xs
xsm
sm
md
lg

ทางเอก : จากต้นสายถึงปลายทาง (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การรู้จักสภาวธรรมคือรูปหรือนาม นี่เอง คือการหัดทำความรู้จักกับ สิ่งที่มหาสติปัฏฐานสูตรเรียกว่า กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรมกายในกายก็คือรูปที่ปรากฏในแต่ละขณะ เวทนาในเวทนาก็คือเวทนาที่ปรากฏในแต่ละขณะ จิตในจิตก็คือจิตที่ปรากฏในแต่ละขณะ และธรรมในธรรมก็คือสภาวธรรมที่ปรากฏในแต่ละขณะ
การรู้จักสภาวธรรมคือรูปหรือนามนี่แหละ จะเป็นเหตุใกล้ให้สติเกิดขึ้นเองโดยไม่เจือด้วยโลภเจตนาหรือความ อยากจะให้สติเกิดขึ้น
นอกเหนือจากการทำความรู้จักรูปนามในภาคปฏิบัติ ด้วยการตามรู้รูป นาม หรือการเจริญสติปัฏฐานอย่างเป็น อนุปัสสนาแล้ว สิ่งที่เพื่อนนักปฏิบัติ จะต้องทำความรู้จักเป็นลำดับต่อไปก็ คือจิตการศึกษาเรื่องจิตของตนเองใน ภาคปฏิบัตินี้แหละคือสิ่งที่เรียกว่าจิตสิกขา แม้เพื่อนนักปฏิบัติจะสนใจเจริญ ปัญญาด้วยการตามรู้กาย ท่านก็จำเป็นต้องศึกษาเรื่องจิตเสียก่อน เพราะจิตสิกขาเป็นบทเรียนที่ ๒ ของการศึกษาพระพุทธศาสนา เมื่อเรียนรู้เรื่องจิตจน รู้จักลักษณะของจิตที่เป็นกุศลและอกุศล กับรู้จักลักษณะของจิตที่ตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิกับจิตที่ไม่ตั้งมั่นหรือจิตที่หลงรู้อารมณ์แล้ว จึงจะพร้อมที่จะเจริญปัญญาต่อไปได้จริงๆ
การเรียนรู้จิตไม่ใช่การเรียนรู้ถึงความรู้สึกสุขทุกข์อันเป็นเวทนา หรือความรู้สึกที่เป็นกุศลและอกุศลอันเป็นสังขาร ดังที่เพิ่งกล่าวจบไปแล้ว แต่เป็นการเรียนเพื่อให้รู้จักตัวจิตจริงๆ ซึ่งเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ วิธีการหัดสังเกตจิตอย่างง่ายๆ มีดังนี้คือ
(๑) เรียนรู้ลักษณะของจิตที่เป็นกุศลและอกุศล คือเมื่อหมั่นตามรู้กาย เวทนา จิต และธรรมอยู่เนืองๆนั้น ถึงจุดหนึ่งที่สติเกิดระลึกได้ว่า สภาวธรรม อันใดอันหนึ่งกำลังปรากฏอยู่ ก็จะเกิดปรากฏการณ์ที่จิตจะเข้าถึงความโปร่ง โล่ง เบา สบาย และสว่างไสว ไม่หนัก ไม่แน่น ไม่แข็ง ไม่ซึม ไม่ทื่อ ไม่มืด ไม่มัว สภาวะเหล่านี้แหละคือลักษณะของ จิตที่เป็นกุศล แต่เมื่อใดเกิดความจงใจจะปฏิบัติธรรม หรือจงใจกำหนดเพ่ง จ้องใส่อารมณ์ จิตจะเกิดอาการหนัก แน่น แข็ง ซึม ทื่อ สภาวะเหล่านี้คือลักษณะของจิตที่เป็นอกุศล
เหตุผลที่ต้องเรียนเรื่องนี้ก็เพื่อเราจะได้ไม่หลงปรุงแต่งอกุศลจิตขึ้นด้วยความอยากจะปฏิบัติธรรม เพราะเป็นความหลงสำคัญที่พบเห็นได้บ่อยมากทีเดียวในแวดวงกรรมฐาน
