำไม่สำเร็จ เพราะสิ่งที่ดาร์วินพบไม่ได้เป็นแค่เพียงทฤษฎีเท่านั้น แต่เป็นกฏพื้นฐานของธรรมชาติ
ชาร์ลส์ ดาร์วิน (สมมติ) ยืนมองหลุมศพ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ภายในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ (เอเอฟพี)
ภายในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์แห่งนี้เปรียบเสมือนที่พักพิงแห่งสุดท้ายของนักวิทยาศาสตร์เอกของโลกหลายคนที่ทอดร่างไร้วิญญาณอยู่ที่นี้ ทั้งดาร์วิน, ไอแซค นิวตัน, ไมเคิล ฟาราเดย์ และเจมส์ เคลิร์ก แมกซ์เวลล์ (เอเอฟพี)
โครงกระดูกของสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดที่จัดแสดงอยู่ในส่วนนิทรรศการ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ภายในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาอเมริกัน (American Museum of Natural History) ในนิวยอร์ก (เอเอฟพี)
หัวกะโหลกมนุษย์หลากหลายยุคสมัยภายในส่วนนิทรรศการ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาอเมริกัน (เอเอฟพี)
เต่ายักษ์กาลาปากอสคลานต้วมเตี้ยมอยู่ภายในสถานีวิจัยชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin Station) บนหมู่เกาะกาลาปากอส ประเทศเอกวาดอร์ (เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น