xs
xsm
sm
md
lg

วิมุตติมรรค:

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การมีสติอย่างเดียวยังเจริญวิปัสสนากรรมฐานไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือการทำสมถกรรมฐานที่ถูกต้องและเกิดสัมมาสมาธิ

ครั้งที่ 11.
ปัญญาสิกขา
5. ปัญญาสิกขา

5.1 วัตถุประสงค์ของการศึกษาเรื่องปัญญา

เพื่อให้รู้จักวิธีใช้จิตที่มีคุณภาพแล้วไป ศึกษาทำความเข้าใจความเป็นจริงของรูปนาม จนปล่อยวางรูปนามได้ และประจักษ์ถึงนิพพานอันเป็นสภาวะที่พ้นจากรูปนามและกิเลสตัณหาทั้งปวง

5.2 ชนิดของปัญญา

5.2.1 ปัญญาที่จำแนกตามองค์ความรู้
แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดคือ (1) ปัญญาทางโลกหรือโลกียปัญญา ได้แก่ความรู้ความฉลาดที่จะอยู่กับโลกอย่างเป็นทุกข์น้อยๆ หรือระงับความทุกข์ได้ชั่วคราว หรือข่มกิเลสตัณหาได้ชั่วคราว เช่น เป็นผู้ฉลาดในการรู้จักทำทาน รักษาศีล และทำสมถกรรมฐาน เพื่อให้เกิดความสงบสุขทางจิตใจ เป็นต้น และ (2) ปัญญาพ้นโลกหรือโลกุตตรปัญญา ได้แก่ ความรู้ความเข้าใจอริยสัจอันเป็นเหตุให้จิตปล่อยวางความยึดถือรูปนาม/ กายใจ และประจักษ์ถึงนิพพานอันเป็น บรมสุขที่แท้จริง

5.2.2 ปัญญาที่จำแนกตามที่มา แบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดคือ (1) สุตตมยปัญญาหรือปัญญาที่เกิดจากการได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ของผู้อื่น เช่น ความรู้ที่เกิดจากการอ่านตำราและการรับฟังคำสั่งสอนของ พ่อแม่ครูอาจารย์ เป็นต้น (2) จินตามยปัญญา หรือปัญญาที่เกิดจากการคิดพิจารณาใคร่ครวญ เอาเองด้วยเหตุผล และ (3) ภาวนามยปัญญา หรือปัญญาที่เกิดจากการเจริญสติ ซึ่งจำแนกออกได้อีกเป็น 2 อย่างคือ ปัญญาในการทำสมถกรรมฐาน อันเป็นความรู้ความฉลาดที่จะดำเนินจิตไปสู่ความสงบสุข กับวิปัสสนาปัญญาคือความเข้าใจความเป็นจริงของรูปนามอันเกิดจากการตามรู้รูปนามอยู่เนืองๆ

5.3 วิธีคิดให้เกิดปัญญา

ปัญญาที่จะให้ความสำคัญในบทความ นี้ คือวิปัสสนาปัญญาอันจะนำไปสู่โลกุตตรปัญญา ซึ่งมีประเด็นที่ควรทำความเข้าใจดังนี้คือ

5.3.1 เหตุให้เกิดปัญญา แม้พระอภิธรรม จะระบุว่า สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญาก็จริง แต่การที่จิตจะมีสัมมาสมาธิได้นั้น จิตก็ต้องมีองค์ประกอบอื่นอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้แก่สัมมาสติ ประเด็นที่น่าสนใจก็คือเหตุใดพระอภิธรรมจึงไม่ระบุว่าสติเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ทั้งนี้ก็เพราะลำพังการมีสติอย่างเดียวยังเจริญวิปัสสนากรรมฐานไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือการทำสมถกรรมฐาน ซึ่งถ้าทำได้ถูกต้องก็จะเกิดสัมมาสมาธิ แต่หากทำได้ไม่ถูกต้องก็อาจจะเกิดมิจฉาสมาธิอันประกอบด้วยโลภะ และโมหะก็ได้

สำหรับผู้เป็นสมถยานิกนั้น เมื่อทำสมถกรรมฐานจนจิตตั้งมั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับทุติยฌานขึ้นไป อันเป็นสภาวะที่จิตพ้นจากการตรึก (วิตก) และการตรอง (วิจาร) ในอารมณ์กรรมฐานและเกิดธรรมเอก (เอโกทิภาวะ) อันเป็นตัวสัมมาสมาธิแท้ขึ้นแล้ว เมื่อจิตถอดถอนออกจากฌานแล้ว อิทธิพลของธรรมเอกจะยังไม่ดับไปทันที แต่จะส่งผลให้จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูอารมณ์ทั้งปวงด้วยความเป็นกลาง และต่อเนื่องยาวนานต่อไปได้อีกช่วงหนึ่ง เช่น จิตจะมีสติเห็นองค์ฌานที่ดับไปสดๆ ร้อนๆ และเห็นสภาวธรรมอื่นๆ เช่น ความฟุ้งซ่านเกิดขึ้นแทน โดยที่ขณะนั้นจิตจะตั้งมั่นเป็นกลาง สติสักว่ารู้ สักว่าเห็นความเปลี่ยนแปลงของสภาวธรรมทั้งปวง จนเกิดปัญญาคือความเข้าใจความจริงของสภาวธรรม ทั้งปวงว่ามีลักษณะเป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์ หรือเป็นอนัตตา

สำหรับผู้เป็นวิปัสสนายานิกนั้น เมื่อใด จิตมีสติระลึกรู้สภาวะของรูปนามที่ปรากฏโดยไม่ได้จงใจ จิตจะเกิดความตั้งมั่นขึ้น ชั่วขณะ และสติจะสักว่าระลึกรู้สภาวธรรมนั้น เมื่อสภาวธรรมนั้นไม่ถูกเพ่งจ้องหรือกำหนดกดข่ม สภาวธรรมนั้นย่อมแสดงความจริงคือไตรลักษณ์ออกมาให้จิตเห็นและเข้าใจได้ ตัวความเข้าใจความเป็นจริงของรูปนามว่าเป็นไตรลักษณ์นั่นแหละคือตัวปัญญา

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า/วิธีรู้รูปและนาม)
กำลังโหลดความคิดเห็น