(๒) เรียนรู้ลักษณะของจิตที่ไม่ตั้งมั่น จนจิตเกิดความตั้งมั่นโดยไม่ได้ จงใจ วิธีการง่ายๆ ก็คือให้สังเกตอาการ ของจิตที่เคลื่อนไปทางทวารทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เช่นในระหว่างการสนทนากับผู้หนึ่งผู้ใดนั้น ให้พวกเราลองสังเกตจิตตนเองว่า ประเดี๋ยวก็ไปดูหน้าคู่สนทนาหน่อยหนึ่ง ประเดี๋ยวก็ไปฟังเสียงของคู่สนทนา หน่อยหนึ่ง ประเดี๋ยวก็แอบไปคิดเพื่อทำความเข้าใจเรื่องที่สนทนากัน การคิดนี้ไม่ใช่คิดหน่อยเดียว แต่มักจะคิดกันมากกว่าเวลาที่ดูและฟังหลายเท่านัก นี่ก็คือการหัดเรียนรู้ว่าจิตเกิดทางตาแล้วก็ดับไป ถ้าจิตไปเกิดทางตาแล้ว ไม่รู้ทัน ก็เรียกว่าหลงดู รู้ว่าจิตไปเกิดทางหู แล้วก็ดับไป ถ้าจิตไปเกิดทางหูแล้วไม่รู้ทันก็เรียกว่าหลงฟัง รู้ว่าจิตส่งเข้าไปทำงานทางใจคือ ไปคิดนึกปรุงแต่ง ถ้าจิตไปเกิดทางใจแล้วไม่รู้ทัน ก็เรียกว่าหลงทางใจ
จิตที่หลงไปไหลไปนี้เองคือจิตที่ไม่ตั้งมั่น เป็นจิตที่ขาดสัมมาสมาธิและไม่สามารถจะรู้อารมณ์ปรมัตถ์ได้จริง แต่อาจจะมีมิจฉาสมาธิก็ได้ คือมีความจด จ่อแน่วแน่ในการรู้อารมณ์อันนั้นๆ ถ้ารู้จักจิตที่หลงไปทางทวารทั้ง ๖ หรือจิต ที่ไม่ตั้งมั่นแล้ว จิตจะเกิดความตั้งมั่น ชั่วขณะหรือขณิกสมาธิโดยอัตโนมัติ
จิตที่มีความตั้งมั่นนี้แหละ เป็นจิตที่สามารถรู้อารมณ์ปรมัตถ์ได้โดยไม่ ต้องคิดหรือใช้ความพยายามที่จะรู้
ส่วนที่กล่าวถึงคำว่าหลงดู และหลง ฟังนั้น ไม่ได้หมายความว่าในขณะที่ตา เห็นรูปหรือหูได้ยินเสียงจะสามารถเกิด มีสติขึ้นมาได้ แท้จริงจิตที่ดูและฟังรวมทั้งจิตที่รู้กลิ่น รู้รส และรู้สัมผัสทางกายนั้นเป็นวิบากจิต ไม่มีดีมีชั่ว อะไร เพียงแต่เมื่อใดที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง หรือใจรู้ความคิดนึกปรุงแต่งแล้ว หากชวนจิตที่เกิดตามมาประกอบด้วยความหลงหรือโมหะ ก็เรียกว่าหลงดู หลงฟัง หรือหลงคิดนึกปรุงแต่ง แต่หากชวนจิตที่เกิดตามมาประกอบด้วยสติ จิตก็เกิดการทำสมถกรรรมฐาน และหากชวนจิตที่เกิดตามมาประกอบด้วยสติปัญญา จิตก็เกิดการเจริญวิปัสสนากรรมฐานไปได้เอง ดังนั้นจุดสำคัญของการปฏิบัติจึงไม่ใช่ไม่ดู หรือไม่ฟัง หรือไม่คิด แต่อยู่ที่ว่าเมื่อดู หรือเมื่อฟัง หรือเมื่อรู้อารมณ์ทางใจแล้ว ให้มีสติรู้ทันลักษณะของจิตที่เกิดทางทวารเหล่านั้น ว่าเป็นจิตที่ สักว่ารู้อารมณ์ หรือเป็นจิตที่หลงใหลไปจมแช่อยู่กับอารมณ์แล้ว รู้ทันอย่างนี้ไม่ช้าจิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมาเอง
ผู้ปฏิบัติจะรู้ความจริงด้วยตนเองได้ทีเดียวว่า ในชีวิตที่ผ่านมานั้น จะหาเวลาที่เกิดจิตที่ตั้งมั่นและมีความรู้สึกตัวได้อย่างแท้จริงนั้นยากเต็มที ในโลก นี้มีแต่คนที่ใจหลับทั้งที่กายตื่น หรือ ฝันทั้งที่ลืมตา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวเพราะหมิ่นเหม่ต่อการไปอบายภูมิมากเหลือเกิน

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 99 ก.พ. 52 โดย พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช)
กำลังโหลดความคิดเห็น